12 เม.ย. 2021 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ผมมหาดไทย ผมปีก การไว้ผมสั้นของชาวไทยสยามโบราณ
2
ในโพสที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอหลักฐานชั้นต้นของชาวจีนที่ระบุว่าคนไทยสยามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 นิยมไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยแล้วโพกด้วยผ้าขาว ใกล้เคียงกับชาติพันธุ์ไท-กะไดหลายกลุ่ม
แต่ในเวลาต่อมาคนไทยสยามเปลี่ยนมาตัดผมสั้นทั้งชายและหญิง โกนผมสั้นเกรียนรอบศีรษะ ไว้ผมด้านบนกระหม่อมยาวพอประมาณแล้วหวีตกแต่งจัดเป็นทรงด้วยขี้ผึ้งและน้ำมันตานี ผิดแผกไปจากกลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะไดอื่นๆ ที่ยังคงไว้ผมยาวและโพกผ้ามาจนถึงสมัยหลัง
1
ข้าราชการสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ไว้ผมมหาดไทย  ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ใน พ.ศ. 2408 (ค.ศ. 1865)
ทรงผมสั้นของผู้ชายไทยสยามเรียกว่า “ผมมหาดไทย” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทรงหลักแจว”
เหตุที่เรียกชื่อผมว่า "มหาดไทย" สันนิษฐานว่าดั้งเดิมเป็นทรงผมของชายที่ขึ้นสังกัดในกรมมหาดไทยก่อน ภายหลังกรมมหาดไทยเป็นกรมสำคัญมีหัวเมืองใหญ่น้อยขึ้นจำนวนมาก จึงมีข้าราชการและไพร่พลในสังกัดมาก ทำให้ผมมหาดไทยแพร่หลายโดยทั่วไป เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏใน “ประกาศเรื่องพัชวาลวิชนี” ว่าผมมหาดไทยเป็นทรงผมของข้าราชการฝ่ายหน้า จึงเข้าใจว่าเป็นทรงผมบังคับของข้าราชการมาก่อนหน้านั้นแล้ว
หญิงชาวสยามสองคนกำลังสีซอด้วงและซอสามสาย ไว้ผมปีกหวีเสยไปด้านหลัง ถอนไรจุกเป็นรอยรอบปีกผมบนกระหม่อม   ไว้ผมเป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า “ผมทัด” ทั้งสองข้าง ถ่ายใน พ.ศ. 2418 สมัยรัชกาลที่ 5
ทรงผมสั้นของผู้หญิงไทยสยามเรียกว่า “ผมปีก” แบ่งผมด้านบนออกดูคล้ายปีกนก หรือหวีเสยไปด้านหลัง กันไรผมวงหน้าโค้งให้ดูสวยงาม ถอนไรจุกเป็นรอยรอบปีกผมบนกระหม่อม จับเขม่าทาไรผมให้ดำ ผมรอบศีรษะอาจตัดสั้นเกรียนเหมือนผมมหาดไทยของผู้ชาย หรือปล่อยยาวประบ่า หรือรวบผมยาวเป็นมวยที่ท้ายทอย อาจไว้ผมที่เป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า “ผมทัด” ทั้งสองข้าง
1
เนื่องจากผมปีกทรงสั้นมีลักษณะคล้ายผมมหาดไทยของผู้ชาย ในปัจจุบันพบว่าหลายแห่งไปเรียกผมปีกของผู้หญิงว่าผมมหาดไทย ซึ่งเป็นการเรียกอย่างคลาดเคลื่อน ความจริงผมมหาดไทยเป็นชื่อเรียกทรงผมผู้ชายเท่านั้น
.
ทรงผมสั้นของชาวไทยสยามน่าจะมีความสัมพันธ์กับการไว้จุกผมบนกระหม่อมในวัยเด็กตามความเชื่อเรื่อง "ขวัญ" บนศีรษะ เมื่ออายุพอสมควรแล้วจึงโกนจุกออก ในอดีตคนไทยสยามยังไว้ผมมวยตอนเป็นผู้ใหญ่จึงไม่ต่างกันมากนัก แต่เมื่อเปลี่ยนมาตัดผมสั้นแล้ว เมื่อหลังโกนจุกจึงยังเหลือร่องรอยของจุกผมเอาไว้ด้วยการเหลือผมบนกระหม่อมที่เคยไว้จุกให้ยาวกว่าส่วนอื่น เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ไว้ผมปีกยาวประบ่าก็กันไรผมแบ่งผมบนกระหม่อมจากผมส่วนอื่น
2
ภาพวาดชาวเตลง (มอญ) และชาวโยทยา (ไทยสยาม) เขียนโดยจิตรกรพม่าเมื่อประมาณ ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) จากภาพทั้งชาวมอญและชาวไทยสยามไว้ผมสั้นโกนรอบศีรษะลักษณะใกล้เคียงกัน ปรากฏในจดหมายเหตุ จดหมายเหตุ Suma Oriental ของ โตเม่ ปิรึซ (Tomé Pires) ว่าทั้งสองชนชาติไว้ผมสั้นลักษณะนี้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว
ชาวไทยสยามอาจจะเริ่มนิยมตัดผมสั้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากปรากฏหลักฐานล้านนา คือ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ระบุว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ทรงส่งสายลับชื่อหาญไสสูงลงมากรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ. 1999 (ค.ศ. 1436) โดยให้ "ตัดผมนุ่งผ้าเหมือนชาวใต้" แสดงว่าคนทั่วไปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเวลานั้นไว้ผมสั้นแล้ว
จดหมายเหตุ Suma Oriental ของ โตเม่ ปิรึซ (Tomé Pires) ชาวโปรตุเกสที่อาศัยในมะละกาช่วง พ.ศ. 2055-2058 (ค.ศ. 1512-1515) ตรงรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี (พระเชษฐาธิราช) ซึ่งบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนในเอเชียที่ทำการค้ากับมะละกา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวสยามว่า “พวกเขามีร่างสูง ผิวคล้ำ ตัดผมสั้นเหมือนชาวพะโค”
1
จดหมายเหตุฉบับเดียวกันบรรยายทรงผมของชาวพะโค (มอญ) ว่า
1
"They are always shorn all round, leaving the hair growing in the middle of the head and longer on the top.”
(พวกเขาตัดผมสั้นเกรียนรอบศีรษะเสมอ เหลือผมไว้ที่กลางกระหม่อมด้านบนยาวกว่า)
ในภาพเขียนรูปชาวมอญสมัยศตวรรษที่ 17 ตัดผมสั้น ในขณะที่จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนนอก พบว่าชาวมอญโกนผมรอบศีรษะ ไว้ผมด้านบนลักษณะคล้ายกะลาครอบ ใกล้เคียงกับที่ โตเม่ ปิรึซ บรรยายไว้ คล้ายคลึงกับลักษณะของผมมหาดไทยอยู่หลายส่วน แต่ระหว่างไทยกับมอญชาติใดเริ่มตัดผมสั้นก่อนยังไม่ทราบชัดเจน
1
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ตอนมโหสถชาดก แสดงภาพชายไว้ผมมหาดไทยแสกกลางศีรษะ (ที่มาภาพ : สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1)
ไม่พบหลักฐานระบุที่มาการตัดผมสั้นของชาวไทยสยามชัดเจน มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายเหตุผล เช่น
1
- ศาสนา : อาจเกิดจากการเสด็จออกผนวชของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถใน พ.ศ. 2008 (พ.ศ. 1445) ที่มีพระสงฆ์ที่ออกบวชโดยเสด็จถึง 2,384 รูป โดยการบวชครั้งใหญ่อาจทำให้ข้าราชการทั้งหลายเปลี่ยนค่านิยมมาไว้ผมสั้นในเวลาต่อมา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
“ยังมีข้อสันนิษฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยธรรมเนียมของเรา เจ้านายขุนนางย่อมไว้ผมยาว ต่อไพร่เลวจึงตัดผมสั้น เช่น ชฎา ลอมพอก ซึ่งมาแต่ผ้าโพกเมื่อยังไว้ผมสูง จะเลิกไว้ผมยาวเมื่อเกิดบวชกันขึ้นดอกกระมัง (พระบรมไตรโลกนาถ) ข้อนี้ไม่มีหลักฐานเป็นแต่ข้าพเจ้านึกขึ้น ก็จดเอาไว้สำหรับผู้อื่นพิจารณาต่อไป”
.
- สงคราม : คนไทยสยามอาจตัดผมเพื่อให้ผิดแผกจากทรงผมของชนชาติศัตรู หรือเพื่อให้สะดวกในการหลบหนีข้าศึก โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาจตัดผมสั้นเพื่อปลอมเป็นชาย อาจเป็นผลจากการทำสงครามระหว่างกรุงศรีอยุทธยากับเชียงใหม่ในสมัยอยุทธยาตอนต้น (ในอดีตมักสันนิษฐานว่าคนไทยตัดผมสั้นเพราะสงครามกับพม่า แต่มีหลักฐานว่าชาวอยุทธยาทั้งชายหญิงนิยมตัดผมสั้นมาก่อนรบกับพม่านานแล้ว)
1
.
- พิธีการราชสำนัก : เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นักธรรมชาติวิทยาและนายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตดัตช์ใน พ.ศ.2233 (ค.ศ. 1690) รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา บันทึกว่า เนื่องจากอยุทธยามีธรรมเนียมว่าเมื่อพระมหาษัตริย์สวรรคตหรือพระราชวงศ์สิ้นพระชนม์ ราษฎรจะต้องโกนผม คนไทยสยามจึงนิยมไว้ผมสั้นเกรียน ต่างจากชาวพม่า พะโค ลาว กัมพูชาที่ไว้ผมยาว
.
- สภาพภูมิอากาศ : เนื่องจากบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีอากาศร้อนชื้น ไม่เหมาะที่จะไว้ผมยาว โดยเฉพาะกับชนชั้นล่างที่ส่วนใหญ่เป็นไพร่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือชาวบ้านที่ต้องทำงานในสภาพอากาศดังกล่าว ต่างจากชนชั้นสูงสามารถดูแลรักษาความสะอาดหรือตกแต่งมวยผมได้สะดวกกว่า
เป็นไปได้ว่าชนพื้นเมืองดั้งเดิมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอาจไว้ผมสั้นมาก่อนที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทย้ายถิ่นฐานลงมาแล้ว ภายหลังเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ไทจากทางเหนือย้ายถิ่นฐานลงมา ในระยะแรกน่าจะยังไว้ผมมวยโพกผ้า แต่ภายหลังเมื่อผสมกลมกลืนกับชนพื้นเมืองแล้วเปลี่ยนมาไว้ผมสั้นตามชนพื้นเมืองให้เหมาะสมกับสภาพอากาศแทน
1
พิจารณาจากกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พบว่าในเวลานั้นชนชั้นสูงทั้งชายหญิงในรัชกาลนี้ยังไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยอยู่ การตัดผมสั้นน่าจะแพร่หลายในชนชั้นล่างเป็นหลัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปชนชั้นสูงก็เปลี่ยนค่านิยมมาตัดผมสั้นด้วย
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ตอนเวสสันดรชาดก กัณฑ์นครกัณฑ์ แสดงภาพขบวนเสด็จของพระศรีสัญชัยและท้าวผุสดี ข้างช้างท้าวผุสดีมีข้าราชการผู้ชาย (เข้าใจว่าคือตำรวจหลวง) ไว้ผมมหาดไทย สวมเสื้อครุย ถือดาบโล่ แต่ผู้หญิงยังคงไว้ผมมวย (ที่มาภาพ : สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1)
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 อายุประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ตอนเวสสันดรชาดก กัณฑ์ฉกษัตริย์ ทางด้านขวามีข้าราชการผู้หญิงหมอบเฝ้า มีการเกล้าผมมวยกลางกระหม่อม เกล้าผมมวยที่ท้ายทอย และไว้ผมปีกตัดสั้นรอบศีรษะ (ที่มาภาพ : สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1)
จากการศึกษาจิตรกรรมสมัยอยุทธยาในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 ที่สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ พบว่าภาพผู้ชายที่ไม่สวมเครื่องสวมศีรษะจะไว้ผมทรงมหาดไทยแสกกลาง ในขณะที่ภาพผู้หญิงที่เป็นชนชั้นสูงจะเกล้าผมเป็นมวยกลางกระหม่อม บางภาพมีการประดับมวยผมด้วยรัดเกล้า ปิ่นปักผม หรือสวมกระบังหน้า ภาพนางกำนัลมีทั้งไว้ผมมวยที่กระหม่อมและท้ายทอย บางคนตัดผมสั้นแสกกลางใกล้เคียงกับทรงผู้ชาย
สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 5 ที่น่าจะเขียนขึ้นภายหลังกว่าเล็กน้อย พบว่าภาพผู้ชายยังไว้ผมมหาดไทยแสกกลาง และภาพหญิงชนชั้นสูงยังเกล้าผมเป็นมวยเหมือนสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 แต่ภาพนางกำนัลในขบวนเสด็จไว้ผมยาวประบ่าปลายงอน
จิตรกรรมช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ไม่ปรากฏภาพหญิงชาวสยามไว้ผมมวยแล้ว เข้าใจว่าหญิงชนชั้นสูงน่าจะเปลี่ยนมาไว้ผมปีกในสมัยกรุงศรีอยุทธยาตอนปลายราวรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมา
ทรงผมผู้ชายในจิตรกรรมสมัยอยุทธยาตอนปลายอื่นๆ ไม่แตกต่างกันนัก มีลักษณะใกล้เคียงภาพสเก็ตช์ชาวสยามของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ที่เขียนภาพผู้ชายไว้ผมมหาดไทยแสกกลาง เค็มพ์เฟอร์ยังบันทึกว่าในเวลาคนไม่นิยมไว้ผมยาวแล้วด้วยเหตุที่ต้องโกนหัวไว้ทุกข์ มีแต่เจ้า (princes) และผู้หญิงบางคนเท่านั้นที่ยังไว้ผมยาว
ภาพสเก็ตช์ของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตดัตช์เมื่อ พ.ศ. 2233 (ค.ศ. 1690) รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา a. ทรงผมผู้ชาย b. ทรงผมผู้หญิง (ที่มาภาพ : Engelbert Kaempfer in Siam. (Engelbert Kaempfer Werke, Band 4)
ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในสยามหลายคนได้บรรยายถึงทรงผมชาวสยามไว้อย่างละเอียด เช่น เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ประจำสยามในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง บรรยายทรงผมผู้ชายในช่วง พ.ศ. 2181 (ค.ศ. 1638) ว่า
“The hair is carefully cut all around the head up above the ears, getting shorter close to the neck, and the lower part is shaven”
(เรือนผมจะถูกตัดอย่างระมัดระวังรอบศีรษะเหนือใบหู ยิ่งลงไปใกล้คอยิ่งสั้นมากขึ้น ตอนล่างนั้นโกนออก)
ฟาน ฟลีต ไม่ได้บรรยายทรงผมผู้หญิง เพียงแต่ระบุว่าผู้หญิงใช้ปิ่นปักผม จึงเข้าใจว่าผู้หญิงยุคนั้นยังนิยมไว้ผมมวย
ภาพพิมพ์ขุนนางชาวสยามตัดผมสั้นคล้ายกะลาครอบ ในหนังสือ Du Royaume de Siam ของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2234 (ค.ศ. 1691)
จดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) บันทึกว่าชาวสยามในยุคนั้นตัดผมสั้นทั้งชายและหญิง มีผู้หญิงบางคนไว้ผมยาวเกล้าเป็นมวยที่ท้ายทอย ไว้ผมยาวประบ่าเมื่อแต่งงานโดยกันไรผมเป็นหย่อมรอบเรือนผม
“ผมของชาวสยามนั้นสีดำ เส้นหยาบและเหยียด ทั้งสองเพศไว้ผมสั้นมาก ผมที่ปรกรอบศีรษะยาวลงมาเสมอระดับใบหูข้างบนเท่านั้น ต่ำลงมากว่าระดับนั้นก็กร้อนเสียเกือบเกรียนติดหนังศีรษะ การไว้ผมแบบนี้ก็ไม่ทำให้หน้าตาดูน่าเกลียดแต่ประการใด พวกผู้หญิงนั้นหวีผมตั้งบนหน้าผากโดยมิได้รวบเข้าระหมวด และลางนางซึ่งส่วนมากเป็นชาวรามัญ ปล่อยผมยาวไปข้างหลังพอประมาณเพื่อขมวดมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยที่จะมีเรือนได้แล้ว ก็ไว้ผมแปลกไปอีกทำนองหนึ่ง คือใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน ครั้นแล้วรอบเรือนผมนั้นเขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็กๆ กระจุกหนึ่ง มีความหนาขนาดเรียกเอกิวขาวสองเหรียญ (ซ้อนกัน) และทางด้านล่างนั้นเขาก็ปล่อยให้มันงอกยาวออกไปจนเกือบประบ่า”
4
ผู้ชายไว้ผมมหาดไทย ผู้หญิงไว้ผมปีกแสกกลาง  ภาพในสมุดข่อยมหาพุทธคุณ ปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 British Library, Or 14526 f.22, right side (ที่มาภาพ : Buddhism Illuminated- Manuscript Art from Southeast Asia)
ชายไว้ผมมหาดไทย จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ผู้หญิงไว้ผมปีก บนกระหม่อมกันไรผมรอบเป็นวงกลม จากบุดพระมาลัยวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
สมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน ฉบับกรุงเบอร์ลิน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) แสดงเหตุการณ์ตอนพระศิริมหามายาประสูติพระพุทธเจ้าในดงรัง ข้าราชการชายหญิงตัดผมสั้น ผู้ชายไว้ผมมหาดไทย ผู้หญิงไว้ผมปีก Ident.Nr. II 650 V110-V111 © Foto: Museum für Asiatische Kunst der Staatlichen Museen zu Berlin - Preußischer Kulturbesitz
ทรงผมในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ได้แตกต่างจากสมัยอยุทธยามากนัก ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสยามหลายชาติ รวมถึงดินแดนประเทศราชของสยามอย่างล้านนา กัมพูชา ก็หันมานิยมไว้ผมสั้นแบบเดียวกับชาวไทยสยาม
มีข้อมูลที่น่าสนใจใน “จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์” ซึ่งเป็นจดหมายเหตุปูมโหรที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าท้ายสระมาถึงรัชกาลที่ 4 ในช่วงรัชกาลที่ 1-3 มีการบันทึกถึงกิจกรรมและทรงผมที่ราษฎรนิยมทำด้วย ดังนี้
ปีระกา จ.ศ. 1151 (พ.ศ. 2332) รัชกาลที่ 1 “ราษฎรชายหญิงเล่นเอิกเกริก ชายตัดผมแมงดา หญิงตัดผมสะเพิน เล่นตะกร้อ ไม้หึ่ง ไม้จ่า ตรุษสงกรานต์ ตีเข้าบิณฑ์ เล่นสบ้า ชายหนุ่มร้องเล่นโพลก”
ปีมะเส็ง จ.ศ. 1159 (พ.ศ. 2340) รัชกาลที่ 1 “ราษฎรหนุ่มสาวเล่นเพลงครึ่งท่อน สักรวาดอกสร้อย ช้าหงส์ เล่นต่างๆ เอกเกริกทั้งปวง ชายตัดผมหย่ง หญิงตัดผมประบ่าสะเพิน กระทำรายทารัก จับพระเล่นลูกสวาสดิ”
ปีฉลู จ.ศ. 1179 (พ.ศ. 2360) รัชกาลที่ 2 “ชาวพระนครหนุ่มสาวตัดผมฝักบัวจับกระเหม่า ราษฎรด่ากันไอ้ห่ากิน ไอ้ห่าฟัด ไอ้ห่าหักคอ ทุกหญิงชายเด็ก”
ปีฉลู จ.ศ. 1191 (พ.ศ. 2372) รัชกาลที่ 3 “ครั้นนั้นราษฎรชายหญิงเด็กรุ่นพูดกันต่างๆ พ่อขา แม่ขา ลุงตา ตัดผมสร้อยสน นุ่งผ้าพกยาวเท่าชาย”
ปีมะแม จ.ศ. 1197 (พ.ศ. 2378) รัชกาลที่ 3 “ราษฎรตัดผมใหญ่ครึ่งศีศะ บุหรี่กันโตมีมีแต่ครั้งนั้น นับถือกันว่าดี”
ผมแมงดา ผมสะเพิน ผมหย่ง ผมฝักบัว ผมสร้อยสน ผมใหญ่ครึ่งศีรษะ จะมีลักษณะแบบไหน ผู้เขียนยังไม่พบข้อมูล
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดดุสิดาราม ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 1  (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบางขุนเทียนใน กรุงเทพมหานคร ศิลปะสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้ผู้ชายหวีผมมหาดไทยแสกกลางจึงทรงขอให้ยกเลิกเสีย ปรากฏใน “ประกาศเรื่องพัชวาลวิชนี” ว่า
“บัดนี้ทรงพระราชดำริห์รำคาญขึ้นอิกอย่างหนึ่ง ด้วยการหวีผมมหาดไทยของข้าราชการฝ่ายหน้า เมื่อเวลาตัดผมใหม่ เรือนผมข้างบนของคนที่เรียกว่าศีร์ษะฉอกๆ ฤๅขยับจะฉอกนั้น ข้างหน้าก็เสี้ยวเล็ก ข้างท้ายก็กางออกไป แล้วหวีโหย่งโป่งขึ้นไปตามรูปศีร์ษะ ก็ดูคล้ายเหมือนรูปพัชนีไปปกอยู่แล้ว มิหนำซ้ำหวีให้เปนแสกแหวกร่องตรงกลาง แตกขึ้นไปอยู่ครึ่งเรือนผมใกล้กลางกระหม่อมนั้นจะดีงามอย่างไร เรือนผมพวกที่หวีอย่างนั้นเช่นนี้ การหวีผมเปนแสกเช่นนี้ ในเรือนผมเช่นนี้ดูไม่ชอบกลเลย ฝรั่งอังกฤษผู้ชายที่เขาหวีผมเปนแสก เขาไม่ไว้แสกตรงกลาง เขาไว้แสกเยื้องข้างๆ โดยมากนั้นเขากระดากอย่างไรจงคิดดู ผมรัดช้องนางลครมีแสกตรงกลางก็หุ้มไปทั้งศีร์ษะแล้วก็รัดเกล้าครอบ ผู้หญิงอังกฤษถึงเกล้าผมมีแสกกลาง ก็ผมเขามีทั้งศีร์ษะ เขาถักเปียห้อยปอยบ้าง เกล้าให้พองด้านข้างบ้าง ศีร์ษะเขาก็ไม่เปนเรือนผมอย่างรูปพัชนี ก็เรือนผมมหาดไทยของไทยนี้ เคยเปนอย่างนี้มานานแล้ว จะให้เลิกถอนเสียไม่ได้ แต่จะขอเสียอย่าให้หวีเปนแสกแยกกลาง ยกเปนพูเปนแคมสองข้างอย่างเช่นเขียนมานั้นจะได้ฤๅไม่ได้ เพราะเห็นว่าไม่สู้ชอบกลเลย ฤๅกลัวคุณมารดาจะไม่อยู่บนศีร์ษะเล่า สังเกตดูใจผู้ชายฝ่ายไทยที่ไปเที่ยวไกลๆ ก็ไม่สู้พอใจตัดผมอย่างไทยก็มีมากอยู่ดอก แต่อยู่กับบ้านกับเมืองก็ต้องทำเหมือนๆ กันนั้นดีแล้ว แต่การที่หวีเปนแสกอย่างเช่นเขียนมานี้ ก็ไม่เปนธรรมเนียมไทยตั้งมั่นดังเรือนผมดอก อยากจะขอยกเสีย”
จากประกาศนี้แสดงว่า ผมมหาดไทยยุคนั้นเป็นทรงผมข้าราชการที่คนทั่วไปตัด แต่ผู้ชายที่อยู่ห่างไกลจากสังคมเมืองก็อาจจะไว้ผมทรงอื่นได้
ในจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีภาพผู้ชายที่ไว้ผมทั้งหัวไม่ได้โดนผมรอบศีรษะเหมือนทรงมหาดไทย หรือมีคนที่หัวล้านที่สภาพผมไม้เอื้อให้ไว้ผมมหาดไทยให้เห็นอยู่บ้าง
ผู้หญิงชาวกัมพูชาไว้ผมปีก ไว้ผมพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า “ผมทัด” ทั้งสองข้าง ถ่ายโดย เอมีล เฌเซลล์ (Émile Gsell) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส
ค่านิยมการไว้ผมมหาดไทยและผมปีกของชาวไทยสยามเสื่อมลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการติดต่อกับชาติตะวันตกทำให้ราชสำนักเลิกตัดผมอย่างโบราณ เปลี่ยนมาไว้ผมตามค่านิยมแบบตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ทำให้คนทั่วไปค่อยๆ เลิกการไว้ผมมหาดไทยและผมปีกตามไปในที่สุด ดังที่พระนิพนธ์ “ความทรงจำ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพระบุว่า
“แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามาเมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม เมื่อจะเสด็จไปสิงคโปร์คราวนี้ก็โปรดฯ ให้ผู้ที่จะตามเสด็จไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีฯ ให้ตามเสด็จไปทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนคร ทางปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่าการไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวนให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่น ควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตัดผมมหาดไทยในราชสำนัก ตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิให้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างใดก็ไว้ได้ตามชอบใจ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมตัดยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ มักให้ช่างตัดผมรอบศีรษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า ผมรองทรง ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดฯ ให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆ กันไปจนทั่วทั้งเมือง”
ขอฝากอีกครั้งหนึ่งว่า “ผมมหาดไทย” ใช้เป็นชื่อทรงผมผู้ชายเท่านั้น ไม่ใช้เรียกทรงผมผู้หญิงครับ
ภาพถ่ายชายชาวสยาม ไว้ผมทรงมหาดไทย  บางคนแต่งผมเป็นทรงเรียบร้อย แต่ส่วนใหญ่ปล่อยผมตามธรรมชาติไม่ได้จัดเป็นทรง
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- กรมศิลปากร. (2481). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัดถเลขา เล่ม 1 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์พระอธิบายประกอบ. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- กรมศิลปากร. (2545). วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 3. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.
- กรมศิลปากร. (2542). สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- กรมศิลปากร. (2552). สมุดภาพไตรภูมิฉบับอักษรขอม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
- จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์. (2464). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. (2530). ความทรงจำ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. (2548). จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ. (2561). ประวัติศาสตร์อยุธยาจากจารึก: จารึกสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ฯ.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2548). กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- อเนก นาวิกมูล. (2525). หนังสือชุด กรุงเทพฯ สองศตวรรษ การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
- อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค. วัยอาจ. (2543). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์มบุคส์.
.
ภาษาต่างประเทศ
- Baker, C., Dhiravat na Pombejra, Kraan, A. van der and Wyatt, D. K.,(Eds). (2005). Van Vliet's Siam. Chiang Mai: Silkworm Books.
- Cortesão, A.,(Ed.) (1944). The Suma Oriental of Tomé Pires : an account of the East, from the Red Sea to Japan, written in Malacca and India in 1512-1515 ; and, the book of Francisco Rodrigues, rutter of a voyage in the Red Sea, nautical rules, almanack and maps, written and drawn in the East before 1515 Volume I. London : The Hakluyt Society
- Terwiel, B.J.,(Ed.). (2003). Engelbert Kaempfer in Siam. (Engelbert Kaempfer Werke, Band 4). München: Iudicium Verlag.
.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา