11 เม.ย. 2021 เวลา 07:07 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รีวิวหนัง Tesla: เหมือนจะอยู่ผิดเวลาแต่ก็น่าสนใจ
เรื่องมันเริ่มจากเวิร์คช็อปของโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์แห่งยุคที่ใครๆก็รู้จัก ชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นเพียงคนช่วยงานเขาผู้นั้น และได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ในขณะที่ไอเดียที่เขาเสนอดูจะไม่เข้าตานักประดิษฐ์ชื่อดัง เขาเสนอการใช้งานไฟฟ้ากระแสสลับ และโดนดูถูกกลับมาว่าเรื่องที่เขาคิดไม่มีวันเป็นจริง เพราะมันอันตรายเกินไป ชื่อของชายหนุ่มผู้นี้คือ นิโคลา เทสลา
ฉากตัดสลับ เอดิสันและเทสลายืนเผชิญหน้ากัน ในมือของทั้งสองมีไอศกรีมโคน และพวกเขาก็กินมันอย่างเอร็ดอร่อย เทสลาเสนอความคิดที่ไม่เข้าท่าในสายตาเอดิสันอีกครั้ง ฉากนี้จบลงด้วยการที่ทั้งสองปักไอติมลงบนอกของอีกฝ่าย ด้วยท่าทางชวนตี เสียงพากย์บอกว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ก่อนจะตัดเข้ายังเหตุการณ์จริงที่ในมือของทั้งสองไม่มีไอศกรีมโคน
ฉากกินไอศกรีมทื่เป็นเพียงจินตนาการ
- วิธีนำเสนอที่ดูแปลก -
หากใครคาดหวังว่า Tesla (2020) จะเป็นหนังแนวชีวประวัติ ที่เล่าเรื่องราวเป็นเส้นตรง พร้อมฉากย้อนยุคสมจริง คงจะต้องคิดผิดถนัด เริ่มแรกมันดูจะเป็นเช่นนั้น จนกระทั่งตัวละครหยิบแม็คบุคออกมาค้นหาชื่อตัวเองบนกูเกิล ในแง่หนึ่ง Tesla ได้ทำลายกำแพงระหว่างตัวละครและผู้ชมและเปิดโอกาสให้เราเข้าไปมีส่วนร่วมกับชีวิตของเทสลาในแบบที่ใกล้ชิดกว่าการนั่งดูชีวิตของพวกเขาดำเนินไปแบบคนนอก วิธีการนำเสนออาจเรียกได้ว่าเข้าข่ายโพสต์โมเดิร์น และ mise-en-scene [1] (สิ่งที่ปรากฏอยู่ในฉาก) ก็แปลกตา เพราะบางครั้ง แทนที่หนังจะใช้ฉากในสถานที่จริง มันกลับใช้ฉากหลังเป็นสกรีนที่ฉายโปรเจกเตอร์ลงไป แล้วให้ตัวละครยืนอยู่หน้าสกรีนแทน บางคนอาจเห็นว่าการทำแบบนี้ทำให้หนังดูเป็นหนังทุนต่ำ แต่หากอ่านระหว่างบรรทัดกับภาษาของหนังดู จะพบว่าหนังกำลังพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวละครเข้ากับโลกปัจจุบัน และให้ความรู้สึกว่าเรื่องของเทสลาอาจกลายเป็นเรื่องของคนดูก็ได้
การนำเสนอแบบแปลกใหม่ ให้ตัวละครยืนหน้าสกรีน
- โลกของนักประดิษฐ์ผู้โดดเดี่ยว -
คนนำทางที่พาผู้ชมเข้าสู่โลกของเทสลา และให้เสียงพากย์ตลอดทั้งเรื่อง คือ แอนน์ มอร์แกน ลูกสาวของมหาเศรษฐี เจ.พี.มอร์แกน นายธนาคารใหญ่ อีฟ ฮิวสัน ได้แสดงบทนี้ไว้อย่างมีสเน่ห์ และในเรื่อง เธอก็เป็นฝ่ายไล่ตามเทสลาเพราะเธอชอบเขา แต่ธรรมชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของเทสลาทำให้เธออกหักซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเลิกสนใจเขาไปในที่สุด การมีอยู่ของแอนน์ช่วยทำให้ความโดดเดี่ยวของเทสลาดูบรรเทาลง และเผยมิติชีวิตส่วนตัวของเทสลา ที่เป็นคนสื่อสารไม่เก่งและไม่มีมนุษยสัมพันธ์นัก
แอนน์ มอร์แกน กับการไล่ตามเทสลา
เทสลาอาจเป็นตัวอย่างของคนที่คว้าไอเดียที่พรั่งพรูของตัวเองไว้ไม่ทัน และไม่สามารถทำให้ชีวิตบิดผันตามกระแสไอเดียที่ท่วมท้นนั้นได้อย่างสมดุล เขาจึงเสียโอกาสที่จะกลายเป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงของยุคอย่างเอดิสัน ชีวิตของเขาในครึ่งหลังของหนังค่อนข้างลำบาก เพราะเขาทั้งถูกเอาเปรียบโดยหุ้นส่วน ในขณะที่เงินทุนจาก เจ.พี.มอร์แกนที่ให้เขาทำการทดลองขดลวดของเทสลา ก็ถูกใช้จนหมด โดยไม่มีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน
เทสลาเริ่มหมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าเขาได้รับสัญญาณจากดาวอังคาร เขาบอกแอนน์ว่าการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวเป็นความเป็นไปได้ทางคณิตศาสตร์ และการทดลองขดลวดของเทสลาของเขาก็เพื่อทำให้การสื่อสารข้ามโลกเกิดขึ้นได้ในราคาถูก แอนน์บอกว่าเขาไม่มีความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่เขาดูจะไม่สนใจเรื่องเงินมากไปกว่าการได้เห็นไอเดียตัวเองออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนั้น ในช่วงท้ายเรื่อง เขาไปให้ความสนใจกับการแปลงกระแสความคิดจากสมองออกมาเป็นอาวุธ – ไอเดียที่นายทุนของเขาไม่ซื้อ
เทสลาเป็นตัวอย่างของนักประดิษฐ์สติเฟื่องอย่างแท้จริง และการที่เขาพูดเกี่ยวกับการคิดอย่างเข้มข้นของตนเองก็สะท้อนตัวตนตรงนั้น เขาเล่าว่าบางวันเขาคิดจนลืมคืนวัน นั่นเป็นสิ่งที่แอนน์บอกเขาเหมือนกัน เธอคิดว่าเขาอยู่แต่ในหัวของตัวเอง
- ฉากแบบไม่สมจริง แต่ให้ความรู้สึก -
หากจะมีฉากไหนที่เป็นภาพจำของหนัง คงต้องยกให้สองฉากนี้ ฉากแรกคือตอนที่เทสลาย้ายไปโคโลราโดเพื่อทำการทดลองที่ต้องใช้พายุฟ้าคะนอง หนังใช้ฉากหลังแบบไม่สมจริง ทำให้ดูเหมือนตัวละครเดินอยู่หน้าสกรีนที่ฉายภาพลงไป แต่เมื่อพายุมาแล้วลมพัดจัด ผมของเทสลาที่ลู่ไปตามลมกับแสดงสลัวเพราะพายุด้านหลังกลับให้สุนทรียภาพอย่างประหลาด อีกฉากหนึ่งคือฉากที่เทสลาร้องคาราโอเกะ เพลง Everybody Wants to Rule the World ซึ่งอีธาน ฮอว์ค นักแสดง เล่นไว้อย่างดีมากๆ ดูเหมือนเพลงนี้ได้สะท้อนตัวตนของเทสลา ที่ต้องการจะครองโลกด้วยสิ่งประดิษฐ์ของเขา แต่ผลกลับไม่เป็นไปอย่างใจหวัง
ฉากเทสลาร้องคาราโอเกะอันน่าจดจำ
สำหรับใครที่ชอบหนังที่มีน้ำเสียงของตัวเองอย่างชัดเจน และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆในการดูหนังแนวชีวประวัติ Tesla ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แม้คะแนนของหนังจะไม่ดีนัก โดยใน Rotten Tomatoes ได้คะแนนไป 58% และ Rogerebert.com ให้ไป 2 ดาว (จาก 5 ดาว) แต่ถือว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลจากความกล้าของผู้กำกับ ไมเคิล อัลเมเรดา เป็นอย่างมาก
สามารถอ่านบทความฉบับเต็ม และบทความอื่นๆได้ที่ https://afterthescene.com/tesla/
[1] อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับ mise-en-scène ได้ที่
โฆษณา