4 เม.ย. 2021 เวลา 05:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Lab-Grown Meat ความหวังที่อาจเป็นภัยคุกคามในอนาคตของเกษตรปศุสัตว์
จากคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกจะมีจำนวน 9.7 พันล้านคน ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น 70% ซึ่งปริมาณขนาดนี้ จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแต่ก็ต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ความกังวลหนึ่งของอุปทานด้านอาหารคือ โปรตีน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 404 ล้านตัน จาก 202 ล้านตัน ขณะที่แหล่งโปรตีนส่วนใหญ่มาจากการทำเกษตรปศุสัตว์
การทำปศุสัตว์ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วน 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตขึ้น มีการใช้น้ำเป็นสัดส่วน 46.5% จากปริมาณน้ำที่ใช้ทั้งหมด อีกทั้ง 1 ใน 3 ของธัญพืชที่ผลิตได้ต้องนำมาเลี้ยงสัตว์แทนที่จะมาเป็นอาหารของมนุษย์โดยตรง จึงเป็นที่มาของการคิดค้นโปรตีนทางเลือก เพื่อลดโอกาสของปัญหาสิ่งแวดล้อมหากต้องเพิ่มปริมาณการผลิตโปรตีน
ณ ปัจจุบัน โปรตีนทางเลือกที่เริ่มนำมาใช้บริโภคแล้ว เช่น โปรตีนจากพืช และโปรตีนจากแมลง โปรตีนอย่างแรก มีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่รสชาติยังไม่ให้ความรู้สึกแบบเนื้อ 100% จึงเหมาะกับกลุ่มที่เน้นการควบคุมคอเลสเตอรอลและกลุ่มมังสวิรัต ขณะที่โปรตีนอย่างหลัง ยังไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนในวงกว้าง และการแปรรูปให้เสมือนวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อาหารน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
จึงมีการนำเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเซลล์จากสัตว์ให้กลายมาเป็นเนื้อที่เรารับประทาน โดยเรียกว่า lab-grown meat ซึ่งเป็นการนำสเต็มเซลล์มาเพาะเลี้ยงให้เซลล์เพิ่มจำนวนและเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และไขมัน คล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ ผ่านการควบคุมอาหารเลี้ยงประกอบด้วย ธาตุอาหาร ฮอร์โมน และสภาวะแวดล้อมในการเลี้ยง เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดด่าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรับปรุงการเลี้ยงให้รสและเนื้อสัมผัสเหมือนจริงที่สุด จุดเด่นของ lab-grown meat คือ ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าการทำปศุสัตว์ ไม่ต้องทำการฆ่าสัตว์ เลี้ยงในระบบที่มีความสะอาดจึงปลอดภัยจากการปนเปื้อนของเชื้อโรค ไม่ต้องพะวงกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ใช้ในปศุสัตว์เพื่อป้องกันไม่ใช้สัตว์มีโรค โดยทางองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตประมาณ 7 แสนคน จากเชื้อโรคดื้อยาซึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050
แต่ข้อจำกัด ณ ปัจจุบัน เป็นเรื่องของการลดต้นทุนของกระบวนการผลิต เช่น อาหารที่นำมาเลี้ยงเซลล์มีราคาสูง และยังเป็นวัตถุดิบที่สกัดมาจากสัตว์ ค่าใช้จ่ายโรงเรือนและระบบในการควบคุมสภาวะต่างๆ ของการเลี้ยง และการ scale-up ให้ได้กำลังผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ในปี ค.ศ. 2013 Mosa Meats ผลิตแฮมเบอร์เกอร์จากแล็บชิ้นแรกซึ่งมีราคา 3 แสนเหรียญ แต่ในปีที่ผ่านมา JUST สามารถทำนักเก็ตไก่ด้วยต้นทุน 50 เหรียญ และล่าสุดทาง Mosa Meats ก็มีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตเบอร์เกอร์จากแล็บในราคาเพียง 9 เหรียญ และออกสู่ตลาดภายในปีนี้ได้ (ราคาของเบอร์เกอร์จากสัตว์อยู่ที่ 1 เหรียญ)
นอกจากการลดต้นทุนแล้ว คงเป็นการสร้างความยอมรับของผู้บริโภค เนื่องจากผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า 57% ของกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับที่จะบริโภคเนื้อจากแล็บในราคาที่เท่ากัน แต่กลุ่มที่เหลือมีความกังวลถึงผลเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น และมองว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มอายุ 18-29 ปี และ 30-39 ปี ให้การยอมรับในระดับสูง และสูงกว่าการยอมรับของกลุ่มอายุ 55 ปี ขึ้นไป ถึง 5 เท่า
เมื่อมาดูในมุมการเติบโตของเทคโนโลยี จากคาดการณ์ของ Market Data Forecast คาดว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 เนื้อจากแล็บจะมีมูลค่า 572 ล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโต 15% ต่อปี ขณะที่ Informa Agribusiness Intelligence รายงานว่าภายในปีนี้ ตลาดเนื้อทดแทนในสหราชอาณาจัการ จะเติบโต 25% และนมทดแทนเติบโต 43% ซึ่งก็เป็นผลดีต่อความต้องการของเนื้อจากแล็บที่จะเพิ่มขึ้น และในปี ค.ศ. 2040 เนื้อจากแล็บจะมีส่วนแบ่งประมาณ 40% ของเนื้อที่ใช้ในการรับประทาน
ปัจจุบันมีประมาณ 40 บริษัท ที่พัฒนา lab-grown meat และเป็นเนื้อสัตว์ต่าง เช่น Mosa Meat (เนเธอแลนด์) ทำเนื้อวัวจากแล็บ, Eat Just (สหรัฐอเมริกา) ทำเนื้อไก่จากแล็บ, Avant Meats (ฮ่องกง) ทำเนื้อปลาจากแล็บ, Shiok Meats (สิงคโปร์) ทำเนื้อกุ้งจากแล็บ เป็นต้น จากความน่าสนใจที่กล่าวมาจึงมีเงินลงทุนเข้ามาในธุรกิจนี้เพิ่มขึ้น เช่น Mosa Meat ได้รับเงิน 61.8 ล้านยูโร ในการระดมทุนซีรี่ย์บี, Memphis Meats ได้รับเงิน 161 ล้านเหรียญ ในการระดมทุนซีรีย์บี, Aleph Farms ระดมทุนในซีรีย์เอ จำนวน 26.4 ล้านเหรียญ เป็นต้น นอกจากนี้ก็พบว่าคนที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น บิล เกตส์, ริชาร์ด แบรนสัน และ ลีกาชิง หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่าง Tyson Foods ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและเข้าลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่ได้กล่าวมา
จากตรงนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านปศุสัตว์รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน เช่น อาหาร โรงเรือน ยาปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่าจะยังไปได้แต่การทดแทนนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนรวมถึงยอดขาย เพราะถึงแม้การรับประทานเนื้อสัตว์จากปศุสัตว์จะไม่หมดไป แต่ก็อาจจะไม่คุ้มหรือทำให้ขาดทุนจนถึงขั้นต้องเลิกกิจการก็เป็นได้
…………………………….
Thomas, C. D., Cameron, A., Green, R. E., Bakkenes, M., Beaumont, L. J., Collingham, Y. C., … Williams, S. E. (2004). Extinction risk from climate change. Nature, 427(6970), 145–148. doi:10.1038/nature02121
…………………………….
What’s stopping lab meat technology from taking over the meat industry?
…………………………….
The Myth of Cultured Meat: A Review
…………………………….
Lab-Grown Meat: What Is Cultured Meat and How Is It Made? https://t.ly/hbLr
…………………………….
Would you eat ‘meat’ from a lab? Consumers aren’t necessarily sold on ‘cultured meat’ https://t.ly/JbCF
…………………………….
Global Cultured Meat Market Analysis by Source
…………………………….
The Problem With Eating Lab-Grown Meat https://t.ly/RdUq
…………………………….
#BiotechAnalyst #FutureIsNow #TheFuturist #LabGrownMeat
โฆษณา