Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
KidKorn คิดก่อน
•
ติดตาม
3 ก.ค. 2021 เวลา 10:15 • ประวัติศาสตร์
ตอนที่ 3 ของการปฏิวัติฝรั่งเศส
มาต่อแล้วนะคะสำหรับซีรีส์ชุดการปฏิวัติฝรั่งเศส หลังจากที่มีผู้อ่านทวงถามกันมา :D
ในตอนนี้เราจะพูดถึงบุคคลสำคัญที่ก้าวมามีอำนาจในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 นั่นก็คือ มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์
ก่อนจะไปตอบคำถามว่ารอแบ็สปีแยร์คือใคร และมีบทบาทอะไร
เราจะมาเริ่มที่กลุ่มจาคอแบงส์กันก่อน
กลุ่มจาคอแบงส์ (Club des Jacobins)
Credit: https://seventhcoalition.wordpress.com/tag/jacobins/
เป็นกลุ่มทางการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยก่อตั้งตั้งแต่ปี 1789 มาจากสภาฐานันดรที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้แทนแคว้นหนึ่งของฝรั่งเศส ที่มีระบอบศักดินาอย่างหนัก
จุดมุ่งหมายหลักของกลุ่มคือต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย โดยในช่วงแรกเป็นการรวมกลุ่มอย่างลับๆ จนพัฒนามาเป็นกลุ่มใหญ่ที่เรียกร้องการล้มลางสถาบัน และ ต้องการก่อตั้งสาธารณรัฐในที่สุด
กลุ่มจาคอแบงส์หลังยุคสาธารณรัฐได้มีการแตกกลุ่มกันภายใน แบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลักๆ คือ ฝ่ายลามงตาญ (La Montagne) และ ฝ่ายจีรงแดงส์ (Girondins) โดยทั้งสองกลุ่มก็มีการชิงอำนาจกันไปมาและมีแนวคิดที่ต่างกัน
กลับมาสู่รอแบ็สปีแยร์ เขาคือใคร ?
รอแบ็สปีแยร์ เป็นนักกฎหมาย และอยู่ในกลุ่มจาคอแบงส์ ซึ่งเขาได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อปกป้องฝรั่งเศสที่เพิ่งได้เป็นสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ให้ปราศจากการโจมตีจากภายใน และภายนอกประเทศ เนื่องจากยุโรปในตอนนั้นหลายประเทศยังมีการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์อยู่ และก็มีความกลัวที่กระแสการปฏิวัติฝรั่งเศสจะแพร่ไปยังประเทศของตัวเอง
คณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยสาธารณะ มีความสำคัญขนาดไหน ?
คณะกรรมธิการนี้มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการออกกฎหมายที่ให้อำนาจในการจับกุมคนเห็นต่าง หรือ ศัตรูของการปฏิวัติได้เลย (Law of Suspects) โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีหลักฐาน แค่เพียงสงสัยใครก็สามารถแจ้ง และจับได้เลย ซึ่งจริงๆแล้วเป้าหมายของกฎหมายนี้ คือ ต้องการกำจัดขุนนางเก่าที่เคยทำงานในสมัยที่มีกษัตริย์
และแล้ว ช่วงเวลาแห่งความหวาดหลัว (Reign of Terror) ก็ได้เกิดขึ้น
ในปี ค.ศ. 1793 เพียง 9 เดือนหลังจากที่รอแบ็สปีแยร์ได้ก้าวมามีอำนาจ เขาได้กำจัดคนเห็นต่างไปกว่า 16,000 คนด้วยเครื่องกิโยติน (ตัวเลขไม่แน่ชัด บางหลักฐานกล่าวว่าเป็นหลักพัน บางที่กล่าวว่าถึงห้าหมื่นคน)
การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Credit: https://www.britannica.com/event/Reign-of-Terror)
มีกรณีเคสของเมือง Lyons ที่เกิดการประท้วงต่อต้าน รอแบ็สปิแยร์ได้สั่งประหารชาวเมืองลียงไปกว่า 880 คน และเนื่องจากการประหารด้วยเครื่องกิโยตินเขามองว่าทำได้ช้า เลยมีคำสั่งให้ใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าไปในเมืองแทน
Credit: https://www.watercolourworld.org/painting/siege-lyon-french-revolution-tww000b8f
ภายใต้การนำของรอแบ็สปีแยร์ เขาได้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง รวมถึงการระดมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิวัติ และกำจัดศัตรูทางการเมืองไปมากมาย
นอกจากนี้ยังมีการเกณฑ์ทหารผู้ชายทุกคนให้มีหน้าที่ในการรบ และทำสงคราม จนทำให้กองทัพฝรั่งเศสขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และมีความทันสมัย ใหญ่ที่สุดในยุโรป เพื่อที่จะกำจัดศัตรูทางการเมืองทั้งภายในและนอกประเทศได้
ลักษณะสำคัญในยุคโรแบสปิแอร์เป็นการรวมศูนย์อำนาจ คนก็จะคิดว่ามันเกิดจากตัวโรแบสปิแอร์หรือแนวคิดของกลุ่มผู้นำในขณะนั้นว่าเป็นเหมือนแนวทางในการปกครองที่กลุ่มคนพวกนี้ต้องการ แต่เรื่องนี้ก็มีอีกมุมมองนึงที่บอกว่าการที่มันเกิดการรวมศูนย์แบบนี้ก็เพราะความกลัวของโรแบสปิแอร์เอง ที่พอมีอำนาจขึ้นมา แล้วกลัวเสียอำนาจไป จึงทำให้เกิดนโยบายต่างๆออกมาแล้วสุดท้ายเค้าก็กลายเป็นเผด็จการ
จุดจบของรอแบ็สปิแยร์
ความไม่พอใจของ Reign of terror มาทั้งจากการเมืองและเศรษฐกิจ การมีกองทัพขนาดใหญ่แปลว่ารัฐจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงทหารเหล่านั้นด้วย รัฐจึงเข้าแทรกแซงและควบคุมราคาผลผลิตต่างๆ
การควบคุมราคาและค่าจ้างก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มพ่อค้าและชาวนาเจ้าของที่ดินที่ขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าปกติ และยังรู้สึกไม่ปลอดภัยภายใต้รัฐบาลเผด็จการและกองทัพที่เรียกเก็บผลผลิตและสินค้าของตน ทั้งๆที่จริงแล้วชาวนาเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการยกเลิกระบบฟิวดัลและภาษีไทธ์ (1ใน10ให้พระ) แต่การควบคุมราคาผลผลิตเป็นการขัดผลประโยชน์ของชาวนา ทำให้รอแบ็สปิแยร์เสื่อมความนิยมและทำให้การปฏิวัติของชาวนาที่หัวรุนแรงนั้นยุติลง
นอกจากนี้กระแสความหวาดหลัวการกระทำที่รุนแรงของรอแบ็สปิแยร์ ทำให้ สมัชชาแห่งชาติตระหนักถึงภัย จนท้ายที่สุดมีมติให้จับกุมและสั่งประหารเขาด้วยเครื่องกิโยตินในปี ค.ศ. 1794 ทำให้ช่วงเวลาแห่งความหวาดกลัวได้จบลง พร้อมกับมติที่จะลดบทบาทคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยสาธารณะ
การประหารชีวิตรอแบ็สปิแยร์ด้วยเครื่องกิโยติน (Credit: https://www.historyextra.com/period/modern/robespierre-man-of-terror/)
ขนาดรอแบ็สปิแยร์เองที่มีอิทธิพลมากๆในการปฏิวัติล้มอำนาจกษัตริย์กลับกลายมาเป็นเผด็จการเสียเอง ซึ่งถ้ามองอีกด้าน บางทีคนที่ล้มระบอบอะไรซักอย่าง ก็จะต้องเผชิญกับแรงต้าน แรงเสียดทานจากอำนาจเก่า ดังนั้นการปกครองแบบเผด็จการอาจจะถือว่าเป็นการรักษาอำนาจอย่างนึงก็ได้
แต่สุดท้าย ด้วยการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ไปขัดประโยชน์กับชนชั้นนายทุนและชาวนา ทำให้สุดท้ายแล้วความนิยมของตนเองก็เสื่อมไป และก็โดนลงโทษแบบเดียวกับที่รอแบ็สปิแยร์ได้ทำกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือฝ่ายขวาก่อนหน้านี้
จุดจบของรอแบ็สปิแยร์ยังไม่ได้ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสจบลงแต่เพียงเท่านี้ เพราะหลังจากนี้ทั้งฝ่ายซ้ายและขวา จะต่อสู้ชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด รวมถึงนโปเลียนก้าวเข้ามามีอำนาจ ซึ่งพวกเราจะมาต่อในตอนถัดไปค่ะ
* เขียนและเรียบเรียงเนื้อหาโดยทีมงานคิดก่อน
ไม่อนุญาตให้ดัดแปลง แก้ไข และนำเนื้อหาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
French Revolution
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย