Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
alongwrite
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2021 เวลา 02:41 • บันเทิง
หม่ำ - เทพ | มิตรภาพของสองดาวตลกที่เส้นทางต่างกันสุดขั้ว
.
หาก “หม่ำ จ๊กมก” คือ ดาวตลกผู้ประสบความสำเร็จกับชีวิตนอกเวทีตลก
“ เทพ โพธิ์งาม” ก็คงเป็นภาพแทนฝั่งตรงข้ามความสำเร็จแบบที่ลูกศิษย์ตนเองทำได้
หม่ำ จ๊กมก เปลี่ยนผ่านจากดาวตลกยุคคาเฟ่ มาเป็น นักแสดงตลกขวัญใจมหาชน ผู้มีผลงานออกจอแก้ว จอเงินต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
ด้วยความสามารถรอบด้าน เล่นตลกก็ได้ เป็นพิธีกรก็เอาอยู่ แถมยังเคยขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำรายได้รวมไปหลายร้อยล้านบาท
ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันของ หม่ำ จ๊กมก แสนสุขสบาย มีทรัพย์สินเงินทองมากมายที่หามาได้จากทำงานบันเทิง อีกทั้งเขายังรู้จักลงทุนต่อยอดทำธุรกิจต่าง ๆ อาทิ น้ำปลาร้า, เปิดบริษัทโปรดักชั่น
ส่วน เทพ โพธิ์งาม ก็โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงต่อ หลังหมดยุคคาเฟ่
เขามีงานแสดงไม่น้อยหน้ากว่า หม่ำ และเป็นคนที่มีความสนใจด้านการทำธุรกิจเช่นกัน ป๋าเทพลงทุนลงแรงไปกับหลาย ๆ กิจการ
เพียงแต่แทบทั้งหมดมักจบลงด้วยความล้มเหลว ติดหนี้สิน หนักหนาถึงขั้นที่เคยถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย
เทพ โพธิ์งาม ในสายตาคนทั่วไป จึงอาจถูกมองว่าเป็น “คนแก่หัวรั้น ไม่ยอมเข็ด เจ็บไม่จำ” ยังพยายามทำธุรกิจต่อไป แม้อายุแตะ 70 ปีแล้ว
ถูกขนานนามจาก รายการคนค้นฅน ตั้งชื่อตอนสัมภาษณ์ให้เป็น “เทพเแห่งความล้มเหลว”
และต่อให้หลายสิ่งที่หลายอย่างที่ เทพ โพธิ์งาม ทำจะไม่สำเร็จเลย...แต่อย่างน้อยตลอดชีวิตที่ผ่านร้อนหนาวล้มลุกคลุกคลานมาไม่รู้กี่หนต่อกี่หน
สิ่งหนึ่งที่เราแน่ใจว่า “เทพ โพธิ์งาม” ทำสำเร็จ ก็คือ การปลุกปั้นและให้โอกาส “หม่ำ จ๊กมก” ได้เข้ามาเฉิดฉายในเส้นทางศิลปินตลก
.
……………………………………………………………
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน “เทพ โพธิ์งาม” ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อยุคเปลี่ยนผ่าน จากตลกวงดนตรีลูกทุ่ง สู่ตลกคาเฟ่
เพราะเขาได้ร่วมก่อตั้งคณะตลก “เด่น เด๋อ เทพ” ร่วมกับ เด่น ดอกประดู่ และ เด๋อ ดอกสะเดา
“คณะเด่นเด๋อเทพ” ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากจากผู้ชม เพราะเป็นรูปแบบตลกที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทยยุคนั้น
กลายมาเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของคณะตลกคาเฟ่ในยุคต่อมา ก่อนจมาดังไปทั่วประเทศจากผลงานแสดงภาพยนตร์ “เทพบุตรตะติ๊งโหน่ง" ในปี 2520
ส่งผลให้ เทพ โพธิ์งาม, เด่น ดอกประดู่, เด๋อ ดอกสะเดา เป็นศิลปินตลกที่มีชื่อเสียงตั้งแต่นั้นมา ทั้งสามคนต่างมีสไตล์การเล่นตลกที่แตกต่างกัน โดย “เทพ โพธิ์งาม” ทำหน้าที่เป็น “ตัวโดน” หรือ "ตัวเซ่อร์"
หลังจากฟอร์มทีมอยู่ด้วยกันได้สักระยะ เทพ โพธิ์งาม ก็แยกตัวออกมาตั้งคณะของตัวเอง ผลัดเปลี่ยนไลน์อัพไปเรื่อย
ก่อนมาลงตัวกับสมาชิกหลัก ประกอบด้วย น้อย โพธิ์งาม , แฉ่ง ดอกมะดัน และ หม่ำ จ๊กมก หนุ่มน้อยจากจังหวัดยโสธร ที่เข้าเมืองกรุงตั้งแต่อายุ 16 ปี
พื้นเพของ หม่ำ จ๊กมก ฐานะทางบ้านปานกลางพอมีพอกินไม่ได้ถึงขั้นยากจน เพราะครอบครัวทำอาชีพค้าขายและมีสามล้อให้เช่านับ 10 คัน แต่เนื่องจากเขามักถูกพ่อแม่บ่นว่าไม่ยอมหาการหางานทำ หม่ำ จึงออกจากบ้านมาเกิดเข้าเมืองกรุง
เขาเริ่มจากจ๊อบแรกเป็น “เด็กขนเครื่องดนตรี” ให้กับวง สดใส รุ่งโพธิ์ทอง หลังจากนั้นก็ร่อนเร่ไปทำงานให้กับหลายวงดนตรีลูกทุ่ง
ขยับขึ้นมาเป็น แดนเซอร์บ้าง ก่อนจะได้แสดงตลกหน้าเวที ซึ่งเป็นงานที่หม่ำชอบ และเคยใฝ่ฝันว่าอยากเป็น ดาราตลกคาเฟ่ โดยมี เทพ โพธิ์งาม เป็นหนึ่งในไอดอลที่เขาชื่นชอบ
ต่อมา หม่ำ และเพื่อน ๆ เริ่มต้นตั้งคณะตลกเล็ก ๆ ตัวเองชื่อว่า “คณะเก้ายอด” แต่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก
ประจวบเหมาะกับจังหวะที่ เทพ โพธิ์งาม กำลังมองหาดาวตลกหน้าใหม่มาร่วมคณะ เขาได้รับการแนะนำจากมิตรสหายที่สนิทอย่าง “เปี๊ยก ปากน้ำโพ” ให้ลองไปทาบทาม “หม่ำ” เข้าคณะ
หม่ำ จ๊กมก จึงได้เข้ามาอยู่กับสังกัดเทพ โพธิ์งาม คณะตลกที่ชื่อเสียงมาก่อนอยู่แล้ว ในช่วงราว ๆ ปี 2530
อย่างไรก็ตามเส้นทางสู่ดาวคาเฟ่ของ หม่ำ ก็ไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะหัวหน้าคณะอย่าง เทพ โพธิ์งาม ไม่ค่อยยึดติดกับล็อกมุกสักเท่าไหร่
เทพ มักเล่นมุกสด ชอบด้นเอาหน้างาน เป็นคนที่มีสไตล์เฉพาะตัว ไหลลื่น
ดังนั้นคนที่สามารถเล่นร่วมกับ ป๋าเทพได้ จำเป็นที่ต้องมีไหวพริบสูง รู้จักแก้พลิกสถานการณ์เฉพาะหน้าเก่ง และกล้าเล่น กล้าหยอกกับ เทพ โพธิ์เทพ แบบไม่้ต้องเกรงบารมีความเป็นรุ่นใหญ่
ในช่วงแรก หม่ำ ปรับตัวไม่ค่อยได้ จนเกิดอาการถอดใจและอยากลาออกจากคณะเช่นกัน สุดท้าย หม่ำ ก็สามารถจับจุดและเล่นตลกเข้าขากับ เทพ โพธิ์งาม ได้เป็นอย่างดี
แม้อายุห่างกันค่อนข้างมาก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา หม่ำ จ๊กมก พัฒนาตัวเองจากดาวรุ่งตัวประกอบสู่ตัวชูโรงที่ขาดไม่ได้ของคณะ เทพ โพธิ์งาม
แน่นอนว่าการได้ทำงานร่วมกับ เทพ โพธิ์งาม เป็นเวลา 8-9 ปี ส่งอิทธิพลมาถึงสไตล์การเล่นตลกของ หม่ำ จ๊กมก ที่มีทั้งความแพรวพราว หัวไว ครบเครื่อง ชอบอำ ชอบเลียนแบบเสียง ท่าทาง เล่นหมดมุกสดเก่ง
จากนั้น หม่ำ จึงแยกตัวออกมาตั้งคณะตลกคาเฟ่เป็นของตัวเอง โดยได้ เท่ง เทิดเถิง, อาแปะ, แวว ม๊กจก เป็นลูกทีม ควบคู่กับผลงานด้านรายการทีวี ภายหลังจากเซ็นสัญญากับทาง บ.เวิร์คพอยท์ ฯ ของปัญญา นิรันดร์กุล มาตั้งแต่ปี 2535
หลังสิ้นสุดยุคทองวงการตลกคาเฟ่ ศิลปินตลกที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย มาต่อยอดกับงานบันเทิง ทั้งรายการโทรทัศน์, ละคร, ภาพยนตร์
ด้วยบารมีและความสามารถของ เทพ โพธิ์งาม ก็ทำให้เขาไปได้ต่อในยุคเปลี่ยนผ่าน เช่นเดียวกับศิษย์รักอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก ที่ไปได้สวยกับรายการ ระเบิดเถิดเทิง, ชิงร้อยชิงล้าน ฯลฯ
ทว่าหลังจากนั้นวาสนาและจังหวะชีวิตคนเรา บางครั้งก็ไม่เหมือนกัน
.
……………………………………………………………….
.
จุดเริ่มต้นเส้นทางที่แตกต่างกันของ เทพ โพธิ์งาม และ หม่ำ จ๊กม๊ก เกิดขึ้นภายหลังปรากฏการณ์ช่วงปี 2547-2553 ยุคที่ “ตลกคาเฟ่ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์” บางคนสำเร็จทำหนังดังโกยรายได้งดงาม ส่วนหลายคนก็เจ๊งไม่เป็นท่า มีรายจ่ายมหาศาล
ต้นตอของปรากฏการณ์ คงต้องย้อนกลับไปในปี 2545 “ผีหัวขาด” ผลงานกำกับ คมสัน ตรีพงษ์ กลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจุดเปลี่ยนแก่วงการตลกไทย
เพราะหนังเรื่องนี้รวบรวมเอา ดาวตลกคาเฟ่จำนวนมากมาร่วมแสดง นำเสนอหนังผีในมุมที่สอดแทรกความเป็น comedy เข้าไปด้วย จนขึ้นแท่นเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในไทย ประจำปี 2545 ถึง 80 ล้านบาท
“ผีหัวขาด” เป็นใบเบิกทางชั้นดีของดาวตลกไทยให้เข้ามามีบทบาทบนแผ่นฟิล์มมากขึ้น เพราะในปี 2547 มีนักแสดงตลกถึง 2 คนที่ผันตัวมาเป็น ผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ โน๊ต เชิญยิ้ม จากเรื่อง “คนปีมะ” และ หม่ำ จ๊กมก จากเรื่อง บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม
โดยภาพยนตร์ฝีมือการกำกับและนำแสดงเองของ “หม่ำ จ๊กมก” โกยรายได้ไปถึง 74.4 ล้านบาท จัดเป็นหนังที่ทำเงินได้มากสุดในบ๊อกซ์ออฟฟิศไทย อันดับ 2 ประจำปี 2547 เป็นรองแค่ ชัตเตอร์ กดวิญญาณ แค่เรื่องเดียว
อานิสงส์จากความสำเร็จอย่างถล่มทลายของ “บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม” ทำให้ หม่ำ ได้ไฟเขียวลุยงานกำกับภาพยนตร์ต่ออีกถึง 12 เรื่องจวบจนถึงปัจจุบัน อาทิ แหยม ยโสธร, บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม 2, วงษ์คำเหลา
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน “เทพ โพธิ์งาม” ก็ได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์เช่นเดียวกับ หม่ำ จ๊กมก เพียงแต่สิ่งที่ผู้จดจำเกี่ยวกับหนังของป๋าเทพกลับเป็นด้านความล้มเหลว
“ดึก ดำ ดึ๋ย” คือ ผลงานหนังเรื่องเดียวที่ เทพ โพธิ์งาม ได้นั่งแท่นผู้กำกับ ออกฉายในปี 2546 ก่อนที่ บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม และ หลวงพี่เท่ง จะเขย่าวงการหนังไทย
น่าเสียดายที่ ดึก ดำ ดึ๋ย ทำรายได้เป็นเพียงแค่ 11 ล้านบาท แถมยังถูกวิจารณ์เรื่องบทภาพยนตร์ที่่หละหลวม ดูไม่สนุก
หลังจากทำหนังไม่ประสบความสำเร็จ เทพ โพธิ์งาม ก็เริ่มค่อย ๆ เฟดตัวออกจากงานด้านบันเทิง ค่อนข้างเลือกรับงาน
โดยเขาหันไปสนใจด้านลงทุนธุรกิจมากขึ้น อาทิ อสังหาริมทรัพย์, ร้านอาหาร, ขายเครื่องดื่ม แต่ส่วนใหญ่ก็มักไปไม่รอด
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กราฟของ หม่ำ จ๊กมก กับ เทพ โพธิ์งาม จึงดูเหมือนสวนทางกัน ในขณะที่ลูกศิษย์ได้ดิบดี มีความเป็นอยู่ที่ดีสุขสบาย ชีวิตของอาจารย์ในวัยชรา กลับต้องล้มลุกคลุกคลานบ่อยครั้ง
ไม่ว่าใครจะมอง เทพ โพธิ์งาม เป็นแบบไหน ? สำหรับหม่ำ จ๊กมก เขายังคงยกให้ ป๋าเทพ เป็นผู้มีพระคุณต่อเขาเสมอ
ภรรยาคู่ชีวิตของ เทพ โพธิ์เทพ เคยเปิดเผยในรายการ เรื่องลับมาก (NO CENSOR) ว่า “ยามที่ เทพ โพธิ์งาม ตกทุกข์ได้ยาก หม่ำจะเป็นคนแรก ๆ ที่ยื่นมือเข้ามาเสมอ โดยหม่ำมักพูดว่าไม่อยากให้ป๋าลำบาก” ถึงขนาดที่ หม่ำ สามารถโอนเงินหลักแสน หลักล้านให้ได้ทันที หากเทพต้องการความช่วยเหลือ
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าคณะ-ลูกทีม ของ เทพ โพธิ์งาม กับ หม่ำ จ๊กมก จะแยกทางกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว
แต่มิตรภาพที่ทั้งคู่มีให้กัน กลับยั่งยืน และคงอยู่ตลอดไป กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตีค่าด้วยเงินทอง
“ป๋าโชคดีนะที่ได้รู้จักกับมัน” ประโยคสั้น ๆ ของเทพ โพธิ์งาม ที่คงอธิบายแทนความรู้สึกทั้งหมดที่เขามีต่ออดีตลูกน้องที่ชื่อ หม่ำ จ๊กมก
.
.
.
ติดตามเพจเราได้ทาง
www.facebook.com/alongwriter
#หม่ำจ๊กมก #เทพโพธิ์งาม #ตลก
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย