Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
After the Scene - ดูหนังดีมา เลยอยากหาเพื่อนคุย
•
ติดตาม
7 เม.ย. 2021 เวลา 14:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
หนังอาร์ตมาได้อย่างไร? (1) สรุปความ หนังสือ “หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย” โดย ธนา วงศ์ญาณณาเวช
วันนี้ After The Scene จะมาพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นความเรียงที่เข้มข้นมาก เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ “หนังอาร์ต” ซึ่งก็คือหนังแนวที่ดูยากๆ มีสัญลักษณ์และรหัสให้ตีความมากมาย โดยหนังอาร์ตพวกนี้ มักจะถูกเชื่อว่า มีศูนย์กลาง จุดกำเนิดอยู่ในยุโรป เราจะสรุปหนังสือเรื่อง “หนังอาร์ตไม่ได้มาเพราะโชคช่วย: ว่าด้วยการขึ้นมาเป็นศิลปะของภาพยนตร์ในสังคมบริโภค” โดยในวันนี้จะเป็นคิวของบทที่ 1 -3 กันค่ะ
“ภาพยนตร์ไม่ได้มี “ความเป็นศิลปะ” โดยธรรมชาติ ความคิดว่าด้วยความเป็นศิลปะของภาพยนตร์นั้นถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขบางอย่างในสังคมอเมริกาและยุโรปช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง...ไม่เว้นแม้แต่สำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพในสังคม”
“สุนทรียศาสตร์ในภาพยนตร์ศิลปะมุ่งตอบสนองผู้ชมที่มีการศึกษาจนสามารถรับเรื่องเล่าเชิงทดลองได้ ภาพยนตร์ศิลปะจึงเป็นภาพยนตร์ของชนชั้น เพราะสื่อสารได้แต่กับผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นสูงและชนชั้นกระฎุมพี ขณะที่สุนทรียศาสตร์แบบฮอลลีวูดมีเรื่องเล่าและโครงสร้างเพื่อผู้ชมทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ...ทำให้เป็นภาพยนตร์ที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี แต่ไม่มีใครได้ดูฟรี”
- บางส่วนจาก คำนิยม โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ –
ภาคที่หนึ่ง การขึ้นมาเป็นศิลปะของภาพยนตร์ในสังคมบริโภค
บทที่ 1-3
- ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภาพยนตร์ไม่ได้มีความเป็นศิลปะ ใช้เวลาถึงหนึ่งในสี่ของศตรวรรษกว่าภาพยนต์จะมาเป็นเช่นนั้นได้ และการขึ้นมาเป็นศิลปะของภาพยนตร์ไม่ได้เกิดจากความเป็นอัจฉริยะที่อยู่ใน “ดีเอ็นเอ” ของภาพยนตร์ แต่เกิดจากกระบวนการทางประวัติศาสตร์ และกรอบความคิดในการจัดระเบียบศิลปะในช่วงนั้นๆ
- หนังสือได้ย้อนกลับไปเล่าถึงความขัดแย้งระหว่าง งานที่สร้างโดยมือมนุษย์ (hand-made) กับงานที่สร้างด้วยจักรกล โดยงานอย่างหลังจะถูกมองว่าเป็นของชั้นต่ำ เพราะผลิตสิ่งของทุกอย่างออกมาเหมือนๆกันไปหมด เราจะเห็นการแสดงความด้อยค่าของสิ่งที่เครื่องจักรผลิตได้จากหนัง Modern Times อันโด่งดัง
Modern Times (1936) – หนังที่แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายของการทำงานเหมือนเครื่องจักร
(ที่มาภาพ
https://letterboxd.com/film/modern-times/
)
- สภาพการใช้เครื่องจักรผลิตอะไรต่างๆจำนวนมาก (Mass Production) เป็นสภาพที่โลกในต้นศตวรรษที่ 20 ต้องเผชิญ
- อันที่จริง การผลิตอะไรมากๆเหมือนกัน หรือการผลิต “ของโหล” เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมคติประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนนิยม ที่อยากให้ปัจเจกชนบรรลุถึงเสรีภาพและการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
- แต่แล้ว ความสำคัญของ “หมู่มวลชน (Mass)” กลับปรากฏชัดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อกลุ่มคนตกงานเริ่มก่อความวุ่นวาย ทำให้คนกลุ่มใหญ่ๆ โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น อำนาจนี้ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของชนชั้นสูงที่ถือครองอำนาจอยู่ในช่วงนั้น และดูออกจะน่ากลัวมากขึ้นเมื่อชนชั้นล่างเริ่มเข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมือง
Gordon Riots – ภาพที่น่ากลัวภาพหนึ่งของการจลาจลโดยมวลชนในอังกฤษ ช่วงก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส
(ที่มาภาพ
https://en.wikipedia.org/wiki/Gordon_Riots
)
- “ในความคิดของชนชั้นสูง เมื่อใดก็ตามที่มีผู้นำที่มีความสามารถในการพูด ก็ทำให้ฝูงชน มวลชน หรือ “คนโหลๆ” เหล่านี้กลายเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมาได้ทันที และใช้ภาพของมวลชนที่บ้าคลั่ง พร้อมซัดทุกอย่างที่ขวางหน้า
- แม้ว่าความสำคัญของมวลชน (Mass) จะมีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้คำนี้ดูดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะแม้จะแสดงนัยถึงความเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ “ของโหล” เมื่ออยู่ในชีวิตประจำวันก็เป็นแค่ของทั่วไปที่ไม่ได้มีความงาม
- ไม่เพียงเท่านั้น การเกิดขึ้นของของโหลเหล่านี้ยังมาพร้อมกับลัทธิบริโภคนิยม ที่หลอกล่อให้มวลชนยึดติดอยู่กับการบริโภคและวัตถุในสินค้าทุนนิยม โดยที่กระแสนี้ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายของนักคิดเสรีนิยมเอาเสียเลย
- “การเกิดขึ้นของ “มวลชน” “สังคมอุตสาหกรรม” และ “สังคมบริโภค” จึงเป็นสิ่งที่โยงใยกัน และเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสังคมสมัยใหม่”
- สำหรับในสังคมยุโรป ชนชั้นสูงและกระฎุมพีคุ้นชินกับศิลปะชั้นสูง ที่เน้นเอกลักษณ์ของสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกมากกว่า และให้ค่ากับสุนทรียะ และการเสพที่สูงส่ง “สังคมยุโรปยังอ้างอิงหรือตอบกับตัวเองว่า วิถีชีวิตแบบอเมริกันนั้นเน้น “การบริโภค” จนทำให้สังคมอเมริกันกลายเป็น “สังคมบริโภค” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่กระนั้น ชาวยุโรปกลับไม่ได้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีเท่ากับชาวอเมริกัน (American Standard) ที่กรรมกรต่างมีรถขับ หรือมีเครื่องใข้ไฟฟ้าต่างๆในบ้านมากมาย จากวัฒนธรรมของ “ของโหล” พวกนี้
คนงานในโรงงานรถยนต์ของฟอร์ด มีรถขับกันมากกว่าครึ่ง
(ที่มาภาพ
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/-
gallery-henryford/)
- มาตรฐานการครองชีพของอเมริกัน ได้ขยายตัวไปทั่ว จนองค์ประกอบของสังคมบริโภคกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้วัดทางเศรษฐกิจและสังคม
- การดูภาพยนตร์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีพตามมาตรฐานการบริโภคแบบอเมริกัน และการไปดูภาพยนตร์ก็เป็นตัวชี้วัดของความเป็นสังคมบริโภคด้วย กล่าวคือ การได้ดูการละเล่นหย่อนใจ เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ในอเมริกาช่วงทศวรรษ 1920-1930 การดูภาพยนตร์กลายเป็นเรื่องสามัญของคนทุกชนชั้น
- ในบทต่อๆไปจะมีการให้ภาพของการที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด กลายเป็นแค่ “สิ่งบริโภค (Commodity)” อย่างหนึ่ง ซึ่งทางยุโรปไม่ตอบรับภาพยนตร์ในฐานะนี้นัก และได้พัฒนาแนวทางความเป็น “หนังอาร์ต” ของตนเอง
ติดตามบทความและภาพประกอบฉบับเต็มได้ใน
https://afterthescene.com/artistic-movies-1/
บันทึก
1
2
2
1
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย