15 เม.ย. 2021 เวลา 04:32 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Seaspiracy
ผู้กำกับ Ali Tabrizi
(TV-MA* / 1.29 ชั่วโมง)
*TV-MA เป็นเรทติ้งที่หมายถึงรายการสำหรับผู้ใหญ่ อาจไม่เหมาะกับผู้มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พอเทียบได้กับเรทติ้ง NC-17 ของภาพยนตร์
วันนี้ขอเกาะกระแสพูดถึงหนังในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหนังยอดฮิตอย่าง Netflix หน่อยครับ ขอเปิดด้วยคำแนะนำว่าอย่าดูเรื่องนี้ก่อนกินปลา 😅
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา (ต้นเดือนเมษายน 2021) หลายคนคงได้ยินข่าวมาบ้างเรื่องสารคดีเรื่อง Seaspiracy ที่รับชมได้ทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม จนกลายเป็นกระแสในเมืองไทยตั้งแต่เรื่องที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่พอใจที่ข้อมูลในสารคดีมีส่วนพาดพิงถึงเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทย จนถึงศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ออกมาชี้แจงว่าเป็นข้อมูลเก่าที่ทำการแก้ไขแล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้วสารคดีเรื่องนี้ตั้งแต่ Netflix ปล่อยออกมาให้ชมพร้อมกันทั่วโลก ก็ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริงของข้อมูลในหนังกันมากมายในหลายๆประเทศ ถือว่าได้สร้างกระแสร้อนแรงและแบ่งคนออกเป็นฝ่ายพอสมควร
1
Seaspiracy เป็นเรื่องของ Ali Tabrizi นักทำสารคดีชาวอังกฤษอายุ 27 ปีที่เริ่มต้นเล่าว่าตัวเขาหลงใหลเรื่องสิ่งมีชีวิตในทะเลและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก มีความฝันจะทำสารคดีว่าด้วยสิ่งมีชีวิตต่างๆและความมหัศจรรย์ของท้องทะเลเหมือนอย่างเหล่าผู้กำกับสารคดีคนเด่นๆที่เขาชื่นชอบมานาน วันหนึ่งเมื่อตัวเองพร้อมและมีโอกาส เลยได้ลงมือทำความฝันนั้นให้เป็นจริง แต่เมื่อเริ่มถ่ายฟุตเทจสำหรับสารคดีของเขาไปได้สักพักถึงค้นพบเรื่องที่ทำให้เขาตกใจและรู้สึกแย่มากอย่างข่าวของสัตว์ทะเลจำนวนมากมายที่เกยตื้นในที่ต่างๆโดยที่ในท้องเต็มไปด้วยพลาสติก เขาเลยเริ่มตั้งคำถามและพยายามตามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ค้นพบว่ามนุษย์ทำอะไรแย่ๆกับท้องทะเลบ้างจนมาเป็นสารคดีเรื่องนี้
ผมได้ดูสารคดีเรื่องนี้โดยไม่ได้รู้อะไรมาก่อนมากนัก รู้แค่ว่าเป็นสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เล่าว่าคนทำให้ท้องทะเลและชีวิตในนั้นแย่ลงอย่างไรขนาดไหน เมื่อเรื่องเริ่มต้นขึ้นด้วยการพูดถึงขยะพลาสติกมากมายที่นาย Tabrizi นี้เก็บได้จากการตัดสินใจออกไปเดินเก็บขยะบนชายหาดใกล้บ้านที่ประเทศอังกฤษ และต่อด้วยการตัดสินใจไปญี่ปุ่นเพื่อติดตามค้นหาความจริงเกี่ยวกับการที่ญี่ปุ่นกลับมาล่าวาฬเพื่อการค้าเมื่อปี 2018 ผมยังคิดว่าสารคดีนี้คงนำประเด็นพวกนี้ที่เคยอ่านเคยได้ยินอยู่บ้างมานานแล้วมาขยาย และไม่น่าจะมีอะไรใหม่มากนักนอกจากการนำเสนอสถิติหรือภาพที่น่ากลัวเพื่อสื่อสารถึงคนดูว่ามันแย่แค่ไหน
(Mild Spoiler Alert! - บทความที่อยู่ในช่วงเครื่องหมายข้างล่างต่อไปนี้จะเปิดเผยเรื่องราวของหนังพอสมควร หากต้องการดูหนังก่อนโดยไม่อยากรู้อะไร แนะนำให้ข้ามไป แต่เนื่องจากนี่เป็นสารคดี ถ้าผู้อ่านลองหาข้อมูลจากที่อื่นที่ใดก็คงพบเรื่องพวกนี้ได้ง่ายๆ)
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
ความคิดว่าสารคดีนี้น่าจะวนอยู่กับหัวข้อเดิมที่รู้อยู่แล้วได้เปลี่ยนไปเมื่อ Tabrizi ตามเรื่องการล่าวาฬ รวมถึงการฆ่าโลมาที่ดูไร้เหตุผลของญี่ปุ่นจนถึงทางตัน จึงเดินทางไปฮ่องกงเพื่อสำรวจเรื่องหูฉลามและการล่าปลาฉลามเพื่อนำครีบมาทำอาหาร และได้พบกับความจริงที่น่าตกใจว่า สิ่งที่ฆ่าปลาฉลามและสัตว์อื่นๆมากมายกว่าการล่าคือ”การจับสัตว์น้ำพลอยได้” (Bycatch) ของเรือประมงเชิงพาณิชย์ ซึ่งหมายถึงการที่สัตว์น้ำที่ไม่ได้ตั้งใจจะจับติดมากับอุปกรณ์จับปลา โดยปกติจะโยนสัตว์พวกนั้นทิ้งกลับไปในทะเล และเขาอ้างงานวิจัยว่า 40% ของสิ่งที่จับได้จะเป็น Bycatch ซึ่งส่วนมากจะตายก่อนที่มันจะได้สัมผัสทะเลอีกครั้งเสียอีก เลยมีข้อสรุปที่ว่าการเลิกกินหูฉลามเป็นการแก้ปัญหาเพียงเล็กน้อยนิดเดียว สิ่งที่เป็นปัญหามากพอกันหรืออาจจะมากกว่าคือการกินปลาต่างหาก! จากนั้นเรื่องจึงเข้าสู่การเปิดโปงเกี่ยวกับหัวข้อความเลวร้ายของการประมงเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ การจับปลามากเกินพอดี ความน่ากังขาของความหมายและวัตถุประสงค์ของสิ่งที่เรียกว่า “การประมงแบบยั่งยืน” (Sustainable Fishing) และเรื่องแย่ๆอื่นที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงปัจจุบัน ซึ่งนี่ต่างหากคือหัวใจหลักและจุดประสงค์ของสารคดีเรื่องนี้
อย่างที่บอกว่าผมดูสารคดีเรื่องนี้โดยไม่ได้รู้เรื่องนี้มาก่อน ซึ่งก็นับเป็นเรื่องดีเหมือนกัน เพราะถ้ามีคนบอกว่านี่เป็นสารคดีโปรวีแกนที่มีบทสรุปคือจงเลิกหรือลดการกินปลาลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ผมอาจจะไม่ได้ดู และมันคงมีส่วนเป็นเช่นนั้นจริงๆอยู่ เพราะ Kip Andersen ผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญของเรื่องนี้เคยมีผลงานโจมตีอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มาก่อนซึ่งผมก็ยังไม่เคยได้ดู เช่นเรื่อง Cowspiracy ที่ดูแค่ชื่อเรื่องก็รู้แล้วว่าเป็นสารคดียี่ห้อเดียวกัน (ผมไม่ได้ต่อต้านวีแกนนะครับ และรู้สึกสนับสนุนและชื่นชมคนที่ทำได้ เพียงแต่ตัวเองชอบทานเนื้อสัตว์และคิดว่าคงไม่สามารถเลิกได้จริงๆ)
เมื่อดูหนังเรื่องนี้จบ ผมรู้สึกช็อคและเครียดพอสมควรกับบทสรุปที่หนังได้เสนอทางออกให้กับปัญหาใหญ่ยักษ์ที่เกิดขึ้นและผมไม่ได้รู้เรื่องมากนักมาก่อน เชื่อว่าน่าจะมีคนไม่น้อยที่ได้ดูหนังแล้วก็อินกับหนังจนถึงขนาดเลิกกินปลาไปเลย แต่เมื่อลองคิดดูดีๆสิ่งสำคัญของหนังสารคดีแบบนี้คือข้อมูลทั้งข้อเท็จจริง งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และคำพูดของบรรดาผู้คนทั้งที่ให้สัมภาษณ์ในหนัง และอีกหลายๆคนที่ผู้ทำหนังถือกล้องเดินเข้าไปถ่ายและถามคำถามพุ่งเป้าที่ก้ำกึ่งระหว่างการหาคำตอบให้กับคำถามในใจหรือการโจมตีความน่าเชื่อถือของบุคคลและผู้ประกอบการเหล่านั้น
อย่างที่เกริ่นไปว่าในส่วนข้อมูลที่ผู้สร้างยกมาเล่าในหนังเรื่องนี้ ก่อให้เกิดกระแสการถกเถียงกันทั่วโลก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับหนังชี้ว่าข้อมูลหลายจุดเป็นข้อมูลเก่าที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว บางสิ่งก็เป็นการอ้างงานวิจัยที่เขียนขึ้นมานานแล้วลอยๆโดยไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ หรือเลือกเฉพาะสิ่งที่สนับสนุนประเด็นของผู้สร้างมาเล่า หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า cherry-picking ส่วนหลายคนที่ในหนังบุกไปสัมภาษณ์ แล้วนำเสนอในแบบทำให้ดูแย่ ก็อ้างว่าผู้สร้างมีความตั้งใจจะทำลายความน่าเชื่อถือของพวกเขาโดยใช้วิธีเลือกตัดต่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายออกมาตรงกับใจตัวเอง และดึงออกมานอกบริบท (out of context)
ส่วนผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่านี่เป็นสารคดีที่ชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่ยักษ์จริงๆที่ไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร และถึงแม้อาจต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือคำกล่าวอ้างหลายๆอย่าง แต่ประเด็นหลักที่หนังนำเสนอว่าในขณะที่ผู้คนในยุคสมัยของเราเริ่มตื่นตัวอย่างมากเรื่องการลดใช้พลาสติก การรักษาธรรมชาติ ฯลฯ น้อยคนนักจะได้รับรู้ถึงสิ่งที่น่าจะร้ายแรงกว่าอย่างปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการประมงเชิงพาณิชย์ที่ถึงบางอย่างอาจเริ่มได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญอยู่
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
สำหรับข้อมูลตัวเลข หรือข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆที่หนังกล่าวถึง รวมถึงข้อถกเถียงทั้งที่สนับสนุนหรือตำหนิข้อมูลของหนัง ผมคงไม่นำมาพูดถึงมากนักเพราะตัวเองไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้ และไม่ได้สนใจจะเขียนไปในทางนั้น นอกจากจะหาข้อถกเถียงมาให้ผู้อ่านที่สนใจได้ลองอ่านดูสักเล็กน้อยในตอนท้าย ให้ทุกท่านที่อยากรู้ได้รับชมกันเอาเองในหนังดีกว่า ถ้าขี้เกียจดูหนังหรืออยากต่อยอดหาข้อเท็จจริงโดยละเอียดก็สามารถลองค้นหาได้ในเพจหรือบทความอื่นๆทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สิ่งที่อยากจะพูดถึงมากกว่าคือสารคดีนี้ในแง่มุมของความเป็นหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง
จากการค้นหาข้อมูลหลังได้ดูหนังและเจอเพจที่คนถกเถียงกัน มีข้อความตอบกลับที่สะดุดตาของผมประมาณว่า ”ในฐานะที่เป็นสารคดี ไม่ใช่หนังเพื่อความบันเทิง สอบตกนะ” ผมเลยอยากจะมาชวนทุกคนคิดว่าความหมายของหนังสารคดีในโลกปัจจุบันนี้คืออะไรกันแน่
ถ้าผู้อ่านท่านใดอายุพอๆกับผม โตมากับยุคของกระจกหกด้าน คงจะมีภาพจำสารคดีตอนเด็กๆว่าคือรายการให้ความรู้ที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างน่าเบื่อ เล่าเรื่องด้วยภาพและคำบรรยายไปเรื่อยๆเรียบๆไม่มีลูกเล่นอะไร หรืออาจมีบางเรื่องที่มีจุดขายเป็นภาพสวยงามหรือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ สิ่งมีชีวิต ทิวทัศน์หรือสิ่งก่อสร้างสวยงาม ยิ่งใหญ่ หรือแปลกประหลาดต่างๆ สร้างความประทับใจกับคนดู เรื่องที่เล่าในสารคดีก็จะเน้นข้อเท็จจริง แทบไม่มีความคิด อคติ หรือการเลือกข้างของผู้สร้าง
แต่ความหมายและภาพจำของสารคดีน่าจะเริ่มเปลี่ยนไปครั้งสำคัญพร้อมๆการมาถึงและประสบความสำเร็จของ Michael Moore นักสร้างหนังชาวอเมริกันบ้าพลังกับสารคดีต่อต้านอาวุธปืนอย่าง Bowling for Columbine (2002) ที่กลายเป็นสารคดีเรื่องแรกในรอบ 46 ปีที่ได้ฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลใหญ่อย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ และตอนฉายก็ได้รับการยืนปรบมือจากผู้ชมยาวนาน 13 นาที Moore ทำสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่ชัดเจนมากว่าต้องการแสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายของกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนในอเมริกา เขาทั้งเล่าเรื่อง ทั้งบุกสัมภาษณ์แบบโจมตีบุคคลต่างๆไม่ไว้หน้า โดยเฉพาะฉากท้ายๆที่เขาบุกไปสัมภาษณ์ดาราฮอลลีวูดชื่อดังอย่าง Charlton Heston โดยมีเป้าหมายไปในทางลบต่อตัวผู้ถูกสัมภาษณ์ชัดเจนไม่เป็นกลาง และเมื่อหนังได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมจากออสการ์ในปีนั้น Moore ที่ขึ้นไปรับรางวัลก็สร้างความฮือฮาขึ้นไปอีกจนเป็นภาพความทรงจำของใครหลายคนในประวัติศาสตร์ออสการ์เมื่อเขาพูดปิดท้ายสปีชรับรางวัลด้วยการกล่าวต่อว่า George W. Bush ประธานาธิบดีอเมริกา ณ ขณะนั้นอย่างชัดถ้อยชัดคำและตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม (“Shame on you, Mr. Bush, shame on you. And any time you got the Pope and the Dixie Chicks against you, your time is up. Thank you very much.”) เรียกทั้งเสียงปรบมือและเสียงโห่ไม่พอใจของผู้เข้าร่วมพิธีที่แบ่งเป็นสองฝ่ายดังขึ้นพร้อมๆกัน แถมสารคดีเรื่องต่อมาของเขาอย่าง Fahrenheit 9/11 (2004) ที่พุ่งเป้าโจมตี Bush ชัดเจน และสร้างประวัติศาสตร์มากมายที่นอกจากคราวนี้จะเข้าชิงรางวัลเดิมที่เทศกาลหนังเมืองคานส์แล้ว ยังคว้ารางวัลใหญ่สุดนั้นไปได้ด้วย พร้อมได้รับการยืนปรบมือที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของเทศกาล (ได้ข้อสรุปที่ยังคงถกเถียงกันไม่แน่ชัดว่านานเท่าไหร่ ผู้ร่วมงานรายงานไว้ตั้งแต่ราว 15-25 นาที) และเปิดตัวในอเมริกาพร้อมฐานะสารคดีเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่เปิดตัวอันดับหนึ่งใน Box Office และเป็นสารคดีเรื่องแรกที่ทำรายได้ในอเมริกาผ่าน 100 ล้านเหรียญ
ตั้งแต่วันที่ Michael Moore เข้ามาอยู่ในสายตาของคอหนังทั่วโลก ภาพจำของหนังสารคดีก็เปลี่ยนไปไม่น้อย เพราะนอกจากหนังของเขาจะเลือกข้างชัดเจน พยายามชักนำคนดูให้มีความคิดทางการเมืองไปทางฝ่ายที่ตนสนับสนุนทั้งเรื่องแล้ว มันยังสนุกมากๆด้วย เสียงบรรยายในหนังของเขาไม่ใช่เสียงราบเรียบหรือฟังเพลินลื่นหูเหมือนภาพจำสารคดียุคก่อน แต่กลับเป็นคำบรรยายเต็มไปด้วยอารมณ์เยาะเย้ย ถากถาง พร้อมเนื้อหามุ่งทำลายความเชื่อถือของฝ่ายตรงกันข้าม เปิดประเด็นการสนทนาของคอหนัง นักวิชาการ นักกฎหมาย รวมไปถึงคนทั่วไปที่ได้ติดตามเรื่องในขณะนั้นอย่างกว้างขวาง จนมาทุกวันนี้เราดูสารคดีไม่ใช่เพื่อความบันเทิงจริงๆหรือ บนแพลตฟอร์มของ Netflix ก็มีสารคดีให้เลือกชมอยู่มากมาย ผมยังไม่ได้ดูหลายเรื่องนัก แต่เนื่องจากได้ติดตามข่าวอยู่เสมอก็ทราบว่าคนที่ชอบดูสารคดีเหล่านั้นส่วนใหญ่เพราะมันสนุก มันได้อึ้งทึ่งไปกับเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องถึงกับมีการหักมุมเป็นปมให้คนดูช็อคเหมือนภาพยนตร์จากเรื่องแต่งเลยก็ว่าได้
กลับมาสรุปเรื่อง Seaspiracy ในแง่ที่ว่า สำหรับผมแล้วคนทำหนังเรื่องนี้สอบผ่านในการใช้ภาพยนตร์เป็นอาวุธต่อสู้กับสิ่งที่คนทำหนังถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม และเป็นเครื่องมือในการประกาศความคิดของตัวเองให้แพร่หลาย โน้มน้าวจิตใจคนดูให้เชื่อในเรื่องที่ผู้สร้างพยายามจะเล่า โดยการใช้ลูกเล่นของภาพยนตร์ในการเขียนบท ตัดต่อ และนำเสนอออกมาอย่างเร้าอารมณ์และน่าติดตาม ส่งผลกระทบกับความรู้สึกความคิดของคนที่ได้ดูและก่อให้เกิดการโต้เถียงกันบนพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้คนที่สงสัยในความจริงไปศึกษาต่อได้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการเปิดประเด็นที่เคยเป็นเรื่องที่รู้หรือถกเถียงกันแค่ในหมู่คนที่อยู่ในวงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กว้างขึ้นอยู่มาก
คะแนน 8/10
—————————————————————————
สำหรับคนที่ดูแล้วอยากค้นคว้าต่อ ขอยกตัวอย่างเรื่องที่พูดถึงในหนังและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาให้เล็กน้อย
- ในหนังระบุว่าถ้าการทำประมงยังคงเป็นไปในลักษณะปัจจุบัน เราจะพบว่ามหาสมุทรในโลกนี้จะแทบไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่เลยในปี 2048 - เรื่องนี้เริ่มมาจากการวิจัยในปี 2006 และคำกล่าวอ้างของหนังก็อ้างถึงบทความจากหนังสือพิมพ์ New York Times ในช่วงนั้น ตั้งแต่ที่ตีพิมพ์งานวิจัยดังกล่าวก็ได้รับข้อโต้แย้งอยู่พอสมควรว่าไม่น่าเชื่อถือ โดยอาศัยการคำนวณข้อมูลที่น่าจะเกินความจริงจากข้อมูลดิบที่ไม่ได้มีให้ใช้มากเพียงพอ และปัจจุบันนี้ผู้วิจัยก็คิดว่างานวิจัยนั้นไม่น่าจะแม่นยำเท่าไหร่แล้ว เขากล่าวว่ามันคืองานวิจัยเมื่อ 15 ปีที่แล้วที่ใช้ข้อมูลซึ่งส่วนใหญ่ในตอนนี้มีอายุราว 20 ปีแล้ว ตั้งแต่วันนั้นได้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมายเพื่อแก้ไขความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจากการประมงเชิงพาณิชย์
- ข้อเท็จจริงที่อ้างว่าในแพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ราว 46% ของขยะคือพวกแหหรืออุปกรณ์จับปลา ทำให้มันส่งผลร้ายมากกว่าหลอดพลาสติกอยู่มากมาย - การศึกษาพบว่าเป็นตัวเลขที่น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่เป็นเรื่องที่ต้องการบริบท คือ อุปกรณ์จับปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีขนาดใหญ่และหนา ใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าขยะพลาสติกทั่วไปอยู่มาก ในขณะที่ขยะจำพวกหลอดหรือถุงพลาสติกจะย่อยสลายและจมลงสู่พื้นใต้ทะเลเร็วกว่า (ซึ่งขยะที่ย่อยสลายก็จะกลายเป็นอยู่ในรูปของไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมอยู่ดี)
- ประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่ถูกอ้างอิงถึงเกี่ยวกับแรงงานทาส แรงงานผิดกฎหมายในเรือประมง เท่าที่ศึกษาดูก็น่าจะเป็นจริงตามที่ทางการไทยออกมาชี้แจงว่าได้ทำการแก้ไขไปแล้วไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated fishing — IUU) หลังจากประเทศไทยถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2015 ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะถูกระงับการนำสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป และทางการอ้างว่าได้แก้ไขจนสำเร็จในปี 2019 ซึ่งมีหลักฐานประกอบคือไทยพ้นจากใบเหลืองของ IUU ขั้นเลวร้ายขึ้นมาเป็นใบเขียวคือปกติ และพ้นจากบัญชีค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายขึ้นมาอยู่ใน Tier 2 ในปี 2019 นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีผู้จับผิดช่วงในหนังที่อ้างถึงประเทศไทยและมีการสัมภาษณ์คนผู้ไม่เปิดเผยตัวตน 2-3 คนที่อ้างว่าเคยเป็นแรงงานทาสอยู่ในเรือประมงมาก่อนว่าน่าสงสัยว่าเคยเป็นจริงหรือไม่ ช่วงไหน เพราะแรงงานเถื่อนในเรือประมงไทยแทบจะทั้งหมดเป็นชาวต่างด้าวอย่างกัมพูชา พม่า จะมีคนไทยก็มักจะอยู่ในตำแหน่งกัปตันเรือ ช่างเครื่อง หรือไต้ก๋งเรือ แถมคนที่ให้สัมภาษณ์ในหนังยังพูดภาษาไทยกลางชัดเจนและใช้คำพูดด้วยภาษาที่ไม่น่าจะเป็นภาษาของคนระดับที่เป็นแรงงานทาสพูดจริง แต่พูดจากสคริปต์ที่มีคนเตรียมไว้ให้มากกว่า
—————————————————————————
- ใครสนใจศึกษาแง่มุมที่แย้งจากตัวหนังเพิ่มเติม ผมได้อ่านบทความที่น่าสนใจจากเพจ ReReef และสามารถอ่านบทความเต็มที่เขียนโดย ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่ผ่านการทำงานกับองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่ง รวมถึงได้แนะนำสารคดีที่เรื่องอื่นที่เจาะลึกประเด็นใน Seaspiracy ที่ผู้เขียนคิดว่าดีกว่าไว้ในช่วงท้ายบทความ
- หลังจากได้ดูคิดว่าที่ Seaspiracy ได้เรทติ้ง TV-MA ซึ่งดูค่อนข้างรุนแรง คงเพราะภาพเหตุการณ์การล่าวาฬและโลมาในช่วงต้นในญี่ปุ่น และโดยเฉพาะช่วงท้ายในหมู่เกาะแฟโรซึ่งดูค่อนข้างจะโหดร้ายรุนแรง เลยไม่แนะนำให้รับชมพร้อมเยาวชนอายุน้อยนะครับ
- สำหรับใครสนใจสารคดีสนุกๆ เหวอๆรับชมได้ทาง Netflix ขอแนะนำคลิปที่ น้องต่อ คันฉัตร อาจารย์พิเศษทางภาพยนตร์ และนักเขียน-นักแปลอิสระ ไปแนะนำไว้ 5 เรื่องในรายการ The Best Show ของ Netflix Thailand ได้ที่นี่ครับ
#เดี๋ยวรู้เรื่อง #Seaspiracy #NetflixThailand
โฆษณา