9 เม.ย. 2021 เวลา 02:17 • การเมือง
#RAISEGLOBE : กองทัพเมียนมาใช้ Thailand Model ทำรัฐประหาร
รายงานของดร.พอล แชมเบอร์ส จาก ISEAS ที่ตีพิมพ์ในสื่อสิงคโปร์ ชี้ว่า หากมองแบบเผิน ๆ เราจะพบว่าการรัฐประหารของเมียนมาในปี 2564 นั้นมีความคล้ายคลึงกับการรัฐประหารของไทยในปี 2549, 2557 อยู่ไม่น้อย โดยสาเหตุของการรัฐประหารนั้นในทั้งสามกรณีนั้นเผชิญปัญหาเดียวกันก็คือ การที่รัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นมีอำนาจมากกว่ากองทัพ ไม่ว่าจะเป็นสมัยของทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรืออองซาน ซูจี
.
ในความเป็นจริงแล้วทั้งกองทัพไทยและเมียนมาต่างมีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด ส่วนในด้านของความมั่นคงแห่งชาติ ทหารเหล่านี้ก็ล้วนมีอำนาจในทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่มาก ถ้าหากรัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจมากกว่าตนก็อาจจะส่งผลกระทบต่อทหารเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าทหารเหล่านี้อาจโดนเช็คบิลย้อนหลังและหมดอนาคตทางการเมืองไปเลย
.
::ประเทศไทยเป็นโมเดลสำคัญของเมียนมา::
แชมเบอร์ส กล่าวว่า ย้อนกลับไปในปี 2557 ที่รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนี้ โดยไทยนั้นใช้การสืบทอดอำนาจโดยการเอาผู้นำกองทัพมาลงเลือกตั้งเสียเอง ถึงแม้จะชนะการเลือกตั้งแต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่การเลือกตั้งที่โปร่งใสและขาวสะอาด กองทัพพยายามหลอกประชาชนในนาม “ประชาธิปไตยแบบปลอม ๆ” มาโดยตลอด
.
ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้นก็เป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับเมียนมา ความอ่อนแอของระบอบประชาธิปไตยไทยนั้นช่วยโน้มน้าวให้กองทัพเมียนมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2551 ของตัวเอง และจัดการเลือกตั้งในปี 2554 โดยรัฐบาลพลเรือนเมียนมานั้นมีอำนาจควบคุมกองทัพได้น้อยลงยิ่งขึ้น และส่งผลให้กองทัพเมียนมาสามารถควบคุม 25 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งใด ๆ
.
กลับมาที่ไทยเองก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก รัฐธรรมนูญปี 2560 ของไทยนั้นเปิดช่องว่างให้กองทัพสามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้กว่า 250 คนหรือครึ่งหนึ่งของสภา และกองทัพยังมีการวางยุทธศาสตร์ชาติต่อไปอีก 20 ปี เพื่อให้แน่ใจว่ามีเงินทุนมหาศาลสำหรับกองทัพถ้าหากต้องเผชิญการฟ้องร้องหรือเช็คบิลย้อนหลังในอนาคต
.
เมื่อเรียนรู้จากการเลือกตั้งในปี 2562 ของไทยและการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจของกองทัพไทย รัฐบาลเมียนมาจึงพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2551 เพื่อเพิ่มการควบคุมทางการทหาร แต่กระนั้นจากผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 63 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติ (NLD) ได้เสียงข้างมากไปอย่างถล่มทลาย ก็เป็นการรับประกันได้ว่าความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญของกองทัพจะยังไม่มีผลในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งก็ส่งผลให้กองทัพเมียนมากระทำรัฐประหารในเวลาต่อมา
.
::บริบทที่แตกต่างของไทยและเมียนมา::
#ประการแรก คือ ประเทศไทยถูกควบคุมโดยการจัดการระหว่างสถาบันฯและกองทัพโดยมีฝ่ายหลังเป็นสัมพันธมิตรมาอย่างยาวนาน โดยกองทัพมีอำนาจมาจากความชอบธรรมในการเป็นผู้พิทักษ์สถาบันฯ มาโดยตลอด เหตุการณ์ในปี 2549 และ 2557 ยังคงเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของคนไทย 2 ฝ่าย ในทางตรงกันข้าม การรัฐประหารของเมียนมาดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดฟันเฟืองภายในประเทศครั้งใหญ่
.
#ประการที่สอง คือ การมีอิทธิพลต่อการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 15 ฉบับกองทัพของไทยได้ก้าวไปสู่เส้นทางอันยาวนานในการประสบความสำเร็จในการครอบงำพรรคการเมืองและได้รับความเป็นเอกภาพแห่งชาติในที่สุด
.
อย่างไรก็ตามในเมียนมา คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงมองว่าตัวเองเป็น“ ผู้ช่วยชีวิต” ของประเทศจากการล่าอาณานิคมและศัตรูต่างชาติมานาน เพื่อให้มั่นใจว่าตนมีบทบาทด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ตนเองพยายามมาอย่างยาวนาน
.
ปัจจุบันกองทัพเมียนมาเลือกที่จะใช้ความรุนแรงขั้นสูงสุดแทนการสร้างพรรคการเมืองแบบปลอม ๆ เหมือนของไทย โดยจากการกวาดล้างของกองทัพส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 550 ราย แม้จะมีความแตกต่างกัน แต่นัยยะสำคัญของไทยสำหรับเมียนมาร์ก็คือการปราบปรามเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถรักษาอิทธิพลทางทหารได้อยู่ดี
.
จากระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เมียนมาเหมือนอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดอันปราศจากแสงสว่าง แม้ทางกองทัพจะรุนแรงมากขึ้นเพียงใด แต่เรามักจะพบว่าชาวเมียนมายังคงพร้อมใจกันสู้และต่อต้านอย่างไม่ลดละ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นโจทย์สำคัญของกองทัพเมียนมาว่าพวกเขาอาจจะต้องตระหนักว่าสักวันนึงพวกเขาจะต้องประนีประนอมกับพรรค NLD ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นหรืออาจจะดูฉลาดกว่านี้หากมิน อ่อน หล่ายเลือกที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบปลอม ๆ ในการควบคุมประเทศเหมือนอย่างไทย
.
ที่มา : https://bit.ly/3uvcxxW
โฆษณา