16 เม.ย. 2021 เวลา 04:56 • การตลาด
“ศิลปะแห่งการสร้างแบรนด์”
ก่อนหน้านี้ดิฉันเป็นอีกคนหนึ่งที่เพียรสรรหาคำจำกัดความหรือนิยามที่เกี่ยวกับแบรนด์ดิ้ง หรือ “การสร้างแบรนด์” จนกระทั่งดิฉันมาเจอประโยคนี้
“Branding is about telling your audience the same thing, all the time.. ”
“การสร้างแบรนด์ คือการบอกเล่าเรื่องราวซ้ำๆเดิมตลอดเวลา”
อืม..ฟังดูเหมือนง่าย ทว่าก็ยังคงยากในการเข้าถึงและทำให้สำเร็จอยู่ดี ดิฉันเชื่อว่าหลายๆคนก็คิดเช่นนั้น
บังเอิญเมื่อหลายวันก่อน ดิฉันมีโอกาสไปเจอบทความหนึ่งที่เขียนอธิบายถึงกระบวนการสร้างแบรนด์แบบง่ายๆ และเข้าใจได้ไม่ยาก จึงเห็นควรจะนำมาเขียนเป็นบล็อกเพื่อแชร์กันในหมู่ผู้ที่กระหายใคร่รู้เช่นกัน
ว่าแล้วก็ตามดิฉันมาเถิด..
ก่อนที่เราจะไปถึงลำดับหรือกระบวนการการสร้างแบรนด์นั้น คุณเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า
“ถ้าเราไม่ลงทุนใดๆเลยกับการตลาดแม้สักสตางค์แดงเดียว ผู้คนทั่วไปจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์นั้น และเข้าใจหรือไม่ว่ามีอยู่เพื่อเหตุใด”
แหม่… คำถามนี่น้าาา มันเต้ยเลยจริงๆเชียว ตอบได้หรือไม่เล่า.. มาเถอะ ตามมาอ่านกัน…
1. Seize the high ground – ยกแบรนด์ให้สูงเข้าไว้
หากความปรารถนาคุณคือ การเป็นผู้ชนะในสนามการตลาด ก็จงยกระดับแบรนด์ให้สูงเข้าไว้ “แต่” จงอย่าพยายามสถาปนาแบรนด์บนความปรารถนาที่อยากแค่เอาชนะการแข่งขัน…
อืมมม ง่ายเนาะ แต่ทำได้หรือเปล่านี่สิปัญหา >*<
2. Create one message – สื่อสารความเป็นแบรนด์ด้วยข้อความใดข้อความเดียว
หมายถึงพวกมอตโต สโลแกน แทกไลน์ จุดขาย จะอะไรก็ตามแต่… เลือกมาหนึ่งข้อความ และถ้าหากดูท่าทีแล้วมันเวิร์ค ก็อยู่กับมันไปให้ได้อย่างน้อยๆ 1 ปี แล้วค่อยลองประโยคอื่น แต่ไม่แนะนำให้ลองหลายๆประโยคในคราวเดียว หรือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาชั่วข้ามเดือน
คนหลายใจสงสัยจะทำใจลำบากกรณีนี้…
3. Speak in a way that you can be understood – พูดในภาษาคน ไม่เอาภาษาเทพ
เลือกคำง่ายๆ ไม่ต้องภาษาชาววัง และใช้ให้สอดคล้องกันไปในทุกๆการสื่อสาร และขอให้แน่ใจว่า คำที่เลือกใช้นั้น เป็นคำที่คนฟัง เมื่อฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องผ่านการปีนบันไดตีความอีก
4. Take the opposite test – หมั่นตรวจสอบด้านตรงข้ามของการตัดสินใจเสมอ
แปลว่าอัลไล… >*< ถ้าให้แปลความง่ายๆจากต้นฉบับก็คือ เขากำลังบอกเราว่า นอกเหนือจากข้อสรุปหรือการตัดสินใจใดๆที่ได้ทำลงไปแล้ว หมั่นตรวจสอบย้อนกลับด้วยว่า “แล้วถ้าเราทำอย่างนี้ ไม่ทำอย่างนี้ล่ะ??” เพื่อให้แน่ใจว่า เราได้หนทางหรือข้อสรุปที่เหมาะสมกับกิจกรรมและแบรนด์อย่างแท้จริง
5. Cascade the message – ควบคุมความเข้าใจที่มีต่อแบรนด์สำหรับคนภายในองค์กรเราเอง
จงตรวจสอบจนแน่ใจว่า ประชาชนคนในองค์กรของสูเจ้า “รับรู้” และ “เข้าใจ” อย่างถ่องแท้ถึงข้อความของแบรนด์ ก็ถ้ากระทั่งคนในองค์กรยังอ้ำอึ้งเวลาถามถึงแบรนด์ตัวเอง ที่ไหนเล่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆจะพลอยเข้าใจไปด้วย
เก็ทบ่??
6. Examine the bounce back – ไหนลองดูซิ เขาเข้าใจเราแค่ไหน..
ในหลายๆโอกาส ลองสอบถามผู้ซื้อหรือผู้บริโภคที่รู้จักแบรนด์ของเราว่า เข้าใจข้อความที่เราสื่อสารว่าอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการเรียนรู้ว่าข้อความที่เราสื่อออกไปนั้น ได้รับการตีความหรือเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า “เราพูดอะไร” แต่ขึ้นอยู่กับว่า “พวกเขาได้ยินมันว่าอย่างไร”
อย่าง “ไอ เลิฟ ยู” เงี้ย.. ยังต้องตีความกันอีกม้ายยย ฮิ้วววว
7. Focus on PR, not advertising – จดจ่อที่ประชาสัมพันธ์ไม่ใช่สักแต่เชื่อการโฆษณา
ผู้คนจะพูดถึงเราในวาทกรรมที่ชวนฟังก็ต่อเมื่อ
(ก.) คุณมีผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งเด็ด และ
(ข.) คุณได้คนที่ชื่นชอบมันช่วยป่าวประกาศถึงความเจ๋งเด็ดในผลิตภัณฑ์ของคุณ
8. Strive for humanness – สร้างแบรนด์ให้เป็นมนุษย์ ไม่ใช่วัตถุทางการตลาด
ในความหมายคือ ในยุคการทำการตลาดปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ไวไฟเป็นลมหายใจของประชากรโลกแทนลมปราณ ผู้บริโภคพร้อมจะตั้งป้อมทันทีเมื่อแบรนด์ใดๆพยายามที่จะเข้าหาพวกเขาเหล่านั้นด้วยสถานะแบบ “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย” นั่นเพราะเขาแน่ใจว่า “คุณจะมาขายของ!!!” ทางแก้คือ ลองทำให้แบรนด์คุณเป็นเหมือน “เพื่อนข้างบ้าน กิ๊กประถม หรือแม่นมท้ายซอย” ดูสิ… สื่อสารง่ายกว่ากันเยอะ
ท้ายที่สุดนี้ โปรดจำไว้ว่า “แบรนด์ถูกสร้างขึ้นบนวิถีที่ผู้คนพูดถึงคุณ ไม่ใช่ในวิถีที่คุณกำลังพูดถึงตัวเอง”
โฆษณา