Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
มุม ๑
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2021 เวลา 09:42 • การเมือง
“อีสานภายใต้รัฐไทย” : อ่านความคิดชาวบ้านอีสาน ผ่านฎีกาของหมอลำฝีปากกล้าแห่งบ้านสาวะถี
3
การปฏิรูปการปกครองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาจนถึงการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้ “ภาคอีสาน” ปรากฏตัวขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐไทย ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนอีสาน และดึงดูดให้เขาเหล่านั้นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐไทยมากขึ้นในทางใดทางหนึ่ง
พ่อใหญ่โสภา พลตรี หมอลำแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น คือคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่หาญกล้าลุกขึ้นมาประกาศก้องความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของชาวบ้านอีสานที่ต้องเผชิญแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงในห้วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกับคณะผู้ตรวจราชการแห่งรัฐบาลสยาม ณ วัดพระธาตุพนม พ. ศ. 2449
จากปากคำของคนในหมู่บ้านสาวะถีเล่าว่า พ่อใหญ่โสภาเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ กล้าพูดกล้าทำ ไม่กลัวคน และเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน มีความเชี่ยวชาญด้านคัมภีร์โบราณทั้งตัวธรรมตัวขอม การประกอบพิธีกรรม และการขับกลอนลำต่างๆ เป็นอย่างดี พ่อใหญ่โสภาเป็นผู้หนึ่งที่แสดงความคิดรู้สึกนึกคิดทางการเมืองของตนเองผ่านการเขียนฎีกาและจดหมายร้องเรียนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473
จดหมายของพ่อใหญ่โสภาที่ส่งไปยังรัฐบาลเท่าที่สืบค้นได้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาตินั้นมีทั้งสิ้น 24 ฉบับในระหว่าง พ.ศ. 2476-2485 เนื้อความทั้งหมดเต็มไปด้วยเรื่องของ “สาสนา, ศีล, ธรรม เจือปนจนไม่รู้ความประสงค์” สอดแทรกไปด้วยคำสอนทางศีลธรรม ผญาโบราณ และขนบตามหลักฮีตคองของชาวอีสาน เจตนารมณ์ของพ่อใหญ่ที่สื่อสารตามวิธีการของท่านในมุมมองของทางการกลายเป็นคำพูดเลอะเทอะที่ไม่เป็นสาระของพวกสติไม่ดี
1
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วพบว่าใจความสำคัญของจดหมายของพ่อใหญ่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดล้วนวนเวียนอยู่กับเรื่องปากท้อง ภาษีอากรและความกังวลว่าอิทธิพลจากส่วนกลางจะขยายครอบงำวิถีชีวิตและจารีตประเพณีของท้องถิ่น
พ่อใหญ่โสภาแสดงเจตนารมณ์อย่างตรงไปตรงมาถึงรัฐบาลให้มีการลดหย่อนหรือยกเลิกการเก็บภาษีอากร โดยเฉพาะภาษีรัชชูปการ อากรค่านา สัตว์พาหนะ ภาษีป่าไม้และภาษีที่ดินซึ่งครอบคลุมเกือบจะทั้งหมดในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ตามความเห็นของท่านการเสียภาษีไม่ใช่หน้าที่ของพลเมืองที่พึงปฏิบัติต่อรัฐ แต่เป็นการเบียดเบียนดอกผลจากหยาดเหงื่อแรงงานของชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรจากธรรมชาติร่วมกัน เป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วยความชอบธรรมตามกำลังของตน
“ถ้าราชฎรคนใดไม่เสียค่านาค่าไม้ ต้องม้าง (รื้อ) เฮียนม้างบ้านมัน ให้มันนอนดินเหมือนกับหมู๋กับหมา เฮียนก็แม่นเฮียนของกู” ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะมาเรียกเก็บภาษีอากรจากชาวบ้าน การลงโทษชาวบ้านที่ไม่มีเงินที่จะจ่ายหรือปฏิเสธที่จะทำตามข้อกฎหมายเหล่านี้ เช่น การปรับเงิน การยึดที่นาและสัตว์พาหนะขายทอดตลอด การเกณฑ์ไปใช้งานโยธา ฯลฯ แม้จะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่พึงปฏิบัติต่อรัฐ แต่ในสายตาของหมอลำแห่งบ้านสาวะถีผู้นี้แล้วพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการข่มเหงชาวบ้านให้ได้รับความเดือดร้อน และเป็นเรื่องผิดศีลธรรมผิดจารีตท้องถิ่นอย่างร้ายแรง เพราะถือตัว “ใหญ่เข้ากว่าธรรมหรือสูงกว่าพระเจ้า” พ่อใหญ่ให้เหตุผลว่า
"กฎหมายไม่เกิดกับธรรม จะเกิดในถ่ำในฮูในภูผาที่ไหน…จำพวกราชดรลงสร้างไร่กระทำนา ทำตอนแหแขมองปลาตัวนี้ไปถืกแหสาเด๋ออย่างนั้นก็ไม่ได้พูดกระทำความผิด…กำนันผู้ใหญ่บ้านส่งอำเภอ อำเภอส่งพิพากษาตัดสินลงโทษปลับเปนเงิน…ถ้าไม่มีเงินเสียติดตาลาง ผู้รักขังหน่อยผู้ชังขังหลาย…เจ้าคุณเทษาข้าราชการทั่งหลายจำพวก ตีพิมห์วัวพิมห์ควาย บังคับให้เขาข่าลงกกหวายปลายค้อน…"
แม้ชาวบ้านอาจรับรู้ว่าตนอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งภายใต้โครงสร้างการปกครองของรัฐไทย แต่“บ้านเมือง” ในจินตนาการและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาดูจะไม่กว้างไกลไปกว่าสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของเขามากนัก ซึ่ง “พลังท้องถิ่น” อันหมายถึง ฮีตคองและพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านยังคงมีอิทธิพลและผูกพันกับวิถีชาวบ้านอย่างเหนียวแน่น สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าและสำคัญยิ่งไปกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองหรือระบอบการปกครองในแบบใด หรือกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น
พ่อใหญ่โสภาจึงบริภาษอย่างรุนแรงเมื่อเห็นว่ารัฐพยายามรุกล้ำเหนือพลังท้องถิ่นอันเป็นที่หวงแหน
"รัฐบาล พร้อมกันแต่งตั้งกฎหมายขึ้นว่าๆ ภาษีอากร แต่งขึ้นแล้วพร้อมกันเห็นดีเห็นชอบ…พร้อมกันมาฉลองธรรมนูญ ถือกฎหมายพระยาเทวทัดเปนฮีดบ้านฮีดเมือง
จำพวกราษฎรทั้งหลายเขาไม่เห็นชอบ เขาไม่นับถือ คือกรมการอำเภอ ปลัดซ้ายปลัดขวาไปแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านขึ้น กดขี่ขมเห็งบ้านขมเห็งเมืองเหยียบย่ำยีบีบคั้น อยากได้แต่เงิน ไม่อยากได้บุญ….ขอส่งให้รัฐบาล…ไปถึงอเวจี..."
ฎีกาถวายในหลวง ร.7 ของหมอลำโสภา พลตรี แห่งบ้านสาวะถี จ.ขอนแก่น
จากปากคำของพ่อใหญ่ยังชี้ให้เห็นแรงกดดันของชาวบ้านที่มีต่อพวก
“เจ๊กจีน” ซึ่งกุมเศรษฐกิจทั้งในระดับบนและในระดับฐานราก และมักจะมีสายสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ พฤติการณ์โดยทั่วไปของชาวจีนจึงมีแนวโน้มจะเป็นที่อคติของชาวบ้านอยู่แล้ว
ในสายตาของพ่อใหญ่โสภาเห็นว่า ชาวจีนเป็นตัวการที่เข้ามาฉกฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจและทรัพยากรต่างๆ อันเป็นของชาวบ้านโดยชอบธรรมไปเป็นของตน พ่อใหญ่จึงเรียกร้องให้รัฐบาลห้ามอนุญาตให้ชาวจีนโอนสัญชาติโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ยังบริภาษอย่างรุนแรงเมื่อกำนันทองสุข หลวงราชธุรกิจและข้าหลวงสรรพากรได้ทำการยึดที่ดินของนายเสิม สอนสุภี ชาวบ้านในหมู่บ้านสาวะถีไปขายทอดตลาด เนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะชำระค่าภาษีที่ดินได้ โดยมี “จีนโต้น” เป็นผู้รับซื้อต่อไป พ่อใหญ่โสภากล่าวว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐพวกนี้ เป็นการ “คิดคดทอระยด” และยังกล่าวต่อไปว่าชาวบ้านทั้งหลายนั้นมีความยากลำบาก “หากินก็ยากค้าขายก็ยาก” จึงขอให้ยกเลิกรีบ “กฎหมายภาษีอากรกฎหมายพญาเทวทัต” โดยเร็วที่สุด เพราะชาวบ้านทั้งหลายนั้นได้รับความเดือดร้อนอยู่ “ทุกวันทุกมื้อไม่ขาดเส้นขายสายสักเทีย”
1
ความจริงที่ประจักษ์ว่าในหมู่บ้านกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอันเนื่องมาจากอิทธิพลภายนอก โดยเฉพาะการบูรณาการเชิงความคิดของรัฐผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 เป็นต้นมา
อิทธิพลผ่านระบบการศึกษานี้มากพอที่จะท้าทายภูมิความรู้ดั้งเดิมวิถีชาวบ้าน และฮีตคองของท้องถิ่น รวมถึงการปลูกฝังสำนึกพลเมืองและค่านิยมจากภายนอกให้กับลูกหลานบ้านสาวะถี ทำให้ผู้อาวุโสอย่างพ่อใหญ่โสภาเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะ
“ย่านเป็นคนไทย” และ “อยากให้เป็นลาวเสมอเก่า”
ความรู้ ค่านิยมหรือกิจกรรมอื่นใดซึ่งครูในโรงเรียนถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์นอกเหนือไปจากกรอบของวิถีฮีตคองและพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน เช่น วิชากฎหมาย วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาเลข วิชาลูกเสือและกิจกรรมการทำกสิกรรม (ตามหลักการความรู้สมัยใหม่) การเล่นกีฬาฟุตบอล ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสิ่งไม่ถูกต้องดีงาม จะมีบทบาทเหนือพลังท้องถิ่นไม่ได้
ดังเช่นกรณีของครูเกลี้ยง ครูไสย และครูพิมพ์ ครูโรงเรียนประชาบาลแห่งบ้านสาวะถี ซึ่งสอนให้เด็กนักเรียนเล่นฟุตบอลกันตามหลักสูตรวิชาพลศึกษาของกระทรวงธรรมการ พ่อใหญ่และชาวบ้านที่มาฟ้องร้องกับพ่อใหญ่กลับเห็นว่า จะยิ่งทำให้เด็กนักเรียนมีอารมณ์ร้อนชกต่อยทำร้ายกัน เป็นการสอนให้เด็กกระทำผิด อีกทั้งยังไม่มีประโยชน์อันใดที่จะน้อมให้เกิดบุญเกิดกุศลได้
พ่อใหญ่ให้เหตุผลว่า “นับกว่าข้าพเจ้าได้บวชเรียนเขียนสร้างในวัดพระสาสนาของพระเจ้าได้ 5 ปีนับทั้งเณรทั้งพระด้วยกัน ตามข้าพเจ้าได้สอบสวนพระคัมภีร์ในครั้งหลังครั้งหน้า…ซึ่งจะฉลองฟุตบอลว่าเป็นบุญเป็นกุศลเป็นสวรรค์นิพานก็ไม่เห็นสักเทือสักที”
ทำนองเดียวกันกับการเรียนการสอนลูกเสือซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรการกล่อมเกลาเยาวชนให้มีสำนึกพลเมืองในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐไทยผ่านระบบการศึกษา พ่อใหญ่ก็เห็นว่าเป็นการพาเด็กไปทำกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์หรือสาระอันใด และยังบริภาษด้วยว่า “ข้าพเจ้าว่าไม่เป็นพ่อเสือแม่เสือ จะเป็นพ่อคนแม่คน ลูกข้าพเจ้าก็เป็นคนไม่ใช่เสือ”
ผู้เฒ่าในหมู่บ้านสาวะถีเล่าว่าพ่อใหญ่โสภาปฏิเสธที่จะเรียกครูในโรงเรียนว่า “ครู” แต่เรียก “บักนั่น บักนี่” เพราะ “ครู” ที่แท้จริงในความหมายของท่านนั้นหมายถึงพระสงฆ์ที่ผ่านการยอมรับนับถือจากชาวบ้านด้วยประเพณี “ฮดหัว” ต้องสั่งสอนคนให้อยู่ในศีลในธรรม
ดังนั้น การที่ลูกหลานของบ้านสาวะถีต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐไทยตามกฎหมายภาคบังคับ จึงเป็นเสมือนการท้าทายอย่างใหญ่หลวงระหว่างอิทธิพลทางความคิดแบบดั้งเดิมและอิทธิพลจากภายนอก พ่อใหญ่โสภาได้พรรณนาเหตุผลจากเบื้องลึกจากจิตใจของท่านว่า
"…พวกครูโรงเรียนทั้งหลายฝูงนี้ พร้อมกันไปแย่งเอาลูกของข้าพเจ้ามาพร้อมทั้งหญิงทั้งชาย…ข่อยหญิงก็ให้สูได้มาก ข่อยชายก็ให้สูได้มากเหมือนดั่งกูผู้เป็นครูนี้ เงินเดือนก็ให้สูมี…ครูโรงเรียนทั้งหลายฝูงนี้สอนผิดเวลากายยามผิดรีดแล้ว…จะขอถอนลูกถอนเต้ากลับบ้านกลับเรือนที่เก่าที่เดิมให้ได้รับความสุขอย่าได้มีความเดือดร้อน…"
ด้วยสำนึกในพลังท้องถิ่นอันแรงกล้าทำให้พ่อใหญ่โสภาและชาวบ้านที่ให้ความเคารพนับถือปฏิเสธที่จะส่งลูกหลานของตนเข้าโรงเรียน และยังเรียกร้องให้รัฐบาลยุบโรงเรียนและปลดครูพวกนี้ออกให้หมด ผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งยังจดจำวีรกรรมของหมอลำฝีปากกล้าผู้นี้ได้ดีบอกเล่าเจตนารมณ์ของพ่อใหญ่ที่ประกาศไว้ว่า
"ลูกกูบ่ให้เข้าโฮงเฮียนภาษาไทย จะให้เฮียนภาษาธรรม เพราะภาษาไทยกินเด็ก ภาษาธรรมเฮียนเพื่อสั่งสอนคน…มึงเป็นหยังเอาเด็กน้อยมากักขังไว้…อยากเฮียนจึงเฮียน ใครบ่อยากเฮียนก็แล้วไป มึงเอาอำนาจมาแต่ไส"
วีรกรรมของพ่อใหญ่โสภาซึ่งแสดงออกและปฏิบัติตนตามความเชื่อของตนเองแบบตรงไปตรงมา ทำให้พ่อใหญ่โสภาและพวกเป็นที่จับตามองของทางการ ระยะหลังท่านยังได้เคลื่อนไหวปลุกระดมชาวบ้านทั้งในหมู่บ้านสาวะถีและหมู่บ้านอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงด้วย
1
จะด้วยการตอบสนองของรัฐที่ล่าช้า การแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดหรืออาจเป็นเพราะข่าวสารของรัฐที่กระจายสู่สังคมยังคงมีข้อจำกัดต่อการรับรู้ของชาวบ้านอยู่มากก็ตาม พ่อใหญ่โสภายังคงรู้สึกว่าข้อเรียกร้องตามเจตนารมณ์ของท่านไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก
พ่อใหญ่โสภามักกล่าวถึงการกดขี่ของเจ้านาย (เจ้าหน้าที่รัฐ) อยู่เสมอ จนถูกทางการจับกุมอยู่หลายครั้ง เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาก็ยังคงเที่ยวพูดเรื่องเหล่านี้อยู่เช่นเดิม จนเริ่มมีชาวบ้านจากที่อื่นๆ เช่น บ้านหนองเซียงซุย บ้านบึงแก บ้านงิ้ว บ้านโนนกู่ บ้านโคกสว่าง และบ้านป่าหวาย ให้ความนับถือและเดินทางมาร่วมชุมนุมร่วมฟังการปราศรัยของพ่อใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
คืนวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2483 พ่อใหญ่โสภาได้จัดให้การปราศรัยใหญ่ซึ่งมีผู้ชุมนุมจากที่ต่างๆ รวมกันกว่า 300 คน (แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าการปราศรัยของพ่อใหญ่โสภาใช้รูปแบบการนำเสนออย่างไร แต่จากการที่ท่านเป็นหมอลำด้วยคาดว่าน่าจะอาศัยกลอนลำนำเสนอด้วย เนื่องจากเป็นวิธีการนำเสนอที่สามารถเข้าถึงและสร้างอารมณ์ร่วมกับชาวบ้านได้ดี)โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการกดขี่ข่มเหงชาวบ้านของพวกเจ้านาย (ข้าราชการท้องถิ่น)และปลุกระดมให้ชาวบ้านปฏิเสธอำนาจรัฐ โดยเฉพาะประเด็นการเสียภาษีซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อใหญ่โสภาแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาลอย่างแน่วแน่มาโดยตลอด
ชาวบ้านซึ่งยังจำเหตุการณ์ครั้งนั้นดีเล่าถึงใจความบางช่วงบางตอนของ
การปราศรัยครั้งใหญ่มีใจความว่า “เดี๋ยวนี้ไม่ทำอย่างโบราณ รัฐบาลเดี๋ยวกดขี่ข่มเหงราษฎร…ทำไมต้องเสีย (อากรค่านา, ภาษีที่ดิน) ที่ดินมันมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เราเป็นคนลงแรงหักล้างถางพง หลวงไม่ได้ทำอะไรให้” พ่อใหญ่โสภายังได้ทำนายอนาคตของบ้านเมืองอีกหลายประการ เป็นต้นว่า “ต่อไป
นี้พระยาแมงอดก็จะมี พระยาขอดก้นหอยก็จะมี มันซิเดือดซิฮ้อน มันซิเจ็บซิปวด ปกครองบ้านบ่เป็นธรรม” ซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้ผู้ปกครองจะลุแก่อำนาจ จะปกครองบ้านเมืองอย่างไม่เป็นธรรม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านทั้งหลาย
ระหว่างการปราศรัยในค่ำคืนนั้นเอง ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์ นายอำเภอกับฝ่ายตำรวจเห็นว่าไม่อาจยอมให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป เพราะอาจบานปลายจนยากต่อการควบคุมและส่งผลต่อความมั่นคง จึงได้นำกำลังตำรวจและอาสาสมัครครูประชาบาลดำเนินการเข้าจับกุมพ่อใหญ่โสภาและพรรคพวกรวมทั้งสิ้นกว่าร้อยคนในขณะปราศรัยด้วยข้อหาเป็น “กบฏภายใน”
ตัวการคนสำคัญอย่างพ่อใหญ่โสภาและคนสนิทถูกส่งไปจำคุกที่เรือนจำบางขวาง กรุงเทพฯ ทันที และได้รับการพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ต่อมาได้รับการลดหย่อนเหลือจำคุก 16 ปีและถูกส่งตัวกลับมาคุมขังที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น ไม่นานนักท่านก็เสียชีวิตลงอย่างปริศนา
ปิดฉากชีวิตหมอลำอีสานฝีปากกล้าแห่งบ้านสาวะถี ผู้หาญกล้าขับกลอนลำบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านอีสานและวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เป็นธรรมของรัฐไทยอย่างไม่เกรงกลัวฟ้าดินแต่เพียงเท่านี้ หลงเหลือไว้เพียงจดหมายเก่าคร่ำคร่าในหอจดหมายเหตุแห่งชาติและปากคำของชาวชาบ้านสาวะถีจากรุ่นสู้รุ่นที่ยังคงบอกเล่าวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กๆ ผู้นามโสภา พลตรี ผู้นี้
คงไม่เกินไปนักหากกล่าวว่า ความรู้สึกนึกคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวบ้านอีสาน เป็นภาพสะท้อนจากการปรับตัวของชาวบ้านอีสานภายใต้การเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย สภาพการณ์เช่นนี้เป็นพื้นฐานที่เอื้อให้อาณาบริเวณแห่งนี้เป็นแหล่งฟูมฟักความรู้สึกนึกคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มข้นที่สุดภูมิภาคหนึ่งนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
รายการอ้างอิง
“เรื่อง ฎีกาและเรื่องราวนายโสภา พลตรี (พ.ศ. 2476-2485).” เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนัก
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สร.0201.40/ 1340 ปึก 1 กล่อง 45. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
“เรื่อง ฎีกาและเรื่องราวนายโสภา พลตรี (พ.ศ. 2476-2485).” เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี สำนัก
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สร.0201.40/ 1340 ปึก 2 กล่อง 45. หอจดหมายเหตุแห่งชาติ.
ประวิทย์ สายสงวนวงศ์. “พัฒนาการของการตื่นตัวทางการเมือง
ของชาวอีสาน พ.ศ. 2433-2489.” วิทยานิพนธ์อักษร
ศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2562.
สุวิทย์ ธีรศาศวัต และชอบ ดีสวนโคก. “กบฏผู้มีบุญโสภาแห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น.” วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12, 1 (พฤษภาคม-ตุลาคม 2537): 38-51.
2 บันทึก
11
19
2
11
19
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย