12 เม.ย. 2021 เวลา 15:29 • ครอบครัว & เด็ก
Covid-19 Pandemic วันที่แม่และลูกต้องเข้มแข็ง หนทางสร้าง Resilience ในเด็กปฐมวัย
แม่พึ่งได้ดูคลิปการร่ำลาของคุณแม่นิวเคลียร์กับน้องไทก้า จากการที่คุณพ่อคุณแม่พบเชื้อโควิด และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โชคดีที่น้องไทก้าไม่พบเชื้อด้วย แต่สิ่งที่บีบหัวใจของแม่มาก และเป็นสิ่งที่คนเป็นแม่ทุกคนกลัวที่สุดก็คือการต้องแยกกับลูก ในจุดนี้แม่ยอมรับว่า น้ำตาคลอเบ้า อย่างไรก็ตามแม่เชื่อว่าทุกคนต้องผ่านช่วงนี้ไปได้ และน้องไทก้าจะผ่านไปได้เช่นกัน เป็นกำลังใจให้จากใจจริงเลยนะคะ
การต้องแยกจาก(ชั่วคราว)ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กเล็ก เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กมากค่ะ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งจำเป็นและคงไม่มีใครอยากให้เกิด จึงต้องอาศัยกระบวนการที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ให้เด็กได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ แม่แอดมินเลยนึกถึงเรื่องของ Resilience และคิดว่าทักษะนี้จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์แบบนี้แหละค่ะ
Resilience คืออะไร?
มีผู้ให้คำจำกัดความของ Resilience ไว้มากมาย ขอสรุปง่ายๆ คือ ความสามารถในการปรับตัวให้ดีขึ้นจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทักษะความยืดหยุ่นจากโมเม้นที่มันหนักหนาหัส พูดอีกอย่างมันคือทักษะที่คนเราจะลุกขึ้นจากวันที่ผ่านมรสุมค่ะ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ ต้องอาศัยเวลา ต้องฝึกฝน และแต่ละคนจะทำได้มากน้อยไม่เท่ากัน
แล้ว Resilience สำหรับเด็กแค่ 2 ขวบ อย่างน้องไทก้า และเด็กอีกหลายๆคนที่เผชิญเรื่องไม่คาดคิด จะทำได้อย่างไร? เว็ปไซต์ ขององค์กร Child Trends มีบทความที่รวบรวมงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้อง เขียนโดย Jessica Dym Bartlett and Rebecca Vivrette มีข้อมูลที่ดีมากๆๆ และมีบางส่วนที่นำมาเป็นหนทางสร้าง Resilience ให้กับเด็ก โดยเฉพาะเคสที่พ่อแม่ต้องแยกกับลูกเล็กจากการติดเชื้อโควิดได้ แม่เลยอยากแชร์(บางส่วน) ให้ทุกคนได้ร่วมด้วยช่วยกัน
1. ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กต้องให้เวลากับเด็กมากๆ ให้เค้าได้ทำกิจวัตรต่างๆ ที่เหมาะกับวัย ได้รับความรักความเอาใจใส่ ผู้ใหญ่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เช่น อ่านนิทาน พาไปเล่นสนาม กินขนม ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือกิจกรรมอื่นแบบ Face-to-face
2. คุณแม่หรือคุณพ่อ หรือทั้งสองที่จำเป็นต้องกักตัว หรือเข้ารักษาตัว และแยกจากชั่วคราวกับเด็ก ต้อง Stay Connected ติดต่อพูดคุยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น วิดีโอคอล โทรศัพท์ หรืออื่นๆ ซึ่งสำคัญมากที่จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
3. บุคคลอื่นๆ ทั้งญาติ ครู หรือคนอื่นๆ ต้องช่วยกัน support ในส่วนที่ทำได้ เช่น โรงเรียนเอื้ออำนวยกิจกรรม อุปกรณ์ แนวทางดูแลเด็ก ฯลฯ ที่ให้เด็กทำในระหว่างนี้ (ให้ยุ่งเข้าไว้)
4. สำหรับในครอบครัวที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น ตกงาน ไม่มีเงิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ในต่างจังหวัดบ้านเราอาจจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่ช่วยเหลือครอบครัวได้) ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ หาที่อยู่ อาหาร ปัจจัยสี่พื้นฐาน ให้กับเด็กได้อุปโภค บริโภค อย่างเพียงพอในช่วงนี้ ครอบครัวเองควรขอความช่วยเหลือไปด้วยอีกทางหนึ่ง
5. ในช่วงนี้เด็กบางคนอาจมีการแสดงออกทางอารมณ์หรือพฤติกรรมต่างกันไป จากการเปลี่ยนแปลงที่เขาพบเจอ วิธีการ 3R (Reassurance, Routines, Regulation) จะช่วยผ่อนคลายเด็กจากความกังวล ความเครียดได้
- Reassurance : ทำให้เด็กมั่นใจว่าพวกเขาปลอดภัยนะ ทุกคนรักหนู พ่อแม่ก็รักหนู เราจะดูแลหนู
- Routines : คงกิจวัตรประจำวันต่างๆที่เคยเป็น เด็กจะเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในแต่ละวัน (เวลากิน เวลานอน เวลาอาบน้ำ ฯลฯ)
- Regulation : ช่วยเด็กดีลกับความรู้สึกที่ยากลำบาก ให้ได้ระบาย ควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม เปิดโอกาสให้เด็กได้ถามคำถาม พูดบอกความรู้สึก หรืออาจหาเวลาเงียบๆให้เขาบ้าง ฝึกสมาธิ อื่นๆแล้วแต่ความเหมาะสมตามวัย
6. เล่า ย้ำ ในเรื่องที่ดีงาม อาจจะใช้นิทานเป็นสื่อกลางก็ได้
และยังมีในส่วนอื่นๆที่มีประโยชน์มาก หากสนใจลองอ่านเพิ่มเติมได้นะคะ แม่แปะ link ไว้แล้ว
ส่วนตัวแม่เองกลัวมากๆ แต่คิดเสมอว่าถ้าวันหนึ่งเราเองจะต้องแยกจากลูก สิ่งแรกที่เราบอกกับตัวเองว่าต้องมี คือ สติ และ การมองโลกในแง่ดี เชื่อมั่นว่าทุกอย่างเราต้องผ่านไปได้ ไม่ว่าจะเจออะไร เราจะผ่านไปได้ด้วยดี เข้มแข็ง และ ยิ้มไว้นะคะ
ด้วยรัก
ไดอารี่คุณแม่
#โควิด #Resilience
โฆษณา