8 เม.ย. 2021 เวลา 03:10 • ท่องเที่ยว
สันลมจอย
แค่ชื่อก็สะดุดหูแล้ว สันลมจอยนี่มันที่ไหนกันนะ ทำไมชื่อคูลจัง...
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเราได้ไปร่วมกิจกรรม FAM Trip กับทาง ททท. เชียงใหม่ เป็นตัวแทนของบริษัทสยามร้าย ทราเวล เพื่อทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสันลมจอย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกิจกรรมหนึ่งวันที่จะได้ทำการเรียนรู้ชุมชน
พอพูดถึงชื่อของชุมชนแล้ว "สันลมจอย" คำว่าจอย อาจจะฟังคล้ายว่าเป็นภาษาอังกฤษ แต่จริงๆ แล้ว จอยนี้เป็นภาษาเหนือจ้าว แปลว่า อาการที่ลมโชยมาเบาๆ
ชุมชนสันลมจอยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งค่อนข้างจะใกล้เมืองเลย แต่การเดินทางก็ต้องมีรถส่วนตัวมาเองนะ
เราจะขอเล่าเรื่องกิจกรรมที่ไปทำในชุมชนในหนึ่งวันซึ่งทำร่วมกับตัวแทนภาครัฐฯ และเอกชน
กิจกรรมแรกของวันนี้คือการปั่นจักรยาน ซึ่งจุดนัดพบคืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์โดยมีบริษัท Trek with Jame เป็นผู้จัดหาจักรยานมาเตรียมให้ ทางกลุ่มจะปั่นต่อไปยังวัดพระสิงห์ วัดสวนดอก แวะกินโจ้กที่ตลาดต้นพยอม เราซึ่งบินจากสนามบินสุวรรณภูมิในตอนเช้ามืดวันนี้ ไปถึงก็เวลาทานข้าวเช้าพอดิบพอดี ส่วนของกิจกรรมปั่นจักรยานก็ได้ไปแค่วันอุโมงค์เท่านั้นเอง เราไม่ได้ปั่นกับพวกเขาเพราะกิจกรรมปั่นเกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว ก็แค่นั่งรถยนต์ไปจุดสุดท้ายอีกนิดนึงก็คือวัดอุโมงค์
ไกด์ไมค์คนนำทางจาก Trek with Jame (ซ้าย) และไกด์ชุมชน (ขวา) พี่พรรณ
วัดอุโมงนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงใหม่ที่คนนิยมมาเที่ยวค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่ไกลเมือง จุดเด่นของวัดคืออุโมงค์ที่ใช้ปฏิบัติธรรม อุโมงค์มีขนาดกว้างพอสมควร เดินได้สะดวกและรู้สึกถึงความแข็งแรง วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยล้านนาโดยพระเจ้ากือนา เมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว วัดมีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น คนนิยมมาปฏิบัติธรรม ส่วนสำคัญของวัดนั้นคืออุโมงค์ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการวิปัสนากรรมฐานของพระในสมัยก่อน
ภายในอุโมงค์
หลังจากเสร็จจากวัดอุโมงค์ จุดต่อไปเราเดินทางไปบ้านสำเนียงดินโดยรถราง การเดินทางก็ไม่ไกลจากวัดเท่าไหร่ ระหว่างทางก็ผ่านร้านกาแฟมากมาย พี่พรรณไกด์ท้องถิ่นบอกว่าร้านกาแฟผุดขึ้นเยอะมาก เพราะนักท่องท่องคนไทยนิยมมาถ่ายรูปกัน เท่าที่ทราบจากไกด์ท้องถิ่น ช่วงเวลาปกติ นักท่องเที่ยวกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคนจีนและต่างชาติ ตอนนี้ก็เลยทำให้เมืองดูเงียบเหงาเป็นอย่างมาก
รถรางที่ใช้ในการเดินทางวันนี้
แล้วรถรางก็พามาจุดที่สอง เราก็มาถึงบ้านสำเนียงดิน ได้พบกับเจ้าบ้าน อ.สมหมาย กิจกรรมที่เราจะทำกันนั้นคือการทำนกหวีดจากดินเผา
ในช่วงนี้ เราท่องเที่ยวในช่วงที่ต้องคำนึงถึงมาตราการของการป้องกันโรคระบาด ทุกจุดนั้นจะมีการตรวจวัดอุณภูมิและแจกเจลแอลกอฮอล์เกือบทุกที่
อ.สมหมาย กำลังสาธิตการเป่านกหวีด
ของเล่าความเป็นมาของบ้านสำเนียงดินสักหน่อย คือว่า อ.สมหมาย เจ้าของบ้าน เคยเป็น อ.สอนวิชาศิลปะมาก่อน ตอนนี้ อ.เกษียนแล้วแต่ก็ยังรักในศิลปะ เลยคิดค้นการทำนกหวีดจากดินเผาขึ้นมา ซึ่งเราก็พอรู้กันว่า จ.ลำปางที่ไม่ไกลจากเชียงใหม่นั้นมีแหล่งดินโคลนที่มีคุณภาพสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา อ.ก็เลยคิดค้นก็เลยผลิตภัณฑ์ที่น่ารักอย่างที่เห็น
คอเลคชั่นนกหวีดของ อ.สมหมาย
แต่วันนี้เราจะทำนกหวีดแบบง่ายๆ สไตล์ผู้ไร้ฝีมือก็ทำได้
วัสดุที่ใช้หลักๆ คือ 1. ดินโคลนที่มีการคัดเอาเม็ดทรายออก 2. โมลด์ ที่จะใช้ทำรูปทรงนกหวีด
3. อุปกรณ์ที่ใช้เจาะและตกแต่งดิน
ฝีมือพอได้ แก้หลายครั้งกว่าจะเป่าดัง
ขั้นตอนการเพ้นส์ลายก่อนนำไปเคลือบสี
จริงๆ แล้วหลังจากเราทำรูปทรงเสร็จ นกหวีดจะต้องนำไปตากแดดและไปเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 175 องศา ก่อนเอามาเพ้นต์ลาย แต่เนื่องจากเวลากลุ่มเรามีน้อย อ.เลยเตรียมนกหวีดไว้เพื่อให้เพ้นต์ลายไว้แล้ว
พอทุกคนได้รับนกหวีดกันคนละตัวหลังจากออกแบบลายด้วยตัวเอง ก็ถึงเวลาเคลื่อนย้ายไปยังจุดต่อไป คือบ้านพี่พรรณไกด์ชุมชน ซึ่งเป็นสถานที่ๆ พวกเราจะไปทำอาหารจากผักเชียงดาเพื่อทานเป็นมือกลางวันกันในวันนี้
ส่วนประกอบของยำผักเชียงดา
ผักเชียงดานั้นเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคเหนือจะออกในช่วงฤดูฝน ส่วนสรรพคุณนั้นมากมายยิ่งนัก ที่สำคัญคือ อร่อยยยย
ผักเชียงดาสดๆ หน้าตาอย่างนี้นะ
ยำผักเชียงดาฝีมือใครฝีมือมัน แล้วแต่ความชอบ
หลังจากชิมยำฝีมือตัวเอง แม่ครัวก็เอาอาหารพื้นบ้านมาเสริฟมื้อกลางวัน มีแกงเผ็ดผักเชียงดาใส่ปลาย่าง น้ำพริกมะเขือส้มหรือมะเขือเทศ แคปหมู กินพร้อมข้าวเหนียว
อาหารพื้นบ้าน ลำแต๊ๆ จ้าว
พอมีเวลาได้นั่งย่อยหลังมื้อกลางวันกันสักพัก สถานีต่อไปคือหมู่บ้านลีซู ซึ่งเราเดินทางกันแป้บเดียวก็ถึง
การต้อนรับที่นี่ดูอบอุ่น คนในหมู่บ้านแต่งตัวมาต้อนรับ มีทั้งคนหนุ่ม คนสาว คนแก่ เด็กน้อย
ชุมชนลีซอ หรือลีซู
ชาวลีซอ ที่คนทั่วไปเรียกนั้น หากในกลุ่มพวกเขาเองจะเรียกตัวเองว่าลีซู ชุมชนนี้ย้ายถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่กระจัดกระจายอยู่ทางภาคเหนือ ซึ่งในชุมชนสันลมจอยนี้มีอยู่ประมาณ 200 คน
การปลูกที่อยู่อาศัย หากดั้งเดิมก็จะใช้ไม้ไผ่ในการทำผนังบ้าน โดยที่จะหันด้านเรียบของไม้ไผ่ไว้ด้านในบ้าน ซึ่งหากคนข้างนอกมองเข้ามาจะไม่เห็นด้านใน แต่ด้านในนั้นจะสามารถมองเห็นคนด้านนอกได้ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของพวกเขา พื้นบ้านยังคงเป็นพื้นดิน คนในชุมชนจะมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเหนียวแน่น เช่นการนับถือผีบรรพบุรุษ ข้อห้าม ประเพณีและวิถีชีวิต ส่วนการแต่งกายก็จะใช้เครื่องประดับเงินเช่นชนเผ่าอื่นๆ
ภายในบ้านดั้งเดิมของชาวลีซู
ส่วนของครัว และอุปกรณ์เครื่องครัว
ส่วนของกิจกรรมที่เราจะได้ร่วมทำกับชาวชุมชนคือ การทำข้าวปุก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
ข้าวปุกนั้นถือเป็นขนมศักดิ์สิทธิ์ที่ทำมาจากข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ ตำผสมกับงานขาวคั่ว โดยจะใช้รางไม้กับด้ามไม้ทุบให้เหนียวหนืด และองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการทำขนมนี้คือคน ซึ่งจะใช้ผู้ชานเป็นผู้ตำ เพราะต้องใช้แรงเยอะมาก
ข้าวปุกจะทำ 2 ครั้งในหนึ่งปีคือช่วงปีใหม่และตรุษจีน โดยทุกครั้งนั้นจะต้องตำขนมครั้งแรกเพื่อเอาไหว้ศาลกับผี ครั้งถัดไปถึงจะเอามากินกัน
ได้ เมื่อก่อนนั้นการตำข้าวปุกถือว่าเป็นการหาคู่อีกทางหนึ่ง โดยผู้หญิงจะเลือกเฟ้นชายหนุ่มที่ตำข้าวปุกได้อย่างคล่องแคล่วและแข็งแรง ก็เหมาะที่จะนำมาทำเป็นสามี ส่วนทางผู้หญิงนั้นทางผู้ชายจะมองจากพฤติกรรมการห่อข้าวปุกว่ามีความปรานีตเรียบร้อยบรรจงแค่ไหน ซึ่งจะบ่งบอกถึงกิริยามารยาทและการรู้งานบ้านงานเรือน
ถ้าเราเป็นหญิงชนเผ่านี้คงขึ้นคานน่ะ ฮา
ฮุ่ยเล่ฮุ่ย ไม่ได้ตำกันง่ายๆ เลยนะ เพราะข้าวนั้นหนืดมาก
ข้าวปุกหลังจากถูกทุบแล้ว จะนำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วทำให้แบนในใบตอง
ทุกคนจะได้ลิ้มลองข้าวปุกและได้กลับเป็นของฝากคนละสองสามชิ้น รสชาติดี แนะนำให้จิ้มกับนมข้นหวานจะทำให้รสชาติอร่อยขึ้น
รสสัมผัสเหมือนขนมเข่งแต่จะหนืดกว่า
มาพูดถึงเก้าอี้บุญของชาวลีซูอีกหน่อย คือมันมาจากความคิดในเรื่องของความเมตตาและการแบ่งปัน การทำเก้าอี้เป็นการแบ่งปันที่พักให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา ที่เมื่อก่อนคนสมัยนั้นจะทำไร่ทำสวนกัน การทำเก้าอี้ให้คนนั่งระหว่างเดินทางก็เป็นการเอื้อเฟื้อกันทางหนึ่ง กลางวันก็ให้คนนั่ง ส่วนกลางคืนก็ให้ผีนั่ง ตามที่พ่อใหญ่ว่ามา พอพ่อใหญ่พูดคำนี้เท่านั้นแหล่ะ พี่ๆ ที่นั่งเก้าอี้บุญอยู่รีบลุกเลย
เก้าอี้ที่พี่ๆ เขานั่งกันอยู่เรียกว่าเก้าอี้บุญ หรือหละปะเต๋อ
เสร็จจากกินขนมเราก็ไปดูสินค้าชุมชน มีกระเป๋าสะพายข้างและปลอกหมอนที่เป็นลายเฉพาะของชาวลีซู พ่อใหญ่บอกว่ามีเอาไปขายที่ตลาดนัดจตุจักรด้วยนะ แต่เนื่องจากโรคระบาดก็ต้องหยุดขายไปก่อน ซึ่งพี่ๆ จากทาง AOT เชียงใหม่ก็ช่วยกันสนับสนุนสินค้ากันเป็นอย่างดี น่าชื่นชม
นักท่องเที่ยวคุณภาพที่ช่วยสนับสนุนชุมชน
หลังจากนั้นเราก็มาชมการเล่นดนตรีและการเต้นกวาเฉียะ
เครื่องดนตรีที่หนังทำมาจากหนังแลน
ล้อมวงเต้นกวาเฉียะ
กิจกรรมกับทางชุมชนนั้นสิ้นสุดที่หมู่บ้านลีซู ทางเราได้ร่ำลากับชุมชนและเดินทางต่อไปร้านกาแฟเพื่อสรุปข้อมูลและความคิดเห็นกัน ก่อนที่จะส่งไปเช็คอินที่พัก
คุณป้าและชุดแต่งกายของเขา
ทางนี้ได้จัดที่พักไว้ให้ที่โรงแรม Four O'clock ที่อยู่ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้องพักสะอาด เดินทางสะดวก มีสระว่ายน้ำ และทำเลใกล้กับแหล่งที่กินมากๆ ทำดีเลดีสุดๆ ไปเลย
ห้องพักพร้อมสระว่ายน้ำ
สิ้นสุดกิจกรรมในวันนี้ กลับมาเช็คอินแล้วมากระโดดน้ำสบายตัวสบายใจ ก่อนจะออกไปกินข้าวหลัง มช.
ขอขอบคุณ อาจารย์ดวงพร และคณะฯ ที่ให้การต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี รวมทั้งบริษัทสยามร้าย ทราเวลที่ได้ให้โอกาสเราได้เดินทางไกลเป็นทริปแรกของปีนี้เลย ฮูเล 💙
หากใครสนใจทำกิจกรรมกับชุมชนสันลมจอยนี้ ติดต่อพี่พรรณ (ไกด์ชุมชน) สุรีพรรณ ทองมณี
ได้ที่เบอร์โทร 084-0407964
โฆษณา