ปัญหาที่จะเกิดในระบบระบายความร้อนนอกจากสนิมแล้วยังมีปัญหาอื่นอีกครับ เริ่มจากภาพด้านบน
- ถ้าน้ำแห้งจากการรั่วซึมทั่วไปความร้อนเครื่องยนต์จะสูงมาก เมื่อถึงจุดที่ประเก็นฝาสูบ(Cylinder head gasket)ทนทานไม่ไหวก็จะไหม้กรอบแห้ง จนไม่สามารถใช้งานได้ต่อไป
- วาล์วน้ำ(Thermostat)เป็นสนิม ลิ้นภายในจะติดตาย น้ำจะไม่สามารถไหลเวียนเพื่อระบายความร้อนได้
- ฝาหม้อน้ำ(Radiator cap)เป็นสนิม สปริงจะล้าตัวสูญเสียแรงกด จะทำให้แรงดันน้ำในระบบตกต่ำลง อุณหภูมิโดยรวมจะตกลงทำให้เครื่องยนต์ทำงานที่อุณหภูมิต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ความฟิตของแหวนลูกสูบกับกระบอกสูบจะไม่ฟิต สมรรถนะของเครื่องจะตก ไม่ดีเลยครับ ควรเปลี่ยนฝาหม้อน้ำให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอนะครับ และที่สำคัญมากๆเลยคือต้องใช้ฝาหม้อน้ำรุ่นที่ตรงด้วยนะครับเพราะความแข็งของสปริงมีผลต่ออุณหภูมิการทำงานปกติของเครื่อง(Normal working temperature)และมีผลต่ออัตราการขยายตัวของวัสดุที่เป็นลูกสูบและกระบอกสูบด้วย ผมมีเรื่องเกี่ยวกับคนไทยเราที่มีความเข้าใจอะไรผิดๆเกี่ยวกับระบบระบายความร้อนเยอะ เช่นชอบถอดวาล์วน้ำ(Thermostat)ออก เพราะคิดว่ามันเป็นตัวขวางการไหลของน้ำจนบริษัทรถญี่ปุ่นต้องทำสติกเกอร์ติดไว้ว่า”ห้ามถอดวาล์วน้ำโดยเด็ดขาด” และในกลุ่มรถทัวร์บางคันชอบถอดฝาหม้อน้ำออกเพราะเข้าใจว่าจะทำให้เครื่องยนต์ไม่ร้อนมาก หรือเรือหางยาวดัดแปลงใส่เครื่องยนต์รถยนต์ลงไปแต่ไม่ใส่หม้อน้ำเข้าไปด้วย แต่จะเอาน้ำในคลองเข้าเครื่องยนต์แล้วพ่นออกเลยผลเสียคือเครื่องยนต์จะเย็นมาก สมรรถนะไมีดี อายุเครื่องยนต์สั้นครับ สรุปว่าคนไทยชอบทำให้เครื่องยนต์เย็นนั่นเอง แต่ท่านรู้ไหมว่าเครื่องยนต์ที่เย็นมากเกินไปกำลังเครื่องยนต์จะไม่ดีนะครับกำลังจะตก เพราะวัสดุชิ้นส่วนขยายตัวไม่ฟิตพอดีกัน ระหว่างกระบอกสูบและลูกสูบจะเกิดระยะห่างมากนั่นเอง ผมเลยอยากเอาตัวเลขดังต่อไปนี้มาให้ดูกันนะครับ
o ไม่มีฝาหม้อน้ำ(Unpressurized)น้ำจะมีจุดเดือด : 107.7°C
o ใส่ฝาหม้อน้ำ(Cap on, pressurized)น้ำจะมีจุดเดือด : 125.6°C
- ภายในหม้อน้ำเกิดตะกรัน(Scale)สะสมจนเกิดอุดตันทางไหลเวียนของน้ำ
- ปั๊มน้ำ(Water pump)เป็นสนิมผุกร่อน
- ผนังของปลอกสูบ(Liner)แบบเปียก, ช่องทางเดินน้ำในเสื้อสูบ(Water jacket) ถูกกัดกร่อนจากการพุ่งชนของฟองอากาศ(Cavitation corrosion)