1 เม.ย. 2021 เวลา 12:42 • ธุรกิจ
ต้นทุนร้านอาหารมีอะไรบ้าง ?
ต้นทุนร้านอาหารมีอะไรบ้าง ?
สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจอาหาร
สิ่งที่เราควรรู้เป็นอันดับแรกๆ เลยก็คือ
การควบคุมตุ้นทุนในการดำเนินการร้านอาหาร
ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับเจ้าของร้านอาหาร
ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ
หรือพนักงานเท่านั้น แต่มันคือการที่เราจะต้องเจอกับการดีดตัวขึ้น
ของราคาวัตถุดิบและค่าแรงในทุกๆ ปีด้วย
รวมไปถึงค่าเช่าที่มีโอกาสเพิ่มสูงมากขึ้นทุกๆ
ครั้งในการต่อสัญญาใหม่
ซึ่งถ้าหากเราไม่มีการวางแผนในการควบคุมต้นทุนไว้ตั้งแต่แรก
ร้านอาหารของเราก็มีสิทธิ์พังได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้ว่า
ต้นทุนของร้านอาหารนั้นมีอะไรบ้างและอะไรที่สูงเกินไป
หรือต่ำเกินไป เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องใส่ใจหรือจะต้องแก้ไข
ส่วนไหนเป็นพิเศษ ซึ่งโครงสร้างต้นร้านอาหารจะมีอะไรบ้าง
วันนี้เราจะมารู้กัน
1. ต้นทุนวัตถุดิบ (Cost of good sold)
ต้นทุนวัตถุดิบ คือ ค่าใช้จ่ายจริงที่เราจะต้องเสีย
ไปกับการซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหาร
ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด
สำหรับร้านอาหาร ร้านจะเจ๊งหรือไม่เจ๊งหรือจะมีกำไร
มากน้อยแค่ไหนส่วนนึงจะดูกันที่ต้นทุนตัวนี้
ซึ่งหากเป็นร้านอาหารทั่วไป ต้นทุนวัตถุดิบนั้น
โดยปกติไม่ควรเกิน 30-35% ของยอดขาย แต่หากคุณ
เป็นร้านสตรีทฟู้ดที่ขายอาหารไม่เกินจานละ 40-50 บาท
ต้นทุนก็อาจเป็น 40-50% ได้ หรือหากคุณเป็นร้านบุฟเฟ่ต์
ต้นทุนก็อาจสูงขึ้นไปถึง 40-50% และอาจไปถึง 60%
หากเป็นร้านบุฟเฟ่ต์หมูกระทะราคาถูก
2. ต้นทุนแรงงาน (Labor costs)
ต้นทุนแรงงานถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเป็นอันดับ 2
รองจากต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งต้นทุนตัวนี้นั้นนี้ไม่ได้มีแค่
ค่าแรงพนักงานประจำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพนักงานพาร์ตไทม์
ค่าโอที ค่า service charge ค่าประกันสังคม
และสวัสดิการต่างๆด้วย
โดยปกติต้นทุนนี้ไม่ควรเกินที่ 15-20% ของยอดขาย
แต่ถ้าเรายิ่งขายได้มากเท่าไหร่โอกาสที่ labor costs
จะลดก็มีมากขึ้นเท่านั้น
3. ต้นทุนค่าเช่า (Occupancy costs)
ต้นทุนค่าเช่านี้ไม่ได้หมายถึงแค่ ค่าเช่าที่คุณจ่ายอยู่รายเดือน
เท่านั้น แต่รวมไปถึงค่าภาษีโรงเรือนและค่าประกันภัย
ที่คุณจ่ายในทุกๆเดือนด้วย ซึ่งปกติต้นทุนค่าเช่านี้ควรจะอยู่ที่
ประมาณ 15-20% ของยอดขาย
โดยต้นทุนในส่วนเฉพาะค่าเช่าพื้นที่เองนั้นส่วนใหญ่
จะเป็นแบบคงที่ (Fixed rate) จะอยู่ที่ประมาณ 10 - 15 %
ของรายได้ นั่นหมายถึงหากค่าเช่าเราอยู่ที่ประมาณ 1 แสนบาท
เราก็ควรจะขายให้ได้ประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านบาทต่อเดือน
ถึงจะไม่ถือว่าค่าเช่านั้นสูงเกินไป
4. ต้นทุนค่าสาธารณูปโภค (Utilities costs)
ค่าใช้จ่ายก้อนนี้รวมสาธารณูปโภคทั้ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส
ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นต้นทุนที่เจ้าของร้าน
มักไม่ค่อยสนใจกันมากนัก เพราะคิดว่ายังไงก็ต้องเสียอยู่แล้ว
ซึ่งต้นทุนประเภทนี้ไม่ควรเกิน 1-5% ของยอดขาย
แต่หากร้านเราเป็นร้านประเภท ชาบู หรือปิ้งย่าง
ที่จำเป็นจะต้องใช้ไฟเยอะก็มีโอกาสที่ต้นทุนนี้จะสูงได้เช่นกัน
5. ต้นทุนค่าการตลาด (Marketing costs)
ร้านอาหารส่วนใหญ่มากไม่ค่อยเผื่อค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ซึ่งถือเป็นส่่วนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
เพราะหากเราไม่ทำการตลาดเลย ลูกค้าก็จะไม่รู้จักเราด้วยเช่นกัน
ซึ่งต้นทุนสำหรับการตลาดนั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละร้าน
ถ้าเราเป็นร้านอาหารทั่วไปก็อาจกันงบไว้อยู่ที่ประมาณ 2-5%
ของยอดขาย แต่ถ้าร้านเราเป็นร้านอาหารเดลิเวอรี่นั้น
อาจต้องเตรียมงบการตลาดไว้ถึง 10-15 %
6. ต้นทุนค่าบริหาร (General & Administration costs)
หากร้านเรามีผู้จัดการร้านอยู่แล้ว แล้วตัวเราเองอยู่ในฐานะ
ของเจ้าของร้านเพียงอย่างเดียว การเอาเงินเดือนของหุ้นส่วน
และตัวเราเองไปอยู่ในต้นทุนแรงงาน (Labor costs)
อาจทำให้ต้นทุนก้อนนี้บวม และจะทำให้คุณไม่รู้ว่า
ต้นทุนแรงงงานนี้สูงหรือต่ำยังไง เราจึงต้องเอาเงินก้อนนี้
มาอยู่ในส่วนของต้นทุนบริหาร
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายประเภท ค่าพนักงานแอดมิน
ค่าจ้างสำนักงานบัญชี ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวกับในร้านโดยตรง
ก็สามารถเอามาใส่ในต้นทุนส่วนนี้ได้ ซึ่งต้นทุนในส่วนนี้
จะอยู่ที่ประมาณ 1-5 % ของยอดขาย
7. ต้นทุนอื่นๆ (Miscellaneous)
ต้นทุนอื่นๆ นี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นจำนวนไม่มาก
อาจเป็นทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดเป็นครั้งๆ หรือจะเป็นค่าใช้จ่าย
ที่ต้องเสียในทุกเดือนก็ได้ เช่น ค่าใช้จ่ายซ่อมแซ่มอุปกรณ์
ค่าล้างแอร์ ค่าเดินทางไปซื้อวัตถุดิบ ค่ากระดาษทิชชู่
ค่าเช่าเครื่องล้างจาน ค่าบริการPOS
ค่าใช้จ่ายจิปาถะยิบย่อยเหล่านี้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ซึ่งรวมแล้วไม่ควรเกิน 5% ของยอดขาย
กำไรที่เหลือควรอยู่ประมาณ 15-20% ของยอดขาย (ก่อนหักภาษี)
ซึ่งหากร้านของเราได้กำไรอยู่เท่านี้ ถือว่าสามารถ
บริหารจัดการร้านได้ดีเลยทีเดียว แต่หากได้มากกว่า 20%
ก็ถือว่ามาถูกทาง แล้วพยายามรักษาโครงสร้างต้นทุนนี้ไว้ให้ได้
แต่หากยังได้ไม่ถึง 15% ก็ควรรีบกลับไปดูว่าต้นทุนส่วนไหน
ที่สูงเกินค่าเฉลี่ย แล้วก็หาวิธีลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงให้ได้
เพื่อที่จะทำให้ร้านเหลือกำไรอย่างที่ต้องการ
ติดตามTorpenguin - ผู้ชายขายบริการในช่องทางอื่นๆได้ที่
ติดต่องาน E-mail : torpenguin.channel@gmail.com
โฆษณา