9 เม.ย. 2021 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield จะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?
2
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond Yield ในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปี กำลังเป็นปัจจัยทำให้เกิดความผันผวนอย่างมากต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
และหลายคนก็อาจกำลังสงสัยว่า
เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
สำหรับ Bond Yield ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ
คือ Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปี
1
ในทางทฤษฎีนั้น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Bond Yield มักเป็นการส่งสัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดการเงิน กำลังจะปรับตัวสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา
ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ให้เดินหน้าจากวิกฤติให้เร็วที่สุด
อย่างเช่น มาตรการก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา นำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ก็เป็นเม็ดเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นกว่า 59 ล้านล้านบาท
โดยมีทั้งการนำเงินไปช่วยคนตกงาน สนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ หน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้
Cr. Mail.ru
เมื่อประชาชนมีเงินในมือหรือได้รับการช่วยเหลืออุดหนุน จึงทำให้มีการคาดกันว่า ชาวอเมริกันจะออกมาจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยว หลังจากอัดอั้นมานาน จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตในปีนี้
แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยจำนวนเงินที่มากขนาดนี้ อีกด้านหนึ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า เงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา จะปรับเพิ่มขึ้นมากในอนาคตอันใกล้
และพอเป็นแบบนั้น สุดท้ายธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ก็จะต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ
นักลงทุนที่คาดการณ์แบบนี้ และกำลังถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปีอยู่ จึงเริ่มพากันเทขายพันธบัตรดังกล่าวออกมา เพราะคาดว่าพันธบัตรรุ่นที่จะออกมาใหม่ในอนาคต จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรชุดปัจจุบันตามการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย
1
การเทขายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปัจจุบัน จึงทำให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการุ่นอายุ 10 ปีนั้นลดลง และทำให้อัตราผลตอบแทน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกันตามกลไกของพันธบัตร
- สิ้นปี 2563 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 0.916%
- มีนาคม 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 1.674%
1
การเทขายพันธบัตร แล้วหันกลับมาถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ
หมายความว่า ความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังกลับมาเพิ่มขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Index) ปรับเพิ่มขึ้น
ซึ่งหมายความว่า เงินดอลลาร์สหรัฐ กำลังแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
1
- สิ้นปี 2563 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Index) อยู่ที่ประมาณ 89.894
- มีนาคม 2564 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Index) อยู่ที่ประมาณ 92.714
การแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทนั้นอ่อนค่าลงในเชิงเปรียบเทียบ
โดยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อช่วงต้นปี อยู่ที่ประมาณ 29.87 บาท
ในวันนี้ ค่าเงินบาทปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 31.32 บาท
หรืออ่อนค่าลงมาแล้ว ประมาณ 4.9%
แน่นอนว่า เมื่อรวมกับการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด 19 การอ่อนค่าของเงินบาท ก็จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
1
Cr. Thailand Business News
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยในปี 2563 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยมีสัดส่วนกว่า 7.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 45% ของมูลค่า GDP
ค่าเงินที่อ่อนค่ายังจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมองว่าการท่องเที่ยวไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง
แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เต็มที่เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศเริ่มฟื้นตัว ในช่วงเวลาเดียวกับที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง
สรุปแล้ว การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลบวกตามไปด้วย
3
แต่รู้ไหมว่า เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา รุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้น เรื่องนี้ก็ส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี
โดยจากสิ้นปีที่ประมาณ 1.165% มาวันนี้ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.733%
1
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มักเป็นปัจจัยที่ใช้กำหนดแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว
นั่นหมายความว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของไทยนั้นปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย
Cr. Thumbsup
แล้วเรื่องนี้จะกระทบอะไรกับเราบ้าง ?
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น
ทำให้หากรัฐบาลไทยหรือบริษัทเอกชนไทย ต้องการจะออกหุ้นกู้ระยะยาว ก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น
1
งบประมาณของภาครัฐ รวมทั้งงบประมาณของภาคเอกชน ที่จะนำไปใช้เพื่อการลงทุนก็อาจลดลง เนื่องจากงบประมาณบางส่วนต้องถูกแบ่งไปชำระภาระหนี้ในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ที่ดูแล้วน่าเป็นห่วงที่สุด น่าจะเป็นภาคครัวเรือนไทย
ปัจจุบันหนี้สินของภาคครัวเรือนไทย พุ่งไปถึง 87% ของมูลค่า GDP
หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 14 ล้านล้านบาท
3
ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินของครัวเรือนไทยก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
พอภาระของภาคครัวเรือนมีมากขึ้น ก็จะมีกำลังมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่มากเพียงพอในวันนี้และในอนาคต
1
สรุปแล้ว การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวพวกเรา
แต่เมื่อลองมาวิเคราะห์กันดูแล้ว กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเราและเศรษฐกิจไทย ไม่น้อยเลยทีเดียว...
โฆษณา