9 เม.ย. 2021 เวลา 05:32 • หนังสือ
A : ฉันว่าเธอทำงานนี้ไม่เรียบร้อยนะ ตั้งใจทำรึเปล่าเนี่ย ?
ถ้าคุณเป็น B แล้วโดนเพื่อนร่วมงานชื่อ A ถามจี้แบบนี้ คุณจะตอบยังไง
ทางเลือกที่ 1
B : เรื่องแค่นี้ ทำไมต้องด่ากันด้วย (อารมณ์เริ่มปรี๊ด ๆ)
ทางเลือกที่ 2
B : ขอบคุณมากที่เตือนนะ เธอคิดว่าตรงไหนที่ไม่เรียบร้อย ฉันจะได้ปรับปรุง
หรือคุณอาจมีทางเลือกอื่น ๆ
แต่ไม่ว่าทางเลือกไหน และไม่ว่าคุณจะคิดว่า A ควรพูดแบบนี้หรือไม่
ผลลัพธ์ที่ตามมาของแต่ละทางเลือก ย่อม "ไม่เหมือนกัน" แน่นอน
และหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้คุณ "เลือกได้ดีขึ้น"
#MiniตกผลึกBooks เล่มที่ 4
”ศิลปะการพูด ให้เหมือนนั่งในใจคน”
โดย คิมยุนนา
แปลไทยโดย อาสนา อภิชนางกูร
#ดีงามยังไง
หลายครั้งที่คำพูดของผม “เผลอไปทิ่มแทง”
คนที่ผมรัก หรือคนอื่น ๆ รอบตัว
แม้จะมีเจตนาดี แต่เพราะไม่ได้ขัดเกลาวิธีพูดให้ดี
คำพูดนั้นเลยสร้างบาดแผลในใจคนฟัง
เล่มนี้ช่วยเตือนสติผม
และทำให้ผมหันมาขัดเกลา “วิธีพูด” ของตัวเองมากขึ้น
อ่านจบ ผมเชื่อว่าคุณจะรู้จักใช้พลังของ “คำพูด” เพื่อเยียวยาหัวใจ
ไม่สร้างบาดแผลให้ผู้อื่น และบรรลุผลที่ต้องการครับ
โดยทฤษฏีของคิมยุนนา มีชื่อน่ารักกิ๊บเก๋ว่า...
“ชามคำพูด”
#keyเด็ดๆที่ได้
1
คนที่มีชามคำพูดเล็ก
จะมีคลังคำพูดให้เลือกใช้น้อย
และคำพูดจะล้นง่าย
ทำให้รับฟังคนอื่นได้ไม่นาน
พอได้ยินคำพูดระคายหู จี๊ดหัวใจ ก็ทนไม่ได้ที่จะต้องเถียงออกไปด้วยอารมณ์
เน้นปกป้องตัวเองหรือใช้คำพูดทิ่มแทงคนอื่น
เช่น (โฟกัสที่ B นะครับ)
A : ฉันว่าเธอทำงานนี้ไม่เรียบร้อยนะ ตั้งใจทำรึเปล่าเนี่ย ?
B : เรื่องแค่นี้ ทำไมต้องด่ากันด้วย
2
คนที่มีชามคำพูดใหญ่
จะมีคลังคำพูดให้เลือกใช้เยอะ
และคำพูดจะล้นยาก
รับฟังคนอื่นได้นาน เพราะพยายามเข้าใจอีกฝ่าย
เคารพความคิดต่าง
เลยมักใช้คำพูดแสดงความเข้าใจผู้อื่นเสมอ
เช่น (โฟกัสที่ B นะครับ)
A : ฉันว่าเธอทำงานนี้ไม่เรียบร้อยนะ ตั้งใจทำรึเปล่าเนี่ย ?
B : ขอบคุณมากที่เตือนนะ เธอคิดว่าตรงไหนที่ไม่เรียบร้อย ฉันจะได้ปรับปรุง
3
ถ้าคุณเป็นคนที่ชามคำพูดใหญ่อยู่แล้ว
ยินดีด้วยครับ พัฒนาต่อไป จะทำให้พูดได้ดีขึ้นไปอีก
แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีชามคำพูดเล็ก
อย่าได้กังวลไป (ผมก็ชามคำพูดเล็กครับ)
เรามา “ขยายชามคำพูด” ไปด้วยกัน
#วิธีขยายชามคำพูด
ในหนังสือไม่ได้บอกเป็นขั้นตอนแบบนี้นะครับ
ผมตกผลึกมาเอง
#step1
อย่าตัดสินใคร ด้วยแว่นตาที่เราใช้มองโลก
เราต้องแลกแว่นกันมองครับ
เพื่อจะได้เข้าใจ “ชุดความคิด” ในหัวของอีกฝ่าย
ความเข้าใจกัน คือขั้นแรกของการสื่อสารที่สวยงาม
#step2
เข้าใจรูปแบบการแสดงออกของเราเอง
เวลาตอบโต้ใคร เราจะมีรูปแบบการแสดงออก 3 ประเภท
แบบที่ 1 “น้ำตก”
ใครพูดอะไรมาแล้วเก็บอารมณ์ไม่อยู่ ต้องระบายทันที
เมื่ออารมณ์รุนแรง ก็มักแสดงออกรุนแรงตรง ๆ โจ่งแจ้ง
แบบที่ 2 ”ทะเลสาบ”
เก็บกดความรู้สึก หน้าฉากดูเงียบ ๆ
มักจะติดปากว่า “ไม่เป็นไร” แต่จริง ๆ ข้างในลึก ๆ รอวันปะทุ
แบบที่ 3 ”ก๊อกน้ำ”
ควบคุมความรู้สึกและการแสดงออกได้ดี
เหมือนบิดก๊อกน้ำเพื่อควบคุมความแรงของน้ำได้
สั้น ๆ คือ ถ้าใครรู้ตัวว่าเป็นแบบที่ 1 หรือ 2
เราควรฝึกให้เป็นแบบที่ 3 ครับ
#step3
ฝึกรู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง เพื่อ “ตั้งสติ” ก่อนพูดอะไรออกไป
ทริกหนึ่งที่ผมใช้คือ การสังเกตร่างกายตัวเอง
เช่น
เวลาโกรธ ก็มักใจเต้นแรง
แน่นหน้าอก
หน้าร้อน ๆ ชา ๆ
ส่วนตัวคิดว่า ถ้าฝึกข้อนี้ได้ดี ข้ออื่นจะตามมาเอง
#step4
จะพูดให้ได้ดี ต้องฟังให้เก่งก่อน
ฟังเพื่อเข้าใจเค้า ว่าเค้ารู้สึกยังไง เจตนาลึก ๆ คืออะไร
ไม่ใช่ฟังเพื่อจะโต้แย้ง หรือแย่งพูด
ขั้นนี้ดูเหมือนจะง่าย แต่ผมลองใช้จริง ๆ แล้ว ไม่ง่ายนะ
เช่น มีคนมาปรึกษาปัญหาผม
บางครั้งผมก็เผลอฟังเพื่อมุ่งแก้ปัญหาเลย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไปนะ
(ยังไม่ทันจะเข้าใจเค้าจริง ๆ ก็คันปาก ชิงให้คำแนะนำก่อนซะแล้ว)
สรุปคือ ไม่ง่ายครับ ต้องอาศัยการฝึกพอสมควร
#step5
ถามเพื่อค้นหาความจริง และเข้าใจเค้ามากขึ้น
มักเป็นคำถามเปิด และกระตุ้นให้เค้าจินตนาการ เช่น
“ตอนนี้เธอรู้สึกยังไง”
“สมมติว่า ถ้าเธอเป็นเค้า เธอจะคิดยังไง”
หมั่น ถามให้เยอะ และตั้งใจฟังอย่างแท้จริง
จบแล้วครับ ถ้าทำได้ 5 step นี้เป็นนิสัย
ชามคำพูดเราจะขยายเองครับ
#ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า…
“ไม่เห็นมีเทคนิคการพูดเลย”
อืม…นั่นสิ ผมก็สงสัยเหมือนกัน 🤣
ตึ่งโป๊ะ
ไฮไลต์มันอยู่ที่ตรงนี้แหละครับ
คือ หนังสือต้องการบอกเราว่า
ถ้าฟังเก่ง และรู้จักถาม
เราจะพูดได้ดีเอง
เพราะ ”คนเราชอบถูกรับฟัง”
ยิ่งเราฟังเรื่องของเค้าเยอะ เค้าจะยิ่งรู้สึกดี
และ เมื่อเรารู้จักตั้งคำถามดี ๆ
ก็ยิ่งได้ข้อมูลไปพูดกับเค้า
หนังสือเลยเน้นให้ฝึกเทคนิค ฟังเยอะ ถามเยอะ เข้าไว้
ชัดเจนนะครับ
ดังนั้น แม้ในหนังสือจะไม่ได้ให้ทริคหรือเล่ห์เหลี่ยมในการพูด
ทว่าให้สิ่งที่สำคัญกว่า คือการเปลี่ยนแปลงจากภายในครับ
จึงขอ…
#สรุปแก่นทั้งหมดในประโยคเดียวคือ
“เมื่อใจเปลี่ยน คำพูดจะเปลี่ยนตาม”
#Commentเพิ่มเติม
อ่านไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย
อ่านไป ต้องพิจารณาตัวเองไปควบคู่ ถึงจะเข้าใจ
ดีที่เล่มนี้มีตัวอย่างที่เหมาะกับคนเอเชียดี (ผู้แต่งเป็นชาวเกาหลีใต้)
ส่วนข้อเสียคือ วิธีการ ไม่ได้บอกแบบชัดเจนนัก
ต้องตกผลึกมาใช้เอง
(ถ้าอ่านแล้วจับทางไม่ถูก แนะนำให้มาอ่านโพสต์นี้อีกรอบ)
หลังอ่านจบ
ผมรู้สึกเลยว่าศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน
มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราพูดเก่งแค่ไหน
แต่มันขึ้นอยู่กับว่า เราเข้าใจคนอื่นมากแค่ไหน
เป็นอีกเล่มที่ชอบมาก ๆ ครับ
อยากเชิญชวนให้ทุกคนอ่านกัน
อ่านแล้วลองเอาไป “ลงมือทำ” กันนะ
โชคดีครับ
Pump วิศวกรContent
#สรุป #ตกผลึก #Books #หนังสือ
ติดตามเราได้ที่
Facebook Fanpage : ตกผลึก Books : ความรู้ท่วมหัว เอาตัวให้รอด
Line Square : "ตกผลึก Books"
โฆษณา