16 เม.ย. 2021 เวลา 08:25 • การเมือง
รัฐสวัสดิการ vs สวัสดิการรัฐ ต่างกันอย่างไร? และประเทศไทยเราใช้แบบไหนกันนะ
รัฐสวัสดิการ (Welfare state)
รัฐหรือประเทศที่มีการจัดระบบสวัสดิการสังคมอย่างถ้วนหน้าทั่วทุกด้าน ให้แก่ทุกคนในสังคม (Welfare for all) โดยที่สวัสดิการต่างๆจะมาจากรัฐดำเนินการให้ ซึ่งมีลักษณะที่เด่นชัด 3 ประการด้วยกันคือ
1.รัฐจะประกันรายได้ขั้นต่ำของทุกคนในสังคม โดยไม่คำนึงถึงว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร มีรายได้เท่าไหร่
2.สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับทุกคน ทุกครัวเรือน มีหลักประกันทางรายได้และพร้อมสนับสนุนหากเกิดภาวะวิกฤติ
3.พลเมืองทุกคนได้รับบริการสังคมถ้วนหน้า (Social service) ย้ำว่าทุกคน ไม่มีการแบ่งประเภทใดๆทั้งสิ้น
ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และเยอรมนี โดยส่วนใหญ่เป็นแถบยุโรปและเป็นประเทศอันดับต้นๆที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการจัดอันดับในหลายๆเว็บไซต์ โดยมีหัวใจสำคัญของรัฐสวัสดิการคือ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน”
แต่ก็ยังคงมีข้อถกเถียงกันถึงข้อเสียของผลการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ ดังนี้
1.มีอัตราการว่างงานของประเทศรัฐสวัสดิการในระดับที่สูง หมายความว่า ประชาชนได้ให้ความไว้วางใจแก่รัฐในการช่วยเหลือสวัสดิการขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับเร่งทำงาน เพราะก็มีรัฐคอยสนับสนุนอยู่แล้ว อีกประการคือ มีโปรแกรมประกันการว่างงานเลยเปิดโอกาสให้ผู้ว่างงานไม่ต้องรับร้อนหางานทำ เพราะมีเวลาเลือกงานที่ใช่ได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีรัฐสนับสนุนอย่างนี้แล้ว ประชาชนจึงไม่ต้องรับเร่งหางาน จึงทำให้ประชาชนเกิดความเกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น
.
2.เงินออมของรัฐและประชาชนอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือรัฐมีการจัดเก็บภาษีที่สูงเพื่อเอาไปเข้ากับนโยบายรัฐสวัสดิการ ทำให้ศักยภาพการออมของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ เพราะนำไปเสียภาษีเป็นส่วนใหญ่ และภาษีในประเทศแถบยุโรปนั้น อย่างที่รู้ๆกันดีว่ามีอัตราการเก็บภาษีที่ค่อนข้างสูงเพื่อแลกกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและเท่าเทียมทั่วถึง รัฐได้ทำการจัดสรรสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ดังนั้นประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องอดออมเพื่อขอใช้บริการพื้นฐานอื่นๆนั่นเอง
สวัสดิการโดยรัฐ (State welfare, public welfare)
หากมองเป็นวงกว้างๆอาจจะเหมือนกับรัฐสวัสดิการไม่มีผิด แต่ถ้ามองดี มองให้ลึกเราจะพบกับระบบคัดเลือกจากนโยบายนี้ กล่าวคือรัฐจะเลือกจัดสรรสวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่มีความลำบากมากกว่าคนกลุ่มอื่น เน้นเฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่มๆไป เช่นความยากจน กลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เน้นการช่วยเหลือแบบบรรเทาทุกข์กับผู้มีรายได้น้อยด้วยบริการขั้นพื้นฐาน ส่วนผู้ที่มีรายได้ดีส่วนใหญ่ มักจะออมเงินเพื่อไปลงทุนรับสวัสดิการที่ดีจากภาคเอกชนแทน ซึ่งแน่นอนว่าภาคเอกชนจัดการได้ดีกว่าที่รัฐจัดสรรให้แน่นอน สิ่งเหล่านี้เองจึงสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมเป็นอย่างมากทั้งด้านของคุณภาพชีวิต การแข่งขันทางตลาด และโอกาสต่างๆในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งหลายคนก็น่าจะเดากันได้เลยว่าประเทศไทยจัดอยู่ในรูปแบบใด
มีหลายคนให้ความเห็นไว้ถึงความสงสัยว่า สาเหตุที่ประเทศไทยไม่สามารถเป็นรัฐสวัสดิการได้ แม้ว่าเป้าหมายหลักของรัฐบาลคือต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ประการแรกเลยคือ เสียงของประชาชนไร้พลัง ไม่ดังมากพอ การตัดสินใจทางการเมืองในปัจจุบันยังคงขึ้นอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเดียวหรือกลุ่มผู้มีอำนาจ ที่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ประการที่สอง คือ การเสียภาษีของประชาชนถูกแตกออกเป็นหลายเสียง เนื่องจากประชาชนในประเทศมีรายได้ไม่เท่ากัน หากจะเก็บภาษีในอัตราที่สูงนั้นยังคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของประชาชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ และประชาชนเริ่มหมดความเลื่อมใสในการจัดการของรัฐ จึงมีคำพูดมากมายในสังคมว่า “หากจ่ายภาษีในราคาที่สูง แต่ถ้ารัฐบริหารจัดการไม่เป็นก็ย่อมเสียเงินเปล่า” กล่าวคือ บริการขั้นพื้นฐานในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ต่อการใช้สอยของผู้คนในสังคม ง่ายๆคือ ภาคประชาชนไม่ไว้ใจรัฐ รัฐไม่มีฐานเงินทุนเพียงพอที่จะบริหารจัดการบริการขั้นพื้นฐานให้ประชาชน
ประการที่สาม ประชาชนยังคงไม่เข้าใจถึงความเป็นรัฐสวัสดิการที่แท้จริง “คนไทยชอบของฟรี แต่ไม่ชอบจ่ายภาษีให้กับรัฐ”
แต่อย่างที่หลายคนเห็นในปัจจุบันและเรียกร้องกันเรื่อยมา คือการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่รัฐใช้จ่าย และหลายคนก็คงทราบถึงงบประมาณบางส่วนที่ทำให้ภาคประชาชนสงสัยถึงการลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ ว่านำไปใช้กับกระทรวงมหาดไทยหรืองบประมาณทหารมากกว่าจัดสรรบริการพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างมั่นคง ทั้งนี้ คนในสังคมส่วนใหญ่ยังคงมองว่ารัฐใช้อำนาจที่เหนือกว่าประชาชนอยู่มาก มีการจัดสินใจโดยคนกลุ่มเดียว และเสียงของประชาชนยังคงได้รับการเพิกเฉยอยู่ เราจึงต้องจับตามองรัฐต่อไปว่า ประเทศไทยจะสามารถเป็นระบบรัฐสวัสดิการในอนาคตได้หรือไม่ และต้องเริ่มจากอะไร คุณผู้อ่านล่ะ มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสังคมวิทยา โดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีการอ้างอิงผู้เขียนเรื่องรัฐสวัสดิการ จาก ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และ กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ รวมไปถึงบทความงานเขียนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
อย่าลิมกดไลค์ กดแชร์ หรือแสดงความคิดเห็นมาได้นะบุ๋ง บุ๋งจะรออ่าน
โฆษณา