30 เม.ย. 2021 เวลา 13:24 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทคนิคการซื้อ-ขายหุ้น ช่วง pre-close
อย่างที่เราเห็นว่านักลงทุนหลายคนมักใช้คำสั่ง ATC ในการซื้อหรือขายหุ้น เพราะหวังว่าจะได้ราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาล่าสุดเล็กน้อย จึงตั้งซื้อหรือขาย ATC แล้วมาลุ้นว่าราคาปิดวันนั้นคือเท่าไหร่ แต่เรามีเทคนิคที่ดีกว่าการหวังพึ่งดวงเช่นนี้นะคะ
⛳ ตัวอย่าง กรณีต้องการขาย
สมมุติว่า ราคาของหุ้น XX มีราคาก่อนปิดตลาดตอนเย็น ที่ 14.50 บาท คนที่อยากขายหุ้นก็มองว่า 14.50 บาทนี้น่าพอใจแล้ว แต่ขอตั้งขายที่ ATC ละกันเผื่อว่า มันปิดที่ 14.60 บาท ก็จะได้กำไรเพิ่มมาอีกหนึ่งช่อง แต่ถ้ามันลงไปปิดที่ 14.40 บาท ก็ยังรับได้อยู่ ถือว่าขาดทุนกำไรไปหนึ่งช่อง อะไรทำนองนี้ค่ะ
ถ้าคุณคิดเช่นเดียวกันนี้ ก็ขอแนะนำเทคนิคนี้เลยค่ะ การซื้อขายที่ราคา pre-close หากมองว่าราคา 14.50 บาทเป็นราคาที่พอใจแล้ว ให้ตั้งขายที่ราคา 14.40 บาท ต่ำกว่าราคาที่ยอมรับได้สักหนึ่งช่อง
เนื่องจากการตั้งเช่นนี้ เมื่อตลาดปิดแล้วราคาปิดสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ เช่น ปิดที่ราคา 14.50, 14.60, 14,70 บาท เราก็จะได้ราคาปิดนี้ไปด้วย บางคนที่ยังไม่เข้าใจอาจคิดว่า ถ้าราคาปิด 14.50 บาท แล้วเราตั้งราคา 14.40 บาท งั้นเราก็ซวยละซิ แทนที่จะได้กำไรมาก กลับได้กำไรน้อย แต่เป็นความเข้าใจที่ผิดค่ะ เรายังคงได้ราคาที่เราพอใจอยู่ค่ะ เพราะระบบจะแมชให้ที่ราคาปิดที่ 14.50 บาทเช่นเดียวกันค่ะ
แต่ในกรณี ถ้าตลาดปิดที่ราคาต่ำกว่า ราคาที่ตั้งไว้ 14.40 บาท เช่น ปิดที่ราคา 14.30 บาท ผลก็คือ การตั้งขายครั้งนี้จะไม่แมช หุ้นของเราก็จะยังคงอยู่ในระบบต่อไปค่ะ
วิธีนี้มีประโยชน์ คือสามารถขายหุ้นได้ราคาปิด ตามเจตนาเดิม ในกรณีที่ปิดแล้วหุ้นโดดสูงกว่าเดิมก็ยังขายได้ตามราคาปิดตามนั้น แม้เราจะตั้งราคาที่ 14.40 บาทแต่เรายังคงได้ราคา 14.50 บาทอยู่ดีค่ะ
📌 แต่การตั้งแบบนี้ดีกว่าตั้ง ATC คือช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดราคาปิดที่ผิดเพี้ยนจากราคาก่อนตลาดปิดไปมาก เช่น กรณีเหตุการ์ณที่หุ้นบางตัว มีราคาปิดกระโดดขึ้น-ลง แบบผิดปกติ บางครั้งลงถึง floor หรือ ขึ้นถึง ceiling ก็เป็นได้
1
แต่หากตั้งขาย ATC แล้ว หุ้นโดดลงไปปิดที่ราคา floor 10.30 บาทจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดคือคุณขายหุ้นได้ ที่ราคา floor ทันที ซึ่งอาจขาดทุนมหาศาลจากราคา 14.50 บาทที่ตั้งใจไว้ แต่ถ้าหากตั้งขายไว้ 14.40 บาท แทนการใช้ ATC ในกรณีเกิดเหตุการณ์นี้ หุ้นจะไม่แมช เพราะราคาปิดที่ราคา floor 10.30 บาท ต่ำกว่าราคาขายที่ตั้งไว้ 14.40 บาท ทำให้เรารอดจากการขายหุ้นขาดทุนยับเยินนั้นไปได้ค่ะ
⛳ ตัวอย่าง กรณีต้องการซื้อ
สมมุติว่า ราคาของหุ้น XX มีราคาก่อนปิดตลาดตอนเย็น ที่ 14.50 บาท หากพอใจที่จะซื้อราคา 14.50 บาทนี้แล้ว ก็อาจตั้งราคาซื้อในช่วง pre-close เป็น 14.60 บาท แทนการตั้งแบบ ATC โดยตั้งราคาสูงกว่าราคาที่ยอมรับได้สักหนึ่งช่อง ถึงแม้ว่าหุ้น XX จะปิดที่ราคาต่ำกว่าที่ตั้งไว้ เช่น 14.50, 14.40, 14.30 บาท เราก็จะได้หุ้นมาในราคาปิดนั้นไปด้วย แม้จะตั้งซื้อไว้ว่า 14.60 บาทก็ตาม
📌 แต่การตั้งราคาซื้อที่ 14.60 บาทแทนการซื้อด้วย ATC จะช่วยป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดคิดกรณีเดียวกับการขาย เช่น หากราคาปิดเกิดกระโดดไปปิดราคา celling หรือปิดที่ 18.90 บาท ถ้าเราตั้งซื้อแบบ ATC ก็จะได้หุ้นมาราคา 18.90 บาทซึ่งแพงกว่า 14.60 บาทไปเยอะมาก และมีโอกาสขาดทุนสูง หากราคาไม่ไปต่อ
1
แต่ถ้าตั้ง 14.60 บาทไว้แล้วราคาปิดเป็น celling ที่ 18.90 บาท หุ้นเราจะไม่แมชและรอดพ้นความเสียหายจากการที่ราคาหุ้นกระโดดแบบผิดธรรมชาติ
💥 การตั้งซื้อ-ขายด้วยราคาที่ระบุเจาะจงที่สูงกว่าหรือต่ำกว่า 1 ช่อง เพื่อระบุว่าเรายอมรับการดีดขึ้นลงของราคาหุ้น ณ ราคาปิด จะช่วยป้องกันเหตุการณ์เกินคาดได้ และมีโอกาสได้กำไรมากกว่าแบบปกติด้วย ต่างจากการซื้อแบบวัดดวงด้วยราคา ATC ไม่ว่ามันจะปิดเท่าไหร่ เราก็จะได้ราคานั้นไปโดยปริยายค่ะ
สำหรับผู้เขียนเองก็ใช้วิธีการนี้เป็นประจำเหมือนกันค่ะ โดยเฉพาะการตั้งราคาซื้อ แต่ในหน้างานจริงนั้น เราก็ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปนะคะ ว่าควรจะใช้เทคนิคไหน ณ จังหวะนั้น
เช่น ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรพิเศษ บางครั้ง การตั้งราคาแบบ ATC ก็ไม่เลวสะทีเดียว แถมส่วนมากก็มักจะได้ราคาถูกกว่าการซื้อในระหว่างวันด้วยซ้ำ หรือบางครั้ง การเลือกแบบ pre-close ก็เหมาะสมกว่า ดังนั้น เราเท่านั้นที่เป็นผู้พิจารณาเหตุการณ์ค่ะ
💦.....และผู้เขียนอยากจะฝากว่าความเสี่ยงป้องกันได้ จากความรู้ความสามารถของเราเอง อย่าปล่อยให้ดวงเป็นตัวกำหนดชะตาพอร์ตการลงทุนของเรานะคะ 😉
โชคดีในการลงทุนทุกท่านค่ะ 😊
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
สามารถเยี่ยมชมเราผ่านช่องทางอื่นตามลิ้งข้างล่างนี้ค่ะ :
ขอบคุณกำลังใจและการติดตามนะคะ ทุกการอ่าน ไลค์ แชร์ หรือคอมเม้นท์มีความหมายเสมอค่ะ ❤❤🙏🙏❤❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา