3 เม.ย. 2021 เวลา 11:11 • การศึกษา
คุณคิดอย่างไรกับการ Bully (บูลลี่) เคยโดน Bully (บูลลี่) เรื่องอะไรกันบ้าง
1
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ช่วงอากาศร้อนๆ ก็ได้ดูได้ฟังข่าวร้อนๆ ของเกาหลีที่นำเสนอเกี่ยวกับการ Bully (บูลลี่) ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเกาหลีในวงกว้าง แม้เมืองไทยปัญหานี้ก็เกิดขึ้น และสะสมมานานเช่นกัน
สะท้อนให้เห็นว่าสังคมยุคนี้หรือยุคไหนก็อยู่ยากเช่นกัน ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันได้ก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน แล้วเหตุใดจึงกลั่นแกล้ง รังแก เบียดเบียนกันไม่สิ้นสุด
วันนี้เรามารู้จักความหมายของการบูลลี่ พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายการบูลลี่ และจะมีวิธีรับมืออย่างไร ในทางพระพุทธศาสนามีตัวอย่างกล่าวไว้ที่ไหน อย่างไร เรามาศึกษาไปพร้อมๆ กันค่ะ
ความหมายของการบูลลี่
การบูลลี่ คือ พฤติกรรมรุนแรง กลั่นแกล้ง รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจา และร่างกาย มักเป็นการล้อเลียนรูปร่างหน้าตา สถานะทางสังคม รวมถึงการทำร้ายร่างกาย ในโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย
การบูลลี่ยังสร้างผลกระทบทางด้านความรู้สึกมากมายจนอาจเกิดเป็นแผลทางใจฝังลึกจนยากเยียวยา หรืออาจลุกลามไปจนเกิดการปะทะ และสร้างบาดแผลทางกายได้ (นายแพทย์โกวิทย์ นพพร แพทย์ชำนาญการด้านจิตวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท)
พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายบูลลี่ (Bully)
พฤติกรรมข่มขู่กับการบูลลี่ อาจแยกกันไม่ได้เด็ดขาด โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่คิดว่าตนมีอำนาจมากกว่ารังแกผู้ที่ด้อยกว่าหรือคนตัวใหญ่ชอบรังแกคนตัวเล็ก พฤติกรรมเหล่านั้นอาจเกิดซ้ำๆ ซึ่งหากโดนทำร้ายครั้งแรก ผู้ถูกกระทำอาจให้อภัยได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ ซ้ำๆ อาจกลายเป็นความเครียดหรือความแค้นในที่สุด
1
นอกจากนี้ผู้กระทำส่วนใหญ่มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อื่นอับอาย เจ็บตัว เสื่อมเสีย หรือด้อยค่าลง โดยสามารถจำแนกการบูลลี่ได้ ดังนี้
1) บูลลี่ทางร่างกาย เป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายให้เกิดการบาดเจ็บ
2) บูลลี่ทางวาจา การใช้ถ้อยคำหรือการพูดส่อเสียด ล้อเลียน ใส่ร้าย การประจานด้วยคำพูดให้ผู้อื่นได้ยิน นอกจากจะสร้างความอับอาย วิตกกังวล อาจสร้างความเครียด เก็บกด ส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือหวาดกลัวสังคม ถือเป็นบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย
3) บูลลี่ทางสังคม เป็นการสร้างกระแสสังคมรอบข้างให้โหมกระหน่ำมายังเหยื่อของการบูลลี่ เสมือนการยืมมือคนรอบข้างให้ร่วมกันทำร้ายบุคคลเพียงคนเดียว เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อหรือการสร้างข่าวลือ จนผู้เสพหลงเชื่อ พร้อมแชร์ และกระพือข่าวไปในวงกว้าง จนกว่าผู้ถูกกระทำไม่มีที่ยืนทางสังคม
วิธีรับมือกับการบูลลี่
หลายครั้งที่การบูลลี่เกิดขึ้นเพียงเพราะความสนุกชั่ววูบ ความโกรธชั่วคราว หรือเป็นเพียงการตัดสินใจชั่วขณะ แต่ผลที่ตามมาอาจมากมาย และส่งผลยาวนานสำหรับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นการรู้จักรับมือกับการบูลลี่อาจช่วยหลีกเลี่ยงบาดแผลทั้งทางกาย ใจ และสังคม ดังนี้
1) ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่ การนิ่งเฉยต่อการบูลลี่ช่วยให้เรื่องราวการบูลลี่หายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้กระทำมักมีเจตนาให้เหยื่อตอบโต้ เพื่อสร้างกระแสความรุนแรง หรือเพิ่มความสะใจ แต่เมื่อผู้ถูกกระทำเลือกที่จะนิ่งเฉย ผู้ลงมือบูลลี่อาจรู้สึกเบื่อ และถอยไปเอง
2) ตอบโต้อย่างสุภาพ ด้วยคำพูด และการแสดงออกว่าไม่ได้รู้สึกสนุก หรือไม่ชอบการกระทำรวมถึงวาจาต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงด้วยคำพูด และท่าทีสุภาพ ไม่ตะโกน ขึ้นเสียงหรือใช้คำหยาบคาย รวมถึงชี้แจงอย่างชัดเจนหากเรื่องที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นจริง
3) พูดคุยกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเพื่อช่วยกันแก้ไข บางครั้งการถูกบูลลี่ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลเพียงคนเดียว การหาผู้ร่วมถูกกระทำจะเป็นการเพิ่มหลักฐาน และพยานว่า ผู้บูลลี่สร้างเรื่องขึ้นทำร้ายเหยื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้เพื่อนร่วมชะตากรรมอาจเป็นที่ปรึกษาคลายทุกข์ได้เป็นอย่างดี
4) เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หากการบูลลี่นั้นทำร้ายร่างกายหรือจิตใจจนยากยอมรับ การเปลี่ยนที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน ก็อาจช่วยฟื้นฟูภาวะบอบช้ำจากการถูกบูลลี่ได้เร็วขึ้น
สรุปได้ว่า การบูลลี่เป็นพฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออก 3 ทาง คือ
1) ทางร่างกาย เช่น การทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ รังแก กลั่นแกล้ง
2) ทางวาจาหรือคำพูด เช่น การด่าทอ การพูดส่อเสียด ใส่ร้ายป้ายสี
3) ทางสังคม เช่น การประจานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ด้วยการโพสต์ถ้อยคำภาษาไม่สุภาพ โดยมีเจตนาทำให้ผู้ถูกบลูลี่เกิดความอับอาย วิตกกังวล เครียด เก็บกด ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจผู้ถูกกระทำถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า นับเป็นการสร้างบาดแผลทางใจที่เจ็บปวดไม่น้อย ถึงฆ่าตัวตาย ดังที่เป็นข่าว
นอกจากนี้ การบูลลี่อาจเกิดกับบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ในทางพระพุทธศาสนาพฤติกรรมการบูลลี่เข้าข่ายผิดศีล 5 ข้อที่ 1 และข้อ 4
อย่างไรก็ตาม ในโลกความเป็นจริง การไม่ถูกบูลลี่นั้นเป็นเรื่องยาก มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ล้วนต้องประสบพบเจอด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอในรูปแบบไหน เรื่องอะไร ชั่วคราวหรือบ่อยๆ ซ้ำๆ เจอแบบซึ่งๆ หน้าหรือลับหลัง
ดังนั้น การทำความเข้าใจโลกตามความเป็นจริงจึงมีความสำคัญซึ่งจะทำให้เราสามารถรับมือกับการบูลลี่ได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดกระแสความรุนแรง และความต้องการเอาชนะของผู้บูลลี่ กระทั่งเลิกบูลลี่ในที่สุด ก็คือ การมีสติ อดทน นิ่งให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็หาแนวทางแก้ไขควบคู่กันไปด้วย และชี้แจงให้ชัดเจนด้วยถ้อยคำสุภาพ เมื่อมีโอกาส
ในวสลสูตร ว่าด้วยลักษณะคนเลว เป็นการกล่าวถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพราหมณ์ เรื่องมีอยู่ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ตอนเช้าพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในที่อยู่ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ผู้เคร่งในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งกำลังทำการบูชาไฟ เมื่อเห็นพระพุทธองค์เสด็จมา เขาได้ส่งเสียงร้องบอกว่า
1
“หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละคนเลว” (คนถ่อย) ซึ่งเป็นคำเรียกด้วยความดูถูกเหยียดหยาม แต่พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถามไปอย่างปกติว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จักคนเลวหรือธรรมที่ทำให้คนเป็นคนเลวหรือไม่” เมื่อเขาบอกว่าไม่รู้ พระองค์ก็ทรงแสดงธรรม คือ ลักษณะคนเลว 20 ประการ
“บุคคลไม่ได้เป็นคนเลวเพราะชาติ ไม่ได้เป็นพราหมณ์เพราะชาติ แต่เป็นคนเลวเพราะกรรม เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ท่านจงรู้ข้อนั้นฯ” ซึ่งทำให้พราหมณ์ได้เข้าใจธรรมแจ่มแจ้ง กล่าวชมพระพุทธองค์ว่าแสดงธรรมได้แจ่มแจ้ง ไพเราะ ชัดเจน เสมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือจุดประทีปในที่มืด พราหมณ์ก็ได้ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่บัดนั้นจนตลอดชีวิต
จากเรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมของพระพุทธองค์ คือ ขันติ (อดทน) และโสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยมทางกาย และทางใจ) ควบคุมอารมณ์ มีใจเย็น รักษาใจผ่องใสตลอดเวลา ไม่ตอบโต้ในทางที่ไม่ดี ในหลายๆ เหตุการณ์ที่พระองค์ถูกบูลลี่จากบุคคล และกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง
แต่ด้วยคุณสมบัติของความเป็นกัลยาณมิตรในพระองค์ อันประกอบด้วย ความมีเมตตา ไม่ถือตัว มีความอดทน ยุติธรรม รอบคอบ มีความประพฤติน่าเคารพบูชา รวมถึงสามารถอธิบายธรรมจนเข้าใจแจ่มแจ้งได้ ชอบคำกล่าวที่ว่า “ชมให้เขาเอียน ดีกว่าติเตียน ให้เขาอัด” ก็คือ ชมหรือพูดจาดีดีให้เขาเคลิบเคลิ้มจนหลงรักเรา ดีกว่าด่าว่าให้เขาเจ็บใจจนกระทั่งโกรธหรือเกลียดเรานั่นเอง
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย และเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ อาศัยโลกนี้อยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เสียเวลาเปล่าที่ต้องมากลั่นแกล้ง รังแก เบียดเบียนกันอยู่อย่างนี้ เอาเวลาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นจะดีกว่า
3
พึงระลึกไว้ว่า การอยู่ร่วมกันนั้น ย่อมมีกระทบกระทั่ง มีสิ่งไม่ตรงใจบ้าง เพราะคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ย่อมมีข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย จึงต้องใช้สติ อดทน นิ่งเฉยบ้างในบางสถานการณ์ และให้อภัย ไม่เก็บทุกเรื่องมาทำให้เสียอารมณ์ เมื่อใดก็ตามหากจะหยิบยื่นความคิด คำพูดหรือการกระทำใดๆ ให้กับผู้อื่น
ควรพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช้ปากของเราหรือของใครไปทำร้ายคนอื่นให้เจ็บช้ำน้ำใจ ถ้อยคำในโลกนี้มีมากมาย เลือกเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ การให้คำพูดดีดี เป็นการให้ที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเงินหรือปัจจัยใดใด หากเราได้ฝึกการพูดหรือการใช้ถ้อยคำที่เป็นปิยวาจา สัมมาวาจา วาจาสุภาษิต ก็จะเป็นการสร้างมิตร และนำพาให้ชีวิตประสบแต่ความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไป
อ้างอิง: วสลสูตร ว่าด้วยลักษณะคนเลว (ขุ.สุ. (ไทย) 25/116-142/528-533 มจร.)
ที่มา: stopbullying.gov, ceoworld.biz
เอื้อยทิน บอกเว่าเล่าสู่ฟัง
ขอบคุณภาพจาก winnews
โฆษณา