4 เม.ย. 2021 เวลา 12:57 • ประวัติศาสตร์
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (Pope John Paul II): ผู้ประทานเสรีภาพแด่โปแลนด์
ภาพจากวิกิพีเดีย
"โคลน" ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำโด่งดังที่ฮือฮาไปทั่วโลก ภายหลังจากมีข่าวว่านักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบัน "โรสลิน" (The Roslin Institute) แห่งสก็อตแลนด์ สามารถเพาะลูกแกะจากเซลล์ของแม่แกะได้เป็นครั้งแรกในโลก ต่อจากนั้นไม่นานนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯก็ประกาศออกมาบ้างว่า พวกตนสามารถสร้างลิง 2 ตัวขึ้นมาจากการถ่ายโอนสารลักษณะทางพันธุกรรมได้สำเร็จและถือเป็นครั้งแรกของโลกสำหรับการสร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
ดอลลี่ (Dolly) ลูกแกะตัวแรกของโลกที่ถูกเพาะจากเซลล์ของแม่แกะ
วิธีการสร้างลูกแกะและลูกลิงขึ้นตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยไม่ต้องพึ่งพาการผสมพันธุ์ตามธรรมชาตินี้ เขาเรียกกันว่า โคลน (CLONE)
อันที่จริงแล้ว เรารู้จักการโคลนกันมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในชาวสวนชาวนาที่ทำงานด้านการเกษตรทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องการโคลนโดยไม่รู้ตัวมานับศตวรรษแล้ว
แต่เราเรียกมันว่า การตอน การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง และการติดตา
มนุษย์ค้นพบวิธีการขยายพันธุ์โดยไม่ต้องอาศัยการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติจากพืชก่อน จากนั้นจึงเริ่มหันมาใช้วิธีเดียวกันกับสัตว์ที่จำเป็นต้องใช้เนื้อเป็นอาหาร เช่น วัว แกะ ทำให้สามารถเพาะลูกวัวและลูกแกะได้ถึงคราวละ 32 ตัว แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่มีใครคิดสร้างสัตว์ที่มีลักษณะเหมือนคนเช่นลิงมาก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวของโคลนแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก จนไม่ถือว่าเป็นความลับสุดยอดอีกต่อไป ทำให้มีนักประพันธ์หลายคนนำเรื่องราวของการโคลนไปเพิ่มเติมสีสันและจินตนาการเขียนเป็นนิยายขึ้นอย่างสนุกสนานมากมายหลายเรื่อง
แม้แต่ในรัสเซียขณะที่ยังรวมเป็นสหภาพโซเวียตอยู่ก็ค้นคว้าเรื่องการโคลนกันอย่างแพร่หลาย จนมีนักเขียนชื่อ ลีโอนิด บากาเรียด นำไปผูกเป็นนิยายเรื่อง เปียท ปรีซีเด้นตอฟ ซึ่งแปลว่า ประธานาธิบดี 5 คน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะเนื้อหาเรื่องราวแปลกประหลาดกว่าที่คนทั่วไปเคยรู้ นั่นคือมีการเพาะสร้างประธานาธิบดีด้วยวิธีโคลนขึ้นมาถึง 4 คน รวมกับคนที่เป็นต้นแบบซึ่งเป็นคนที่ 5 แล้วก็ทำให้เกิดเรื่องราวสนุกสนานมากมาย
แม้ทุกวันนี้เรื่องราวของการเพาะมนุษย์โดยไม่อาศัยพ่อแม่ตามธรรมชาติก็ยังเป็นที่นิยมของนักเขียนและนักสร้างภาพยนตร์ ในทันทีที่เรื่องราวของการสร้างแกะและลิงลือกระฉ่อนโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง วงการผลิตภาพยนตร์ที่ฮอลลีวูดก็รีบนำหนังแนวนี้ทั้งที่เคยสร้างเอาไว้แล้วและสร้างใหม่ออกมาฉายทันที ซึ่งก็เชื่อมั่นว่าคงจะได้รับความสนใจจากผู้ชมทั่วโลกอย่างมหาศาล เพราะพวกเขาต้องการรู้ว่า เราสร้างคนที่มี
ทุกอย่างเหมือนต้นแบบเดิมจริง ๆ ได้หรือ และถ้าได้โลกจะเป็นอย่างไร
แม้ว่าวันนี้จะมีข่าวที่เปิดเผยออกมาเพียงว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะลูกแกะและลูกลิงขึ้นมาได้เท่านั้น แต่นั่นก็มีหมายความแฝงเร้นอยู่ลึกว่า การสร้าง
มนุษย์ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป
ทั้งที่บรรดานักวิทยาศาสตร์จะพากันยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ใช้สิ่งที่ค้นพบนี้ ในการสร้างมนุษย์เป็นอันขาด กระนั้นก็ยังไม่วายสร้างความหนักอกหนักใจและห่วงใยให้กับผู้คนมากมาย หนึ่งในจำนวนผู้ต่อต้านและเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ทั่วโลกออกกฎหมายห้ามการสร้างมนุษย์ด้วยวิธีการโคลน เพราะถือเป็นความผิดทางศีลธรรม และมรรควิถีของธรรมชาติอย่างมาก ก็คือ สำนักวาติกัน ซึ่งมีสมเด็จพระสันตะปาปา
จอห์น ปอลที่ 2 เป็นองค์พระประมุข
พระสันตะปาปาพระองค์นี้ ทรงเป็นนักต่อสู้และเรียกร้องสิ่งดีงามเพื่อสังคมและประเทศชาติ ครั้งหนึ่งการเรียกร้องของพระองค์มีส่วนผลักดันให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตรัสเซียล่มสลายและโปแลนด์ได้รับอิสรภาพ
โปแลนด์เป็นดินแดนเก่าแก่ที่กว้างใหญ่ไพศาล ในอดีตเคยประกอบด้วยอาณาจักรต่าง ๆ มากมาย เช่น อาณาจักรซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนแถบลุ่มน้ำวิสตุลา ซึ่งมีกรุงวอร์ซอเป็นเมืองหลวง อาณาจักรแกรนด์ ดัชชี ออฟ ลิธัวเนีย อาณาจักรลิตเติลรัสเซีย อาณาจักรยูเครน แม้ว่าในศตวรรษที่ 17 จะสูญเสียลิธัวเนียและเมืองเคียฟให้แก่รัสเซีย แต่โปแลนด์ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นมหาอาณาจักรที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลอยู่นั่นเอง
ปัญหาภายในและความอ่อนแอของผู้ปกครองทำให้โปแลนด์ไม่สามารถเป็นประเทศมหาอำนาจยุโรปได้ นอกจากนั้นยังทำให้อาณาจักรต่างๆ ถูกประเทศรอบๆ
ยึดครองไป
ประมาณศตวรรษที่ 18 โปแลนด์ก็ตกเป็นของรัสเซีย หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้เอกราช และตั้งประเทศขึ้น แต่ก็เป็นเอกราชที่ไม่ถาวรเท่าใดนัก เพราะ อีกไม่กี่ปีต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็กรีฑาทัพบุกเข้ายึดโปแลนด์ทางทิศตะวันตก พร้อมๆ กับสตาลินส่งกองทัพโซเวียตบุกเข้ายึดโปแลนด์ทางทิศตะวันออก
Hitler & Stalin
เมื่อนาซีแพ้สงคราม โซเวียตก็รวบหัวรวบหางโปแลนด์เอาไว้ทั้งหมด โดยไม่ยอมถอนตัวออกมาทั้งที่สงครามยุติลงแล้ว ประชาชนชาวโปแลนด์จึงต้องรับการปกครองในระบอบสังคมนิยมเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตตั้งแต่นั้นมา
กระทั่งบ่ายสี่โมงของวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1979 ประชาชนโปแลนด์ที่เคยถูกกดอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของชาติอื่นมานานนับศตวรรษจำนวนกว่า 300,000 คน ก็มารวมกันที่จตุรัสวิคตอรีในกรุงวอร์ซอ เพื่อเฝ้ารอรับบุคคลผู้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่สายเลือดโปแลนด์ ซึ่งกำลังเดินทางมาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเพื่อต่อสู้และเรียกร้องให้ชาติผู้ปกครองหยิบยื่นเอกราชและเสรีภาพอันชอบธรรมกลับคืนสู่หัวใจชาวโปแลนด์อย่างสงบ อีก 11 ปีต่อมาประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบก็เป็นของประชาชนชาวโปแลนด์
อย่างแท้จริง สิ่งที่ชาวโปแลนด์ทั้งมวลไม่เคยลืมเลยก็คือ บุคคลผู้จุดชนวนแห่งการต่อสู้และเรียกร้องอย่างสงบให้แก่ประชาชนโปแลนด์ทุกคนจนได้รับอิสรภาพเสรีภาพและเอกราชคืนมา...
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ณ จตุรัสวิคตอรี่
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เป็นประมุขแห่งนิกายโรมันคาทอลิก พระองค์แรกของโปแลนด์ และเป็นพระองค์แรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียน หลังจากที่พระ
สันตะปาปาอาเดรียนที่ 6 เป็นชาวดัทซ์เมื่อ 445 ปีที่ผ่านมา
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ประสูติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1920 ที่เมืองวาโดวิซี (Wadowice) อันเป็นเมืองอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ของโปแลนด์ พระบิดาเป็น นายทหารแห่งกองทัพโปแลนด์ ยศร้อยโท ชื่อ คารอล วอยตีวา (Karol Vojtyla) (1879–1941) ส่วนพระมารดาชื่อ อีมิเลีย วอยตีวา (Emilia Vojtyla) (1884–1929)
เมืองวาโดวิซีในปัจจุบัน
วัยเด็กมารดาตั้งชื่อให้ว่าคารอลเช่นเดียวกับบิดา แต่มักเรียกเล่นๆ ว่า โลเลก
โลเลกมีพี่ชายคนหนึ่งอายุแก่กว่า 13 ปี ชื่อเอ็ดมุนด์ (Edmund) ขณะที่พี่ชายไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน คารอลจะอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของมารดา ซึ่งนับตั้งแต่บุตรชายคนเล็กเกิด ก็ใฝ่ฝันที่จะให้เติบโตขึ้นเป็นนักบวช ดังนั้นจึงพยายามอบรมสั่งสอนศีลธรรม และอ่านเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลให้ฟังเสมอ
เมื่ออายุ 6 ขวบ มารดาก็เริ่มมีสุขภาพทรุดโทรมล้มป่วยเพราะโรคปวดหลังอยู่เสมอ ขณะนั้นเอ็ดมุนด์เข้าเรียนในวิชาแพทย์ศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคราคอฟได้แล้ว
ส่วนคารอลก็เริ่มเรียนในระดับประถมศึกษา โดยสามารถทำคะแนนได้อย่างน่าพอใจ
อีก 2 ปีต่อมาอีมิเลียก็ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจและตับ แพทย์ดูแลอาการอยู่ไม่กี่วันก็สิ้นชีวิต ทำให้คารอลเสียใจมาก ความร่าเริงแจ่มใสและขี้เล่นที่เคยมีอยู่มลายหายไปอย่างหมดสิ้น
เด็กทั้งสองต้องอยู่ในความดูแลของบิดาซึ่งอายุมากแล้วเพียงลำพัง โดยเฉพาะคารอลซึ่งยังเด็กมาก โชคดีที่ร้อยโทคารอลเป็นคนใจดีและรักลูกมากจึงเอาใจใส่ดูแลคารอลอย่างใกล้ชิดตลอดมา
มีเรื่องเล่ากันว่า นอกเหนือจากอบรมเลี้ยงดูให้ความรักและฝึกฝนระเบียบวินัยต่างๆ อย่างดีแล้ว สิ่งที่ผู้เป็นพ่อจะต้องทำร่วมกับลูกชายคนเล็กเป็นประจำก็คือ สวด
มนต์และเล่น มีอยู่ครั้งหนึ่งถึงขนาดจัดบ้านให้เป็นสนามฟุตบอลเพื่อออกกำลังกายกับคารอลน้อยเลยทีเดียว
หลังจากมารดาเสียชีวิตไป ความรักและความศรัทธาในชีวิตของคารอลทั้งหมด ก็ทุ่มเทไปให้แก่บิดาและพี่ชาย ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้วก็เข้าทำงานเป็นแพทย์ประจำร้านอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งเมืองเบลซโก แต่ต่อมาไม่นานนักเอ็ดมุนด์ก็ติดโรคไข้อีดำอีแดง (Scalet fever) จากคนไข้ที่เขารักษาอยู่จนเสียชีวิตไปอีกคนหนึ่ง สิ่งนี้สร้างความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่เด็กชายคารอลเป็นอันมาก
ขณะเรียนหนังสืออยู่ในชั้นมัธยม คารอลได้ร่วมแสดงละครกับเพื่อน ๆ และรู้สึกชอบงานนี้มากถึงขนาดตั้งใจว่า เมื่อเติบโตขึ้นจะต้องเป็นนักแสดงหรือนักเขียนให้ได้ แต่ความฝันนั้นก็พังทลายลงอย่างยับเยินอีกครั้งหนึ่ง เพราะหลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาแล้ว บิดาก็ย้ายครอบครัวไปยังคราคอฟ (Krakow) เพื่อให้คารอลได้เข้าเรียนต่อใน มหาวิทยาลัยลอเญน แต่ในช่วงเวลานั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็สั่งให้กองทัพนาซียกพลบุกเข้ายึดโปแลนด์เสียก่อน จึงทำให้ไม่สามารถได้เข้าเรียนต่อดังที่หวัง นอกจากนั้นยังถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นกรรมการทำงานหนักอยู่ในเหมืองด้วยความทุกข์ยากและลำบากอย่างแสนสาหัส
ช่วงนี้บิดาเริ่มมีอาการป่วย จากนั้นก็ทรุดลงเรื่อย ๆ เพราะขาดอาหาร และอากาศอันหนาวเย็น ในที่สุดก็เสียชีวิตลง สร้างความสะเทือนใจแก่คารอลเป็นอย่างมาก
การสูญเสียคนที่รักในเวลาที่ไม่ห่างกันนักทำให้เด็กหนุ่มที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปีเต็มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง หลังจากขบคิดอย่างหนักแล้ว คารอลก็มองเห็นว่าไม่มีวิธีใด
ที่จะให้ความสุขแก่ตนอย่างแท้จริงเท่ากับการหันหน้าเข้ายึดมั่นในศาสนา
คารอลเข้าพบอาร์ชบิชอปแห่งคราคอฟและขอบวชเป็นพระสงฆ์ในนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งก็ได้รับตามคำขอ แม้ว่าระหว่างนั้นโปแลนด์จะอยู่ในปกครองของนาซี ซึ่งห้ามไม่ให้มีการบวชพระสงฆ์ก็ตาม อาร์ชบิชอปแห่งคราคอฟผู้มองเห็นความศรัทธาอันแรงกล้าในแววตาของเด็กหนุ่มพยายามวิ่งเต้นช่วยเหลือจนไม่มีชื่อของคารอลอยู่ในบัญชีกรรมกรที่เหมือง ซึ่งก็หมายความว่าคารอลได้เกิดใหม่ในศาสนาที่เขายึดมั่นและศรัทธาอย่างแท้จริงแล้ว
John Paul II Centre @Krakow
สิ้นสงครามนาซีถอนตัวออกไป ทหารแดงของโซเวียตก็ก้าวเข้ามาแทน พระหนุ่มคารอลเดินทางไปยังกรุงโรมเพื่อศึกษาศาสนาเป็นเวลาปีครึ่ง ก่อนเดินทางกลับไปทำงานอยู่ที่โบสถ์เล็ก ๆ ในชนบทที่ห่างไกลและกันดารในเมืองคราคอฟอยู่หลายปี จึงได้รับคำสั่งให้ย้ายเข้ามาประจำอยู่ที่โบสถ์เซนต์ฟลอเรียน (St.Florians) ซึ่งเป็นโบสถ์ประจำมหาวิทยาลัยในเมืองคราคอฟ
ด้วยเหตุที่โปแลนด์อยู่ใต้การปกครองของโซเวียตรัสเซีย ดังนั้นจึงต้องใช้ระบอบสังคมนิยมตามไปด้วย การทำงานของพระสงฆ์จึงต้องซ่อนเร้นและระมัดระวังเพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของตำรวจลับ ซึ่งจะจับและลงโทษอย่างรุนแรง นอกจากต้องแต่งตัวตามแบบที่คนธรรมดาสามัญทั่วไปแต่งกันแล้ว ยังต้องเรียกตัวเองอย่างปิดบังฐานะที่แท้จริงด้วย
สำหรับพระหนุ่มคารอลเต็มใจให้นักศึกษาหนุ่มสาวที่ทำงานด้วยเรียกท่านว่า อา
เมื่ออายุ 38 ปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งคราคอฟ และอาร์ชบิชอป ในเวลาต่อมา สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั่วไปของอาร์ชบิชอปผู้นี้ก็คือ การทำงาน
ด้วยความมั่นคง แน่วแน่ และไม่เกรงกลัวต่อระบอบคอมมิวนิสต์ ประมาณปี ค.ศ.1957 ก็ได้รับแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ให้เป็นพระคาร์ดินัล ขณะที่มีอายุเพียง 47 ปี
พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงสนิทสนมรักใคร่และโปรดปานพระคาร์ดินัลหนุ่มผู้นี้มาก มักเรียกให้ไปเฝ้าเป็นการส่วนตัวที่กรุงโรมเสมอ สิ่งที่ทำให้พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงชื่นชมในตัวพระคาร์ดินัลคารอลมากที่สุดคือความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องสามารถใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วถึง 6 ภาษา คือ ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาเลียน และภาษาสเปน ยังไม่นับรวมภาษาโปล อันเป็นภาษาประจำชาติอีกภาษาหนึ่ง
กลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 1978 มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นนั่นคือ มีการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหมสืบต่อจากพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 ซึ่งสิ้นพระชนม์ลง การเลือกตั้งครั้งนี้เวลานานถึง 50 ชั่วโมง ซึ่งนานกว่าที่เคยมีการตั้งพระสันตะปาปามาก่อน และสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นยินดีให้แก่ชาวคาทอลิกทั่วโลกก็คือ พระสันตะปาปาองค์ใหม่ของพวกเขาคือ พระคาร์ดินัลคารอล วอยตีลา แห่งคราคอฟ
สิ่งแรกที่พระสันตะปาปาองค์ใหม่ทำก็คือ สัญญาว่าจะสนับสนุนบรรดาบิชอปทั้งหลายในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียตให้กล้าเผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์
จากนั้นพระองค์เสด็จเยือนกรุงวอร์ซออันเป็นเมืองบ้านเกิดอย่างเปิดเผยโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลและอำนาจของผู้ปกครองฝ่ายโซเวียต ซึ่งมี ลีโอนิด เบรชเนฟเป็นผู้นำ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างชื่นชมยินดีของประชาชนชาวโปแลนด์กว่าสามแสนคน
จากนั้นพระองค์ก็ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วยวิถีทางของพระองค์ จนกระทั่งโปแลนด์ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา
นี่คือผลแห่งการเรียกร้องครั้งยิ่งใหญ่ของประมุขแห่งสำนักวาติกันองค์ที่มีชื่อเสียงที่สุด...
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2
#PassiveDeathWish
#รบชนฮซหคชห

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา