12 เม.ย. 2021 เวลา 11:35 • ประวัติศาสตร์
กำแพงโบราณ กั้นเขต "สุโขทัย - ล้านนา"
1
Ep.16 กำแพงหอรบ อ.เถิน จ.ลำปาง
เมื่อหลายปีก่อน ข้าพเจ้าเคยได้ยินเรื่องราวของกำแพงโบราณแห่งนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจากตัวอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึง60 กิโลเมตร แต่อยู่ใกล้ตัวอำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย เพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น
เมื่อเราเดินทางจากตัวเมืองสุโขทัย ผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1048 สายดอนไชย–สวรรคโลก เข้าสู่เขตอำเภอทุ่งเสลี่ยม บนทางหลวงที่เชื่อมต่อการจราจรระหว่างอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถึงอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
เส้นทางสายนี้มีลักษณะคดเคี้ยวตามไหล่เขา โดยเฉพาะในช่วงที่ใกล้อำเภอเถิน มีลักษณะสูงชัน และเป็นเส้นทางสายเดิม สำหรับการเดินทางสู่ภาคเหนือของผู้คนสมัยก่อน ปัจจุบันเส้นทางนี้ไม่เป็นที่นิยมสัญจร เพราะมีเส้นทางหลัก สายใหม่ที่สะดวกและรวดเร็วกว่า ผ่านจังหวัดตาก และจังหวัดอุตรดิตถ์
ในสมัยโบราณ อาณาจักรสุโขทัย เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากๆแห่งหนึ่ง ในพื้นที่อุษาคเนย์ เพราะเป็นศูนย์กลางทางการค้าระหว่างทะเลสองฝั่ง ที่เชื่อมโยงสินค้า จากจีน อาหรับ และอินเดีย
รัฐสุโขทัยจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองท่า เมืองปากอ่าวอย่างอาณาจักรละโว้ ที่มีสุโขทัยเป็นสถานีทางการค้า เพื่อขนถ่ายลำเลียง และเป็นจุดแวะพัก ของกองคาราวานเพื่อไปยังดินแดนอื่นๆ
เมื่อผ่านตัวอำเภอทุ่งเสลี่ยม สุดเขตแดนจังหวัดสุโขทัย หมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบชาวล้านนา เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ยังคงเต็มไปด้วยธรรมชาติ รายล้อมไปด้วยภูเขา ลักษณะแบบแอ่งกระทะ รูปพระจันทร์เสี้ยว อันเป็นปลายสายของกลุ่มเทือกเขาผีปันน้ำ
เมื่อเราเดินทางต่อ จนถึงเขตอำเภอเถิน ประตูสู่ดินแดนล้านนา จุดหมายปลายทางของเรา คือหมู่บ้านหอรบ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลําปาง จุดประสงค์เพื่อตามหา "กำแพงโบราณ" ตามคำชักชวนของน้องชาย ชาวทุ่งเสลี่ยม
โดยข้อมูลที่เราพอจะหาได้ ในเวปไซต์ ก็มีแค่ชื่อของหมู่บ้านเท่านั้น และคลิปในยูทูปช่องหนึ่ง ก็บอกให้ไปเริ่มต้นที่โรงเรียนแม่พุหอรบวิทยาก่อน
เราจึงจอดรถ แล้วเข้าไปสอบถามถึงที่ตั้งกำแพง จากชาวบ้านละแวกนั้น จึงรู้ว่าต้องเลี้ยวเข้าซอยตรงถนนข้างโรงเรียน แล้วตรงไปตลอดเข้าสู่พื้นที่ป่า ห่างจากโรงเรียนประมาณ 2-3 กิโลเมตร
ระหว่างทาง เราพบกับเส้นทางเกวียนโบราณ ที่ใช้สำหรับการสัญจรของผู้คนสมัยโบราณ สันนิษฐานว่าถูกใช้กันมาตั้งแต่สมัยขอม สุโขทัย จนถึงอยุธยา
ซึ่งเป็นเส้นทางลัดเลาะผ่านช่องเขา ผ่านลำน้ำหลายสายที่ไหลจากเทือกเขา เป็นแนวเส้นคู่ขนานไปกับทางเกวียนในทุกระยะ เอื้อแก่การเดินเคลื่อนทัพสมัยโบราณ และกองคาราวานสมัยโบราณ
ต่อมามีการสร้างทางหลวงชนบทขึ้น เส้นทางเกวียนสายนี้ จึงถูกลบลืมออกจากประวัติศาสตร์ บางส่วนก็ถูกกลืนให้เป็นถนนของหมู่บ้าน บางส่วนยังหลงเหลืออยู่ ปัจจุบันยังถูกใช้เป็นทางสัญจรของชาวไร่ และคนท้องถิ่น
หลังจากจอดรถเพื่อเดินเท้าต่ออีก 500 เมตร เพราะรถเก๋งของเราไม่สามารถไปต่อได้อีก
เราก็เดินทางมาถึง ที่ตั้งของ "กำแพงโบราณ" ซึ่งปัจจุบันถูกแผ้วถางให้เห็นเป็นกำแพงชัดเจน สะอาดตา สามารถเก็บภาพสวยๆได้ (จากคำบอกเล่าของคนพื้นที่บอกว่า เมื่อก่อนนี้ กำแพงเต็มไปด้วยฝุ่นดินและวัชพืช รกรุงรังจนแทบไม่สังเกตเห็นว่าเป็นกำแพง)
ลักษณะของกำแพงสร้างด้วยหินเผาสมัยก่อน ตรงรากฐานของของมัน ถูกก่อชั้นขึ้นมาด้วยหินชนวนจากภูเขาในพื้นที่แถวนั้น เพราะพบว่าบนเขาบริเวณนั้นเป็นหินชนิดเดียวกัน
ทำให้นึกถึง วัฒนธรรมหินตั้งที่พบในวัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่มีความเก่าแก่กว่าสมัยสุโขทัยเสียอีก บางทีเส้นทางสายนี้ อาจถูกใช้สัญจรมาแล้วกว่าพันปี
ลักษณะที่เหมือนกำแพงปราการ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นช่องเขา โดยมีช่องสังเกตการณ์ระหว่างสองฝั่งของกำแพงเพื่อใช้สอดแนม เป็นข้อยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า "บ้านหอรบ" ในอดีตมิได้เป็นเพียงด่านตรวจของอาณาจักร แต่มันยังเป็นป้อมปราการ ย่อมๆสำหรับป้องกันข้าศึก
ให้แก่อาณาจักรผ่านช่องทางธรรมชาติ ที่บีบบังคับให้บรรดาล้อเกวียน ต้องผ่านช่องเขานี้
ข้อมูลทางตำนาน หรือเอกสาร ของกำแพงหอรบ แห่งนี้ แทบไม่ปรากฏ หากลองนึกดู จริงๆข้าพเจ้าก็เคยอ่านผ่านตามาบ้าง ประมาณว่าพื้นที่แห่งนี้ คือปราการป้องข้าศึกของอาณาจักรสุโขทัย แต่จะสร้างเมื่อสมัยใดนั้น ก็มิอาจทราบได้ อ้างอิงจากตำราบทเรียน สมัยเรียนวิชาประวัติศาสตร์
กำแพงแห่งเดียวที่เป็นโบราณสถาน ซึ่งตั้งอยู่ โดดๆ ห่างไกลจากตัวเมืองเก่าสุโขทัยอยู่หลายกิโลเมตร และยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นกำแพงของใคร? สร้างเมื่อไหร่? และสร้างด้วยจุดประสงค์ใด?
เส้นทางแห่งนี้ เป็นเส้นทางสัญจรของคนโบราณ เลาะเลียบสายน้ำทางธรรมชาติ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่นักเดินทาง โดยมีกำแพงหอรบเป็นประจักษ์พยานให้เราเห็นจนปัจจุบัน ว่าที่แห่งนี้เคยมีผู้คน เดินทางสัญจรมาก่อนหลายร้อยปี หรืออาจเป็นพันปี
บนแผนที่ประเทศไทย ระบุให้ "บ้านแม่พุ หอรบ" เป็นจุดสิ้นสุดของเขตจังหวัดลำปาง ภาคเหนือ หรือดินแดนล้านนา
และอำเภอทุ่งเสลี่ยม ก็ถูกกำหนดให้เป็นสุดเขตของจังหวัดสุโขทัย ภาคกลาง เช่นกัน โดยในระหว่างทางจากทุ่งเสลี่ยมเข้าสู่อำเภอเถิน ก็มีป้ายเขียนว่า "ยินดีต้อนรับสู่ดินแดนล้านนา" (แท้จริงแล้วชาวทุ่งเสลี่ยมเป็นชาวล้านนา)
ดังนั้นกำแพงแห่งนี้จึงถูกมองว่าเป็น "กำแพงกั้นระหว่างอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรสุโขทัย"
เพราะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ได้ทำให้เราเข้าใจว่าต้องเป็นเช่นนั้น
แต่ความเป็นจริงอาณาจักรโบราณนั้น ไม่มีเขตแดน และไม่มีหลักเขต จะมีก็แต่กำแพงล้อมรอบคูเมืองเพียงเท่านั้น ซึ่งระยะทางห่างจากตัวเมืองต้องห่างไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร
ข้อสันนิษฐานต่างๆในหัว เกี่ยวกับกำแพงหอรบแห่งนี้ว่าอาจจะเป็นแนวป้องกันข้าศึก เป็นด่านผ่านทาง เป็นจุดพักระหว่างเดินทางของคนสมัยโบราณ หรือจะเป็นเมืองโบราณแห่งใหม่ ข้อคิดเหล่านั้นล้วนออกมาจากจินตนาการของข้าพเจ้าเพียงลำพัง
แต่ความเป็นจริงจะเป็นสิ่งก่อสร้างของอาณาจักรใดนั้น ล้านนา? เขลางค์นคร? หรือ หริภุญชัย ? ซึ่งภายหลังถูกควบรวม ให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน โดยราชวงศ์แห่งล้านนา
ในเมื่อมันตั้งอยู่ระหว่าง กึ่งกลางของอาณาจักรใหญ่อย่างสุโขทัย และล้านนา ซึ่งเกิดร่วมสมัยเดียวกัน ซึ่งในอดีตสองดินแดนนี้ เคยแบ่งออกเป็นเชื้อชาติ ระหว่างลาว(ล้านนา,ล้านช้าง) กับขอม(สุโขทัย,ละโว้,อยุธยา)
จริงๆแล้ว กำแพงนี้อาจเป็นเพียงป้อมปราการ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันภัยระหว่างสองอาณาจักรดังกล่าว ความเป็นไปได้ ในเชิงวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์
ฉะนั้น การจะเรียกชื่อกำแพงโบราณแห่งนี้ว่า "กำแพงเขตแดน ระหว่าง สุโขทัย- ล้านนา"
คงไม่ผิดอะไร....
"กำแพงโบราณถูกสร้างมาด้วยกำลังกายอันแข็งแรง แต่กำแพงใจ ถูกสร้างมาด้วยกำลังใจที่อ่อนแรง....
1
อั๊ยยะ... คิดได้ไง..
ขอให้รักมาแต่งเติมหัวใจ
....ไซตามะ.....
โฆษณา