13 เม.ย. 2021 เวลา 11:35 • สุขภาพ
"นักจิตวิทยา" คือใคร?
ต้องบอกว่าปัจจุบันอาชีพนักจิตวิทยาได้รับความสนใจมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่านักจิตวิทยาคือใครกันแน่ ใช่ดูดวง อ่านใจหรือเปล่า ? วันนี้อูก้าเลยอยากพาทุกคนมารู้จักกับนักจิตวิทยาให้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วนักจิตวิทยาต้องเรียนอะไร มีสาขาใดบ้าง แตกต่างกันอย่างไรและเมื่อจบแล้วจะประกอบอาชีพอะไรต่อไป รวมถึงอธิบายด้วยว่าในระบบของอูก้านั้นเรามีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านใดบ้าง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและสามารถเลือกคุยกับนักจิตวิทยาที่ตรงใจคุณได้ ทั้งนี้นักจิตวิทยาต่างจากจิตแพทย์ตรงที่ไม่ได้เรียนจบแพทยศาสตร์บัณฑิต ทำให้ขอบเขตการรักษานั้นแตกต่างกัน โดยนักจิตวิทยาจะต้องศึกษาต่อจิตวิทยาในระดับปริญญาโทสาขาที่เกี่ยวข้อง ผ่านกระบวนการฝึกฝนมาอย่างดีและมีการเก็บชั่วโมงให้คำปรึกษาเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถทำหน้าที่นี้ได้
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “จิตวิทยา” เป็นศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความเชื่อหรือเรื่องงมงายอย่างที่เข้าใจกัน Psychology มีรากศัพท์มาจากคำว่า Psyche (จิตใจ) + logos (วิชา) หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ กระบวนความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คนชอบถามว่า “เรียนไปรักษาคนบ้าหรอ ?” หรือ “ถ้าเรียนจิตวิทยาก็ต้องอ่านใจคนได้สิ” ขอบอกเลยว่าจิตวิทยาคือการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสมอง พัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ทั้งสังคม ร่างกาย การเรียนรู้ สติปัญญา ตั้งแต่มนุษย์อยู่ในครรภ์จนถึงสิ้นอายุขัย เรียกว่าเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ามีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน ในเรื่องของอารมณ์ พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประสบการณ์ชีวิต พื้นฐานครอบครัวที่ทุกคนแตกต่างกัน พูดง่าย ๆ คือเรียนเพื่อเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” และช่วยเหลือในจุดที่เกิดปัญหาให้ชีวิตสามารถเดินต่อไปได้
.
ซึ่งหากจะเรียกตัวเองว่า “นักจิตวิทยา” (Psychologists) ก็จะต้องเรียนมาทางด้านจิตวิทยาคลินิก หรือไม่ก็จิตวิทยาการปรึกษาเท่านั้น ในจิตวิทยาสาขาอื่น ยังไม่ได้ว่าเป็นนักจิตวิทยาเต็มตัว ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาฝึกฝนให้คำปรึกษาเป็นจำนวนหลายร้อยเคส กว่าจะสามารถทำงานได้จริง เนื่องจากเป็นการทำงานกับชีวิตและจิตใจ ต้องระมัดระวังให้ความสำคัญกับทุก ๆ ขั้นตอนในกระบวนการปรึกษา
อย่างที่บอกว่าเราศึกษาเกี่ยวกับ “มนุษย์” ฉะนั้นคงไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่าจิตวิทยาอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้สังเกต ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็มีการเปิดสอนวิชาจิตวิทยา แต่หากก่อตั้งเป็น “คณะจิตวิทยา” จะมีเพียงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งสาขาก็มีเยอะมาก ๆ ยิ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะมีสาขาที่น่าสนใจเยอะแยะมากมาย วันนี้เราคัดมาบางส่วน เช่น
จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทฤษฎีและหลักการทั่วไปทางจิตวิทยา ความรู้พื้นฐาน พัฒนาการของมนุษย์และที่มาของจิตวิทยา
จิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychology) เป็นการศึกษาโดยการนำหลักจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและรักษาปัญหาทางจิต เช่น ปัญหาพฤติกรรม การใช้ความรุนแรง การก่ออาชญากรรม การติดยาเสพติด เป็นต้น โดยจะพยายามค้นหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางจิตว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial Psychology) ปรับใช้หลักทางจิตวิทยากับโลกของการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน แก้ไขปัญหาในองค์กร ตลอดจนดูแล อบรม พัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำความรู้ทางจิตวิทยามาใช้ในการดำเนินการคัดเลือก พัฒนา บุคลากร วางแผนการบริหาร ฯลฯ โดยเน้น “ทรัพยากรมนุษย์” เป็นสำคัญ
จิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้รับคำปรึกษาได้ทำความเข้าใจปัญหาในเชิงลึก รวมกับมองหาทางออกร่วมกัน สาขานี้จะศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ซึ่งทำงานเป็นกระบวนการ มีขั้นตอนและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี จนสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาได้ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ของผู้มาปรึกษา จะไม่แทรกแซงการตัดสินใจหรือบังคับ เน้นการรักษาความลับและไม่สร้างสัมพันธ์อื่นนอกจากให้คำปรึกษาเท่านั้น
จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) เน้นศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ทุกลำดับตั้งแต่เกิดจนจบวงจรชีวิต ทั้งด้านพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคม เมื่อเข้าใจแล้วจึงสามารถส่งเสริมให้มนุษย์พัฒนาได้อย่างสมวัย อาจมุ่งเน้นไปที่การเติบโตเด็กและวัยรุ่น เป็นสาขาที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษเพราะทุกประสบการณ์คือการหล่อหลอมตัวตน นอกจากนี้ยังมีสาขาย่อยอีก เช่น จิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น เป็นต้น
จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) มุ่งเข้าใจพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ การตอบสนองและการตัดสินใจของมนุษย์ เช่น การรับรู้ การตอบสนองระหว่างบุคคล อิทธิพลของบุคคลที่มีต่อผู้อื่น ฯลฯ ปกติมักเป็นเรื่องที่เราเห็นทั่วไป อย่างการซื้อของ การทำความรู้จักคนใหม่ ๆ เราจะทำความเข้าใจคนอื่นได้ผ่านการสังเกตอิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการกระทำของมนุษย์
จิตวิทยาการแนะแนว เป็นการให้คำปรึกษาเชิงแนะแนวการศึกษา อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน “ครู” ลองนึกภาพครูแนะนำที่รับฟังและช่วยแนะนำเรื่องเส้นทางชีวิตให้นักเรียน เช่น การแนะแนวเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ สนับสนุนความสามารถ ความชื่นชอบ รวมถึงเข้าใจเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ให้ความช่วยเหลือ พัฒนาและส่งเสริมเด็กอย่างเต็มศักยภาพ
จิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการเรียนรู้ การสอน โดยนำหลักทางจิตวิทยาและความเข้าใจเรื่องพัฒนาการมนุษย์มาช่วยในการหาวิธีส่งเสริมประสิทธิภาพทางการเรียนรู้
นอกจากนี้ยังมีจิตวิทยาชุมชน จิตวิทยาครอบครัว อาชญาวิทยา นิติจิตวิทยา และสาขาอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา ซึ่งการเรียนจิตวิทยาสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เช่น นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ครูแนะแนว นักกระตุ้นพัฒนาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษาต่อหรือลงลึกในด้านไหน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรามีทั้งนักจิตวิทยาที่เป็นนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาซึมเศร้า วิตกกังวล ปัญหาครอบครัว หรือจะมาขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาพฤติกรรมเด็ก การดูแลบุตร พัฒนาการและพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ การเลี้ยงดูลูกเชิงบวกและมีความสุขในแต่ละช่วงวัย การปรับพฤติกรรมในเด็กและวัยรุ่น การให้คำปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู นักเรียน ความเครียดในโรงเรียน ปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์ การดูแลผู้สูงอายุ
ไม่ว่าจะปัญหาความรัก  การปรับตัวกับคนรอบข้าง ความคิดทางลบ ความรู้สึกไร้คุณค่า ความรู้สึกสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ชีวิตไม่มีความสุข ความรู้สึกสิ้นหวัง การค้นหาความหมายของชีวิต โดยเราเน้นการจัดการอารมณ์ การตระหนักรู้และเข้าใจตนเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยนักจิตวิทยาหลายท่านชำนาญในการประยุกต์จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อช่วยในการปรึกษา
ยิ่งไปกว่านั้นเรามีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญเรื่องความเครียดวัยทำงาน ภาวะหมดไฟ การค้นหาตัวตน เป้าหมายและฟื้นฟูสภาพจิตใจก็สามารพูดคุยได้เช่นกัน อูก้ามีผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับมุมมองความคิด การทำจิตวิทยาบำบัด ไปจนถึงการปรึกษาเกี่ยวกับอาการเสพติด ปัญหาสุขภาพจิตเชิงลึก การกินอิ่มนอนหลับ ความเครียดที่เข้ามากระทบ อูก้าพร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คุณเข้ามาปรึกษาได้ทุกเรื่อง นอกจากนี้ในระบบเรายังมีจิตแพทย์อีกหลายท่านที่พร้อมดูแลทุกปัญหาใจ ไม่ต้องกังวลและกลัวการถูกตัดสิน เพราะทุกคนพร้อมที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวและรับฟังคุณโดยไม่มีเงื่อนไข
จิตแพทย์จะเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยทางจิต อาจใช้การตรวจร่างกายร่วมด้วย วิธีทำการรักษา อาจใช้การบำบัดด้วยการพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม รวมกับการสั่งจ่ายยา ใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุ้น และประเมินอาการของโรค ในขณะที่นักจิตวิทยาได้รับการฝึกจนเป็นนักจิตวิทยาคลินิกหรือนักจิตวิทยาการปรึกษา เน้นให้คำปรึกษาหรือบำบัดด้วยการพูดคุย เยียวยาจิตใจ แต่ไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือวินิจฉัยอาการทางการแพทย์ได้
.
แม้จะมีจุดที่ต่างกันอยู่บ้าง แต่จริง ๆ เราไม่ได้จำกัดว่าปัญหานี้ต้องคุยกับจิตแพทย์ หรือการระบายความรู้สึกต้องปรึกษานักจิตวิทยา ในเบื้องต้นการพูดคุยครั้งแรกสามารถเลือกคุยกับใครก็ได้ที่ท่านสนใจ อาจดูจากประวัติหรือหัวข้อที่เชี่ยวชาญ เช่น หากคุณกำลังทุกข์ใจเรื่องงานก็สามารถเรื่องนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาในองค์กรได้ หรือสับสนเรื่องความรักประกอบกับมีภาวะซึมเศร้าอาจจะเลือกพูดคุยกับจิตแพทย์ได้เช่นกัน โดยนักจิตวิทยาเน้นที่กระบวนการให้คำปรึกษา ปรับมุมมอง ทัศนคติ รวมถึงวิธีที่เราแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีความสุขมากขึ้น
#OOCAknowledge
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล ฯ นัดคุยได้เลย
ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/abpsychologistbd
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ Ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca.
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #mentalhealth
โฆษณา