Podcast...รายการหนึ่งถ้วยกาแฟ พม่าใกล้ล่ม
ทั้งพนักงานธนาคาร, แพทย์ พยาบาล, วิศวกรนายช่าง, เจ้าหน้าที่ศุลกากร, กรรมกรท่าเรือ, พนักงานรถไฟ, และคนงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต่างพากันผละงานเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน
พนักงานและข้าราชการซึ่งสไตรก์นัดหยุดงานเหล่านี้บางส่วนอยู่ในหมู่ประชาชนกว่า 550 คนที่ถูกสังหาร เมื่อตำรวจทหารพม่าเข้าปราบปรามสลายการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารอย่างสุดโหด เวลาเดียวกันยังมีคนอื่นๆ จำนวนมากซึ่งถูกจับกุมหรือสูญหายไปโดยไม่ทราบชะตากรรม
พวกเขาจำนวนมากบอกว่า คณะปกครองทหารนั่นแหละที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องมีการปฏิบัติการที่รุนแรง ถึงแม้พวกเขาไม่สามารถที่จะออกไปชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนเคียงข้างพี่น้องร่วมชาติจำนวนมากของพวกเขา
“ฉันไม่มีเงินเหลือแล้ว ฉันกลัว ฉันรู้สึกสยดสยอง แต่ฉันก็ไม่มีทางเลือกอื่น เราต้องช่วยกันโค่นล้มระบอบเผด็จการ” เอ พนักงานธนาคารวัย 26 ปีในนครย่างกุ้ง บอกกับเอเอฟพี
“เราไม่ออกไปเดินขบวนในถนน เรารู้สึกกลัวจนไม่กล้าให้มีชื่ออยู่ในบัญชีของทหารและถูกจับ” เธอบอก “การปฏิวัติของเราคือทำกันอย่างเงียบๆ”
การต่อต้านยังคงปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ถึงแม้ฝ่ายทหารที่อาศัยสื่อต่างๆ ของภาครัฐขอร้องและข่มขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีกให้ประชาชนกลับมาทำงาน และผู้นัดหยุดงานบอกว่าพวกเขากำลังเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
“ขบวนการของเรากำลังเติบโตขึ้น” ตอง พนักงานการบินพลเรือนบอกกับเอเอฟพี โดยระบุว่าในฝ่ายของเขาที่มีพนักงานราว 400 คน กว่าครึ่งหนึ่งทีเดียวไม่กลับไปทำงาน
“การเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูง”
ความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นมากำลังส่งผลกัดกร่อนบ่อนทำลายหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่ยากจนที่สุดของเอเชียแห่งนี้ ซึ่งถูกตีกระหน่ำจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ประชากรจำนวนถึง 1 ใน 4 ของพม่าทีเดียวต้องใช้ชีวิตด้วยรายได้วันละไม่ถึง 1 ดอลลาร์
เวลานี้ธนาคารโลกพยากรณ์ว่า จีดีพีของพม่าจะหดตัวถึง 10% ในปี 2021 เป็นการถอยหลังก้าวมหึมาของประเทศซึ่งได้เห็นการเติบโตขยายตัวอย่างเป็นกอบเป็นกำระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่นำโดยรัฐบาลพลเรือนของซูจี
อย่างไรก็ดี ฟรังซัวส์ นิโกลา ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝรั่งเศส (Ifri) บอกว่า “คณะปกครองทหารของพม่าไม่มีความพร้อมที่จะยอมรับการต่อต้านเช่นนี้” และเรียกการสไตรก์นี้ว่า เป็น “การเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูง”
จากการที่ภาคการธนาคารอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต พวกพนักงานของกิจการต่างๆ ก็กำลังเจอปัญหาการรับค่าจ้างเงินเดือน ขณะที่ตู้เอทีเอ็มตามที่ต่างๆ กลายเป็นตู้เปล่าๆ เบิกเงินสดไม่ได้
ภาคสิ่งทอของพม่า ซึ่งรุ่งเรืองในช่วงก่อนการยึดอำนาจ ด้วยจำนวนลูกจ้างพนักงานถึงราว 500,000 คน กำลังอยู่ในอาการพังครืน
พวกบริษัทต่างประเทศ เป็นต้นว่า H&M ของสวีเดน และ Benetton ของอิตาลี ต่างประกาศว่าพวกเขากำลังระงับออเดอร์ใบสั่งซื้อของพวกเขา เวลาเดียวกันพวกโรงงานสิ่งทอที่เป็นของทุนจีนและกำลังทำงานรับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ต่างๆ ของโลกตะวันตก ได้ถูกจุดไฟเผาผลาญ
ผลก็คือ ลูกจ้างพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจำนวนเป็นหมื่นๆ แสนๆ คน ไม่ได้รับค่าจ้าง และตัดสินใจกลับไปบ้านของพวกเธอตามหมู่บ้านในชนบท
ทว่า สำหรับเกษตรกร สถานการณ์ก็กำลังน่าเป็นห่วงเช่นกัน ต้นทุนของเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยกำลังขึ้นสูง ขณะเดียวกันค่าของสกุลเงินจั๊ตพม่ากำลังอ่อนตัวลงเรื่อยๆ ทำให้รายได้ของพวกเขาหดหาย
ในอีกด้านหนึ่ง ราคาข้าวของต่างๆ กลับพากันทะยานขึ้น
น้ำมันปาล์มใช้ประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้นราว 20% ในเมืองย่างกุ้งตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเป็นต้นมา ส่วนข้าวมีราคาเพิ่มกว่า 30% ในหลายๆ พื้นที่ของรัฐกะฉิ่น ภูมิภาคที่ยากจนทางภาคเหนือของพม่า ทั้งนี้ตามข้อมูลจากโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP)
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในย่างกุ้งวิ่งตะบึงสูงขึ้นเกือบๆ 50% ในเดือนมีนาคม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์อิรวดี
ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น วัสดุก่อสร้าง, อุปกรณ์ทางการแพทย์, และสินค้าผู้บริโภค ซึ่งปกตินำเข้าจากจีน กำลังพากันหายหน้าหายตาจากตลาด
“พวกผู้ประกอบการชาวจีนไม่ต้องการส่งออกมายังพม่าแล้ว เพราะประชากรพม่ากำลังคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของพวกเขา โดยกล่าวหาว่าปักกิ่งสนับสนุนคณะปกครองทหาร” เป็นความเห็นของ ทเว ทเว เตน อาจารย์ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเคอทิน ในออสเตรเลีย
ขุมทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านของคณะปกครองทหาร
ถึงแม้เกิดความปั่นป่วนผันผวนทางเศรษฐกิจ แต่คณะปกครองทหารยังคงทำหูทวนลมไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องของผู้ประท้วงอยู่นั่นเอง
ว่ากันที่จริงพวกเขายังคงสามารถพึ่งพารายรับหลายๆ ทางซึ่งไหลเข้ามาอยู่เรื่อยๆ อย่างสบายๆ ทั้งนี้ต้องขอบคุณกลุ่มกิจการทรงอำนาจแห่งต่างๆ ที่พวกเขาควบคุมอยู่ ซึ่งประกอบธุรกิจในภาคเศรษฐกิจต่างๆ อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การขนส่ง, การท่องเที่ยว, ไปจนถึงการธนาคาร กิจการเหล่านี้ได้จัดหาเงินทองให้ฝ่ายทหารเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์แล้วนับตั้งแต่ปี 1990 ตามข้อมูลขององค์การนิรโทษกรรมสากล
สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรได้ประกาศลงโทษคว่ำบาตรกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวพันกับทหารเหล่านี้แล้ว แต่ประเทศจำนวนมากซึ่งยังคงทำธุรกิจกับพวกเขาปฏิเสธที่จะกระทำตาม
กองทัพพม่ายังได้ประโยชน์จาก “ทรัพยากรไม่เป็นทางการต่างๆ ที่มีอยู่มากมายกว้างขวาง ในรูปของการลักลอบขุดตัดค้นหาทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิดอย่างผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า หยก และไม้ซุง” อาจารย์ ทเว ทเว เตน บอก
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังสามารถคาดหวังรายรับที่มีความสำคัญมากจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้อีกด้วย
เฉพาะ โททาล ยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสรายเดียวก็ต้องจ่ายเงินราว 230 ล้านดอลลาร์ให้แก่ทางการผู้รับผิดชอบของพม่าเมื่อปี 2019 และ 176 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ในรูปภาษีประเภทต่างๆ และ “ค่าสิทธิ์ในการผลิต” ทั้งนี้ตามเอกสารทางการเงินที่โททาลเผยแพร่
ผู้บริหารสูงสุดของโททาลกล่าวในวันอาทิตย์ ที่4 เม.ย.2564 ปฏิเสธไม่มีการหยุดผลิตก๊าซในพม่า ถึงแม้บอกว่า “แน่นอนทีเดียวเรารู้สึกโกรธเกรี้ยวจากการกดขี่ที่เกิดขึ้น” สิ่งที่บริษัทคิดจะทำก็อยู่ในรูปคำมั่นสัญญาที่จะให้เงินทุนแก่กลุ่มต่างๆ ซึ่งกำลังทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่า
นิโกลา ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝรั่งเศส บอกว่า หากการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ของคณะปกครองทหารยังคงไม่ถูกสกัดขัดขวางแล้ว ก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่พวกผู้ประท้วงและมหาอำนาจระหว่างประเทศจะสามารถทำให้พวกเขายอมรับฟังเสียงเรียกร้องต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพม่า
Referenc
เอเอฟพี