7 เม.ย. 2021 เวลา 12:34 • ประวัติศาสตร์
ชาวสยามโพกผ้าขาว
เราอาจจะติดตากับภาพของชาวไทยสยามสมัยโบราณที่นิยมไว้ผมสั้นทั้งชายและหญิง ผู้ชายไว้ผมทรงมหาดไทย ผู้หญิงไว้ผมปีก แต่ชาวไทยสยามก็ไม่ได้ไว้ผมสั้นมาตั้งแต่แรก หลักฐานสมัยพุทธศตวรรษที่ 19-20 ระบุว่าชาวสยามไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยและโพกด้วยผ้าขาว
เทวรูปฤๅษีโพกผ้าเป็นลอมสูง อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
เอกสารสมัยราชวงศ์หยวนคือ บันทึกย่อเผ่าชาวเกาะ (島夷志略) ของวังต้ายวน (汪大渊) ผู้เดินทางมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุทธยา ในตอนอาณาจักรหลัวหู (羅斛) หรือ ละโว้ ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เขาได้บรรยายการแต่งกายของชาวละโว้ว่า
男女椎髻,白布缠头,穿长布衫。
ชายหญิงเกล้าผมเป็นมวย ใช้ผ้าขาวโพกศีรษะ สวมเสื้อยาว
.
เอกสารสมัยราชวงศ์หมิงคือ จดหมายเหตุการสำรวจมหาสมุทร (瀛涯勝覽) ของหม่าฮวน (馬歡) ล่ามในกองเรือมหาสมบัติของเจิ้งเหอ (鄭和) ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุทธยาในรัชสมัยเจ้านครอินทร์ ได้บันทึกการแต่งกายของกษัตริย์และสามัญชนของอาณาจักรเซียนหลัว (暹羅) หรืออยุทธยา ว่า
王者之扮,用白布纏頭,上不穿衣,下圍絲嵌手巾,加以錦綺壓腰。
การทรงฉลองพระองค์ของกษัตริย์ ใช้ผ้าขาวโพกพระเศียร พระวรกายท่อนบนไม่ทรงฉลองพระองค์ พระวรกายท่อนล่างทรงนุ่งผ้าไหมปัก รัดบั้นพระองค์ด้วยผ้าตาด
男子櫛髻,用白布纏頭,身穿長衫,婦人亦櫛髻,身穿長衫。
ผู้ชายเกล้าผมเป็นมวย ใช้ผ้าขาวโพกศีรษะ บนร่างกายสวมผ้ายาว ผู้หญิงก็เกล้าผมเป็นมวย บนร่างกายสวมผ้ายาว
.
จดหมายเหตุแพดารา (星槎勝覽) ของเฟ่ยซิ่น (费信) นายทหารในกองเรือมหาสมบัติที่เดินทางเข้ามาในสยามในเวลาเดียวกัน ระบุว่า
男女椎髻,白布纏頭。
ชายหญิงเกล้าผมเป็นมวย โพกศีรษะด้วยผ้าขาว
.
พงศาวดารราชวงศ์หมิง (明史) เล่ม 324 ตอนอาณาจักรสยาม ระบุตรงกันว่า
男女椎結,以白布裹首。
ชายหญิงเกล้าผมเป็นมวย ใช้ผ้าขาวโพกศีรษะ
ภาพชาวสยามใน Códice Boxer อายุประมาณทศวรรษ 1590 รัชกาลสมเด็จพระนเรศวร แสดงภาพชายชาวสยามโพกผ้า
การไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยและโพกศีรษะพบในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะไดจำนวนมาก เช่น ไทยวน ไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ไทใหญ่ ไทอาหม ลาว จ้วง ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบในชนชาติอื่นภูมิภาคอุษาคเนย์ เช่น พม่า มอญ กะเหรี่ยง ฯลฯ ซึ่งมีวิธีโพกผ้าแตกต่างกันไป หลายกลุ่มนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าขาวเหมือนกัน เหตุที่นิยมใช้ผ้าขาวเข้าใจว่าเพราะเป็นสีของผ้าดิบที่ยังไม่ผ่านการย้อมซึ่งสามารถหาได้ง่าย ที่จริงมีสีอื่นๆ ด้วย
กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะไดน่าจะได้รับอิทธิพลการไว้ผมมวยและโพกผ้ามาตั้งแต่ยังตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนตอนล่าง เมื่อย้ายถิ่นฐานลงมาสู่ภูมิภาคอุษาคเนย์แล้วก็ยังคงเอกลักษณ์การไว้ผมยาวและโพกผ้าในอดีตเอาไว้
เนื่องด้วยคนสมัยโบราณนิยมไว้ผมยาว จึงเกล้าผมเป็นมวยไม่ให้ยุ่งเหยิง ในดินแดนสยามพบว่าเดิมก่อนจะตัดผมสั้น นิยมเกล้าผมสูงกลางกระหม่อม เรียกว่า “โซงโขดง” หรือ “โองโขดง” และมีการประดับตกแต่งมวยผมด้วยวัสดุต่างๆ ปรากฏตั้งแต่ในศิลปะสมัยทวารวดี เช่น ประติมากรรมปูนปั้นนางนักดนตรีที่ ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี
การโพกผ้านับเป็นการตกแต่งมวยผมอย่างหนึ่ง จุดประสงค์หลักเชื่อว่าเพื่อเก็บมวยผมให้เรียบร้อย สำหรับกลุ่มชาติพันธ์ุไท-กะไดดั้งเดิมมีถิ่นฐานอยู่ทางเหนือซึ่งมีอากาศหนาวเย็น จึงโพกผ้าเพื่อป้องกันศีรษะ แต่เมื่อลงมาทางใต้ที่มีภูมิอากาศร้อน การโพกผ้ายังสามารถบังแดดหรือซับเหงื่อได้ด้วย
.
สำหรับชนชั้นสูงจะมีศิราภรณ์สำหรับประดับมวยผม ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีคือเครื่องทองที่พบในกรุวัดราชบูรณะที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1967 (ค.ศ. 1424) รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา) โอรสของเจ้านครอินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นเครื่องราชูปโภคของเจ้านครอินทร์ มีจุลมงกุฎทองคำประดับอัญมณีสำหรับครอบมวยผมอยู่ด้วย
กฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถกล่าวถึงศิราภรณ์ประดับมวยผมจำนวนมาก เช่น
- มาตรา 4 ระบุว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นา 10,000 ที่กินเมืองทั้ง 4 และท้าวนั่งเมืองมี "ศิรเพศมวยทอง" เป็นหนึ่งในเครื่องยศ
- มาตรา 120 ว่าด้วยเครื่องราชูปโภคและเครื่องยศของฝ่ายใน ระบุว่า
พระอรรคมเหสีพระ[อรรค]ราชเทวีทรงมงกุฎ
พระราชเทวีและพระอรรคชายาทรง “พระมาลามวยหางหงษ”
ลูกเธอเอกโททรง “พระมาลามวยกลม”
หลานเธอเอกโททรง “เศียรเพศมวยกลม”
แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ใส่ "สนองเกล้า"
ชแม่เกล้าผมหนูนยิก (เกล้าผมสูง) "เกี้ยวดอกไม้ไหวแซม"
นางกำมัลนางระบำนายเรือนเกล้าผมหนูนยิก
โขลนเกล้าผมรักแครง (เกล้า ผมมวยกลมเฉียงไว้ด้านซ้ายหรือขวา)
เช่นเดียวกับภรรยาผู้มีบรรดาศักดิ์
เมียผู้มีศักดินา 10000 หัวเมืองทั้ง 4 เมื่อมีงานใส่ "เศียรเพศมวย"
เมียจตุสดมภ์ เกล้าผมหนูนยิกเกี้ยวแซม
เมียผู้มีศักดินา 5000 และ 3000 เกล้าผมหนูนยิกเกี้ยวแซม
บ่งชี้ว่าสตรีในราชสำนักอยุทธยาเวลานั้นไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวย
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ภาพยมโลก ด้านซ้ายและด้านล่างแสดงภาพชายโพกศีรษะด้วยผ้า บางคนโพกเป็นลอมสูงมีลักษณะคล้ายลอมพอก บางคนมีลักษณะเป็นลอมพอกแบบชัดเจน ตรงกลางภาพ พญายมราชสวมศิราภรณ์มียอดเป็นลอมพอกผ้าขาว
เมื่อเวลาผ่านไปโพกหัวสีขาวของชาวไทยสยามได้พัฒนาเป็นเครื่องสวมศีรษะทรงสูงของข้าราชการที่เรียกว่า “ลอมพอก” ทำด้วยผ้าขาวพับเป็นจีบซ้อนกันบนโครงไม้ไผ่สาน ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสยามได้รับวัฒนธรรมการโพกหัวของของชาวอินเดียหรือชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เข้ามาผสมผสาน สามารถถอดใส่ได้สะดวกไม่ต้องเสียเวลาโพกผ้าอีก
“บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ” พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ประทาน พระยาอนุมานราชธน อธิบายว่า
“ชาวเราควรจะใช้ผ้าโพก เพราะเพื่อนเมืองใกล้เคียงเขาก็ใช้ผ้าโพก เช่นพะม่าและญวนเปนต้น ดูในกระบวนแห่ของเราก็ยังแลเห็น ผ้าโพกหูกระต่ายก็ยังมี และลอมพอก ก็คือ ลอมโพก (สระ โอ กับ ออ สับกันอยู่เสมอไม่ว่าภาษาไร) เดิมเราไว้ผมสูงจึงใช้ผ้าโพกพันสูงขั้นไปตามมวยผม ครั้นเราตัดผมเสียแล้วจึงต้องทำลอมสวมต่างผมสูงขึ้นโพกผ้าแทน”
.
ต่อมามีการประดับตกแต่งลอมพอกให้สวยงามมากขึ้น ลดหลั่นตามบรรดาศักดิ์ อาจระดับด้วยเกี้ยววงเป็นลวดลายทำด้วยทอง เงิน นาก ประดับดอกไม้ไหว เรียกว่า “พอกเกี้ยว” ซึ่งกลายเป็นเครื่องสวมศีรษะของข้าราชการระดับสูง มีลอมพอกชมพู และลอมพอกสีแดงเรียกว่า "ลอมพอกหางเหยี่ยวแดง"
มีหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์ทรงสวมศิราภรณ์ลักษณะเหมือนลอมพอก แต่มีการประดับตกแต่งด้วยอัญมณี มีเกี้ยวหลายชั้น และค่อยๆ พัฒนาเป็นชฎาและมงกุฎทรงสูงที่ภายหลังทำจากทองคำลงยาทั้งองค์
คำว่า “ชฎา” (जटा) แปลว่า ผมที่เกล้าเป็นมวยสูงขึ้น เป็นทรงผมของนักบวช ฤๅษี หรือดาบส มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ชัฏ” แปลว่า รก ยุ่งเหยิง ด้วยเหตุนี้จึงพบว่านักบวชเหล่านี้โพกศีรษะด้วยผ้าหรือหนังสัตว์เพื่อเก็บมวยผมให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน
ในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุทธยาหมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ยังปรากฏภาพชายโพกผ้าครอบทับศีรษะและมวยผม บางภาพมีลักษณะโพกเป็นทรงสูงพับเป็นจีบคล้ายลอมพอก ร่วมกับภาพข้าราชการสวมลอมพอก ลอมพอกบางรูปมีการประดับด้วยกระบังหน้า หรือมีวงเกี้ยวประดับอัญมณี
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ภาพขบวนเสด็จของพระเวสสันดรและท้าวมัทรี พระเวสสันดรทรงชฎาผ้าขาวลักษณะเหมือนลอมพอก มีเกี้ยวประดับอัญมณี ข้างช้างพระเวสสันดรมีขุนนางสี่คนสวมลอมพอก ข้างช้างท้าวมัทรีมีชายโพกผ้าขาว ชายที่ขี่ม้าสวมหมวกทรงแหลมสูงทำด้วยผ้าขาว
หลักฐานชั้นต้นของชาวยุโรปหลายชิ้นบันทึกว่า กษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาทรงพระชฎาทำด้วยผ้าขาวลักษณะคล้ายลอมพอก เช่น จดหมายเหตุของ โยสต์ สเคาเต็น (Joost Schouten) พ่อค้าจากบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oostindische Compagnie; VOC) ที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมใน พ.ศ. 2171 (ค.ศ. 1628) บันทึกว่า
“On his head, he wore a pyramidal white turban, almost an asta or cubit high, around which there was a three-fold golden crown decorated with precious stones, not unlike the pope’s crown.”
(บนพระเศียร พระองค์ทรงผ้าโพกพระเศียรสีขาวทรงพีระมิด ความสูงเกือบหนึ่งศอก ล้อมรอบด้วยมงกุฎ (เกี้ยว) ทองคำสามชั้น ประดับด้วยอัญมณีมีค่า ไม่ต่างจากมงกุฎพระสันตปาปา)
.
จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชารด์ (Guy Tachard) ที่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ในขณะที่เสด็จออกพระราชพิธีฟันน้ำเมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685) บันทึกว่า
“พระเจ้าแผ่นดินประทับบนพระโธรนมีเรือนยอดทรงมณฑปปิดทองระยับ สวมฉลองพระองค์ผ้าตาดประดับอัญมณี สวมพระชฎาสีขาวมียอดแหลม มีเกี้ยวทองคำลวดลายดอกไม้ประดับอัญมณี”
เมื่อตาชารด์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ที่เมืองละโว้ได้บันทึกว่า “พระองค์ทรงสวมพระมาลาขาวยอดแหลม มีเกี้ยวประดับเพชรแถบหนึ่ง”
พระชฎาผ้าขาวที่ปรากฏในจดหมายเหตุต่างประเทศมีลักษณะใกล้เคียงกับชฎาของพระเวสสันดรในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 คือมีวงแหวนสามชั้น ประดับด้วยอัญมณีสีต่างๆ เข้าใจว่าอาจเป็น “พระชฎาขาวริมทองสอดตามสี” ที่เป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคในพระตำราทรงเครื่องต้น สมัยอยุทธยาตอนปลาย
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 ภาพขบวนเสด็จของกัณหาและชาลี ควาญช้างของชาลีและชายขี่ม้าขาวข้างช้างกัณหาสวมหมวกทรงแหลมสูงทำด้วยผ้าขาว ชายไม่สวมเสื้อข้างช้างชาลีโพกผ้าทั้งศีรษะ
ลอมพอกและชฎาในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 มียอดกว้าง เข้าใจว่าเดิมน่าจะสวมครอบมวยผม แต่เมื่อชนชั้นสูงเปลี่ยนมาไว้ผมสั้น ยอดลอมพอกจึงน่าจะค่อยๆ เรียวเล็กลงจนมีลักษณะเหมือนปัจจุบัน
ลอมพอกข้าราชการ
พระชฎาในสมัยรัตนโกสินทร์เปลี่ยนมาทำด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณีทั้งองค์ ไม่ได้ทำด้วยผ้าขาวแล้ว แต่หลายองค์ยังมีลักษณะลวดลายเหมือนจีบผ้าของลอมพอกอยู่ เช่นเดียวกับหัวโขนที่สวมชฎายอดเดินหน หรือ ชฎายอดบัด ซึ่งปลายยอดเบี่ยงไปด้านหลังและมีการเขียนลวดลายเหมือนลอมพอกอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าดั้งเดิมที่พัฒนามาจากผ้าโพกหัว
ศีรษะหุ่นหลวงตัวพระ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 สวมชฎายอดเดินหน มีลวดลายเหมือนกับลายผ้าของลอมพอก
สำหรับชาวไทยสยามที่เป็นสามัญชนทั่วไป ยังมีการโพกหัวอยู่แม้จะเปลี่ยนมาไว้ผมสั้นแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อบังแดดหรือซับเหงื่อ ในจิตรกรรมสมัยอยุทธยาบตอนลายางภาพโพกหัวดูใกล้เคียงกับการโพกหัวของชาวอินเดีย
จดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) บันทึกว่า
“ราษฎรสามัญน้อยคนนักที่จะสนใจเอาธุระปกคลุมศีรษะของตนให้พ้นจากความแรงร้อนของดวงอาทิตย์ เขาจะใช้ผ้าผืนหนึ่งโพกศีรษะก็เฉพาะยามลงเรืออยู่ในแม่น้ำเท่านั้น เพราะแสงสะท้อนทำให้เป็นที่รำคาญตานัก”
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 5 ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ภาพชูชกกับพรานเจตบุตร พรานเจตบุตรโพกผ้าขาวลักษณะคล้ายการโพกผ้าของชาวอินเดีย
จิตรกรรมในสมุดข่อยมหาพุทธคุณ ศิลปะอยุทธยาตอนปลาย ปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 แสดงภาพพราหมณ์โพกผ้าขาวเป็นทรงสูง อาจมีความสัมพันธ์กับลอมพอกของไทย
นอกจากการโพกผ้าทับทั้งศีรษะ ชาวไทยสยามสมัยโบราณยังมีการโพกผ้าแบบคาดรอบศีรษะ ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกล่าวถึงการโพกผ้าสี ผ้าขลิบ ผ้ายันต์ ของพลทหาร เช่นเดียวกับจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์หลายแห่งมีภาพพลทหารและชาวบ้านโพกผ้าคาดรอบศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผ้าขาวเหมือนกัน
จิตรกรรมในสมุดข่อยทศชาติชาดก ศิลปะอยุทธยาตอนปลาย ปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ตอนภูริทัตชาดก แสดงภาพชายโพกผ้าขาวคาดรอบศีรษะ
จิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 24 แสดงการโพกหัวด้วยผ้าขาวของพลทหาร
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (2542). สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171-1173. (2513). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ. [พิมพ์ในวันพระบรมราชสมภพครบ 202 ปี 24 กุมภาพันธ์ 2513]
- ตาชารด์, บาทหลวง. (2551). จดหมายเหตุการณ์เดินทางสู่สยามประเทศครั้งที่ ๑ และจดหมายเหตุการณ์เดินทางครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชารด์ และภาคผนวกเรื่องไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกันครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- นริศรานุวัติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา. (2521). บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ ประทาน พระยาอนุมานราชธน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- ลัทธิรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ 19 ตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนัก ครั้งกรุงศรีอยุธยา. (2474). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. (2548). จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- วิทย์ พิณคันเงิน. (2551). เครื่องราชภัณฑ์: ศิลปะวิจิตรแห่งเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
- Terwiel, B.J., (2019). De Marees and Schouten Visit the Court of King Songtham, 1628 ,Journal of the Siam Society. 107(1), 25-48.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา