14 เม.ย. 2021 เวลา 02:40 • ประวัติศาสตร์
British East India บริษัทที่เติบโต และล่มสลาย ใน 274 ปี
3
ระบบทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจระดับประเทศ ว่าด้วยการที่บริษัทเอกชน
มีเสรีภาพที่จะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสินค้าและบริการ
และแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ มีเป้าหมายตรงกันคือ “การแสวงหาผลกำไร”
3
หนึ่งในวิธีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทุนนิยมคงไม่พ้นการศึกษาประวัติศาสตร์
วันนี้เรามารู้จักกับบริษัทที่เคยดำเนินกิจการมายาวนานกว่า 274 ปี
และมีการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จนสามารถเติบโต
กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปในช่วงเวลาหนึ่ง
5
บริษัทนี้ มีชื่อว่า “British East India Company”
แล้วบริษัทแห่งนี้ ทำธุรกิจอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
บริษัท British East India ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมทุนระหว่างพ่อค้าและชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600 ผ่านการพระราชทานตราตั้งบริษัท โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1
1
Cr. British Heritage Travel
British East India มีลักษณะธุรกิจคือ การเดินเรือไปยังประเทศแถบตะวันออก
ซึ่งประเทศแรกก็คือ ประเทศอินเดีย โดยบริษัทแห่งนี้จะเข้าไปหาซื้อสินค้า
เพื่อนำกลับมาขายที่ประเทศอังกฤษ รวมถึงอีกหลายประเทศแถบยุโรป
อย่างไรก็ตาม British East India ไม่ได้เพียงแต่จะหาสินค้าเพื่อนำเข้ามาตีตลาดเท่านั้น
แต่บริษัทมีแนวคิดในการผูกขาดสินค้าต่าง ๆ เพื่อโอกาสที่จะสร้างกำไรสูงที่สุดให้กับบริษัทอีกด้วย
3
โดยการที่จะผูกขาดการค้าได้นั้น British East India ต้องควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญให้ได้ก่อน
ในสมัยนั้นก็คือ “เส้นทางเดินเรือ”
3
รวมถึงต้องใช้อำนาจในการผลักดันสินค้าให้เป็นที่รู้จักของชาวตะวันตก
เพื่อให้สินค้าที่นำเข้ามาขายกลายเป็นสินค้าสามัญประจำบ้านที่คนทั่วไปขาดไม่ได้
3
ซึ่งบริษัทแห่งนี้ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะได้รับการสนับสนุน และการอำนวยความสะดวกจากรัฐบาล
8
แล้ว British East India เดินเรือไปนำสินค้าอะไรกลับมาจากอินเดียบ้าง ?
1
บริษัทได้เริ่มเข้าไปล่าอาณานิคมบริเวณ “อนุทวีปอินเดีย” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเทศอินเดีย ไปจนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยอนุทวีปอินเดียแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญ เช่น ผ้าฝ้ายอินเดีย เครื่องเทศ รวมถึงแรงงานทาสราคาถูก
5
และด้วยความที่ผ้าฝ้ายอินเดียมีลักษณะพิเศษ คือ มีน้ำหนักเบา ทำความสะอาดได้รวดเร็วและราคาถูก
บริษัท British East India จึงได้ไอเดียที่จะผลักดันให้คนอังกฤษหันมาใช้ผ้าฝ้ายอินเดีย
ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นสินค้าแปลกใหม่ และยังไม่เคยมีชาวอังกฤษคนไหนรู้จักมาก่อน
3
บริษัทใช้วิธีการโฆษณาเพื่อบ่งบอกถึงสรรพคุณ รวมถึงนำไปเปรียบเทียบกับสินค้าดั้งเดิมอย่าง
“ผ้าขนแกะ” ที่นิยมใช้กันที่ประเทศอังกฤษ โดยได้อ้างว่าผ้าฝ้ายจากอินเดียดีกว่า และถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ในขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอชาวอังกฤษว่า ผ้าฝ้ายอินเดียยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเครื่องแต่งกาย ผ้าเช็ดหน้า ไปจนถึงผ้าปูเตียง ซึ่งมีความหลากหลายในการนำไปประยุกต์ใช้
1
ทำให้หลังจากนั้นชาวอังกฤษเริ่มหันมาให้ความสนใจกับผ้าฝ้ายอินเดีย จนกระทั่งมันได้กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในประเทศอังกฤษ
1
และด้วยความที่ British East India มีพันธมิตรเป็นรัฐบาล บริษัทจึงมีอำนาจการปกครองกองกำลังเรืออังกฤษภายในประเทศอินเดีย
3
นั่นหมายความว่าบริษัทสามารถกีดกัดบริษัทเดินเรือรายอื่นจนสามารถทำกำไรได้มหาศาลเพราะไร้คู่แข่ง และเรื่องนี้เองก็ได้นำมาสู่ความรุ่งเรืองของบริษัท จนในช่วงนั้น British East India ถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
5
Cr. Qatar Digital Library
ต่อมา บริษัทก็ยังเฟ้นหาแหล่งผลิตสินค้าสามัญ ที่เหมือนกับผ้าฝ้ายอินเดีย
เพื่อนำไปขายทำกำไรต่อที่อังกฤษและประเทศแถบยุโรปตะวันตก
ยกตัวอย่างวัตถุดิบสำคัญเช่น เครื่องเทศ, ใบชาอินเดีย (ชาอัสสัม), สีย้อมผ้า, เกลือ และดินประสิว
1
และเมื่ออำนาจทางกองเรือจักรวรรดิอังกฤษ ได้ขยายอาณาเขตเข้าไปสู่เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท British East India ก็ได้นำกองกำลังทหารเรืออังกฤษมาควบคุมเส้นทางเดินทะเลในอาณาเขตที่ขยายไปด้วยจนทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศล่าอาณานิคมอื่น ๆ
5
ยกตัวอย่างเช่น การปะทะกันของกองเรืออังกฤษ กับกองเรือของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ของฝรั่งเศส
บนหมู่เกาะเครื่องเทศ ในปี ค.ศ. 1804 รวมถึงการยึดเกาะชวาจากเนเธอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1811
1
ความสำเร็จจากอินเดีย ได้ทำให้ British East India มองไปยังเป้าหมายใหม่ ซึ่งจุดหมายปลายทางต่อไป ก็คือ ประเทศจีน
โดยสินค้าสำคัญที่บริษัทเล็งเห็นคือ ผ้าไหมดิบ, เครื่องกระเบื้อง และใบชาของจีน ซึ่งก็ถูกนำไปขายในทวีปยุโรปในเวลาต่อมา
5
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็ต้องบอกว่า British East India เป็นบริษัทที่มีส่วนสำคัญ
ที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมต่าง ๆ ในยุโรปหลายประเทศ ซึ่งสินค้าหลายตัวก็มีให้เราพบเห็นในปัจจุบัน
3
ยกตัวอย่างเช่น ชาเอิร์ลเกรย์
ที่จริง ๆ แล้ว มีต้นกำเนิดมาจากชาดำเจิ้งซานเสียวจ่ง จากประเทศจีน
แต่ก็ได้ถูกชาวอังกฤษนำไปผสมกับน้ำมันมะกรูด
จนกลายมาเป็นชาเอิร์ลเกรย์ ที่เรารู้จักกันอยู่ในทุกวันนี้
7
Cr. Pinchazhe
นอกจากชาเอิร์ลเกรย์แล้ว ก็ยังมีเบียร์อินเดียเพลเอล (IPA) และเหล้าจินโทนิค จากประเทศอินเดีย อีกเช่นกัน
5
แต่ในอีกมุมหนึ่ง British East India ก็ได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย และประเทศขนาดเล็กอื่น ๆ ที่อยู่ใต้อาณานิคม
5
รวมไปถึงการผลักดันสินค้าอันตราย เพื่อหวังแต่การทำกำไร เช่น
การนำเข้ายาเสพติดประเภทฝิ่นในประเทศจีน และเอเชียตะวันออก
จนเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามฝิ่น (Opium War) ระหว่างจีนกับอังกฤษในสมัยต่อมา
5
แล้ว British East India มีจุดจบอย่างไร ?
การที่บริษัท British East India ที่ใช้ระบบทุนนิยม แต่กลับต้องพึ่งพารัฐบาลจากอังกฤษมากเกินไป
จนไม่ต่างอะไรไปจากผู้ผูกขาด ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม
ในวันที่เศรษฐกิจของอังกฤษรุ่งเรือง ทุกอย่างก็ดีไปหมด
แต่ในวันที่ไม่เป็นแบบนั้น British East India ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
หลังจากที่บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจมาได้ยาวนานกว่า 200 ปี
เศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษก็เริ่มฝืดเคือง สืบเนื่องจากการเริ่มมีกลุ่มผู้ต่อต้านการขยายอำนาจของอาณานิคมอังกฤษ จนเกิดการกบฏอยู่หลายต่อหลายครั้ง
1
รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำสงครามต่าง ๆ ที่อังกฤษต้องเผชิญในช่วงนั้น
ยกตัวอย่างเช่น สงครามฝิ่นกับประเทศจีน หรือสงครามไครเมียกับจักรวรรดิรัสเซีย
1
นั่นจึงทำให้ประเทศอังกฤษต้องหันไปขูดรีดเหล่าประเทศที่อยู่ใต้อาณานิคม มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยการเพิ่มภาษี ขึ้นราคาสินค้าสามัญที่ผูกขาด บังคับให้เกิดสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ
3
เหตุการณ์สำคัญต่อมา คือ การเกิดกลุ่มกบฏเพื่อเอกราชของอินเดียครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Mutiny)
ซึ่งเป็นการรวมตัวของ กลุ่มชาตินิยมของอินเดีย ที่เริ่มออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านบริษัท British East India และอาณานิคมอังกฤษ
5
Cr. Wikipedia
เรื่องนี้จึงทำให้รัฐบาลอังกฤษ ต้องทำการลดทอนอำนาจของบริษัท British East India ลง
เพื่อเข้าไปบริหารธุรกิจและการปกครองในประเทศอินเดียเองทั้งหมด
3
ซึ่งนั่นทำให้ British East India ต้องถึงจุดล่มสลาย จากพระราชบัญญัติรัฐบาลอินเดีย ค.ศ. 1858 ที่ออกมาภายหลังกบฏอินเดีย ว่าด้วยอำนาจการปกครองอนุทวีปอินเดีย ให้บริษัท British East India มาขึ้นกับราชสำนักอังกฤษโดยตรง
หลังจากนั้น บริษัท British East India จึงได้ปิดตัวลง ในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1874
และกลายเป็นกรณีศึกษาของบริษัทที่เติบโต และล่มสลาย ภายใน 274 ปี
ที่ก็เรียกได้ว่าเป็นรากฐานการวิวัฒนาการของระบบทุนนิยมในช่วงเริ่มต้น ให้เราได้ศึกษากัน..
3
References
-หนังสือ British East India Company โดยคุณปรีดี หงษ์สตัน
-บทความชุด “ความรุ่งเรืองและถดถอย ของ บริษัทบริติชอีสต์อินเดีย” เขียนโดย ดร.ทศพร มะหะหมัด
5
โฆษณา