16 เม.ย. 2021 เวลา 13:08 • ประวัติศาสตร์
เมื่อรัฐบาลไม่ได้เรื่อง ประชาชนจึงต้องออกมาเรียกร้อง
ตามรอยบทเรียนจากอังกฤษเมื่อ 200 ปีก่อน
นิยายย้อนยุคก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เรามักจะหามาอ่านอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะยุครีเจนซี่ (Regency) เป็นยุคที่มีหนังสือเกิดขึ้นมากมายและยังน่าสนใจมาจวบจนทุกวันนี้ เช่น Frankenstein ของ Mary Shelley หรือ Pride and Prejudice ของ Jane Austen
นักเขียนในยุคปัจจุบันเองก็ออกนิยายย้อนยุคไปยุครีเจนซี่อยู่เยอะเหมือนกัน ล่าสุดที่ดังพลุแตกก็คือนิยายรักชุด Bridgerton ของ Julia Quinn ที่ได้เป็นซีรี่ส์ใน Netflix ด้วย เราเองก็อ่านในรูปแบบแปลของสำนักพิมพ์แก้วกานต์อยู่เหมือนกัน
แต่ถ้าให้ยกนักเขียนย้อนยุครีเจนซี่ที่ชอบที่สุดขึ้นมาคนนึง ก็จะต้องเป็นนักเขียนจากอังกฤษชื่อ KJ Charles ซึ่งนักเขียนคนนี้เขียนนิยายรักย้อนยุคเป็นหลัก มีทั้งยุครีเจนซี่ วิคตอเรียน ทันสมัยสุดก็ยุค 1920s แนวนิยายเองเป็นนิยายรักที่แทรกประเด็นการเมืองในยุคนั้นมาประกอบนิยายอยู่เนือง ๆ จนอ่านเจอกฎหมายเก่ายุคนั้นในเรื่อง A Seditious Affair ของ KJ Charles มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์บ้านเมืองของเราตอนนี้เลยอยากจะมาเล่า เดี๋ยวเราจะเท้าความเกริ่นให้เห็นที่มาที่ไปด้วย
1760
พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษ ขึ้นครองราชย์ หลายคนอาจคุ้นกับฉายาของกษัตริย์คนนี้ว่า Mad King
1763
สิ้นสุดสงคราม 7 ปีหรืออีกชื่อคือสงครามโลกครั้งที่ศูนย์ เป็นสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ ฝ่ายหนึ่งคือบริเตนใหญ่และปรัสเซีย อีกฝ่ายคือฝรั่งเศสและออสเตรีย จบสงครามด้วยการลงนามสนธิสัญญาปารีส
หลังจากทุ่มเงินไปกับสงคราม วิธีที่ง่ายที่สุดในการหาเงินก็คือเก็บภาษีประชาชน นอกจากในประเทศอังกฤษเอง ก็ตามไปเก็บกับอเมริกาด้วย
1776
4 กรกฎาคม อเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ หนึ่งในสาเหตุการปฏิวัตินี้ก็คือการต่อต้านการเก็บภาษีของอังกฤษ
1789
ปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้สิ้นสุดระบอบกษัตริย์ ต่อมานโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ขึ้นมามีอำนาจ
1804
นโปเลียนประกาศตนเป็นจักรพรรดิ เกิดฝ่ายที่ต่อต้านการขึ้นเป็นจักรพรรดิของเขาเช่นกัน เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามนโปเลียน
1811
พระเจ้าจอร์จที่ 3 ป่วยจนไม่สามารถทำงานได้ตามเดิม จึงแต่งตั้งให้ลูกชายคนโต ชื่อจอร์จเหมือนกัน ขึ้นมาสำเร็จราชการแทนในฐานะ Prince Regent จึงเป็นต้นกำเนิดยุค Regency
ชีวิตยุครีเจนซี่
1815
กองทัพจักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ต่อกองทัพของดยุคแห่งเวลลิงตันของอังกฤษที่สมรภูมิวอเตอร์ลู (Waterloo) เป็นจุดสิ้นสุดสงครามนโปเลียน
ดยุคแห่งเวลลิงตัน ณ วอเตอร์ลู
แต่ถึงแม้สงครามสิ้นสุดก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น ทหารที่กลับจากสงครามก็มาแย่งงานกับเกษตร หลายคนก็ว่างงาน จะไปสมัครงานโรงงาน โรงงานเขาก็ปิดตัว อาหารก็แพงจากการตั้งภาษีสูงของรัฐบาล
1819
- 16 สิงหาคม ประชาชนกว่า 60,000 คนมาชุมนุมกันที่ จตุรัส St. Peter เมือง Manchester เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ให้ประชาชนทุกคนสามารถเลือกตั้ง ไม่ใช่สงวนสิทธิการเลือกตั้งกับคนชั้นสูง ทั้งที่ตอนเก็บภาษีก็มาเก็บกับประชาชนทุกคน ชาวบ้านที่ตกงานหลังจากไปรบสงครามนโปเลียนในปี 1815 ไม่มีอันจะกิน ขนาดจะซื้อขนมปังกินยาก เพราะการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าธัญพืช (Corn Law) โดยการชุมนุมนี้ประชาชนมาแสดงออกถึงความเดือดร้อนด้วยมือเปล่า แต่ทางการกลับสลายการชุมนุมโดยทหารม้า (Calvary) มีการใช้อาวุธทำร้ายผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 18 คน ทั้งชายหญิง รวมถึงหญิงตั้งท้อง และบาดเจ็บอีกกว่าเจ็ดร้อย
เหตุการณ์นี้ชื่อการสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู (Peterloo Massacre) เป็นการเล่นคำระหว่างจตุรัส St. Peter กับยุทธการ Waterloo ที่รัฐบาลอังกฤษใช้กองกำลังมาปราบประชาชน ราวกับมาปราบกองทัพนโปเลียน
ทหารม้าเข้าสลายการชุมนุมอันสงบของประชาชน
- หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู ผ่านไปได้ 4 เดือน รัฐบาลไม่ได้สนใจประชาชนขึ้นแต่อย่างใด กลับออกกฎหมาย พระราชบัญญัติหกฉบับ (Six Acts) ออกมาเพิ่ม โดยแต่ละฉบับจงใจออกมาควบคุมฝูงชน หวังจะทำให้ประชาชนหวาดกลัว
ฉบับที่ 1 Training Prevention Act ห้ามประชาชนรวมตัวกันซักซ้อมการใช้อาวุธ
ฉบับที่ 2 Seizure of Arms Act ให้อำนาจกับทางการในการยึดอาวุธ หรือเข้าค้นที่รโหฐานของประชาชนเมื่อสงสัยว่าประชาชนคนนั้นมีอาวุธ
ฉบับที่ 3 Misdemeanours Act เป็นการเร่งรัดขั้นตอนการทำงานของทางการ ตัดโอกาสการประกันตัว ทำให้ประชาชนที่ถูกจับโดนดำเนินคดีไวขึ้น
ฉบับที่ 4 Seditious Meetings Act ห้ามประชาชนรวมตัวกันเกินกว่า 50 คนหากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ
ฉบับที่ 5 Blasphemous and Seditious Libels Act เพิ่มความรุนแรงของบทลงโทษ เช่น นักเขียนที่เขียนวิพากษ์รัฐบาลอาจถูกลงโทษหนักขึ้น
ฉบับที่ 6 Newspaper and Stamp Duties Act ควบคุมหนังสือพิมพ์ สมัยนั้นมีการตีพิมพ์ความคิดเห็นทางการเมืองลงหนังสือพิมพ์ด้วย รัฐบาลเลยขึ้นภาษีสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้หนังสือพิมพ์ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง
1820
- 29 มกราคม พระเจ้าจอร์จที่ 3 เสียชีวิต สิ้นสุดยุครีเจนซี่ และพระเจ้าจอร์จที่ 4 ผู้เป็นลูกชาย ขึ้นครองราชย์
- 23 กุมภาพันธ์ กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกัน โดยมีชื่อกลุ่มว่า the Spencean Philanthropists เห็นว่าการตายของกษัตริย์พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทำให้การเมืองอยู่ในช่วงระส่ำระสาย จึงเป็นโอกาสอันดีในการลอบฆ่านายกและคณะรัฐมนตรี
สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเห็นหนังสือพิมพ์ New Times ลงข่าวว่าทั้งคณะรัฐมนตรีจะไปกินข้าวเย็นกันที่ Grosvenor Square พวกเราน่าจะจัดการได้ที่นี่แหละ
ทุกคนก็มารวมตัวที่บ้านแห่งหนึ่งที่ถนน Cato เพื่อวางแผน แต่หารู้ไม่ว่าในกลุ่มมีสายของรัฐบาล และงานเลี้ยงกินข้าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ก็เป็นแผนของรัฐบาลเพื่อหลอกจับกลุ่มนี้ต่างหาก
สายของรัฐบาลแจ้งข่าวแผนของกลุ่มนี้กับทางการอยู่เรื่อย ๆ เมื่อถึงวันลงมือ กลุ่ม the Spencean Philanthropists ไปถึงงานเลี้ยงปลอมนั้นก็เจอทางการรอจับอยู่แล้ว
เหตุการณ์นี้ใช้สถานที่มาตั้ง จนได้ชื่อว่า The Cato Street Conspiracy
การเข้าจับกุมกลุ่ม the Spencean Philanthropists
หลังจากเหตุการณ์ The Cato Street Conspiracy ผ่านไปจนถึงช่วงปี 1830s พรบ.หกฉบับค่อย ๆ ทยอยยกเลิกการใช้งานไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้
อ้างอิง
เนื้อหา
Mike Leigh’s historic political protest drama, Peterloo
เที่ยวอังกฤษแบบคนคิดมาก: 200 ปี ประวัติศาสตร์การประท้วงทางชนชั้นที่แมนเชสเตอร์
What were the Six Acts? | Government repression after Peterloo
The Cato Street Conspiracy: 23 February 1820
โฆษณา