12 เม.ย. 2021 เวลา 07:40 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ทำไมการกินปลาถึงเป็นปัญหาระดับโลก สรุปสาระสำคัญ จาก Seaspiracy สารคดีชั้นดีจาก Netflix
1
คุณจะรู้สึกอย่างไร เมื่อได้ยินว่าตัวการสำคัญของการทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนั้นอาจไม่ใช่เป็นเรื่องของการใช้พลาสติกอีกต่อไป แต่สาเหตุหลักกลับกลายเป็นการบริโภคปลาและอาหารทะเลของชาวโลก ที่ดันส่งเสริมการทำลายธรรมชาติในทางอ้อมเป็นอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ และนี่ก็คือสิ่งที่สารคดีที่มีชื่อว่า Seaspiracy ใน #Netflix นั้น จะเล่าถึงที่มาที่ไปให้เราฟัง ให้สมกับชื่อสารคดีที่เสมือนเป็นคำผสมกันระหว่างคำว่า Sea + Conspiracy หรือ แปลตรงๆ ตัวก็จะได้คำว่า ทฤษฏีสมคบคิดการทะเล ที่มันถ่ายทอดให้เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ
1
ซึ่งวันนี้ทาง Uppercuz ก็เลยอยากจะมาเปลี่ยนแนวของเนื้อหากันสักหน่อยกันสักหน่อย เพราะหลังดูสารคดีเรื่องนี้จบก็พบว่ามันมีอะไรที่น่าเล่าเยอะมากๆ ทั้งผลกระทบเชิงนิเวศน์ต่างๆ เลยอยากมาสรุปสาระสำคัญที่ได้จากในเรื่อง พร้อมทั้งเชิญชวนให้ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากที่คุณลองได้ดูสารดีเรื่องนี้จนจบไปบ้าง ก็อาจทำให้ความรู้สึกในการบริโภคปลาหรืออาหารทะเลของคุณต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลหลังได้รับชมสารคดีชั้นดีเรื่องดีเรื่องนี้เหมือนกับที่หลายๆ คนน่าจะรู้สึกเหมือนกัน
1
Note: ซึ่งตัวเลขเชิงสถิติต่างๆ ในสารคดีเรื่องนี้ จะให้ความรู้สึกหวือหวาและชวนน่าใจหายเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะการใช้แหล่งข้อมูลที่ค่อนข้างสุดโต่งอยู่ไม่น้อย รวมถึงในการสัมภาษณ์บางครั้งก็เป็นการดึงดราม่ามากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นในเรื่องบางอย่างเราอาจต้องใช้วิจารณญาณในการรับชมอยู่ไม่น้อย
1
จุดเริ่มต้นของเรื่องราว
ตัวสารคดีนั้นเล่าถึง ความหลงใหลในโลกของท้องทะเล ของผู้กำกับ Ali Tabrizi มาตั้งแต่วัยเยาว์ ก่อนที่จะมาค่อยๆ ทำสารคดีท้องทะเลอันสวยงาม แต่ยังไม่ทันได้เริ่มสักเท่าไร มุมมองของเขาก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อได้พบกับข่าววาฬเกยตื้น โดยที่มีพลาสติกในท้องอยู่หลาย 10 ชิ้น และกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ทั่วทุกๆ มุมโลกมากๆ
ซึ่งหลังจากที่เขาได้ทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้พบเรื่องราวของ “ขยะ” ในท้องทะเลที่มีถึง 150 ล้านตัน แต่มันก็แตกตัวออกไปเป็น Micro Plastic ที่มีมากกว่าดวงดาวบนทางช้างเผือกอยู่กว่า 500 เท่า ทำให้เขามุ่งเน้นที่จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ ทั้งการพยายามบริจาคเงินเข้าไปให้มูลนิธิต่างๆ ทางทะเล รวมถึงเดินเก็บขยะตามหาดต่างๆ จนกระทั่งพบว่าปัญหาเหล่านี้มันแทบไม่ได้ถูกแก้ไข เลยค่อยๆ หาสาเหตุจากต้นตอแทนดีกว่า
1
ยอดเขาของปัญหา กับการล่าปลาในญี่ปุ่น
ช่วงนั้นดันมีข่าวดังที่ว่า ญี่ปุ่นนั้นได้เริ่มกลับมาล่าวาฬและโลมาอีกครั้ง สวนกับทิศทางของโลกที่มีการแบนกันตั้งแต่ปี 1986 ทางผู้กำกับและทีมงานจึงดั้นด้นไปให้เห็นกับตาถึงกระบวนการล่านี้ ที่เมือง Taiji ประเทศญี่ปุ่นที่มีการทำกันเป็นอุตสาหกรรมจริงจัง มีการสังหารโลมาและวาฬถึง 700 ตัวต่อปี ซึ่งเมื่อไปถึงก็ได้พบว่าเมืองนี้มีอิทธิพลบางอย่างที่ควบคุมอยู่ เพราะเป็นเมืองที่มีตำรวจมาคอยติดตามตั้งแต่เข้ามาในเมือง ในที่พักก็จะมีการทั้งดักฟัง ทั้งแอบถ่าย เพื่อไม่ต้องการให้ใครหน้าไหนมาทำการเปิดโปงธุรกิจนี้
1
แต่สุดท้ายทีมงานก็ยังแอบลักลอบได้ภาพการสังหารโหดมาจนได้ จากการกระบวนการล่าวาฬและโลมาที่ต้อนพวกมันเข้ามุมและเชือดกันสดๆ ตรงนั้น แถมการล่านี้ก็ยังได้รับการส่งเสริมจากบรรดาพิพิธภัณฑ์หรือโชว์สัตว์น้ำต่างๆ เพราะปลาโลมาโชว์ที่ฝีึกมาแล้ว มีค่าถึงกว่าตัวละ $100,000 แต่คำถามก็มีต่อไปอีกว่า ถ้าจับมาฝึกแค่ไม่กี่ตัว เหตุใดถึงต้องทำการฆ่ากันเป็นเบือขนาดนี้ เพราะทุกๆ การจับปลาโลมา 1 ตัวจะมีการฆ่าตัวอื่นๆ ไปด้วยถึง 12 ตัว โดยเหตุผลก็เป็นการกำจัดคู่แข่งทางทะเลที่แย่งพวกเขาหาปลาขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ ไปด้วย
โดยเฉพาะกับปลาทูน่าพันธุ์ครีบสีน้ำเงิน ที่เป็นปลาที่มีราคาสูงที่สุดในโลก โดยตัวที่แพงที่สุดมีมูลค่าสูงถึง $3,100,000 ซึ่งในทุกวันนี้ปลาชนิดนี้ก็เหลือเพียงไม่ถึง 3% แล้ว เพราะมีการจับกันอย่างบ้าคลั่งมาก แถมบริษัทเบื้องหลังที่ควบคุมบริษัทปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดก็คือบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังไปอีก นี่ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคหูฉลามของคนเอเชียที่แสดงถึงความมั่งคั่ง ทั้งๆ ที่มันไม่มีรสชาติ หรือคุณประโยชน์แต่อย่างใด แต่ฉลามกลับถูกล่าเป็นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการคนในส่วนนี้ โดยเฉพาะประเทศอย่างฮ่องกงที่นิยมการบริโภคกันมากๆ
1
ประมงเชิงพาณิชย์คือตัวการที่แท้จริง
 
เมื่อพบว่าการประมงในญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร ก็พบว่ามันเป็นแค่เพียงแค่ส่วนน้อยของปัญหาเท่านั้น พอเทียบกับธุรกิจประมงตามภูมิภาคต่างๆ ในโลก มันกลับเป็นปัญหาใหญ่ที่แท้จริงและสร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเลได้มากๆ จากวิธีการจับปลาที่สรรหากระบวนการให้ได้ปลาเยอะขึ้นๆ ทุกวัน ทำให้ในการจับปลาแต่ละครั้ง เรือแต่ละลำก็จะได้ ‘By Catch’ หรือที่เรียกว่าผลพลอยได้จากการจับปลาที่ไม่ได้ต้องการ จนทำให้หลายๆ ครั้งปลาชนิดอื่นๆ กลับต้องมาตายแบบไร้ค่าสุดๆ กว่า 50 ล้านตัวเลยทีเดียว อีกทั้งในการหาปลาของเรือเหล่านี้ ยังใช้การลากอวนขนาดใหญ่ ที่ดันกวาดไปถึงพื้นผิวทะเลจนเป็นการทำลายพืชน้ำและปะการังออกไปด้วย
9
โดยฉลามก็เป็นหนึ่งในนั้น จนมีการทำ Fact ขึ้นมาว่า ที่คนกลัวๆ ฉลามกันเนี่ย ใน 1 ปี ฉลามอาจทำร้ายคนแค่เพียง 10 คนแต่ใน 1 ชั่วโมงกลับมีอัตราที่มนุษย์ฆ่าฉลาม 11,000 - 30,000 ตัวเลยทีเดียว การเลือกที่จะไม่กินหูฉลามอาจเป็นแก้ปัญหาการฆ่าฉลามได้ครึ่งเดียว เพราะจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเลือกกินปลาอะไรก็อาจมีฉลามติดมาด้วยอยู่ดี จนกลายเป็นว่าเมื่อย้อนกลับไปถึงเรื่องขยะพลาสติกแล้ว ตัวหลอดพลาสติกอาจมีปัญหาต่อสภาพแวดล้อมแค่เพียง 0.03% เมื่อเทียบ ขยะ ส่วนมากที่มาจากอวนจับปลา เพราะ 46% ของอวนนั้น ถูกเอามาทิ้งลงในทะเล ซึ่งหากวัดถึงความยาวรวมกันกางออกมานั้น น่าจะสามารถยาวขนาดพันรอบโลกได้ถึง 500 รอบเลย
3
แถมธุรกิจประเภทนี้ในแถบบ้านเรา (ซึ่งจริงๆ หนังก็ใช้ประเทศเรานี่แหละ) ยังเป็นการใช้แรงงานเถื่อนที่ผิดกฏหมาย ค่าแรงต่ำกว่าเกณฑ์ และไม่มีสวัสดิภาพใดๆ มารองรับคุณภาพชีวิตแทบทั้งสิ้น อีกทั้งเรื่องที่น่ากลัวกว่านั้น มันยังไปถึงเหตุการฆาตกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้บนเรือ แล้วเอาศพทิ้งน้ำโดยที่ไม่สามารถติดตามได้อีกต่อไปด้วย นับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่เคยเป็นข่าวในบ้านเราแล้วก็เงียบหายไป เพราะทุกๆ ประเทศต่างก็พยายามปกปิดปัญหาเหล่านี้โดยทั่วกัน
 
มูลนิธิรักธรรมชาติต่างช่วยอะไรไม่ได้
เมื่อเห็นปัญหาชัดขนาดนี้ และรู้ว่ายังไงการประมงแบบนี้แหละที่เป็นต้นเหตุแน่ๆ ผู้กำกับก็พยายามจะเข้าไปคุยกับองค์กร หรือมูลนิธิที่รักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติต่างๆ ที่เขาเคยได้ทำการบริจาคเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครที่ตอบคำถามเขาได้สักคน ว่าทำไมไม่รณรงค์เรื่องลดการบริโภคอาหารทะเลที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องพลาสติกจากประชากรโลก หรือโจมตีการทำประมงแบบนี้ไปเลย แล้วเขาก็ได้พบว่าบรรดาองค์กรเหล่านี้ ต่างก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย เช่น บางรายเป็นมูลนิธิรักษาทะเลก็จริง แต่กลับมีบริษัทที่ขายอาหารทะเลอยู่เบื้องหลัง
2
แม้กระทั่งองค์กรที่ทำการรับรองอาหาร ด้วยสติ๊กเกอร์แปะข้างผลิตภัณฑ์ว่า กระบวนการของอาหารนี้ ไม่มีปลาโลมาเสียชีวิต แต่เมื่อไปสอบถามถึงความจริง กลับพบว่าเป็นการทำงานที่ลวกเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจะผ่านการรับรองมาได้นั้น ก็ใช้แค่เพียงผู้สังเกตการณ์ลงเรือไปด้วยในการหาปลาเป็นบางครั้งเท่านั้น และในแต่ละครั้งก็อาจมีเรื่องสินบน การให้ข้อมูลเท็จเข้ามา ซึ่งที่น่าตกใจกว่านั้น หลายๆ ครั้งก็แค่รับฟังจากลมปากของกัปตันบนเรือว่า ไม่มี แล้วก็ลงข้อมูลเอาไว้ตามนั้น ทั้งๆ ที่การจับปลาแล้วติดปลาพลอยได้ขึ้นมา ก็ดูเป็นเรื่องปกติ ที่ปลาพลอยได้จะถูกฆ่าฟรีอยู่เสมอ เพราะในบางสินค้านั้น อัตราส่วนการจับทูน่า 8 ตัว แต่ติดโลมามา 45 ตัวให้ตาฟรี แต่ก็ยังฉลาก Dolphin Save Can มาติดบนกระป๋องเฉยเลย
 
หรือแม้แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศเองก็ยังเอาเงินภาษีของประชาชนมาสนับสนุนธุรกิจนี้อยู่ด้วยซ้ำ แม้ว่าจะมีนโยบายจำพวก Sustainable Seafood หรืออาหารทะเลที่ยั่งยืน แต่ก็กลับไม่มีประเทศไหน ที่ตอบได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร แม้ว่าแนวคิดการจับปลาแบบยั่งยื่นหากเปรียบแล้วจะเหมือนการหยิบเอาดอกเบี้ยจากการลงทุนมาใช้ นั่นหมายความว่า ต้องคอยพยายามควบคุมระดับของปลาให้มีเท่าเดิม ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือส่วนที่จับได้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วนั้น กลับกลายเป็นว่าก็เป็นเพียงทฤษฎีที่ทำไม่ได้ เพราะต่างคนต่างก็จับมาเพื่อสร้างรายได้และเอื้อประโยชน์เป็นวงจรให้กับตัวเองกันทั้งนั้น
5
ผลกระทบสุดร้ายแรงของเรื่องราว
จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการจับปลาเล็ก ปลาใหญ่ หรือการกระบวนการหาปลาในทะเลของเรือประมงก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสภาพแวดล้อมได้ทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่การจับปลาใหญ่ไป ก็ทำให้ปลาในระดับกลางๆ ก็ไม่ถูกกินตามห่วงโซ่อาหาร ก็ทำให้ปลาประเภทนั้นๆ อาจจะมีอยู่เยอะเกินไป จนไปกินปลาเล็กเกือบหมด และเมื่อจำนวนปลาลดลง ก็ทำให้แนวปะการังที่อยู่ในทะเลนั้นแทนที่จะได้สารอาหารจากขับถ่ายของปลา ก็มีน้อยลงเพราะปลาโดนจับไปหมด ปะการังก็ถูกทำลาย หรืออย่างวาฬเองก็มีส่วนช่วยในการทำให้ทะเลกลายเป็นที่ดูดซับก๊าซคาบอนไดร์ ออกไซด์เป็นอย่างมาก การที่ขาดวาฬไปก็เป็นการทำให้โลกร้อนขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้นักวิจัยในสารคดีนั้นก็ยังออกมาบอกถึงการทำอุตสาหกรรมประมงนั้น ทำอันตรายกับปลามากกว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วใน Deepwater Horizon เป็นเดือนๆ เสียอีก เพราะนอกเหนือจากเรื่องปลาแล้ว ในส่วนของพืชทะเลที่ถูกทำลาย ก็สร้างสภาวะโลกร้อนได้มากขึ้น จากการลากอวนของเรือนั้นจะขูดพื้นพืชทะเลและแนวปะการังออก ปีละ 10 ล้านล้านไร่ หรือนับเป็นพื้นที่ 4316 สนามฟุตบอลในทุกๆ 1 นาที ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เพราะพิชทะเลนั้น สามารถเก็บกับก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซด์ได้มากกว่าพืซบนบกถึง 20 เท่า และทุกๆ 1% ที่เราเสียพื้นที่เหล่านี้ไป จะส่งผลเสียเท่ากับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซออกมาถึง 1 ล้านคันเลยทีเดียว
เมื่อจับไม่ได้ เลี้ยงเองดีกว่าไหม
มาถึงจุดนี้ หลายๆ คนก็อาจจะคิดว่า แล้วทำไมเราถึงไม่ทำฟาร์มปลาแบบเลี้ยงเองในทะเลขึ้นมาซะเลย ซึ่งมันก็พาเราไปหาคำตอบเพิ่ม และก็พบว่ามันไม่ง่ายเลยกับแนวคิดแบบนี้ เพราะเมื่อมันพาเราไปสำรวจฟาร์มแซลมอนแล้ว จะพบปัญหาในเรื่องของ การจะผลิตเนื้อแซลมอนให้ได้ 1 กิโลกรัมนั้น กลับต้องใช้อาหารที่มากถึง 1.2 กิโลกรัม แถมอาหารส่วนมากที่เอามาใช้เลี้ยงปลาแซลมอนนั้นก็ผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ มา อย่างเช่นอาหารที่เปลี่ยนสีของเนื้อแซลมอน เพราะปกติแล้วเนื้อของมันจะมีสีเทาๆ แต่คนเลี้ยงแซลมอนกลับเลือกสีที่จะให้ออกมาได้โดยการปรับที่สูตรของอาหาร
รวมไปถึงในแง่ของการเลี้ยงเอง ก็นำมาสู่โรคต่างๆ ในปลา อย่างเช่น ปัญหาของแตนทะเล และสารพันโรคต่างๆ ที่พากันติดกันไปหมด เพราะสภาพแวดล้อมในกระชังไม่ต่างอะไรจากที่แคบๆ ที่ปลาในนั้นต่างก็วนเวียนกินอาหาร แล้วก็ขับถ่ายออกมาอยู่ในที่เดียวกัน จนก่อให้เกิดโรคที่ตามมากมาย แล้วหลายๆ ตัวก็ตายก่อนที่มันจะส่งมาถึงเราด้วยซ้ำ และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ระบบนิเวศรอบข้างของการเลี้ยงแบบนี้แย่ลงไปเช่นกัน
แล้วเราควรทำอย่างไร?
1
เมื่อดูมาจนถึงช่วงท้าย เราก็จะเห็นได้ว่าปัญหานี้มันช่างยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิด และมีผลประโยชน์ทับซ้อนพัวพันกันไปมามากมาย จนแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการที่จะไปเริ่มแก้ที่ต้นตอของปัญหาอย่างการปรับกระบวนการประมงให้มันถูกต้องกว่านี้ ซึ่งใครๆ ก็คงไม่ได้แคร์กันในเมื่อวงจรผลประโยชน์ยังเกิดขึ้นอยู่อย่างเด่นชัด ซึ่งตัวสารคดีเองจึงพยายามที่จะโน้มน้าวคนดูเป็นอย่างยิ่งว่า ในเมื่อมันแก้ต้นตอไม่ได้ ก็อาจจะต้องกลับมาเริ่มแก้ที่ตัวเอง ด้วยการที่พยายามบอกเราว่า จริงๆ แล้วปลาเนี่ยมันก็มีความรู้สึกนะ มีระบบประสาทมีอะไรแบบนี้เหมือนกัน คือหลายๆ คนคิดว่าปลามันไม่รู้สึกอะไรนี่ไม่จริงมากๆ
แถมยังอุตส่าห์พาเราไปหานักวิจัย นักโภชนาการต่างๆ ที่ก็บอกว่าจริงๆ แล้วเราไม่กินปลาก็ไม่ตาย แม้ว่าจะมีสารอาหารเยอะแต่ก็อาจจะไม่คุ้มเสี่ยง ทั้งสารที่ตกค้างในตัวปลา เชื้อโรคต่างๆ นานา ที่อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะขนาด Omega 3 ที่เราเชื่อๆ กันว่าได้มาจากการกินปลานั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ แต่เป็นเพราะปลาไปกินสาหร่ายในทะเลต่างหาก ดังนั้นหากเราต้องการสารอาหารเหล่านี้ เราอาจจะหาจากพืชทะเลแทนก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเอาชีวิตใคร
1
ซึ่งในส่วนท้ายของหนังนั้น ก็มีการไปสัมภาษณ์นักล่าวาฬที่กล่าวเอาไว้ว่า ถ้าคุณจะไม่ได้ฉีกสายไปทาง Vegan ไปเลย การที่เรายังเลือกกินอาหารนั้น ไม่ว่าจะกินอะไรมันก็ 1 ชีวิตเหมือนๆ กัน การที่เขาล่าปลาวาฬ 1 ตัว แต่เลี้ยงคนได้ทั้งครอบครัว กับคุณเองที่อาจต้องไปฆ่าไก่หลายตัวเพื่อเลี้ยงหลายชีวิตกว่าแล้ว เขาอาจจะเป็นคนดีกว่าพวกคุณก็ได้ เพราะมองว่า 1 ชีวิตมีค่าเท่ากัน แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้ว การเลือกเนื้อสัตว์แบบไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่หากเกิดสำนึกรักธรรมชาติขึ้นมา ก็อาจเริ่มต้นได้จากการลดปริมาณการกินลงให้เหลือแต่พอดี หาก Demand ลด ก็อาจส่งไปถึงปัจจัย Supply ที่ลดตามไปด้วย และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท้องทะเลกลับมาเป็นเหมือนเดิมก็ได้
อ่านบทความเต็มได้ที่
โฆษณา