16 เม.ย. 2021 เวลา 06:36
การตานตุง การถวายตุง(ธง) ในประเพณีสงกรานต์ล้านนาหรือประเวณีปี๋ใหม่เมือง
ตุงช่อมงคล และตุงสงกรานต์
มานุษยวิทยาวัฒนธรรม(Anthopology culture)กำหนดกฏของสังคมด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อ
อาณาจักรล้านนาดั้งเดิม มีการเคารพถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปด้วยการไหว้ผี ผีในที่นี้มีความหมายถึงบรรพบุรุษ รวมทั้งหมู่ญาติที่ล่วงลับไป  พิธีกรรมเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความกตัญญูและความเคารพต่อบรรพชน บรรพบุรุษทั้งหลาย
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในอาณาจักรล้านนา การรำลึกถึงบรรพบุรุษเปลี่ยนเป็นการทำบุญ ถวายต่อพระรัตนตรัย และอุทิศบุญให้กับบรรพบุรุษ
วัดไร่ศิลาทอง ลำปาง
เพื่อแสดงถึงความเคารพ ความกตัญญู ต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 
หมู่ญาติทั้งหลายอันหมายถึง ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่พี่น้อง ในบางครั้งรวมเรียกว่าทิศหก
วัดสบตุ๋ย ลำปาง
การทำบุญ มีการทำบุญด้วยอาหารหวานคาว การถวายทราย การก่อกองทรายขึ้นเป็นห้าชั้น ผู้รู้บอกว่าหมายถึงพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้
มืิ่อนำทรายเข้าวัด ทางวัดสานไม้ไผ่เป็นห้าชั้นลดหลั่นลงไปคลายรูปทรงเจดีย์ เมื่อเททรายลงไป ทรายจะอัดแน่นเป็นรูปทรงเจดีย์ จากนั้นจึงเอาตุงสิบสองราศี ตุงช่อ ตุงรูปคนมาปักเรียงราย บูชาพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์
วัดไร่ศิลาทอง
เรื่องของตุง หรือธง มีปรากฏในพระไตรปิฎก
ในธชัคคสูตร ที่กล่าวถึง การสู้รบระหว่างเทวดาชั้นดาวดึงส์ และอสูร ท้าวสักกะสั่งให้เทวดามองดูธงของพระองค์เพื่อเป็นกำลังใจในการสู้รบ
แต่พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า ธงของพระองค์หมายถึงธงที่มีชัยชนะเหนือกิเลสทั้งมวลเป็นธงที่ออกจากความทุกข์นำไป
สู่ความสุขนิรันดร์
การเททรายเพื่อก่อเจดีย์ทราย วัดไร่ศิลาทอง ลำปาง
ในธชทายกเถราปทาน ได้กล่าวถึงพระธชทายกเถระที่ได้นำธงไปปักต้นโพธิ์ตรัสรู้ธรรมของพระปทุมุตระพุทธเจ้าและเก็บใบโพธิ์แห้งที่ตกลงใต้ต้นไม้ไปทิ้ง
ด้วยอานิสงส์นี้ ทำให้ได้เสวยผลบุญไปเกิดในเทวโลก ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองรัตนะทั้งเจ็ด และในชาติสุดท้ายเป็นพระอรหันต์ที่บรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าได้เสวยสุขนิรันดร์
สรุป:
การตานตุงในประเพณีปีใหม่ล้านนา มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว สมาชิกชุมชน  และองค์กรวัด เป็นศูนย์รวมของชุมชนที่ก่อให้เกิดความสามัคคี ความผูกพัน ความกตัญญู ความเคารพและ ความศรัทธาในพระรัตนตรัย
ถือเป็นการสืบสานอายุพระพุทธศาสนาที่แทรกอย่างแนบเนียนละมุนละไม  ยืนยาวมานับพันปี
เป็นกฎเกณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรมประเพณีที่ทำให้สังคมเป็นสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณี วัฒนธรรมชาวพุทธ
คำสำคัญ: ตุง   การตานตุง  ประเวณีปีใหม่เมือง
อ้างอิง:
พระไตรปิฎก เล่มที่15  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 7 สังยุตตนิกาย สคาถวรรค  เรื่อง ธชัคคสูตรที่ 3
พระไตรปิฎก เล่มที่ 32 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 24 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 เรื่องธชทายกเถราปทานที่ 8
โฆษณา