7 เม.ย. 2021 เวลา 12:14 • ประวัติศาสตร์
สมมติเทพ-เทวราชา-เทวมนุษย์
ในศตวรรษที่ 21
“โอพระผู้เป็นเจ้าแห่งอากาศและผืน
พสุธา พระเกียรติยศชื่อเสียงของพระองค์เป็นที่รู้จัก
ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นบนสุด และเป็นที่เคารพสูงสุดประดุจดวงอาทิตย์อันเจิดจ้า หม่อมฉันผู้เป็นทาสผู้ยากไร้ของ
พระองค์ขอปฏิบัติตามพระบรมราชโองการของ
พระองค์ และขอน้อมรับพระราชดำรัสของพระองค์ไว้
เหนือกระหม่อมของหม่อมฉัน”
1
สมมติเทพ-เทวราชา-เทวมนุษย์
ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนเป็นถ้อยคำที่ฟังดูเป็นการทึกทักอ้างสิทธิ์อย่างมาก ยากแก่การแปลให้ตรงกับในภาษา
ฮอลันดาเป็นอย่างยิ่ง แต่พอจะให้ความหมายที่ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้แต่เพียงเท่านี้ คำนำหน้าพระนามของพระเจ้าแผ่นดินฟังดูโอ่อ่าเลยเถิดเกินมนุษย์ แต่ก็เชื่อกันว่าพวกคนสำคัญและพวกขุนนางเช่นเดียวกับพวกคนรวยและคนจนได้ถวายพระนามสวนส่วนของบรรดาคำนำหน้าของพระเจ้าแผ่นดินไว้อย่างสูงส่ง ถ้าผู้ใดพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินแม้ผู้พูดจะไม่มีความสำคัญใด คำนำหน้าพระนามก็จะไม่น้อยไปกว่าถ้อยคำเหล่านี้คือ “พระพุทธเจ้า ข้าขอรับพระโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม”
เยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias van Vliet) ได้จดบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ในช่วงที่บริษัทอินเดียตะวันออก
(the East India Company) ของเนเธอร์แลนด์ได้ส่งเขาเข้ามาประจำ ณ สถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยา
ระหว่างพ.ศ. 2176 - 2185 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เขาได้ซึมชับรับรู้เรื่องราวของเมืองไทยอย่าง
ใกล้ชิดทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากแหล่งข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและจากการบอกเล่า
VAN VLIET, Jeremias Naukeurige beschrijvinge van het koningrijck Siam,สยามปี ค.ศ.1692
นอกจากนี้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงตอบฎีกาหรือคำร้องเรียน พระองค์ทรงได้รับเกียรติด้วยพระนามซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่อวดโอ้ยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วเหล่านั้น ในพระราชสาส์นที่ทรงส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ
หรือเจ้านายทั้งหลาย พระองค์ทรงใช้คำนำหน้าพระนามที่ยิ่งใหญ่ดุจเทพมากกว่านี้ ซึ่งมากกว่าที่ราชสำนักมีกฎเกณฑ์ใช้อยู่เมื่อเกี่ยวข้องกับพวกกษัตริย์ของต่างประเทศ โดยยิ่งทรงมีสัมพันธไมตรีกับพวกกษัตริย์ต่างประเทศมากเพียงใด คำนำหน้าพระนามก็ยิ่งโอ่อ่ามากขึ้นเพียงนั้น
ฟานฟลีตกล่าวว่า ตามปกติคำนำหน้าพระนามของพระเจ้าแผ่นดินในระบบเทวราชา หลังจากที่เกียรติภูมิของการส่งคณะทูตนั้นได้ถูกชี้แจงไว้แล้วในตอนต้นของพระราชสาส์น ก็จะเป็นพระนามของเทพเจ้าเรืองนาม ที่ไม่มีใครพิชิตได้ เป็นผู้ที่มีอำนาจและสูงที่สุดของพวกพระเจ้าแผ่นดินผู้สวมมงกุฎทองคำ 101 องค์
1
และของพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงสวม
พลอยนพเก้า เทพเจ้าแห่งวิญญาณอันอมตะผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดและสูงสุด ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเห็นทุกสิ่งทุกอย่างและบดบังรัศมีของสรรพสิ่งทั้งมวลปกครองสูงสุดของจักรวรรดิสยามที่ยิ่งใหญ่ ราชบัลลังก์ของพระองค์อยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเมืองอันงดงามและใหญ่โต ถนนหลายสายซึ่งพุ่งตรงไปยังเมืองอันน่าประทับใจนี้ คลาคล่ำไปด้วยฝูงคน
1
นี่เป็นเมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ประดับประดาไปด้วยอัญมณี 9 ชนิด พระประมุขของประเทศที่สวยงามนี้ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าเสียอีก พระราชวังของพระองค์สร้างด้วยทองคำและเพชรพลอยมีค่า พระองค์ทรงเป็นเจ้านายผู้มาจากสวรรค์ ซึ่งประทับราชบัลลังก์ทองคำณ หอสูง ผู้ทรงช้างเผือก ช้างหางแดงและหางขอดช้างทั้ง 3 เชือกนี้เป็นช้างที่มีฝีเท้าเดินเป็นเยี่ยม
1
พระองค์ทรงเป็นสมมติเทพผู้ทรงพระขรรค์ชัยซึ่งสร้างความหวั่นกลัวและความพ่ายแพ้แก่คนจำนวนมากพระองค์ทรงเป็นเจ้านายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทียบกับเทพเจ้าแห่งสงครามที่มีสี่กร (พะนารายณ์) ทีเดียว
เทวดาบนโลกมนุษย์ ผู้สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของไพร่แห่งฟ้าทั้งปวง
พระเจ้าแผ่นดินทรงชอบพระนามที่หรูหราโอ่อ่านี้มาก และตามที่พวกประชาชนได้รับการบอกเล่ามานั้นพระองค์ก็ทรงเหมาะสมกับพระนามเหล่านี้จริงๆ เพราะไม่มีใครกล้าคัดค้านพระเจ้าแผ่นดินหรือทัดทานความภูมิพระทัยในความยิ่งใหญ่เหนือใคร ๆ ของพระองค์ทั้งไม่มีใครกล้าพกเอาเจตนาร้ายไว้ในใจของเขา แม้ว่าจะเป็นความคิดที่น่าหัวเราะก็ตาม ว่ามีอำนาจของพระเจ้าอยู่ในตัวของพระเจ้าแผ่นดิน
และด้วยเหตุนั้นพวกเขาไม่ควรจะทำผิดคิดร้ายกับพระองค์ความกลัวพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีมากจริง ๆจนไม่มีใครกล่าวพระนาม พระเศียร หรือ มงกุฎของพระองค์ในที่สาธารณะ แม้ว่ากำลังมีเรื่องสำคัญๆถกเถียงกันก็ตาม
ในกรณีที่เมื่อจำเป็นต้องพูดถึงพระองค์หรือต้องเรียกพระนามของพระองค์ประชาชนจะกระซิบคำนั้นอย่างเคารพที่ข้างหูของอีกฝ่ายหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้มีเกียรติและได้รับความเคารพจากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มากกว่าเทพเจ้าเสียอีกด้วยอำนาจที่แย่งชิงมาของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย และด้วยการสรรเสริญเยินยออยู่เรื่อยมาของประชาชน ทำให้พระเจ้าแผ่นดินมีความภาคภูมิใจอย่างสูงจนเห็นไปว่า
“พระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่ต้องอยู่เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรของพระองค์ แต่ประเทศทั้งประเทศและประชาชนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์” [1]
1
“Old tradition VS new tradition” ภาพจาก LILLUSTRATION ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1857
สถานภาพของพระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์นั้น พระองค์ทรงอยู่ในฐานะเทวราชาได้รับการยกย่องว่าเป็น สมมติเทพ พระมหากษัตริย์อยู่ในภาวะท่ีเหนือกว่าบุคคลธรรมดา 5 ประการ คือ การตั้งพระนามจากเทพเจ้า พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเทพเจ้า พระชาติกําเนิดจากเทพเจ้า การสืบเชื้อสายจากเทพเจ้า และพระบุญญาบารมีดุจเทพเจ้า ซึ่งแสดง ถึงสถานภาพและภูมิหลังท่ีสูงส่งมากกว่ามนุษย์ธรรมดา ทรงมีความชอบธรรมในการใช้อํานาจสิทธ์ิขาดในการปกครองบ้านเมือง และการท่ีพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอํานาจสูงสุดและอยู่เหนือคนธรรมดา จึงต้องมีกฎเกณฑ์มีพิธีกรรมต่างๆ มาประกอบซึ่งส่ิงต่างๆ เหล่าน้ีแสดงแสดงถึงคุณลักษณะของเทวราชาได้เป็นอย่างดี
ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจ สถาบันพระมหากษัตริย์มีสถานะและความสัมพันธ์กับอาณาราษฎรดั่งบิดากับบุตร ครั้นล่วงมาถึงสมัยอยุธยา ฐานะความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับราษฎรได้ถูกปรับรูปแบบมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสมมติเทพกับไพร่ฟ้า “ไพร่ของฟ้า” แทน
1
พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาได้รับคติความเช่ือเรื่อง สมมติเทพที่เป็นคติความเช่ือจาก เขมรท่ีรับผ่านมาจากพราหมณ์-ฮินดูของอินเดียอีกที โดยเชื่อว่า “พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา” หลักการนี้ถูกนำมาใช้ในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้นได้ กลายเป็นสมมติเทพท่ีมีความชอบธรรมในการใช้อํานาจสิทธิ์ขาดในการปกครองบ้านเมืองการท่ีพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอํานาจสูงสุดและอยู่เหนือคนธรรมดา จึงต้องมีกฎเกณฑ์ มีพิธีกรรมต่างๆท่ีเก่ียวเนื่องกับคติความเช่ือน้ี ส่งผลให้ความใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนลดน้อยลง พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอํานาจสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว ทั้งการออกกฎหมาย การเลิกกฎหมาย การตัดสินคดี พระมหากษัตริย์มีพระราชอํานาจ เหนืออาณาประชาราษฎร์ กล่าวคือ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะสมมติเทพ เป็นผู้ทรงบุญญาธิการเสมอด้วย องค์เทวะ หรือท่ีเรียกกันว่า “เทวราชา” [2]
2
เมื่อตำนานและความเชื่อได้สร้างให้มนุษย์เลยเถิดเกินมนุษย์ ประดุจดังเทพเจ้าอวตารลงมาจุติบนพื้นพิภพ, By Drutakarma Dasa From the Vedic literature: the history of King Prthu
“สมมติเทพ (เทวราชา)” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสภา หมายถึง น. เทวดาโดยสมมติซึ่งก็คือ พระเจ้าแผ่นดิน.
“สมบูรณาญาสิทธิราชย์” หมายถึง น. ระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ. (absolute monarchy) หมายความว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพลงมาจุติเป็นมนุษย์เพื่อสั่งสมบารมี เมื่อสวรรคตก็จะเสด็จกลับขึ้นสรวงสวรรค์ [3]
นอกจากนั้นคนไทยรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในเวลาต่อมาพระพุทธศาสนาได้มีบทบาท
สำคัญยิ่งต่อการเมืองและการปกครองของประเทศไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศตามคติในทางพระพุทธศาสนาแล้ว คือพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่เสด็จอุบัติมาบำเพ็ญบารมี เพื่อเตรียมพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล
1
THE GOD OR HUMAN ?
กล่าวโดยรวมแล้ว จะเห็นได้ว่าตามคติความเชื่อแต่โบราณมานั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่บนรากฐานความเชื่อของสองศาสนาผสมผสานกัน คือความเชื่อทางฝ่ายศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ เป็นอวตารปางหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้าจากสรวงสวรรค์ลงมาดับทุกข์เข็ญให้มนุษย์ พร้อมกับความเชื่อทางฝ่ายพุทธศาสนาอีกกระแสหนึ่งที่เห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงมีภาระบำเพ็ญบารมีเพื่อจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติต่อๆ ไป
ชุดความคิดและระบบความเชื่อเหล่านี้ ห่างไกลกันมากกับทฤษฎีรัฐศาสตร์ของฝ่ายตะวันตก ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สัญญาประชาคม"(social contract) เพราะตามความคิดฝ่ายตะวันตกในแนวทางสัญญาประชาคมนั้นผู้ปกครองหรือประมุขของรัฐมิได้เข้าสู่ตำแหน่งด้วยบุญญาบารมีหรือเทวสิทธิ์ที่พระผู้เป็นเจ้าจากสรวงสวรรค์ประสิทธิ์ประสาทให้ หากแต่ผู้คนทั้งหลายที่เป็นสมาชิกในสังคมยินยอมพร้อมใจกันสละความเป็นเสรีในส่วนของแต่ละคน เพื่อยกย่องให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่เห็นเหมาะสมทำหน้าที่เป็นผู้นำ ผู้ปกครอง การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ปกครองหรือประมุขของรัฐ จึงเกิดขึ้นจากฉันทามติของประชาชน ทฤษฎีนี้เองทำให้ผู้ปกครองต้องสำนึกตระหนักอยู่สมอว่าตนมีหน้าที่ต้องดูแลคุ้มครองผู้คนที่อยู่ในแว่นแคว้นตามสัญญาประชาคมที่ตนเองได้รับมอบหมายมา
กล่าวโดยสรุปคือ แนวคิดการปกครองใน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เน้นชาติกำเนิดของตัวบุคคล กษัตริย์เป็นสมมติเทพ ส่วนแนวคิดการปกครองในรูปแบบ “สัญญาประชาคม” เน้นหลักการแห่งความเสมอภาค เสรีภาพในการดำเนินชีวิต และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเท่าเทียมกัน กษัตริย์เป็นเพียงมนุษย์เดินดินคนหนึ่ง แต่มีความพิเศษตรงที่ได้รับ “สิทธิ์” ในการปกครองและดูแลประชาชนโดยชอบธรรมตามจารีต แต่ทั้งนี้ “อำนาจ” แห่งการปกครองนั้นเป็นของประชาชน [4]
โลกที่มนุษย์ปกครองโดยมนุษย์ โลกที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์และเเสดงความคิดเห็นต่อผู้ปกครองโดยเสรี
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกและกองทัพของกษัตริย์มนุษย์ได้หลั่งไหลเข้ามาท้าท้ายวัฒนธรรมเก่าบนผืนแผ่นดินสยาม อันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของสมมติเทพที่ถูกสร้างขึ้นมาจากจินตนาการและความเชื่อในเวลานั้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
พระองค์จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนสยามให้ทันสมัยและสอดรับกับสายธารแห่งกาลเวลาสมัยใหม่ให้ได้ทันท่วงที ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงจารีตดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเสียใหม่ ทรงเปลี่ยนแปลงแนวพระราชดำริทางการเมืองที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ จากแนวคิดทางการเมืองเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยจากเดิมที่เห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชาหรือธรรมราชา มาเป็นแนวพระราชดำริว่า การเป็นพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นเพราะอาณาประชาราษฎร์พร้อมใจกันยกย่องยินยอมให้ทรงดำรงตำแหน่งนั้น เรียกว่า “มหาชนสโมสรนิกรสมมติ”
เมื่อถูกแบ่งแยกให้ไม่เท่าเทียม ไฉนเลยความเป็นคนจึงจะเท่ากัน, คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจากเวปไซต์ wikimedia.org
ผลที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระราชกรณียกิจและการใช้พระราชอำนาจในฐานะพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องดังแนวพระราชดำริทางการเมืองที่ปรับเปลี่ยนไป คือมีลักษณะที่มีความใกล้ชิดและเข้าถึงจิตใจของราษฎรมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มิได้ทรงถือราชาภิสิทธิ์ว่าทรงเป็นเจ้าเป็นใหญ่ และทุกคนต้องยำเกรงต่อพระราชอำนาจ แต่ทรงยึดหลักว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มิได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าความสุขส่วนรวมในประเทศของพระองค์ [5]
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ทำการปฏิรูประบบและกลไกต่างๆ ของบ้านเมืองให้ทันสมัยยิ่งขึ้น นอกจากเพื่อเเสดงความศิวิไลซ์ของบ้านเมืองสยามให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวตะวันตกแล้ว พระองค์ยังได้ถือโอกาสนี้ในการกำจัดพลังอำนาจของขุนนางในระบบเก่าอย่างตระกูลบุนนาคให้หมดไป
ช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตกที่นั่งลำบากเมื่อต้องออกหน้ารับมือกับฝ่ายขุนนางในระบบเก่า แต่พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะทำให้ขุนนางเหล่านี้รู้สึกแปลกเเยก จึงทรงดำเนินพระบรมราโชบายที่ทางอ้อมที่มิได้ทำลายผลประโยชน์ของขุนนางในระบบเก่าโดยตรง ตัวอย่างของกรณีนี้จะเห็นได้จากเหตุการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับประกาศยกเลิกการหมอบคลานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง
ใน พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) ความว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุศยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัต วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิ ราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
เสด็จออก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจนัย จึงมีพระบรมราชโองการประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าทูลอองธุลีพระบาทผู้น้อยใหญ่ให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาก็ตั้งพระราชหฤไทยที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความสุขความเจริญแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณ์ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไปการสิ่งไรที่เป็นการกดขี่แก่กัน ให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริจะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นมหานครใหญ่ทั้งทางตะวันตก เช่น อินเดีย และทางตะวันออก เช่น จีน และญี่ปุ่น
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร์ เดือน 8 แรม 1 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236
ประเทศที่เคยใช้การกดขี่ให้ ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ใด้เลิกใช้และเปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศ
ด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้นก็เพราะว่า เพื่อจะให้เห็นถึงความดีงามของการที่จะไม่มีการกดขี่แก่กัน ในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใดเมืองใดที่ได้ยกธรรมเนียมที่เป็นการกดขี่ซึ่งกันเเละกัน ประเทศนั้นเมืองนั้นก็เห็นว่ามีแต่ความเจริญทุกๆ เมือง และยังทรงเน้นย้ำถึงสาเหตุที่ทรงให้ยกเลิกการหมอบคลานเพื่อตัดข้อสงสัยของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางไว้เสียแต่ต้นว่า
บางผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ตามเดิมที่เห็นว่าดีนั้นคงจะมีความสงสัยสนเท่ห์ว่า การเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมหมอบคลาน ให้ยืนให้เดินจะเป็นจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุใด ก็พึงให้รู้ว่าการเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่นั้น เพราะจะให้เห็นเป็นแน่ว่า จะไม่มีการกดขี่แก่กันในการที่ไม่เป็นความยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใดที่ผู้เป็นใหญ่มิได้กระทำกดขี่แก่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเป็นแน่ตั้งเเต่นี้สืบไป จงประพฤติตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯต่อไป ทุกข้อทุกประการ บัญญัติไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร์ เดือน 8 แรม 1 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 [6]
ประกาศดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่มีพระบรมราชานุญาตให้ผู้เข้าเฝ้าฯ ยืนถวายคำนับแทนการหมอบคลาน อย่างไรก็ตาม ประกาศครั้งนี้มีนัยแฝงลึกซึ้งมากกว่าที่จะเป็นเพียงการกำหนดกฎเกณฑ์ของราชสำนักเท่านั้น การหมอบคลานเป็นหัวใจสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างมูลนายกับไพร่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะขจัดการกดขี่ข่มเหงราษฎร และการหมอบคลานนั้นถือเป็นการกดขี่ข่มเหงเพราะผู้น้อยต้องทนทุกข์คุกเข่าหมอบกราบเพื่อแสดงความเคารพผู้มีศักดิ์สูงกว่า แทนที่จะเรียกร้องการยกเลิกไพร่ทาสโดยตรง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมุ่งกระทำการเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบ่าวแทน [7] เมื่อสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ถูกทำลายลง ความสูงส่งเกินมนุษย์และความถือตัวของสมมติเทพตลอดจนชนชั้นปกครองก็เสื่อมลงไปด้วย
ความเป็นสมมติเทพค่อยๆ เสื่อมสลายลงจนถึงจุดแตกหัก เมื่อคณะราษฎรได้ทำการลบล้างความสมมติเทพลงในปี พ.ศ.2475 เหลือเพียงความเป็นกษัตริย์มนุษย์เดินดินที่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ราวเทพเจ้าอีกต่อไป กระทั่งในยุคทรราชครองเมืองในปี พ.ศ.2557 ความเป็นเทวราชาหรือสมมติเทพได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อย่างเห็นได้ชัด
ภาพถ่าย เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ขณะมีพระชนมายุ 13 พรรษาโดยนายจอห์น ทอมสัน ชาวสก็อตแลนด์ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2418 ,รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นถึงการกดขี่ข่มเหงกันของมนุษย์จึงทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง พ.ศ.2416
การเอาอำนาจการปกครองไปอยู่ในมือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพเจ้าแทนที่การให้อำนาจอยู่ในมือของปวงชน
จะกลายเป็นการวางทิศทางของอำนาจแบบใหม่ จากบนลงล่าง จากฟ้าลงดิน จากเทวราชาสู่มนุษย์แทนที่จะเป็นแบบ “มนุษย์สู่มนุษย์” ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างแทบจะขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นระบบ Smart farm ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยในการเพาะปลูกได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ปลายนิ้ว การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) ที่ก้าวหน้า สามารถช่วยให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ง่ายขึ้นกว่าเดิมอย่างพลิกฝ่ามือ โครงการอวกาศอย่าง Space X ได้มีแนวคิดก้าวไกลไปถึงการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร เป็นต้น แต่สยามกลับยังคงวนเวียนอยู่ในโลกของเทพเจ้า จากตำนานและความเชื่อ ตลอดจนการแบ่งชนชั้นสูงต่ำของมนุษย์อย่างชื่นมื่นในยุคแห่งความศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยวิทยาการจากโลกวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้
ข้าพเจ้ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพอยู่หลายสิ่งอย่าง เพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของข้าพเจ้า แต่เรื่องการนำเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความเชื่อมาเป็นสิ่งชี้นำประเทศชาติ เอาอนาคตของประเทศชาติไปฝากไว้กับสิ่งสมมติเป็นการเสี่ยงเกินกว่าที่จะยอมรับได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ และไม่เป็นที่ยอมรับในโลกที่ทุกอย่างต้องสามารถพิสูจน์ได้หรือตรวจสอบได้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างแทบจะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นฟ้าร้องฟ้าผ่า หาใช่รามสูรไล่จับเมขลา ปาขวานเกิดฟ้าแลบฟ้าร้อง หรือเทพเจ้าองค์ใดเสกมนตรา
ยุคที่ดินฟ้าอากาศสามารถตรวจสอบได้เพียงแค่เปิดแอปบนโทรศัพท์ สามารถรับรู้ถึงการกำเนิดและสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ หาใช่เทพเทวดาเสกสรรค์ให้บังเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์
ยุคที่ไม่ว่าผู้ใดก็สามารถขึ้นมาปกครองและเป็นผู้นำของประเทศได้ด้วยความสามารถและความพึงพอใจแห่งมหาชนที่เต็มใจมอบอำนาจให้ปกครอง หาใช่วัดจากชาติกำเนิดแห่งสายเลือดองค์เทพเทวาอันสูงส่งตนใดที่จะมามีอภิสิทธิ์ให้เลยเถิดเกินมนุษย์ผู้อื่น
เมืองหลวงแห่งดินแดนสมมติเทพ (Bangkok 1895)
แต่อำนาจและผลประโยชน์นั้นหอมหวานเสมอ ทุกยุค ทุกสมัย จะมีเหล่าทรราชย์ คนทรามและผู้หลงผิด ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาท้าทายความดีงาม ความถูกต้อง ศีลธรรมจรรยาและความสถิตยุติธรรมของบ้านเมือง หากบ้านใดเมืองใด ผู้คนต่างนิ่งเฉย ละเลยต่อความไม่ถูกต้อง บ้านนั้นเมืองนั้นจะได้ลิ้มรสของความวิบัติ เข้าสู่กลียุค ข้าวยากอาหารแพง โจรร้ายชุกชุม ผู้คนตกงาน หนี้ครัวเรือนพวยพุ่ง สถาบันครอบครับแตกแยก ยาเสพติดแพร่กระจาย ชนชั้นปกครองต่างโกงกินทุกแห่งหน ประชาชนเดือนร้อนทุกหย่อมหญ้า มองไม่เห็นแสงสว่างนำพาชีวิต
ทรราชขุนนางชั่วในยุคใหม่เหล่านี้ ต่างใช้องคาพยพทั้งหลายทั้งปวงฟื้นฟูความเป็นสมมติเทพให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง เพิ่มพูนอำนาจจนถึงขีดสุด จารีตประเพณีที่เคยถูกยกเลิกเนื่องจากถูกองว่าเป็นการกดขี่ เป็นความไม่ศิวิไลซ์ตามยุคสมัย บัดนี้สิ่งเหล่านั้นได้ถูกรื้อฟื้นคืนมาใหม่อีกครั้ง เพื่อนำสมมติเทพมาเป็นโล่กำบังให้แกตน โดยทั้งสมมติเทพและเหล่าทรราชต่างฝ่ายต่างก็ได้รับผลประโยชน์กันเป็นที่น่าพึงพอใจบนความทุกข์ของประชาชนที่ต้องรับเคราะห์กรรมด้วยกันอย่างถ้วนหน้า
1
ทำให้มีกลุ่มคนที่จำต้องลุกขึ้นสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่ออนาคตของตัวเองและประเทศชาติ ตลอดจนลูกหลานที่จะต้องอาศัยผืนแผ่นดินนี้อยู่ต่อไป ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างผาสุข
คนรุ่นเก่าหัวสมัยใหม่และคนรุ่นใหม่ต่างลุกขึ้นสู้ต่อผู้นำที่กดขี่ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ บริหารราชการบ้านเมืองล้มเหลว ภาพโดย ช่อง 7 (8เมษายน พ.ศ. 2564)
การที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เมื่อครั้งในอดีต สามารถต่อสู้กับสมมติเทพได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งชนชั้นนำรวมถึงกลุ่มคนซึ่งมีพละกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าร่วมด้วยจึงจะสามารถต่อสู้กับสมมติเทพได้ แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่สมัยปัจจุบันนี้ ขาดปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้อย่างน่าเสียดาย เสมือนมีคันธนูแต่ไม่มีลูกธนู เพราะสมมติเทพนั้น ได้ครอบครองทั้งเงินตรา กองทัพ อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินและถูกหนุนหลังโดยขุนนางทรราชไว้ทั้งหมดแล้ว
ข้าพเจ้าเชื่อว่า เมื่อถึงเวลาจะต้องมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปัญญาชนรุ่นใหม่ ข้าราชการรุ่นใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ ทหาร-ตำรวจรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นเก่าหัวคิดสมัยใหม่ ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมืองและผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งชาติเป็นหลัก ได้ร่วมกันทลายอาณาจักรมืดที่เหล่าทรราชสร้างขึ้นมาและนำพาสมมติเทพกลับคืนสู่ที่อันเหมาะสม เป็นที่รักและศรัทธามิใช่เกลียชังและหวาดกลัว เป็นประเทศชาติที่สว่างไสวด้วยปัญญา ด้วยความเจริญทางความคิด พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการตื่นรู้ สู่ “ยุคไทยศิวิไลซ์”
เชิงอรรถ
[1] นางนันทา วรเนติวงศ์ และ นางสาววนาศรี สามนเสน, รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต),กรุงเทพมหานคร : หจก. โชติวงศ์ ปริ้นติ้ง จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2548, 22-30
[2] ปาริชาต กัณฑาทรัพย, เทวราชาในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา, วารสารวชิราการมหาวิทยาลัยราชภัฏอตุรดิติถ์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2559, 154-165
[3] กรมศิลปากร, คติความเชื่อเรื่องกษัตริย์คือสมมติเทพ, 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560, http://kingrama9.th/Crematory/Detail/3
[4] ประชาไท, “เทวราชานิยม” กับ “ประชาธิปไตยสองแบบ”, 9 เมษายน พ.ศ.2562, https://prachatai.com/journal/2019/04/81981
[5] นายธงทอง จันทรางศุ, แนวพระราชดาริทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์, การประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัฑิตศึกษามสธ.คร้ังที่ 1, 26 สิงหาคม 2554, 1-2
[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร์ เดือน 8 แรม 1 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 แผนที่ 7, ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่, มูลิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2551, 6-9
[7] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด,สมบูรณาญาสิทธิราชย์, นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 1, 2562, 86
โฆษณา