14 เม.ย. 2021 เวลา 14:31 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รีวิวด็อกเตอร์สโตน (Dr. Stone)
โลกยุคหินที่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์
#สปอยล์เต็มๆ
หลังจากดูแอนนิเมชันเรื่อง ด็อกเตอร์สโตน ใน Netflix จบไป
ผมสรุปได้สั้นๆด้วยความมั่นใจหมื่นล้านเปอร์เซ็นต์ว่า เด็กไทยควรได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ เพราะมันสร้างแรงบันดาลใจ และปลูกฝังความรักในวิทยาศาสตร์ได้อย่างยอดเยี่ยม
เนื้อเรื่องของด็อกเตอร์สโตนเริ่มต้นในโลกยุคปัจจุบันที่จู่ๆก็มีเหตุการณ์ประหลาดทำให้มนุษย์ทั้งโลกกลายเป็นหิน (แต่ไม่ตาย) จนเวลาผ่านไปนานหลายพันปี พระเอกของเรื่องชื่อ เซ็นคู หลุดออกมาจากหินได้ พบกับความจริงอันโหดร้ายว่าอารยธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทุกอย่างล่มสลายหายไปกับกาลเวลาอันยาวนานหมดแล้ว แต่เนื่องจากเซ็นคูเป็นเด็กวัยรุ่นอัจฉริยะที่เก่งกาจวิทยาศาสตร์ยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสิบคนรวมกัน เขาจึงต้องใช้ความรู้ที่มีสร้างอารยธรรมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
เป้าหมายของเนื้อหาในซีซั่นแรกเป็นการต่อสู้กับ 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่
1. สู้กับมนุษย์ที่พยายามทำลายมนุษย์
2. สู้กับเชื้อโรค
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะสู้กับทั้งสองอย่างนี้ เซ็นคูต้องสู้กับความไม่รู้ของคนจำนวนมากเสียก่อน เพื่อเพิ่มจำนวนมนุษย์ที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ให้ได้ เพราะในโลกที่มนุษย์มีจำนวนน้อยและไม่มีเครื่องจักร แรงงานมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดอย่างยิ่ง
1
ในแง่ของการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือที่เรียกว่าสงคราม เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังอยู่ในประวัติศาสตร์มาโดยตลอด วัสดุอย่างแรกๆที่ถูกนำมาสร้างเป็นอาวุธ คือ เหล็ก แต่การจะนำเหล็กมาใช้การได้ ต้องหาแร่ที่มีเหล็กให้พบเสียก่อน จากนั้นนำแร่มาถลุงแยกเอาส่วนที่ไม่ใช่เหล็กออกไป ด้วยการสร้างเตาที่ให้ความร้อนสูงขึ้นมา หากใครดูถึงตรงนี้จะเห็นว่าเตาถลุงเหล็กนั้นจะให้ความร้อนสูงๆได้ต้องใช้การเป่าลมเข้าไปให้ไฟโหมรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในยุคโบราณที่ใช้แรงงานมนุษย์เป็นหลัก
หลังจากเหล็กถูกแยกออกมา คราวนี้ก็สามารถนำมาหลอมให้เป็นอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้งานได้หลากหลาย
เตาหลอมเหล็กในการ์ตูน กับแผนภาพเตาโบราณที่มีการใช้งานจริง
ส่วนการสู้รบกับเชื้อโรคนั้น เป็นผลพวงจากวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มนุษย์เราสั่งสมมาอย่างยาวนาน เป้าหมายในเรื่องคือ การสร้างยาในกลุ่มซัลฟาซึ่งเป็นสุดยอดสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ (แม้แต่วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังได้ยาขนานนี้ช่วยชีวิตมาแล้ว) แต่การจะสังเคราะห์ยาซัลฟาขึ้นมาได้ นอกเหนือจากต้องใช้ความรู้ทางเคมีและการชั่งตวงวัดที่ละเอียดแล้ว ยังต้องใช้อุปกรณ์ที่กักเก็บสารเคมีได้ครอบจักรวาล นั่นคือ แก้ว เพราะแม้แต่กรดที่เข้มข้นสุดๆก็ยังถูกเก็บไว้ในแก้วได้
1
การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้อวยหรือยกย่องวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เพราะการจะตีเหล็กและสร้างเครื่องแก้วได้ ต้องอาศัยช่างฝีมือผู้ชำนาญอย่างแก่กล้าเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างอุปกรณ์พิถีพิถันเช่นนี้ได้ (ซึ่งตัวละครช่างฝีมือคนนี้ผมชอบมาก 55)
แผนภาพแสดงการผลิตยาซัลฟา จะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนเยอะมาก
อีกประเด็นคือ หลังจากอุปกรณ์ต่างๆถูกสร้างขึ้นมาได้มากพอสมควรแล้ว ก็จะเริ่มมีการนำพลังงานของธรรมชาติมาช่วยทุ่นแรง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กังหันน้ำ ที่ใช้การไหลของน้ำมาทำให้เกิดการหมุนแล้วนำการหมุนนั้นไปใช้งานอย่างอื่นๆต่อไป การนำความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์มาดึงพลังงานจากธรรมชาติเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างอารยธรรมทุกยุคสมัย (ในโลกทุกวันนี้เราพยายามดึงพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์มาใช้สร้างไฟฟ้า)
จะเห็นได้ว่านอกจากการ์ตูนเรื่องนี้จะเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจแล้ว การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆยังดำเนินตามรอยทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (ในระดับหนึ่ง)ทำให้ได้เรียนรู้วิวัฒนาการของอารยธรรมเชิงประวัติศาสตร์ด้วย
ในตอนท้ายของซีซั่น 1 มีการสร้างอุปกรณ์ที่สุดจะน่าทึ่ง นั่นคือ โทรศัพท์มือถือ
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในสงครามระหว่างมนุษย์ อุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญคือ หลอดสุญญากาศ นั้นสร้างได้ยากเย็นตั้งแต่การทำเครื่องแก้วไปจนถึงการสร้างสภาพสุญญากาศ ผมก็เพิ่งจะรู้หลักการกว้างๆของการสร้างเครื่องส่งสัญญาณจากการ์ตูนเรื่องนี้
หลอดสุญญากาศ ที่สำคัญอย่างยิ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคแรกๆ
แน่นอนว่าผมดูจบซีซั่น 1 แล้วทนรอซีซั่น 2 ไม่ไหวเลยไปซื้อหนังสือการ์ตูนมาอ่านจนถึงเล่มล่าสุด ก็พบประเด็นใหม่ๆที่มีการคุมเรื่องไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน
บอกไว้ก่อนว่าการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้ขายฝันว่า การค้นพบทางวิทยาศาสตร์นั้นง่ายดายและสบาย แต่กลับเล่าอย่างตรงไปตรงมาให้เห็นถึงความยากลำบาก และอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย พระเอกก็พูดตรงๆให้รู้ว่า การล้มเหลวและทดลองไปเรื่อยๆซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นแหละ คือ วิทยาศาสตร์
1
สรุปอีกครั้งด้วยความมั่นใจหมื่นล้านเปอร์เซ็นต์ว่า เด็กไทยควรได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ ครับ
โฆษณา