17 เม.ย. 2021 เวลา 08:18 • การศึกษา
เราใช้สบู่อาบน้ำกันทุกวัน สังเกตุกันบ้างไหมครับว่าเราใช้สบู่ประเภทไหน? แล้วสบู่มีกี่ประเภท สบู่แต่ละประเภทเป็นอย่างไรและแตกต่างกันอย่างไร? หากเรารู้เรื่องสบู่เพิ่มขึ้นอีกสักนิดย่อมเกิดประโยชน์ต่อการเลือกใช้สบู่ได้อย่างถูกต้องครับ
คุณใช้สบู่ประเภทไหน
แบ่งประเภทตามรูปลักษณ์ จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สบู่ก้อนและสบู่เหลว
ภาพรวมประเภทของสบู่
เรามาดูที่สบู่ก้อนกันก่อนนะครับ
สบู่ก้อน แบ่งย่อยได้เป็นอีก 2 ประเภท คือ สบู่ก้อนธรรมชาติ และสบู่ก้อนสังเคราะห์
สบู่สังเคราะห์และสบู่ธรรมชาติ
สบู่ก้อนธรรมชาติ
เกิดจากการทําปฏิกิริยาระหว่างไขมันพืชหรือไขมันสัตว์ + ด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ที่เรียกว่า "กระบวนการการเกิดสบู่ (Saponification)" ได้ผลผลิตออกมาเป็นสบู่ก้อนและกลีเซอรีน กระบวนการนี้ทําได้ 2 เทคนิควิธี คือ
3
1.สบู่กวนเย็น (Cold processed Soap)
เทคนิคนี้จะไม่ใช้ความร้อนในการทำ ปล่อยให้ไขมันทําปฏิกิริยากันกับด่าง จนเป็นสบู่ แล้วเทสบู่ลงแม่พิมพ์ และจะต้องบ่มสบู่ต่ออีกประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ด่างทําปฏิกิริยากับไขมันอย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์และด่างหายไปทั้ง 100%
ไม่หลงเหลือตกค้างอยู่ในเนื้อสบู่ วิธีนี้เนื้อสบู่จะเนียนและแข็งกว่าแบบกวนร้อน และสร้างสรรค์ลวดลายที่สวยงามให้กับสบู่ได้อีกด้วย
สบู่กวนเย็น
2.สบู่กวนร้อน (Hot processed Soap)
เทคนิคนี้จะใช้ความร้อนเร่งปฏิกิริยา saponification ทําให้สามารถใช้สบู่ได้ทันทีหลังจากเทลงแม่พิมพ์แค่ 24-48 ชั่วโมง เนื้อสบู่ที่ได้จะไม่เรียบเนียนนัก มีความแข็งน้อยกว่าเทคนิคกวนเย็น ไม่สามารถเล่นลายได้มากนัก แต่มีข้อดีที่ใช้เวลาบ่มสบู่สั้นกว่า
สบู่กวนร้อน
ทั้งนี้สบู่กวนเย็นและสบู่กวนร้อน จัดเป็นสบู่ธรรมชาติ แต่จะเป็นธรรมชาติ 100%
หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสารต่างๆ ที่เติมลงไปในเนื้อสบู่ก่อนที่จะเทสบู่ลงในแม่พิมพ์ เช่น
สี: ผู้ผลิตอาจเลือกใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติ หรือสีสังเคราะห์อย่างสีผสมอาหารหรือสีที่ใช้ในเครื่องสําอาง
สารสกัดต่างๆ: อาจเลือกสารสกัดสังเคราะห์ หรือสารสกัดธรรมชาติ ซึ่งยังต้องดูไปถึงตัวทําละลาย และ/หรือสารกันเสียที่เจือปนอยู่ในนั้นด้วย
น้ำหอม: เป็นน้ำหอมสังเคราะห์ fragrance หรือน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ (Essential Oil)
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสบู่ธรรมชาติ?
หากสังเกตบนฉลากของสบู่ธรรมชาติ จะมีรายการวัตถุดิบไม่มากนัก มีเพียงไขมันพืชหรือไขมันสัตว์ และด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นองค์ประกอบหลัก อาจเสริมด้วย น้ำหอม สารสกัดต่างๆ, และสี เป็นต้น โดยทุกรายการจะระบุด้วยชื่อสากลทางเครื่องสําอาง (INCI Name) ตามระเบียบของ อย.
มาต่อกันที่ สบู่ก้อนสังเคราะห์กันครับ ในท้องตลาดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
สบู่กลีเซอรีน(สบู่หลอมเท) และ สบู่โรงงานอุตสาหกรรม
1.สบู่กลีเซอรีน หรือ สบู่หลอมเท
เป็นสบู่ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นสบู่ธรรมชาติ รูปลักษณ์ภายนอกของสบู่ชนิดนี้จะมีทั้งแบบใสและแบบขุ่นทึบ เทคนิคการทําคือนําเบสสบู่สําเร็จรูป (ที่มีจําหน่ายเป็นกิโลๆ) มา หลอมละลาย แล้วเติมสารสกัดต่างๆ และน้ำหอมลงไป จากนั้นเทลงแบบพิมพ์ รอให้แข็งเป็นก้อนอีกครั้ง
เบสสบู่กลีเซอรีนแบบใส(ซ้าย)และแบบขุ่น(ขวา)
วิธีสังเกตว่าก้อนไหนคือ สบู่ก้อนสังเคราะห์
การแยกแยะสบู่ที่มีอยู่ในมือว่าเป็นสบู่ประเภทนี้ จะทําได้ง่ายในกรณีที่เบสสบู่เป็นแบบใส ชนิดที่เห็นลายนิ้วมือหลังก้อนสบู่ได้ ฟันธงได้เลยว่า "ใช่" แต่ถ้าเป็นเบสสบู่แบบขุ่น ดูด้วยตา อาจจะแยกจากสบู่ธรรมชาติยากสักหน่อย
ต้องอาศัยดูจากองค์ประกอบบนฉลากผลิตภัณฑ์ สังเกตง่ายๆว่าจะพบชื่อสารชําระล้าง, สารทําให้เกิดฟอง, สารกันเสีย, สารกันหืน, ตัวทําละลาย ดังต่อไปนี้ Sodium Lauryl Sulphate, Sodium Laureth Sulphate, Cocamidopropyl Betain, Propylene Glycol, Sorbital, Tetrasodium EDTA, Tetrasodium Etidronate, และ Trietanolamine (TEA) เป็นต้น
2.สบู่โรงงานอุตสาหกรรม
เป็นสบู่ที่พบมากในท้องตลาดทุกวันนี้ สามารถผลิตได้ปริมาณครั้งละมากๆ ราคาไม่แพง ขั้นตอนการทําจะผสมไขมันให้เข้ากับด่างด้วยความร้อนในหม้อตุ้นขนาดใหญ่ ระหว่างนั้นจะเกิดกลีเซอรีนลอยออกมาจากปฏิกิริยาการเกิดสบู่ แล้วจะมีเครื่องจักรคอยกวาดเอากลีเซอรีนที่เกิดขึ้นนี้ออกไปจนหมด เพื่อนําไปขายหรือใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีราคาแพงกว่า เช่น ใช้ทําโลชั่น ส่วนผสมเครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนกากสบู่ที่เหลือจากการถูกกวาดเอากลีเซอรีนออกไปหมดแล้วจะถูกอัดเป็น ก้อนเล็กๆ เรียกว่า “Soap chips” หรือ “Soap noodle”
Soap chips เหล่านี้จะถูกนําไปผลิตเป็นสบู่ก้อนเพื่อขายต่อไป โดยจะนํา Soap chip ไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเติม สารชําระล้าง, สารเพิ่มฟอง สารกันเสีย, สารกันหืน, สารสกัดต่าง ๆ สี และน้ำหอมลงไป บางครั้งอาจเติมกลีเซอรีนกลับเข้าไปบ้าง
จากนั้นเครื่องจักรก็จะอัดส่วนผสมเหล่านี้ออกมาเป็นรูปของสบู่ก้อนพร้อมขาย
สบู่โรงงานอุตสาหกรรม
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสบู่อุตสาหกรรม
สังเกตได้จากส่วนประกอบบนฉลากผลิตภัณฑ์ มักมีชื่อสารเคมีซับซ้อนและยาว
ชื่อของน้ำมันจะไม่ได้อยู่ในรูปของ Oil แต่มักอยู่ในรูปสารที่ซับซ้อน เช่น Sodium Palmate, Sodium Palm Kernelate, Sodium Canolate, Sodium Olivate เป็นต้น และมักจะเจอชื่อสารเคมีที่อ่านยากจําพวก สารชําระล้าง , สารเพิ่มฟอง, สารกันเสีย, สารกันหืน เช่น Sodium Lauryl Sulphate, Sodium Laureth Sulphate, Cocamidopropyl Betain, Sodium Methyl Cocoyl Taurate, Tetrasodium EDTA, Tetrasodium Etidronate, Tetrasodium Glutamate Diacetate, Sodium C14-16 Olefin Sulfonate, Potassium Sorbate, Sodium Benzoate, BHT, Phenoxyethanol, PEG , Cocamide DEA เป็นต้น
ต่อไปเราจะดูประเภทของ สบู่เหลว กันบ้างนะครับ
สบู่เหลว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
สบู่เหลวธรรมชาติ และสบู่เหลวสังเคราะห์ ครับ
1.สบู่เหลวธรรมชาติ
เกิดจากปฏิกิริยาการเกิดสบู่ (Saponification) ระหว่างไขมันพืชหรือไขมันสัตว์ + ด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ได้ผลผลิตออกมาเป็น “ก้อนหัวเชื้อสบู่เหลว" ซึ่งภายในจะมีกลีเซอรีนตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเกิดสบู่ จากนั้นต้องบ่มก้อนหัวเชื้อสบู่นี้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ (หรือบางคนอาจละลายเลย) ก่อนนําไปละลายในน้ำ เพิ่มสารต่าง ๆ และน้ำหอมลงไปผสม ถึงจะใช้ได้
สบู่เหลวธรรมชาติ
2.สบู่เหลวสังเคราะห์
หรือที่ถูกต้องควรเรียกว่า "สารชําระล้างสังเคราะห์ อาจเรียกว่า SNDET (synthetic + detergent) หรือ "ซินเด็ท" เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ไม่มีสบู่เป็นส่วนประกอบ (Soap free) อยู่เลย บนฉลากผลิตภัณฑ์จะไม่พบชื่อน้ำมันและด่างโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ แต่มักจะพบชื่อสารเคมีที่อ่านยากจําพวก สารชําระล้าง, สารเพิ่มฟอง, สารกันเสีย สารกันหืน เช่น Sodium Lauryl Sulphate, Sodium Laureth Sulphate, Cocamidopropyl Betain, Sodium Methyl Cocoyl Taurate, Tetrasodium EDTA, Tetrasodium Etidronate, Tetrasodium Glutamate Diacetate, Potassium Sorbate, Sodium Benzoate, BHT, Phenoxyethanol, PEG, Cocamide DEA, Dimethicone lupin
จบแล้วครับ
อาบน้ำทุกวัน เราก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีให้กับร่างกายตัวเองทุกวันด้วยเช่นกันนะครับ
ผู้เขียนหวังว่าจะได้ความรู้กันคนละเล็กคนละน้อยในการเลือกใช้สบู่นะครับ
ไว้คราวหน้าถ้ามีเวลา
จะสอนการทำสบู่กวนเย็นใช้เองที่บ้านนะครับ
ฝากกดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
หากผิดพลาดประการใด ติชมได้นะครับ เพื่อนำไปพัฒนาต่อไปครับ
ขอบคุณมากครับ
โฆษณา