15 เม.ย. 2021 เวลา 01:00 • หนังสือ
จะเล่าให้ฟัง...เรื่องการวัดความสำเร็จของชีวิต
เคยคิดหรือไม่ ตัววัดความสำเร็จของชีวิตเรา คืออะไร
ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซน (Clayton Christensen) สุดยอดนักคิดในศตวรรษที่ 21 ท่านเคยแป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้คิดค้นทฤษฎี Disruptive innovation และเขียนหนังสือ The Innovator’s Dilemma หนึ่งในหนังสือที่เป็น HBR's 10 must read on innovation
1
Cr. https://marmelab.com
แนวคิดทฤษฏี Disruptive Innovation ท้าทายการทำธุรกิจรูปแบบเดิมๆ โดยเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นตัวสร้างความแตกต่าง เพื่อล้มล้างข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ปลาเล็กกินปลาใหญ่ได้ ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาโค่นเจ้าตลาดเดิมได้ จนถึงตอนนี้ ทฤษฎีที่ท่านคิดค้นออกมา ได้รับการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า และแนวโน้มก็ยังคงเป็นเช่นนั้น
1
ศาสตราจารย์ เคลย์ตัน พบเจอผู้คนมากมาย เขาเฝ้าดูเพื่อนร่วมชั้นในวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ดที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนเก่ง ฉลาด ร่ำรวยเงินทอง ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำธุรกิจ แต่เมื่อมองลึกๆลงไปในชีวิตพวกเขาเหล่านั้น กลับเจอสิ่งที่ตรงกันข้าม หลายคนหย่าร้าง ไม่มีความสุขกับชีวิตสมรส บางคนไม่พูดกับลูกหลาน หรือห่างเหินไม่เคยได้เจอกัน ทำไมคนเก่งที่แก้โจทย์ธุรกิจที่แสนจะซับซ้อนได้สำเร็จ แต่กลับล้มเหลวในการแก้ปัญหาชีวิตตัวเอง
1
ถ้าอย่างนั้น ความสำเร็จของชีวิต ควรจะถูกวัดด้วยอะไร ❓
ในชั้นเรียนของ ศาตราจารย์เคลย์ตัน นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีการจัดการที่ดี และที่มาที่ไปของทฤษฎีทั้งหลาย พวกเค้ายังจะได้พิจารณาองค์กรผ่านมุมมองหลายๆทฤษฎี จะได้เข้าใจภาพรวมขององค์กรนั้นๆ การตั้งคำถามที่ว่า อะไรเป็นสิ่งที่นำพาองค์กรเหล่านั้นมาถึงจุดๆนี้ และองค์กรควรเดินต่อไปอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
ในวันสุดท้ายของวิชา สิ่งที่นักศึกษาต้องทำคือ เชื่อมโยงทฤษฎีทางธุรกิจต่างๆที่เรียนมาทั้งเทอม กลับมาที่ตัวเอง มีคำถามสำคัญ 3 ข้อที่นักศึกษาต้องขบคิด
1. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะมีความสุขกับอาชีพการงาน
2. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ครอบครัว จะเป็นหลักแห่งความสุขในชีวิต
3. เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่จบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก
1
คำถามสามข้อที่เป็นเหมือน เข็มทิศในการเดินทาง ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตจริง🧭
คำถามข้อแรก เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราจะมีความสุขกับอาชีพการงาน คำถามนี้ถูกถามซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าและ เฟรเดอริค เฮิร์ชเบิร์ก (Frederick Herzberg) ก็ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้นเขาจึงลงมือศึกษาวิจัย และตีพิมพ์บทความใน Harvard Business Review เขาพบว่ามีปัจจัย 4 อย่างที่เป็นแรงจูงใจให้คนเราอยากทำงาน
2
1) การมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ (Opportunity to learn)
2) เมื่อเรามีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น (Grow in responsibilities)
3) การได้ทำเพื่อผู้อื่น (Contribute to others)
4) เมื่อผลงานเป็นที่ยอมรับ (Recognized for achievements)
1
ส่วนเงินนั้นเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยพิ้นฐานที่กระตุ้นให้คนเราทำงาน เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำให้มีเพื่อให้งานเดินต่อไปได้ แต่เงินไม่ใช่แรงจูงใจทั้งหมด💲💲
เมื่อศาสตราจารย์ เคลย์ตัน คริสเตนเซนเฝ้าดูเพื่อนร่วมชั้นในวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ด ที่ประสบปัญหา พวกเขาล้วนไม่มีความสุข คำถามคือ เขาวางแผนให้ชีวิตเป็นแบบนี้เหรอ ตรงกันข้าม ที่เป็นเช่นนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้วางแผน คนเหล่านี้ไม่ได้รักษาเป้าหมายในชีวิต บางคนตอบไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เป้าหมายในชีวิตคืออะไร เมื่อไม่มีเป้าหมาย เขาจะใช้ เวลา ความสามารถ และพลังงานให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร พวกเขาไม่เคยใช้เวลาในการค้นหาจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต
1
หากคนเรามีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร เราเกิดมาทำไม การทำงานและความสำเร็จจากการทำงาน เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่จะพาเราไปถึงเป้าหมาย ดังนั้นเมื่อเราไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร เราจึงใช้เวลาทั้งหมดไปกับทุกเรื่อง แทนที่จะเป็นครอบครัว เราเลือกที่จะทุ่มเทปัญญาและสรรพกำลังไปกับการทำงาน และมองข้ามสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเรา จนเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราเงยหน้าขึ้นมาอีกที กลับพบว่าไม่มีใครรอเราอยู่ตรงนั้นแล้ว
หัจใจสำคัญที่จะตอบว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ครอบครัว จะเป็นต้นทางแห่งความสุขในชีวิต ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เพื่อเราจะได้ใช้ เวลา ความสามารถ และพลังงานไปกับเรื่องนั้น👨‍👩‍👧‍👦
คนเก่งหลายๆคน มีจุดจบที่น่าเศร้า หนึ่งในนั้นคือ เจฟฟ์ สกิลลิง (Jeffrey Skilling) ซึ่งทำงานเป็นที่ปรึกษาของบริษัท McKinsey & Company ตอนที่เขาได้รับการทาบทามให้เข้ามาทำงานที่ Enron เพราะความเก่งและความสามารถ ทั้ง 2 เป็นเพื่อนที่เรียนจบจากวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ดด้วยกัน เจฟฟ์อยู่ในกลุ่ม top 5% ที่จบมาด้วยคะแนนสูงสุด จึงได้โอกาสในการทำงานที่ McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก และเป็นดาวรุ่งอนาคตไกล
เรื่องราวของ Enron เป็นข่าวอื้อฉาวและสร้างความเสียหายในวงกว้าง ผู้บริหารของ Enron หลายคนถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดการค้าภายในและการฉ้อโกงหลักทรัพย์ พนักงานกว่า 20,000 คนได้รับผลกระทบ รวมถึงครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้น
เจฟฟ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาหลายข้อหา เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 24 ปี 4 เดือน ถูกปรับ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ การแต่งงานครั้งแรกของเขาล้มเหลว ลูกชายคนเล็กเสียชีวิตในวัย 20 ปี เพราะเสพยาเกินขนาด เกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาหัวกะทิ นักธุรกิจอนาคตไกลอย่างเจฟฟ์ รวมถึงคนอื่นๆ ที่เราเห็นในข่าวตลอดเวลา
Jeffrey Skilling photo Cr. www.houstonchronicle.com
คำถามที่สาม เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่จบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก
เมื่อเรารู้จุดมุ่งหมายของชีวิต จิตสำนึกในตัวเราจะเป็นคนคอยเตือนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ฝ่าฝืนไม่ได้ การยอมแหกกฎ ยอมข้ามเส้น เพียงแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว จะนำมาซึ่งครั้งที่ 2 และ 3 และต่อๆไป ดังนั้นจงยึดมั่นและซื่อสัตย์ในหลักการณ์แบบเต็ม 100%
ศาตราจารย์เคลย์ตัน เสียชีวิตเมื่อต้นปี 2563 นับว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของวงการการศึกษาและธุรกิจ ก่อนที่จะจากไป ท่านได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ถามคำถามที่ยิ่งใหญ่ ชื่อ How will you measure your life? หนังสือแปลเป็นภาษาไทยชื่อ ปัญญาวิชาชีวิต โดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
1
Cr.www.adges.net
คำถามที่ท่านทิ้งเอาไว้ อ่านเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรยาก แต่เมื่อลองพิจารณาอย่างลึกซึ้ง คำตอบของคำถามแต่ละข้อจะเกี่ยวพันกัน ช่วยให้เราพยายามค้นหาความหมายของชีวิต ทำให้เรามีแผนที่นำทาง ไม่ไขว้เขว ออกนอกลู่นอกทาง คอยเตือนสติเราตลอดเวลาว่า ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย มีคนที่เรารักและใส่ใจ พวกเขาเหล่านั้นอาจจะกำลังรอ เวลา จากเรา ดังนั้นจงเลือกที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างขาญฉลาด
2
หากวันหนึ่งวันใดมีคนมาถามคุณว่า “ความสำเร็จในชีวิตคุณคืออะไร” คุณจะได้ตอบคำถามเหล่านั้นด้วยความภาคภูมิใจ❤
โฆษณา