7 เม.ย. 2021 เวลา 14:45 • ประวัติศาสตร์
📃กระดาษแผ่นที่ 5 : รายพระนาม 22 ราชาในขบวนกาญจนยาตราแห่งอียิปต์ (ตอนจบ)
***Trigger Warning : มีภาพพระศพประกอบ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่หวาดกลัวภาพมัมมี่***
ฟาโรห์ลำดับที่ 11 : ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III)
ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III)
อาเมนโฮเทปที่ 3 เป็นโอรสของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 (ฟาโรห์ลำดับที่ 10 ของขบวน) กับนางสนมนามว่ามุตเอมเวีย เช่นเคย เมื่อไม่ใช่โอรสที่เกิดจากราชินี การอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์ก็ย่อมมาจากสองสถาน หนึ่งคืออภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงที่กำเนิดจากราชินี และสอง หาข้ออ้างเรื่องเทพเจ้าบัญชามาปิดปากคนซุบซิบนินทา
เนื่องจากอาเมนโฮเทปที่ 3 เลือกแต่งตั้งราชินีจากสตรีที่มิได้มีกำเนิดจากราชินี ดังนั้นจึงทรงใช้วิธีเดียวกับฟาโรห์ฮัตเชปซัท คือปล่อยข่าวเล่าลือว่าเทพอามุนทรงพอพระทัยในตัวมุตเอมเวีย จึงเสด็จมาประทับร่วมพระแท่นในรูปกายของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 4 และกำเนิดมาเป็นอาเมนโฮเทปที่ 3 นั่นเอง
ในยุคสมัยของอาเมนโฮเทปที่สาม อียิปต์มั่งคั่งมากจากการค้าและค่าของทองคำ ทั้งยังมั่นคงเพราะทรงรับพระชายาเป็นเจ้าหญิงต่างแดนจำนวนมาก หนึ่งในนั้นที่สำคัญคือ เจ้าหญิงทาดูเคปาจากมิทันนี ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสอีกครั้งกับอาเมนโฮเทปที่ 4 ซึ่งเป็นพระโอรสของสวามีเก่า หรือที่ภายหลังทรงเปลี่ยนพระนามพระองค์เองเป็นอัคนาเตน และนามของทาดูเคปา ก็เปลี่ยนเป็นเนเฟอร์ตีตีที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
อาเมนโฮเทปที่ 3 มีโอรสธิดาไม่น้อยจากราชินี ชายา และสนมหลายนาง ผู้ที่ร่วมปกครองอียิปต์กับพระองค์ในช่วงแปดปีสุดท้ายคืออาเมนโฮเทปที่ 4 โอรสองค์ที่สองที่เกิดกับพระราชินี รัชสมัยของพระองค์ยืนยาว จนมีพระราชพิธีฉลองการครองราชย์ครบ 30 ปี (ซึ่งฟาโรห์จะต้องวิ่งแข่งกับวัวอาปิส - วัวศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่าเกิดจากแม่วัวพรหมจรรย์และเทพปตาห์ - เพื่อให้แน่ใจว่ายังทรงพระพลานามัยพอที่จะปกครองแผ่นดินต่อไปได้)
ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ทรงสิ้นพระชนม์ในปีที่ 39 แห่งรัชสมัยของพระองค์ โดยไม่ทราบสาเหตุการสิ้นพระชนม์ที่แน่ชัด
ราชินีลำดับที่ 12 : ราชินีตี (Tiye)
ราชินีตี (Tiye)
(ภาพด้านซ้าย : ภาพจำลองพระราชินีตีจากคอมพิวเตอร์, ภาพขวาบน : ประติมากรรมรูปพระราชินีตี, ภาพซ้ายล่าง : พระศพที่ถูกทำเป็นมัมมี่ของพระราชินีตี)
พระราชินีตี นับว่าเป็นราชินีที่แปลกกว่าราชินีองค์อื่น เพราะนางไม่ใช่ราชนารี บิดาของนางชื่อยูยา เป็นนักบวช เจ้าที่ดินผู้มั่งคั่ง และผู้บัญชาการกองทหารรถศึก ส่วนมารดาชื่อทูยา เป็นหัวหน้าผู้รับใช้ในวิหารแห่งเทพีฮาธอร์ เทพอามุน และเทพมิน ทั้งยังสันนิษฐานว่านางอาจมีสายเลือดของราชวงศ์อยู่ในตัว นับว่าเป็นผู้มีอิทธิพลไม่น้อยในยุคนั้น
ราชินีตีอภิเษกสมรสกับอาเมนโฮเทปที่ 3 (ฟาโรห์ลำดับที่ 11 ในขบวน) และมีโอรสธิดาหลายองค์ รวมทั้งอาเมนโฮเทปที่ 4 หรืออัคนาเตน ผู้จะขึ้นเป็นฟาโรห์ในรัชสมัยต่อไปด้วย
เนื่องจากพระนางมีพระชนมายุยืนยาวกว่าพระสวามี อิทธิพลของพระนางจึงแผ่มาสู่รัชสมัยของอัคนาเตนเช่นกัน อนุชาของพระนาง อัย ได้เป็นหัวหน้านักบวชในรัชสมัยของฟาโรห์ทุตอังค์อาเมน และได้ยึดราชบัลลังก์สืบต่อจากทุตอังค์อาเมน โดยการบังคับอภิเษกสมรสกับอังคีเซนามุน ราชินีม่ายของทุตอังค์อาเมน เป็นฟาโรห์องค์ที่ 13 แห่งราชวงศ์ที่ 18
พระศพของพระนางถูกพบในห้องลับในสุสานของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 2 (ฟาโรห์ลำดับที่ 9 ในขบวน) ที่ KV35 เป็นสตรีสูงวัยผมสีแดง จึงถูกเรียกว่า The elder lady (เนื่องจากในห้องเดียวกันยังมีหญิงสาวที่อ่อนวัยกว่าและทารกอีกหนึ่งคน) จนกระทั่งวิวัฒนาการด้าน DNA สามารถพิสูจน์ได้ว่า The elder lady ก็คือพระนางตีนั่นเอง
(ส่วน The younger lady ยังไม่มีใครทราบชื่อที่แน่นอน รู้แค่จากการตรวจ DNA ว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับอัคนาเตน และนางคือพระมารดาของฟาโรห์ทุตอังค์อาเมนและมัมมี่ทารกอีกคนที่พบในห้องลับเดียวกันด้วย)
ฟาโรห์ลำดับที่ 13 : ฟาโรห์เซติที่ 1 (Seti I)
ฟาโรห์เซติที่ 1 (Seti I)
ข้ามช่วงท้ายราชวงศ์ที่ 18 (อันแสนดราม่าและน่าตื่นเต้น) เข้าสู่ราชวงศ์ที่ 19 กันเลย ในช่วงท้ายของราชวงศ์ที่ 18 อียิปต์เริ่มทำสงครามกับบ้านใกล้เรือนเคียงอีกครั้ง เมื่อสิ้นโฮเรมเฮป ฟาโรห์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18 แล้ว แม่ทัพของโฮเรมเฮปก็ตั้งตนเป็นฟาโรห์ สถาปนาราชวงศ์ใหม่ ใช้พระนามว่ารามเสสที่ 1 และออกรบกับประเทศเพื่อนบ้านเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุตรชาย แต่รัชสมัยของรามเสสที่ 1 สั้นมาก เพียง 2 ปีเท่านั้น จากนั้น โอรสของรามเสสที่ 1 ก็ครองบัลลังก์แทน และใช้พระนามว่า ฟาโรห์เซติที่ 1
(เซติแปลว่า คนของเซธ ซึ่งเซธเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม แสดงให้เห็นว่าราชวงศ์นี้ให้ความสำคัญกับการรบมาก)
แม้จะโด่งดังไม่เท่ารามเสสที่ 2 ผู้เป็นบุตรชาย แต่เซติที่ 1 ก็นับว่าเป็นนักรบที่เก่งมาก ออกทำสงครามกับฮิตไทท์เพื่อแย่งชิงซีเรีย (ซึ่งเคยเสียไปในยุคของอัคนาเตน) กลับมาเป็นของอียิปต์จนได้
สุสานของฟาโรห์เซติที่ 1 (KV17) นับว่าเป็นสุสานที่งดงามมาก เป็นสุสานแห่งแรกที่มีการตกแต่งด้วยภาพเขียนสีและรูปสลัก รวมทั้งพระศพของฟาโรห์เซติเอง ก็มีพระพักตร์ที่สมบูรณ์แบบมาก ราวกับกำลังบรรทมหลับ จึงได้ชื่อว่าเป็นมัมมี่ที่สวยงามที่สุดในโลก
ฟาโรห์ลำดับที่ 14 : ฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramses II)
ฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramses II)
ฟาโรห์รามเสสที่ 2 หรือรามเสสมหาราช เป็นฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดองค์หนึ่ง ทรงได้รับพระราชอำนาจจากพระบิดาให้เข้าร่วมการปกครองและกองทัพตั้งแต่พระชนมายุ 14 พรรษา ทรงเป็นนักรบที่สามารถ การศึกที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์การรบของพระองค์คือสมรภูมิคาเดช ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของฮิตไทท์ ที่โด่งดังไม่ใช่เพราะรามเสสที่ 2 ทรงรบชนะ อันที่จริงทรงหลงกลข้าศึกและเข้าไปติดอยู่ในกลางทัพศัตรูโดยมีทหารเคียงกายไม่กี่นาย ที่โด่งดังก็เพราะว่า ทรงจารึกคำขอพรจากเทพอามุนให้ช่วยให้พระองค์รอดชีวิตจากการล้อมของกองทัพข้าศึก (ซึ่งยาวมากจนสงสัยว่าระหว่างที่ทรงสวดอ้อนวอนอยู่นั้น ข้าศึกมัวทำอะไรอยู่) และดูเหมือนเทพอามุนจะทรงตอบรับคำวิงวอนนั้น ฟาโรห์รามเสสที่ 2 จึงทรงบุกทลวงกองทัพข้าศึกจนถอยร่นได้ด้วยพระองค์เองและทหารไม่กี่คน การศึกที่สมรภูมิคาเดชครั้งนั้นจึงนับว่าไม่มีผู้ใดแพ้ผู้ใดชนะ
สุดท้าย อียิปต์กับฮิตไทท์ก็ทำสนธิสัญญาคาเดช เพื่อสงบศึกกัน เนื่องจากอียิปต์ตีคาเดชไม่แตก และฮิตไทท์ก็กำลังจะทำสงครามกับบาบิโลเนีย ไม่อาจรับศึกสองด้านได้ เป็นการทำสัญญาสงบศึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ยังมีจารึกเหลืออยู่ (อาจมีก่อนหน้านี้แต่ไม่มีหลักฐานเหลืออยู่แล้ว) กษัตริย์แห่งฮิตไทท์ได้ส่งพระธิดามาอภิเษกสมรสกับรามเสสที่สองเพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีที่ยั่งยืน
รามเสสที่สองครองราชย์ยาวนานถึง 66 ปีเศษ ทรงจัดพิธีวิ่งแข่งกับวัวอาพิสมากกว่าฟาโรห์องค์ใด ๆ (พิธีเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อครองราชย์ได้ 30 ปี และจัดซ้ำอีกครั้งทุก 3 ปี) และทรงสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ราว 90 ปี
(ฟาโรห์รามเสสที่ 2 คือฟาโรห์ที่กล่าวถึงในพระคัมภีร์ ว่าด้วยเรื่องการนำชาวยิวออกจากอียิปต์เพื่อหลุดพ้นจากการเป็นทาสของโมเสส)
ฟาโรห์ลำดับที่ 15 : ฟาโรห์เมเรนพทาห์ (Merenptah)
ฟาโรห์เมเรนพทาห์ (Merenptah) 
เมเรนพทาห์ เป็นโอรสองค์ที่ 13 ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 (ฟาโรห์ลำดับที่ 14 ของขบวน) เนื่องจากรัชสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ยาวนานมาก เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ เมเรนพทาห์ซึ่งเป็นโอรสที่อาวุโสที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่จึงได้ครองราชย์สืบต่อ (พระเชษฐาทั้งหมด และพระอนุชาบางองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว) ขณะขึ้นครองราชย์ พระองค์มีพระชนมายุราว 60-70 ปี และรัชสมัยของพระองค์ยาวนานเพียงประมาณสิบปีเท่านั้น
สุสานของพระองค์ถูกสร้างไว้ที่หุบผากษัตริย์ KV8 แต่มัมมี่ของพระองค์ถูกพบที่สุสาน KV35 ร่วมกับมัมมี่ฟาโรห์และราชินีองค์อื่นอีกหลายองค์ เชื่อว่านักบวชในยุคโบราณเป็นผู้นำพระศพเหล่านั้นมารวมกันไว้ หลังจากพบว่ามีโจรเข้าไปปล้นสุสานและทำลายข้าวของรวมถึงพระศพด้วย
ฟาโรห์ลำดับที่ 16 : ฟาโรห์เซติที่ 2 (Seti II)
ฟาโรห์เซติที่ 2 (Seti II)
ฟาโรห์เซติที่ 2 ทรงเป็นพระโอรสของฟาโรห์เมเรนพทาห์ (ฟาโรห์ลำดับที่ 15 ของขบวน) และราชินีไอเซทโนเฟรทที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุมากแล้ว และในขณะที่ครองราชย์ ก็ต้องทรงชิงไหวชิงพริบกับพระญาตินามว่าอาเมนเมซิส (อาจเป็นพี่น้องต่างมารดา หรือเป็นอาของพระองค์) ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ที่อียิปต์บนและนูเบีย กล่าวกันว่าในช่วงท้ายรัชกาล อาเมนเมซิสสามารถขับไล่พระองค์จากธีบิสซึ่งเป็นเมืองหลวงให้ไปอยู่ที่อียิปต์ล่างจนได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ในยุคสมัยนั้น อียิปต์มีฟาโรห์ถึงสองพระองค์ในคราวเดียว
ฟาโรห์ลำดับที่ 17 : ฟาโรห์ซิพทาห์ (Siptah)
ฟาโรห์ซิพทาห์ (Siptah)
ฟาโรห์ซิพทาห์ ทรงเป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 19 ไม่มีผู้ใดรู้แน่ชัดว่าทรงเป็นโอรสของฟาโรห์องค์ใด มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเป็นโอรสของฟาโรห์เซติที่ 2 (ฟาโรห์ลำดับที่ 16 ในขบวน) หรือไม่ก็อาเมนเมซิส แต่เมื่อพิจารณาจากการที่พระองค์เปลี่ยนพระนามของตนเองเป็นเมเรนพทาห์ ซิพทาห์ จึงมีผู้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นโอรสของฟาโรห์เมเรนพทาห์ (ฟาโรห์ลำดับที่ 15 ในขบวน) ก็ได้
ฟาโรห์ซิพทาห์ครองราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งรัชสมัยของพระองค์ก็สั้นมาก สันนิษฐานว่าทรงมีพระชนมายุราวสิบหกชันษาเท่านั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ จากการตรวจสอบพระศพ พบว่าทรงมีพระอาการเท้าพิการเนื่องจากโปลิโอ
ฟาโรห์ลำดับที่ 18 : ฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramses III)
ฟาโรห์รามเสสที่ 3 (Ramses III)
ฟาโรห์รามเสสที่ 3 ทรงเป็นฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 20 รัชสมัยของพระองค์เป็นรัชสมัยที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายมากที่สุดสมัยหนึ่ง มีการรบทั้งกับลิเบีย และกลุ่มคนที่เรียกว่าชาวทะเล (Sea people) ซึ่งล่องเรือมาจากเอเชียไมเนอร์และเมดิเตอเรเนียน กลายเป็นการรบต่อเนื่องยืดเยื้อ ท้องพระคลังเริ่มว่างเปล่า เศรษฐกิจตกต่ำ รวมทั้งปัญหาวิเซียร์คอร์รัปชั่น
รัชสมัยของฟาโรห์รามเสสสิ้นสุดลงในปีที่ 23 หลังการครองราชย์ เมื่อพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชายานางหนึ่งของพระองค์เอง เพื่อชิงบัลลังก์ให้กับบุตรชายของนาง จากการตรวจสอบสภาพศพด้วย CT SCAN พบว่าพระองค์ถูกปาดคอจากทางด้านหลังลึกจนหลอดลมขาดเลยทีเดียว
ฟาโรห์ลำดับที่ 19 : ฟาโรห์รามเสสที่ 4 (Ramses IV)
ฟาโรห์รามเสสที่ 4 (Ramses IV)
ถึงแม้ว่ารามเสสที่ 3 (ฟาโรห์ลำดับที่ 18 ในขบวน) ผู้เป็นบิดาจะถูกลอบปลงพระชนม์เพื่อแย่งชิงบัลลังก์ แต่สุดท้าย รามเสสที่ 4 ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ห้า และได้รับการวางตัวไว้เป็นรัชทายาทตั้งแต่ 22 ปีก่อน ก็สามารถรักษามงกุฏฟาโรห์ไว้ได้ แต่ถึงกระนั้น รัชสมัยของพระองค์ก็สั้นเพียง 5-6 ปีเท่านั้น ระยะเวลานั้นยังน้อยเกินกว่าที่จะทรวงสร้างสุสานของพระองค์เองเสร็จสิ้นด้วยซ้ำ
ฟาโรห์ลำดับที่ 20 : ฟาโรห์รามเสสที่ 5 (Ramses V)
ฟาโรห์รามเสสที่ 5 (Ramses V)
ทรงเป็นพระโอรสของรามเสสที่ 4 (ฟาโรห์ลำดับที่ 19 ในขบวน) รัชสมัยของพระองค์สั้นมากเพียงสี่ปีเท่านั้น สาเหตุการสิ้นพระชนม์ สันนิษฐานว่าเป็นเพราะโรคฝีดาษ ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้บนพระศพมาจนปัจจุบัน มีบันทึกว่าพระศพของพระองค์ถูกนำสู่สุสานสองปีให้หลังจากวันสวรรคต ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก เพราะโดยปกติ การปลงพระศพและการนำเสด็จสู่สุสานจะกระทำเสร็จสิ้นในวันที่ 70 โดยไม่ขาดไม่เกิน มีข้อสันนิษฐานว่า เพราะรัชทายาทของพระองค์จำเป็นต้องใส่พระทัยกับการรบกับนูเบียก่อน การฝังพระศพจึงจำต้องล่าช้าออกไป
ฟาโรห์ลำดับที่ 21 : ฟาโรห์รามเสสที่ 6 (Ramses VI)
ฟาโรห์รามเสสที่ 6 (Ramses VI)
ฟาโรห์รามเสสที่ 6 ทรงเป็นพระโอรสของฟาโรห์รามเสสที่ 3 (ฟาโรห์ลำดับที่ 18 ในขบวน) ในสมัยของฟาโรห์รามเสสที่ 4 ผู้เป็นพระเชษฐา และรามเสสที่ 5 ผู้เป็นนัดดา รามเสสที่ 6 ทรงดำรงตำแหน่งนายพลทัพม้า เมื่อรามเสสที่ 5 สิ้นพระชนม์ลง รามเสสที่ 6 ต้องวุ่นวายกับการจัดการกับกองทัพนูเบียที่เข้ามารุกราน กว่าจะได้กลับมาจัดการเรื่องสุสานให้หลานก็ผ่านมาสองปีแล้ว
เช่นเดียวกับยุคสมัยก่อน ๆ ที่การรบยังคุกรุ่น เศรษฐกิจของอียิปต์ในยุคนั้นจัดว่าย่ำแย่อย่างยิ่ง
รามเสสที่ 6 มีรัชสมัยยาวนานประมาณ 7-8 ปีสุสานของพระองค์ (KV9) นั้นทับอยู่บนปากทางเข้าสุสานของฟาโรห์ทุตอังค์อามุนแห่งราชวงศ์ที่ 18 พอดี สุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 จึงเบี่ยงเบนความสนใจพวกโจรปล้นสุสาน และทำให้สุสานของทุตอังค์อามุนรอดพ้นจากการปล้นมาได้จนกระทั่งมีการขุดค้นพบโดยโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ ในเวลาต่อมา
ฟาโรห์ลำดับที่ 22 : ฟาโรห์รามเสสที่ 9 (Ramses IX)
ฟาโรห์รามเสสที่ 9 (Ramses IX)
เชื่อกันว่า รามเสสที่ 9 เป็นหลานปู่ของรามเสสที่ 3 (ฟาโรห์ลำดับที่ 18 ในขบวน) เนื่องจากมีจารึกที่กล่าวถึงชายาในเจ้าชายมอนตูเฮอโคเชฟ โอรสองค์หนึ่งของรามเสสที่ 3 ว่าเป็นพระมารดาของกษัตริย์ จึงเชื่อว่า รามเสสที่ 9 เป็นโอรสของเจ้าชายพระองค์นั้น
ช่วงเวลาที่รามเสสที่ 9 ครองราชย์ เป็นช่วงเวลาที่ยุ่งเหยิงที่สุดตอนหนึ่งของอียิปต์ อาเมนโฮเทป หัวหน้านักบวชสูงสุดแห่งเทพอามุน ได้แทรกแซงกิจการปกครองในธีบิส ในขณะที่ฟาโรห์พระองค์จริงประทับอยู่อียิปต์ล่าง พวกลิเบียเข้าโจมตีไม่หยุดหย่อน ท้องพระคลังถังแตกจากการจ่ายค่าจ้างสร้างสุสานในนครแห่งความตาย ธัญพืชราคาตกต่ำจากภาวะฟองสบู่แตก แต่ถึงกระนั้น รามเสสที่ 9 ก็ยังคงปกครองนูเบียในฐานะประเทศราชได้อย่างราบรื่น
รามเสสที่ 9 ครองราชย์อยู่ราว 19 ปี ในช่วงสองปีหลัง เรื่องราวของพระองค์ไม่ได้ถูกบันทึกไว้อีกเลย
ฟาโรห์ทุกพระองค์ถูกเชิญเสด็จในราชรถที่ตกแต่งเหมือนเรือสุริยะ โดยแช่พระศพในไนโตรเจนเพื่อคงสภาพขณะพระราชพิธี เมื่อขนย้ายสู่พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ฟาโรห์และราชินีทั้ง 22 พระองค์จะถูกจัดแสดงในโถงที่จำลองบรรยากาศให้คล้ายคลึงกับห้องเก็บพระศพจริงที่หุบผากษัตริย์ เพื่อรอคอยวันที่จะฟื้นคืนตามความเชื่อในยุคสมัยของพระองค์ต่อไป
โฆษณา