16 เม.ย. 2021 เวลา 12:16 • สิ่งแวดล้อม
เคยสงสัยไหมว่า ใน 1 วันเราใช้น้ำกันไปกี่ลิตร?!
วันนี้ little big green จะพาเพื่อน ๆ ไปตามดูกันว่า เราใช้น้ำไปกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่เรามองเห็นหรือที่มองไม่เห็น
ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน นอกจากอากาศที่เราหายใจเข้า-ออกแล้ว ยังมีน้ำที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
เรารู้กันว่าบนโลกมีน้ำประมาณ 80% อาจจะฟังดูเยอะ แต่เรามีน้ำจืดแค่ไม่ถึง 3% แถมอยู่ในรูปของน้ำแข็งไปแล้วตั้ง 70%
สรุปแล้ว เรามีน้ำจืดที่ใช้ได้แค่ไม่ถึง 1% ของน้ำบนโลก!
เคยได้ยินไหมว่า “น้ำเป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด นำกลับมาใช้ใหม่ได้” ซึ่งก็จริงในส่วนที่ว่า น้ำหมุนเวียนกลับมาเป็นน้ำได้ แต่น้ำที่ถูกใช้แล้วจะไม่ได้กลับมาใสสะอาดเหมือนตอนแรกเสมอไป
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เราดื่มน้ำเข้าไป น้ำที่เราขับออกมาอยู่ในรูปของทั้งเหงื่อและปัสสาวะ ซึ่งเราก็ไม่สามารถที่จะดื่มมันกลับเข้าไปได้ เพราะมันเป็นของเสียที่ร่างกายเราขับออกมา เช่นเดียวกันกับการใช้น้ำในโรงงาน เมื่อใช้น้ำเสร็จแล้ว ก็ต้องบำบัดก่อนที่จะปล่อยสู่แหล่งน้ำหรือนำกลับไปใช้ใหม่
ถ้าอย่างนั้นแล้ว วัน ๆ หนึ่ง เราใช้น้ำกันไปกับอะไรบ้างนะ?
การที่เราจะติดตามได้ เราต้องมาทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “Water Footprint” หรือรอยเท้าการใช้น้ำกันเสียก่อน
Water Footprint คืออะไร?
Water Footprint คือ ปริมาณของน้ำที่เราใช้กัน ไม่ว่าจะจาก
- Direct Water Use คือที่เราเห็นกันชัด ๆ ว่าเราใช้น้ำไป เช่น การอาบน้ำ ดื่มน้ำ ซักผ้า หรือ
- Indirect Water Use (หรือ Virtual Water Use หรือ Hidden Water Use) คือน้ำที่ใช้ไปในการผลิตสิ่งของที่เรานำมาบริโภค เช่น ในบทความก่อนหน้า ที่เราได้พูดถึงการผลิตขวดน้ำ 1 ลิตร ว่านอกจาก Direct Water Use คือน้ำที่บรรจุมาในขวด 1 ลิตรแล้ว ยังมี Indirect Water Use ที่เป็นน้ำในการผลิตขวดพลาสติกอีก 3 ลิตรด้วย
Water Footprint มีกี่ประเภท?
Water Footprint ยังแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- Blue Water Footprint คือ ปริมาณน้ำจากน้ำผิวดิน (และใต้ดิน) เช่น บึง น้ำใต้บาดาล Direct Water Use มักจะเป็นจากส่วนนี้
- Green Water Footprint คือ ปริมาณน้ำจากน้ำฝนที่สะสมเป็นความชื้นในดิน ส่วนมากจะใช้ไปกับการปลูกพืชพันธุ์
- Gray Water Footprint คือ ปริมาณน้ำที่ต้องใช้บำบัดน้ำเสียเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ คือยิ่งใช้น้ำจำนวนนี้มาก หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการเกิดน้ำเสียมากนั่นเอง
ตัวอย่าง Water Footprint ของสิ่งของที่เราใช้กัน (อ้างอิงจาก The Land and water footprints of everyday products และ World Average)
- Smartphone 1 เครื่อง ใช้น้ำในการผลิต 12770 ลิตร มี Blue, Green และ Gray Water Footprint เท่ากับ 1,460 ลิตร, 3720 ลิตร, 7590 ลิตร (Gray เยอะ เพราะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการบำบัดน้ำเสียเยอะมากตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ) หรือถ้าเราใช้เป็นเวลา 2 ปีจะเท่ากับใช้น้ำวันละ 17.5 ลิตร ยิ่งใช้นานก็ยิ่งใช้น้ำต่อวันน้อยลงไปอีก
- เสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว ใช้น้ำไป 2787-3034 ลิตร โดยมี Blue, Green และ Gray Water Footprint เท่ากับ 1,100 ลิตร, 2,000 ลิตร and 800 ลิตร (สังเกตได้ว่า Green เยอะเพราะ เป็นน้ำจากการเพาะปลูก)
- เนื้อวัว 1 กิโล ใช้น้ำ 15,500 ลิตร, เนื้อหมูใช้น้ำ 4,800 ลิตร, เนื้อไก่ใช้น้ำ 3,900 ลิตร ส่วนต่างมาจากการใช้น้ำเพื่อเลี้ยงพืชเพื่อทำอาหารสัตว์เป็นหลัก เนื่องจากต้องใช้อาหารจำนวนมากต่อน้ำหนักตัวของวัว
ท้ายนี้จะบอกให้เราบริโภคแต่น้ำเปล่าก็คงไม่ได้ แต่ในฐานะที่เป็นทั้งผู้บริโภค และประชากรโลก (Global Citizen) เราอยากให้ทุกคนมองลึกเข้าไปถึงทรัพยากรที่ใช้ไปในการผลิต วิธีง่าย ๆ คือ ค่อย ๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยน อาจจะเริ่มจากการใช้สิ่งของให้คุ้มมากขึ้น ลดจำนวนลงแล้วมองหาตัวเลือกอื่น ๆ ที่ดีขึ้นทั้งกับตัวเราเองและโลกใบนี้ในทุกครั้งที่ต้องบริโภคอะไรสักอย่าง
นอกจากนี้ยังช่วยรักษ์น้ำเพิ่มได้ด้วยการทำตาม Good Life Goals ข้อ 6 (ดูเรื่อง Good Life Goals ข้ออื่น ๆ ได้ที่ Good Life Goals: เป้าหมายที่ดีต่อตัวเองและโลกใบนี้)
เป้าหมาย 6 รักษ์น้ำ
1 เรียนรู้ความสำคัญของน้ำสะอาด
2 ไม่ทิ้งขยะหรือสารเคมีลงแหล่งน้ำ
3 รายงานและซ่อมแซมจุดที่เกิดการรั่วซึม ไม่ว่าจะจุดเล็กหรือใหญ่
4 ประหยัดน้ำในกิจวัตรประจำวัน
5 ปกป้องสิทธิในการเข้าถึงน้ำสะอาดและห้องน้ำสำหรับทุกคน
#AsGreenAsYouCan
#littlebiggreen
ติดตาม little big green ในช่องทางอื่น ๆ เพิ่มได้ที่
โฆษณา