2 เม.ย. 2021 เวลา 03:03
4 ช่วงเวลาสำคัญที่จะส่งผลต่อชีวิตเรา
.
.
ในปัจจุบัน งานและชีวิตส่วนตัวนั้นดูเหมือนจะหลอมเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียแล้ว เราทำงานโดยไม่มีเวลาชัดเจน เข้านอนไม่เป็นเวลา บางคนอาจไม่มีเวลาผ่อนคลายจากความเครียดเสียด้วยซ้ำไป
.
การจะบริหารชีวิตได้นั้นต้องรู้จักบริหารเวลาก่อนเป็นอันดับแรก แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจัดการเวลาตัวเองในรูปแบบใด ในเมื่อทุกคนนั้นใช้ชีวิตแตกต่างกันแม้จะมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน
.
การจะจัดสรรเวลาให้เหมาะสมนั้น ควรที่จะวางแผนระยะยาวเพื่อหาจุดสมดุลของการทำงาน ใช้ชีวิต และพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถแบ่งเวลาออกได้เป็น 4 ช่วงสำคัญดังนี้
.
1. ลงมือทำใน 5 วินาที
.
อะไรคือสิ่งที่คุณทำเป็นอย่างแรกเมื่อตื่นนอน? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้คือ เราต้องลุกจากที่นอนเพื่อที่จะดำเนินกิจวัตรประจำวันต่อไป แต่เคยสังเกตไหมว่าหลังจากตื่นนอนแล้ว เราใช้เวลากี่นาทีกว่าจะลุกจากที่นอนได้?
.
ใครที่รู้จัก “กฎ 5 วินาที” คงรู้จัก ‘Mel Robbins’ เธอขึ้นพูดบนเวที ‘Tedx Talk’ ในปี 2011 ว่า ชีวิตเธอเปลี่ยนไปเมื่อเธอตื่นแล้วลุกจากเตียงภายใน 5 วินาที และยังแนะนำว่า ถ้าใครคิดว่าตัวเองลุกจากเตียงยาก เมื่อตื่นแล้วให้สะบัดผ้าห่มออกจากตัวทันที เพื่อเป็นสัญญาณว่าเราต้องลุกได้แล้ว
.
ลองสมมติว่า ทุกคนทำงานเวลา 8 โมงเช้า และตื่นนอนเวลา 6 โมงเช้า คนที่ตื่นนอนแล้วอ้อยอิ่งใต้ผ้าห่ม 1 ชั่วโมง กับคนที่สะบัดผ้าห่มออกแล้วลุกออกจากเตียงใน 5 วินาที ใครจะมีเวลาอาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเช้า ออกกำลังกาย และพัฒนาตัวเองมากกว่ากัน
.
ดังนั้น กฎ 5 วินาทีคือ ก้าวเล็กๆ ก้าวแรกในการปรับปรุงนิสัยของเราเพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า
.
2. ลองทำกิจกรรมที่สนใจสัก 7 วัน
.
ไม่ว่าจะชอบหรือสนุกกับการทำงานมากขนาดไหน เราต้องหาเวลาพักผ่อนให้ตัวเองบ้าง อาจจะเป็นการทำงานอดิเรก ออกไปสังสรรค์ หรืออยู่เฉยๆ ก็เป็นการพักผ่อนเช่นกัน
.
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าตนเอง ‘อยาก’ ทำอะไรกันแน่ ลองใช้กฎ 5 วินาทีจดสิ่งที่ ‘ชอบ’ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ เดินเล่น พับกระดาษ ฯลฯ แล้วหยิบมาสัก 1-2 กิจกรรมที่สนใจที่สุด จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปให้ลองทำกิจกรรมนั้นทั้งสัปดาห์ หรือสำหรับใครที่เบื่อง่ายหรือตารางเวลาแน่นอาจจะลดจำนวนวันลง แต่ควรพยายามทำภายในหนึ่งสัปดาห์เช่นกัน
.
เหตุผลที่ต้องทำภายใน 7 วันเป็นเพราะว่าระยะเวลานั้นไม่สั้นไม่ยาวเกินไป เหมาะแก่การคลุกคลีกับกิจกรรมและศึกษามันให้ทะลุปรุโปร่ง หากทำแล้วรู้สึกไม่ชอบก็แค่หยุด แล้วหาอย่างอื่นทำต่อไป ถ้าชอบก็ถือว่าเราได้ค้นพบตัวเองมากขึ้น
.
3. ท้าทายตัวเองเป็นเวลา 30 วัน
.
การเพิ่มจาก 7 เป็น 30 วัน คนส่วนใหญ่แค่คิดก็เริ่มจะท้อแล้ว แต่ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับขั้นตอนอื่นๆ เพราะคุณกำลังจะทำให้งานอดิเรกหรือกิจกรรมที่คุณสนใจกลายเป็น “กิจวัตร”
.
เมื่อใดที่คุณออกกำลังกายเป็นกิจวัตร ร่างกายคุณจะแข็งแรงขึ้น หรือฝึกทำอาหาร ก็จะทำได้คล่องแคล่วกว่าเดิม
.
การจะเรียนรู้ทักษะใหม่และพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่นั้น จำเป็นจะต้องหมั่นเพียรฝึกฝน การฝึกฝนที่ดีต้องมีตารางเวลาและแผนกำหนดการที่ชัดเจน ซึ่งกิจวัตรคือหนึ่งในคำตอบที่สามารถช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
.
4. ตั้งหมุดหมายสำหรับ 3 เดือน
.
หากคุณผ่านช่วง 30 วันมาได้ ยินดีด้วย ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่การทำให้มันเป็น “นิสัยและส่วนหนึ่งของชีวิต” มากกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ต้องบังคับให้ตัวเราตื่นมาทำทุกวัน
.
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนนี้ คือการปรับตัวอย่างแท้จริง กิจวัตรตลอด 1 เดือนกำลังเปลี่ยนไปเป็นนิสัยหนึ่งของชีวิต นอกจากจะได้ค้นพบตัวตนใหม่แล้ว ยังได้พัฒนาตัวเองเพิ่มอีกต่างหาก และสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
.
จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่เพียงใช้เวลา แต่ต้องวางแผนการให้ดีและรัดกุมในระดับพอเหมาะ เพื่อที่จะดำเนินตามความตั้งใจได้สะดวก แล้วคุณมีวิธีการแบ่งเวลาอย่างไรบ้าง ลองมาแชร์กัน
.
.
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3sHpvs9
5
#MissionToTheMoonPodcast
โฆษณา