"2 เดือนหลังรัฐประหาร กองทัพเมียนมา คร่าชีวิตประชาชนกว่า 500 ราย"
.
นับแต่การรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีรายงานโดยองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Save the Children เผยว่าเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 43 รายเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงโดยกองทัพเมียนมา โดยผู้เสียชีวิตที่มีอายุน้อยที่สุดคือเด็กหญิงวัย 6 ขวบ
.
จากรายงานของ BBC ล่าสุด (1 เม.ย. 64) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 536 รายแล้ว โดยในวันที่ 27 มี.ค. วันสถาปนากองทัพเมียนมา เป็นวันที่กองทัพสังหารประชาชนมากที่สุดหลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ มีรายงานว่าประชาชนถูกสังหารกว่า 100 รายในวันเดียวกัน ทั้งในที่ชุมนุมและขณะบุกค้นบ้านของประชาชน
.
หนึ่งในประชาชนที่ถูกยิงเสียชีวิตคือ ‘Khin Myo Chit’ เด็กหญิงวัย 6 ขวบ เธอถูกยิงขณะตำรวจเข้าบุกค้นบ้าน ครอบครัวของ Khin เผยว่าตำรวจยิงเด็กหญิงขณะเธอวิ่งไปหาพ่อ
.
จากเหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่มมีสิทธิมนุษยชนได้ออกแถลงการณ์ โดยหนึ่งในใจความระบุถึงสถานการณ์ในเมียนมาว่า “เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเมียนมาไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอีกต่อไป”
.
กองทัพเมียนมาไม่เพียงใช้ความรุนแรงกับประชาชนในเมืองต่างๆ แต่รวมถึงในรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์
.
:: กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิงชั่วคราว ::
.
ในคืน 31 มี.ค. มีการเผยแพร่แถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมา โดยระบุว่ากองทัพจะหยุดยิงชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน ยกเว้นกลุ่มที่ทำกิจกรรมที่ขัดต่อความมั่นคงของกองทัพเมียนมา
.
แถลงการณ์ดังกล่าวเผยแพร่หลังกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แถลงเมื่อ 30 มี.ค. แสดงความกังวลว่าจะเกิดการปะทะครั้งใหญ่กับกองทัพเมียนมา หลังกองทัพเมียนมาโจมตีในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญทางอากาศ เพื่อเป็นการตอบโต้กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงจากกรณีโจมตีฐานที่มั่นกองทัพเมียนมา การโจมตีหลายพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในคืนวันที่ 27 มี.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและชาวกะเหรี่ยงกว่า 2,000 คนต้องอพยพหนีมาฝั่งไทยเพื่อความปลอดภัย
.
จากรายงานข่าว BBC นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อ 29 มี.ค. ว่า “หากสอบสวนแล้วอาจจะแค่ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวก็จะให้กลับเข้าไปในเขตประเทศเมียนมาที่อยู่อาศัยเดิม แต่ถ้าหากผู้อพยพเหล่านี้ได้รับผลกระทบถึงขั้นอาจจะเสี่ยงต่อชีวิตทางเราก็จะดูแลไว้ในห้วงระยะเวลาหนึ่งตามหลักมนุษยธรรมตามสมควร”
.
ด้านอินเดียเอง เมื่อ 30 มี.ค. รัฐมณีปุระก็ได้ประกาศรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา หลังจากที่มีการประกาศไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่ห้ามมีการตั้งค่ายลี้ภัยหรือการส่งอาหารให้กับชาวเมียนมาที่หลบภัยเข้ามายังรัฐมณีปุระ
.
:: ความหวังรัฐบาลคู่ขนาน ต้านรัฐประหาร ::
.
ในคืนเดียวกันกับที่กองทัพเมียนมาประกาศหยุดยิง 1 เดือน (31 มี.ค.) กลุ่มนักการเมืองผู้ต่อต้านรัฐประหารได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง ‘คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ’ หรือ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) โดยมีจุดประสงค์ให้ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ ของกลุ่ม CRPH รวมกับกลุ่มชาติพันธุ์เป็น ‘รัฐบาลคู่ขนาน’ ต่อรัฐบาลทหารและได้ร้องขอให้นานาชาติรับรองเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม ขณะเดียวกันกองทัพเมียนมามองว่าคณะกรรมการดังกล่าวผิดกฎหมาย และเตือนว่าผู้มีส่วนร่วมจะถูกข้อหาทรยศชาติ