ชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นก็คิดมาก เสพสื่อมากเกินไปก็เครียด
มาดู 5 วิธีทำ Social Media Detox พักผ่อนจิตใจ ห่างจอสักพัก แล้วค่อยกลับไปในวันที่ใจพร้อม
.
.
เชื่อว่าหลายๆ คนรู้อยู่แล้วว่าการเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพจิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นอาการเครียดจากข่าวสารต่างๆ รู้สึกไม่ดีเวลาเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นบนโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่อาการ FOMO (Fear of Missing Out) กลัวว่าตัวเองจะพลาดอะไรไป ที่ทำให้เรานั้นติดหนึบอยู่กับโซเชียล คอยเช็ก อัปเดตเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
.
ถ้าหากว่าความรู้สึกไม่ดีและความเครียดมันมากเกินรับไหว ช่วงวันหยุดนี้ก็ลองพักจากหน้าจอ ให้กาย จิตใจและสมองของเราได้เติมพลังบ้าง มาดูการทำ Social Media Detox ทั้ง 5 วิธีกันเลย!
.
#ลิมิตเวลาใช้โซเชียลมีเดีย
.
ในยุคเช่นนี้เราใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นกิจวัตรประจำวัน ตื่นเช้ามาก็ต้องเช็ก ก่อนนอนก็ต้องดู ถ้าให้นับเวลาใช้งานในแต่ละวันก็คงไม่น้อย เราอาจจะเริ่มจากการสังเกตตัวเองว่าวันๆ หนึ่งเราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียไปมากแค่ไหน ตั้งลิมิตว่าเราอยากที่จะลดการท่องโลกออนไลน์ไปกี่ชั่วโมง อาจจะเริ่มจากจำนวนน้อยๆ และค่อยๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากงานวิจัยก็ได้ระบุว่าการลดการใช้งานโซเชียลมีเดีย 30 นาทีต่อวันนั้น จะช่วยลดความเหงาและยังช่วยลดความเศร้าที่เกิดขึ้นกับตัวเราได้อีกด้วย
.
#หากิจกรรมอื่นทำ
.
หลายๆ คนคงเคยเป็น หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา ไถเข้าแอปนู้นออกแอปนี้ แล้วก็วางโทรศัพท์ ทำอย่างนี้วนๆ ซ้ำๆ กัน ไม่รู้จะทำอะไรก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เราอาจจะลองเริ่มจากการวางแผนและลองเปลี่ยนไปหากิจกรรมอื่นทำในช่วง Social Media Detox อย่างการทำงานอดิเรก ดูหนัง อ่านหนังสือ เดินเล่น ทำอาหาร ออกกำลังกายหรือคุยกับคนรอบข้าง ลองหากิจกรรมที่ทำให้คุณได้ใช้การสัมผัสและการมีส่วนร่วมกับโลกตรงหน้าให้มากขึ้น ที่จะทำให้คุณไม่กลับไปหยิบจับโทรศัพท์มาไถเล่นอย่างไร้จุดหมาย
.
#สังเกตความรู้สึกตัวเองและรู้ว่าควรพักตอนไหน
.
ลองสังเกตความรู้สึกของตัวเองเวลาเล่นโซเชียลมีเดีย ถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่บนโลกออนไลน์มันมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นข่าว คอนเทนต์ต่างๆ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดี ลองวางโทรศัพท์ และถอยออกมาพัก และเมื่อคุณรู้สึกดีขึ้นก็ค่อยกลับเข้าไปเล่นใหม่ และด้วยความที่ทุกวันนี้มีจำนวนสื่อและคอนเทนต์ต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ลองพยายามเลือกเสพสื่อที่จะไม่ทำให้คุณรู้สึกแย่หรือบั่นทอนจิตใจของคุณ หลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเลือกดูคอนเทนต์ที่ทำให้คุณสบายใจให้มากขึ้น
.
#ลบแอปพลิเคชัน
.
เหมือนอย่างข้อ 3 ถ้าบางทีคุณรู้สึกแย่เกินไปกับโลกโซเชียลมีเดีย ลองพักด้วยการลบแอปพลิเคชันเหล่านั้นชั่วคราวก็ได้ และโหลดกลับมาเมื่อเราเริ่มรู้สึกดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีที่เด็ดขาดมากกว่า เพราะถึงแม้ว่าเราอยากที่จะพัก แต่เราก็ยังถือโทรศัพท์ที่มีแอปพลิเคชันเหล่านั้น มันก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะทำ Social Media Detox อย่างจริงๆ จังๆ ดังนั้น วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่เราสามารถตัดขาดจากโซเชียลมีเดียได้ง่ายที่สุด เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยใช้วิธีนี้เพื่อหลีกหนีออกจากความวุ่นวายบนโลกโซเชียลกันมาบ้างแล้ว
.
#ติดตามผลลัพธ์
.
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการติดตามผลลัพธ์การทำ Social Media Detox ว่าเราทำไปได้มากแค่ไหนแล้ว และมันช่วยทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพจิตของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง เราอาจจะเริ่มสังเกตว่าตัวเองแคร์สิ่งที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียน้อยลง เปรียบเทียบตัวเองน้อยลง หรือเราอาจจะไม่ได้รอคอยว่าเราจะต้องได้ไลก์หรือคอมเมนต์เหมือนแต่ก่อน เมื่อเราติดตามผลลัพธ์ว่าการทำ Social Media Detox มันส่งผลดีกับเราอย่างไร สิ่งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากที่จะทำมันต่อๆ ไปในอนาคต
.
เพราะการพักเบรกไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเลิก แต่แค่ถอยออกมาก้าวหนึ่ง และกลับเข้าไปใหม่เมื่อกายและใจของเราพร้อม
.
.
แปลและเรียบเรียง:
.
อ้างอิง:
.
#MissionToTheMoonPodcast