Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Safety ทำอะไร
•
ติดตาม
15 เม.ย. 2021 เวลา 00:33 • การศึกษา
เทคนิคหูกระต่าย
วันนี้ผมจะมาเล่าหนึ่งในเทคนิคป้องกันอุบัติเหตุ ที่ในวงการน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมีการนำมาใช้กัน “เทคนิคหูกระต่าย”
เทคนิคนี้แรกเริ่มเดิมที มาจากบริษัท Shell E&P แต่หลังจากที่มีการใช้กันไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ในหลายบริษัท
แผนผังหูกระต่าย มีโครงสร้างหลัก 3 ส่วน ตรงกลาง ปีกซ้าย และ ปีกขวา ตรงกลางคือ “เหตุอันตราย” ที่เราไม่ต้องการให้เกิด ปีกซ้ายเป็นแผนป้องกัน ปีกขวาเป็นแผนลดผลกระทบความรุนแรงของอุบัติเหตุ ส่วนขีดขวางๆสีดำบนเส้นตรง คือ มาตรการป้องกัน และบรรเทาฟื้นฟู ในภาษาของเทคนิค เรียกว่า แบริเออร์
ก่อนอื่น ผมขอพาให้รู้จัก คำนี้ก่อนครับ
HEMP
ย่อมากจาก Hazard and Effect Management Process
HEMP ประกอบด้วยคำ 4 คำ Identify – Assess – Control – Recovery
4 คำนี้คือหัวใจของเทคนิคนี้ แต่ผมอยากให้จำ 3 คำถาม โดยคำถามข้อแรก จะรวบคำที่ 1-2 เข้าด้วยกัน ดังนี้
เริ่มจากคำถามแรก “จะเกิดอุบัติเหตุอะไร?” ซึ่งต้องแตกรายละเอียดเป็น 2 เรื่อง คือ 1) อันตราย คืออะไร และ 2) เหตุอันตราย คืออะไร ผมขอยกตัวอย่างกิจกรรม การโดยสารเรือนะครับ
อันตราย = โดยสารเรือ
เหตุอันตราย = พลัดตกน้ำ
อุบัติเหตุ = จมน้ำเสียชีวิต
ต่อมาที่ข้อ 2 “ป้องกันอย่างไร?” โดยคำตอบจะต้องเป็นการป้องกันไม่ให้ เหตุอันตราย เกิดขึ้น ซึ่งจากตัวอย่าง คือป้องกันไม่ให้พลัดตกน้ำ ผมขอใส่ตารางให้ดูง่ายขึ้น ดังนี้ครับ
ถึงตอนนี้ เราได้มาตรการป้องกันอุบัติเหตุมาแล้ว คิดว่าน่าเพียงพอหรือยังครับ คำตอบคือยังไม่พอครับ เราไปต่อกันที่ คำถามที่ 3 “บรรเทาอย่างไร?”
ข้อนี้ให้คิดแบบนี้ครับ ว่าถ้าการป้องกันเกิดผิดพลาด เหตุอันตราย ยังคงเกิดขึ้น ซึ่งก็มักจะเป็นแบบนั้น หลายครั้งที่บอกว่าป้องกันแล้ว แต่อุบัติเหตุก็ยังเกิด จึงต้องมีมาตรการรองรับอีกชั้นครับ มาตรการนี้จะต้องสามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้ เช่น จากเสียชีวิต เป็นไม่เสียชีวิต หรือจากเสียหายหมด เป็นเสียหายบางส่วน
ดังนั้นคำตอบของตัวอย่างนี้ คือ ให้ใส่เสื้อชูชีพ ใส่ลงไปในตารางได้
จะเห็นว่าคำตอบของข้อ 3 ต้องคิดเสมอว่า เหตุอันตรายนั้นเกิดขึ้นแล้วนะครับ ผู้โดยสารตกน้ำไปแล้ว ซึ่งมาตรการข้อ 3 จะตรงกันข้ามกับ ข้อ 2 ที่มุ่งเน้นการป้องกันไม่ให้ตกน้ำ และมาตรการข้อ 3 นี้ ต้องสามารถลดความรุนแรงของเหตุลงได้ บางครั้งถ้าหามาตรการที่จะลดความรุนแรงลงไม่ได้ ก็อาจต้องคิดถึง การชดเชย หรือ การทำประกันไว้ครับ
ในงานทั่วไป ไม่มีใครมาคิดละเอียดแบบนี้ใช่มั้ยครับ แต่ในงานความเสี่ยงสูง เขาต้องทำกันละเอียดกว่านี้มาก ทีนี้ลองนำตัวอย่างข้างบน มาลองทำแผนผัง หูกระต่าย กันครับ จะเห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น
จาก Step 1 จะเกิดอุบัติเหตุอะไร ได้แบบนี้ครับ
เหตุอันตรายใส่ไว้ตรงวงกลม ตรงกลาง ช่องด้านซ้ายสุดให้ใส่สาเหตุที่เป็นไปได้ ที่ทำให้เกิด เหตุอันตราย ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ ให้ทำเป็นแขนที่ 2, 3, 4 ... ลงไป เรื่อยๆ ส่วนช่องขวาสุด ให้ใส่เหตุการณ์ที่บานปลาย จากเหตุอันตรายเริ่มต้น กรณีตัวอย่างนี้ นอกจากจมน้ำเสียชีวิต ก็อาจจะมีสูญหาย เป็นต้น ก็สามารถต่อแขน ด้านขวาลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ในตัวอย่างนี้จะแสดง แขนเดียวทั้ง 2 ข้างก่อนนะครับ
จะเขียนโน๊ตแป๊ะไว้ที่จุดตรงกลาง ว่าเรากำลังคิดเรื่องการโดยสารเรืออยู่ ก็ได้ หรือไม่ใส่ก็ได้นะครับ อันนี้แล้วแต่สะดวก การใส่ไว้ช่วยให้ เวลาภาพถูกตัดไปใช้ที่อื่นต่อ จะได้ทราบว่า กราฟนี้คือเรื่องอะไร
ต่อมานำคำตอบในข้อ 2-3 ใส่ลงไป ระหว่างแขน 2 ข้าง เราจะได้ออกมาแบบนี้ครับ
จะเห็นว่าขีดขวางตรงปีกซ้าย คือ คำตอบข้อ 2 ป้องกันอย่างไร และของปีกขวา คือ คำตอบข้อ 3 จะบรรเทาอย่างไร? เราสามารถใส่เพิ่มได้ครับ จำนวนขีดก็จะซ้อนกัน มากขึ้น อุบัติเหตุที่เรายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้จริงๆ มาตรการที่ใส่ลงไป ทั้งป้องกัน และบรรเทาก็ควรต้องมีมากกว่า 1 ชั้น โดยต้องมีอย่างน้อย 1 มาตรการที่พิสูจน์ได้ว่า ป้องกันได้ผล
กลับมาที่ผัง ผมลองทำเพิ่มเติมให้ดู หน้าตาก็จะได้ประมาณนี้ครับ
เริ่มเป็นโบว์หูกระต่ายขึ้นมั้ยครับ ปีกด้านซ้าย ด้านขวาไม่จำเป็นต้องมีจำนวนเท่ากันนะครับ ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ พิจารณาให้เหมาะสมกับเหตุ บางเรื่องก็หนักไปทางซ้าย บางเรื่องก็หนักขวา แล้วแต่กรณี
ปัจจุบันมีผู้ผลิตเป็นซอฟแวร์ขาย ชื่อ BowTieXP หน้าตาที่ใช้งานกันจริงๆ ก็จะประมาณรูปข้างล่างนี้
จากเพจ cgerisk.com
ถามว่าถ้าไม่ใช้เทคนิคนี้ มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ มีเยอะครับ เช่น JSA, HAZID, What-if หรือ ทำตามมมาตรฐานสากลในเรื่องนั้นๆ ที่เขาเรียกว่า Safe Work Practices ทำตามกฎหมายนี่ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดแล้วนะครับ ไม่ทำไม่ได้ อันนี้เป็นอีกหนึ่งเทคนิค ที่ผมคิดว่าทำให้เห็นภาพในงานการป้องกันอุบัติเหตุ ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ
ก็หวังว่าเทคนิคที่นำมาแบ่งปันในวันนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ ให้ลดลงนะครับ
สวัสดีครับ
References:
https://www.cgerisk.com/knowledgebase/The_bowtie_method
HEMP (Hazard and Effects Management Process) by Shell E&P
https://slideplayer.com/slide/14384078/
บันทึก
1
5
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย