9 เม.ย. 2021 เวลา 11:39 • ประวัติศาสตร์
เคล็ดลับความงามและตำนานความสวยแบบชาวพม่า
ถ้าพูดถึงความสวยความงามในแถบเอเชียแล้ว จะต้องนึกถึงชาวพม่า ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่ยังคงดำรงอยู่ให้เห็นตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันก็ยังนิยมทาแป้งสีเหลืองนวลตามแก้ม หน้าผาก​หรือบางคนก็วาดลวดลายให้มีความสวยงามมากขึ้น
พม่า​ เป็นดินแดน ที่ได้รับฉายาว่า "เมืองแห่งสาวหน้าขาว หนุ่มปากแดง" เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็มักจะเห็น หน้าขาวที่ทาจากแป้งสีเหลืองนวล​ เต็มไปหมด​ ซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้ญิงเท่านั้นที่ทา ผู้ชาย​ หรือแม้แต่เด็กเล็กๆก็ทากันทั่วไป
เมืองแห่งสาวหน้าขาว หนุ่มปากแดง
แป้งที่นำมาทากันนั้น คือ​ "ทานาคา" ในภาษาพม่าจะเรียกกันว่า "ตะนะคา" ลักษณะเป็นผงสีเหลืองนวล​ ซึ่งทำมาจากไม้ทานาคา(Thanaka)​ เป็นไม้เนื้อแข็ง มักขึ้นในเขตแห้งแล้งของภาคกลางของพม่าแถบพุกาม และมัณฑะเลย์ จะมีเฉพาะในประเทศพม่าเท่านั้น
การทาแป้งทานาคา นั้น​ เกิดจากความเชื่อที่ว่า​ แป้งทานาคา​ คือ​ เศษดินที่ติดอยู่ใต้พระบาทของพระพุทธเจ้า
ตำนานผิวสวยของผู้หญิงพม่านั้น เมื่อสืบค้น พบหลักฐานว่า ชาวพม่าใช้ "ทานาคา" มานานกว่า 2,000 ปี​ นับตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีเกษตร โดยเฉพาะในหญิงสาวชนชั้นสูง​ มีครั้งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้เจดีย์ชเวมะดอว์ (Shwemadaw Pagoda) ถล่มลง การเก็บกู้ซากปรักหักพังนำไปสู่การค้นพบ แผ่นหินกลม​ ที่​เ​ชื่อกันว่าเป็นของพระราชธิดาของกษัตริย์พม่า ทรงใช้บดท่อนไม้ทานาคา
นอกจากนี้​ ทานาคายังมีความเกี่ยวโยงกับความเชื่อและศรัทธาที่ผู้คนได้นำไปใช้ในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คือ​ "พิธีล้างพระพักตร์"
พระพุทธรูป พระมหามัยมุนี หรือ มะฮาเมียะมุนี
ชาวพม่าเชื่อกันว่า​ พระมหามัยมุนีสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า พระมหามัยมุนี สร้างขึ้นในปี พ.ศ.688 โดยพระเจ้าจันทสริยะ กษัตริย์ชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี แคว้นยะไข่
พิธีล้างพระพักตร์​ เป็นพิธีที่สืบต่อกันนับพันปีแล้ว เป็นความเชื่อแต่โบราณของชาวพม่าที่ว่า พระมหามัยมุนีได้ชื่อว่า เป็นพระพุทธรูปมีชีวิต เพราะได้รับประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธเจ้าเข้าไปในพระวรกายพระพุทธรูปองค์นี้​ จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิตมีลมหายใจ ดังนั้น​ จึงต้องจัด พิธีล้างพระพักตร์​ (ล้างหน้า)​ แปรงฟัน​เหมือนกับคนเราให้ในทุกๆเช้าของทุกวัน โดยน้ำที่นำมาล้างจะมีน้ำอบ น้ำหอม ที่ผสมผงทานาคา จะมีพระสงฆ์ทำหน้าที่ล้างตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง​ ถึงรุ่งเช้า
พระมหามัยมุนี​ เป็นตัวแทนสืบทอดศาสนา ชาวพม่าที่เชื่อกันว่ามีลมหายใจ ด้วยเหตุที่ว่ามีการปิดทองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งองค์พระเป็นรอยย่นตะปุ่มตะป่ำไปทั่ว หากใครที่มีโอกาสลองเอานิ้วกดลงจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนนิ่มในเนื้อทองคำเปลวที่ถูกปิดซ้อนทับกัน เป็นเวลามาหลายทศวรรษ ส่งผลให้ "พระมหามัยมุนี" มีชื่อเรียกอีกหนึ่งคือ "พระเนื้อนิ่ม"
การปิดทององพระค์นั้น ผู้ชายสามารถเข้าไปปิดแบบใกล้ชิดได้ ส่วนผู้หญิงห้ามไม่ให้เข้าไปปิดทอง แต่จะกราบไหว้บูชาได้ที่ด้านล่าง โดยมีเขตห้ามผู้หญิงล้ำเข้าไป ส่วนใครที่ต้องการปิดทอง​ ก็จะฝากผู้ชายขึ้นไปปิดแทน การปิดทองจะปิดได้ทั่วองค์ ยกเว้นพระพักตร์
ทานาคา(Thanaka)
วิธีทำทานาคาแบบดั้งเดิมของชาวพม่า จะต้องเลือกใช้ต้นทานาคาที่มีอายุประมาณ 35 ปี​ นำมาตัดเป็นท่อนๆ ขนาดหนึ่งคืบ หรือ​ครึ่งฟุต แล้วนำทานาคามาบดกับแผ่นหินหรือฝน​ พร้อมกับพรมน้ำเป็นระยะๆ จนได้ออกมาเป็นผงสีเหลืองนวล​มาละลายเป็นแป้ง
ซึ่งชาวพม่าส่วนใหญ่ มักจะใช้ทานาคาผัดหน้า หรือตามแขนขา และลำตัว จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวพม่า
"ทานาคา" มีสรรพคุณมากมายไม่ว่าจะช่วยปกป้องผิวจากปัญหาสิว ปรับสภาพผิวให้เนียนขึ้น แถมยังเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามินที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ผิวได้รับการดูแลอย่างดี การใช้ต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันของชาวพม่า​ ช่วยลดความหมองคล้ำ และยังปกป้องผิวจากแสงแดด ลดเลือนรอยแผลเป็น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันทานาคา ได้พัฒนาให้มีรูปแบบที่สำเร็จรูปง่าย และสะดวกในการใช้​ มาเป็นแบบกระปุก ขวด​ ซอง​ ไม่ต้องมาบดเอง และมีจำหน่ายอยู่ทั่วไป
สะท้อนให้เห็นว่า​ ทานาคามีความผูกพันธ์​กับชาวพม่ามาช้านาน ตั้งแต่อดีต จนปัจจุบัน ผู้คนทั่วไป หรือแม้แต่​หนุ่มสาว​ยุคใหม่ เด็กเล็กๆ ก็ยังเป็นที่นิยมทาทานาคาบนใบหน้า ทำให้กลายเป็นเอกลัษณ์​ที่ยังคงอยู่
โฆษณา