Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิพากษ์ประวัติศาสตร์ CRITICAL HISTORY
•
ติดตาม
17 เม.ย. 2021 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร ทรงผมแห่งสตรีสยาม
ได้กล่าวแล้วว่าผู้หญิงไทยสยามสมัยโบราณก่อนรัชกาลที่ 5 นิยมไว้ผมปีก คือ ไว้ผมด้านบนกระหม่อมยาวพอประมาณ กันไรผมวงหน้าโค้งให้ดูสวยงาม ถอนไรจุกเป็นรอยรอบปีกผมบนกระหม่อม ส่วนรอบศีรษะอาจจะตัดสั้นเกรียนเหมือนผู้ชาย หรืออาจจะปล่อยยาวจนประบ่าก็ได้
ผมประบ่าต่างกับผมปีกที่ตัดสั้นรอบศีรษะคือ ถอนไรจุกแค่ครึ่งหัวด้านหน้า ด้านหลังปล่อยผมยาวพับลงไปประบ่า บางคนอาจจะปล่อยยาวเลยบ่าลงไป
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม ฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงภาพหญิงไว้ผมยาวประบ่า ปลายผมม้วนเป็นงอน (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 6 ที่สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ประมาณรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ ยังไม่ปรากฏภาพผู้หญิงไว้ผมยาวประบ่า มีแต่ไว้ผมเกล้ามวยเป็นส่วนใหญ่ มีไว้ผมปีกตัดสั้นบ้าง
1
สมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 5 ที่น่าจะเขียนขึ้นภายหลังไล่เลี่ยกันไม่นานมีภาพหญิงไว้ผมปีกยาวประบ่าปลายผมม้วนเป็นงอน หรือปล่อยเลื้อยไปตามบ่าแล้ว ที่น่าสนใจคือทรงผมของผู้ชายแม้จะมีลักษณะคล้ายผมทรงมหาดไทย แต่ผมรอบศีรษะข้างดูไม่ได้ไถเกรียนออกหมด แต่ไว้ยาวจนเห็นปลายงอนที่บริเวณหลังคอ
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข 5 ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ตอนมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์นครกัณฑ์ แสดงภาพผู้หญิงไว้ผมยาวประบ่า มีปลายม้วนงอนขึ้นหรือเลื้อยไปตามบ่า ผู้ชายบางคนไว้ผมยาวที่หลังคอ (ที่มาภาพ : สมุดภาพไตรภูมิอักษรขอม)
จิตรกรรมในสมุดภาพวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี ศิลปะสมัยอยุทธยาตอนปลาย ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 23 เรื่องปาจิตรกุมาร แสดงภาพนางอรพิมไว้ผมยาวประบ่า (ที่มาภาพ : http://oknation.nationtv.tv/blog/phaen/2007/09/03/entry-1)
สันนิษฐานว่าคนไทยน่าจะเริ่มตัดผมยาวประบ่าในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างช้า จดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) บันทึกเรื่องการไว้ผมประบ่าว่า เป็นทรงผมของชายหนุ่มและหญิงสาว และมีการถอนไรจุกผมรอบเรือนผมบนกระหม่อม
“ชายหนุ่มและหญิงสาวที่อยู่ในวัยที่จะมีเรือนได้แล้ว ก็ไว้ผมแปลกไปอีกทำนองหนึ่ง คือใช้กรรไกรหนีบตัดผมกลางกระหม่อมเสียสั้นเกรียน ครั้นแล้วรอบเรือนผมนั้นเขาถอนออกมาเป็นกระจุกเล็กๆ กระจุกหนึ่ง มีความหนาขนาดเรียกเอกิวขาวสองเหรียญ (ซ้อนกัน) และทางด้านล่างนั้นเขาก็ปล่อยให้มันงอกยาวออกไปจนเกือบประบ่า”
ที่น่าสนใจคือลาลูแบร์ระบุว่า เดิมชายหนุ่มก็ไว้ผมยาวเกือบประบ่าด้วย ทั้งนี้ปรากฏภาพเหมือนของคณะทูตสยามที่เดินทางไปฝรั่งเศสและโรมใน พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ของ คาร์โล มารัตตา (Carlo Maratta) จิตรกรชาวอิตาเลียน พบว่าภาพออกขุนชำนาญใจจงและออกหมื่นพิพิธราชาไว้ผมรอบศีรษะค่อนข้างยาวลงมาปรกคอดูใกล้เคียงกับสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุทธยา หมายเลข 5 ในขณะที่ออกขุนวิเศษภูบาลที่ไว้ผมยาวประบ่าแบบชัดเจน ชวนให้คิดว่านี่อาจเป็นทรงผู้ชายที่ลา ลูแบร์กล่าวถึงก็ได้
ผมประบ่าของผู้ชายไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสยามหลังจากนั้น แต่ยังพบว่ามีการไว้ในราชสำนักกรุงกัมพูชาอยู่ในสมัยหลัง ปรากฏในภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) ของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชาขณะยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ กับข้าราชบริพารชาวเขมรไว้ผมยาวประบ่าหลายคน
ภาพเหมือนออกขุนชำนาญใจจง และ ออกขุนวิเศษภูบาล ผลงานของ คาร์โล มารัตตา (Carlo Maratta) จิตรกรชาวอิตาเลียน วาดใน พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) ออกขุนชำนาญใจจงไว้ผมยาวลงมาปรกคอ ออกขุนวิเศษภูบาลไว้ผมยาวประบ่า
พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชาขณะยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ กับข้าราชบริพารชาวเขมรไว้ผมยาวประบ่า ถ่ายโดย เอมีล เฌเซลล์ (Émile Gsell) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866)
การผมยาวประบ่าไม่ได้เป็นที่นิยมมากเท่าผมสั้น เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นักธรรมชาติวิทยาและนายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตดัตช์ใน พ.ศ.2233 (ค.ศ. 1690) รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา บันทึกว่าในเวลานั้นคนไม่นิยมไว้ผมยาวด้วยเหตุที่ต้องโกนผมไว้ทุกข์ให้พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ มีแต่เจ้า (princes) และผู้หญิงบางคนเท่านั้นที่ยังไว้ผมยาว จึงอนุมานว่าผมยาวประบ่าน่าจะไว้กันในหมู่ชาววังเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านทั่วไปคงนิยมไว้ผมสั้น
ภาพสเก๊ตช์รูปผู้หญิงสยามของเค็มพ์เฟอร์มีลักษณะคล้ายผมประบ่าปลายงอน แต่ก็มีความยาวแค่ประมาณคอ ผมด้านบนไม่ได้ทำเป็นปีกชัดเจน แต่เหมือนหวีเสยไปด้านหลังมากกว่า
ซ้าย : ภาพสเก็ตช์ผู้หญิงสยามของ เอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมคณะทูตดัตช์เมื่อ พ.ศ. 2233 (ค.ศ. 1690) (ที่มาภาพ : Engelbert Kaempfer in Siam. (Engelbert Kaempfer Werke, Band 4) ) ขวา : ภาพวาดหญิงชาวโยทยา (ไทยสยาม) เขียนโดยจิตรกรพม่าเมื่อประมาณ ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) มีลักษณะใกล้เคียงกัน
วรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุทธยาตอนปลายคือ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ บรรยายความงามของผมสตรีที่ผมปีกยาวประบ่าและผมมวย มีการใช้แหนบถอนไรผมรอบปีกผมบนกระหม่อมสองแถวเป็นระเบียบสวยงาม
๏ ชมเผ้าเจ้าดำขลับ แสงยับยับกลิ่นหอมรวย
ประบ่าอ่าสละสลวย คือมณีสีแสงนิล
๏ ชมเกศดำขลับ เจ้าสาวสลวย
แสงระยับหอมรวย กลิ่นแก้ว
ละเอียดเสียดเส้นสวย ประบ่า
คือมณีเนื้อแล้ว คลับคล้ำ แสงนิล ฯ
๏ ไรน้อยรอยระเรียบ เปนระเบียบเทียบตามแนว
ริมเกล้าเพราสองแถว ปีกผมมวยรวยไรนาง
๏ ไรน้อยรอยแหนบทึ้ง ถอนแถว
เป็นระเบียบตามแนว รอบเกล้า
ริมเผ้าเพราพริ้งแวว แลเลิศ
ผมมวยรวยปีกเจ้า เรียบร้อยไรงาม ฯ
จิตรกรรมในสมุดข่อยมหาพุทธคุณ ศิลปะสมัยอยุทธยาตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 23 แสดงเหตุการณ์ในทศชาติชาดก ตอนมหาชนกชาดก นางสีวลีไว้ผมปีกยาวเลยบ่าลงไปถึงหลัง นางกำนัลไว้ผมปีกสั้นและผมมวยที่ท้ายทอย British Library, Or 14068, f.2r (ที่มาภาพ : http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?ref=Or_14068)
กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กล่าวถึงผมประบ่าไว้ว่า
๏ หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
นางอุทัยกลอนสวด สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุทธยา กล่าวถึงผมประบ่าว่า
๏ ผมเผ้าเฟื้อยเหนือบ่า เนื้อนมหน้างามอุดม
อ้อนแอ้นอรเอวกลม นวลละอองคือทองคำ
จิตรกรรมฝาผนังตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ ศิลปะสมัยอยุทธยาตอนปลาย แสดงภาพผู้หญิงชาววังไว้ผมปีกยาวประบ่า
จิตรกรรมในสมุดภาพไตรภูมิสมัยธนบุรี ฉบับกรุงเบอร์ลิน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) แสดงเหตุการณ์ตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้า หญิงผู้ติดตามของนางสุชาดาไว้ผมปีกยาวประบ่า ปลายผมม้วนงอนขึ้น Ident.Nr. II 650 V114-V115 © Foto: Museum für Asiatische Kunst der Staatlichen Museen zu Berlin - Preußischer Kulturbesitz
หลายแห่งวิเคราะห์ว่าหลังเสียกรุง พ.ศ. 2310 (ค.ศ. 1767) ผู้หญิงส่วนใหญ่เปลี่ยนมาตัดผมสั้นให้กลมกลืนกับผู้ชายเพื่อความสะดวกในการหลบหนีจากพม่า แต่ทั้งนี้ปรากฏหลักฐานชั้นต้นของ ลา ลูแบร์ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไว้นิยมผมสั้นมาตั้งแต่สมัยอยุทธยาแล้ว นอกจากนี้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังพบหลักฐานว่ามีการไว้ผมยาวประบ่าอยู่
“จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์” บันทึกว่า ใน พ.ศ. 2340 (ค.ศ. 1797) สมัยรัชกาลที่ 1 ราษฎรผู้หญิงนิยมตัด “ผมประบ่าสะเพิน”
“ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๕๙ ฝน ๔๐๐ ห่า น้ำมาก ได้กวางผู้เผือกตัว ๑ ขุดคลองมหานาค ราษฎรหนุ่มสาวเล่นเพลงครึ่งท่อน สักรวาดอกสร้อย ช้าหงส์ เล่นต่างๆ เอกเกริกทั้งปวง ชายตัดผมหย่ง หญิงตัดผมประบ่าสะเพิน กระทำรายทารัก จับพระเล่นลูกสวาสดิ องไกเซินหนีไปทางทเล”
จิตรกรรมฝาผนังหอไตรวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร กล่าวกันว่าเป็นฝีมือพระอาจารย์นาค จิตรกรในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัชกาลที่ 1 แสดงเหตุการณ์เรื่องมฆมาณพ ภรรยาทั้งสี่ของมฆมาณพคือ นางสุนันทา นางสุจิตรา นางสุธรรมา และนางสุชาดา ไว้ผมปีกยาวประบ่า (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ให้ข้อมูลว่า เจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 เป็นนางข้าหลวงของเจ้าฟ้าจันทวดี พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยกรุงธนบุรียังคงถวายงานรับใช้ไปเฝ้าแหนอยู่ตามเดิม (น่าจะคลาดเคลื่อน เพราะพระราชพงศาวดารระบุว่าเจ้าฟ้าจันทวดีสิ้นพระชนม์ระหว่างตกเป็นเชลยที่ค่ายโพธิ์สามต้น ที่ถูกควรเป็นเจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งพบหลักฐานว่ายังมีพระชนม์ชีพมาจนถึงรัชกาลที่ 1) เจ้าครอกทองอยู่ไว้ผมประบ่าเสมอมา
“คนทั้งหลายจึงเรียกท่านผู้หญิงทองอยู่ว่า เจ้าข้างในวังหลังบ้างเจ้าข้างในทองอยู่บ้าง เจ้าครอกทองอยู่บ้าง เจ้าครอกทองอยู่นี้ไว้ผมประบ่า ตั้งแต่ยังเปนข้าหลวงอยู่จนขึ้นไปเปนท่านผู้หญิง และลงมาเปนเจ้าข้างในวังหลัง ก็ยังไว้ผมประบ่าอยู่อย่างเดิม”
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม ฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงภาพหญิงไว้ผมยาวประบ่า ถอนไรจุกเป็นรอยรอบปีกผมบนกระหม่อม (ที่มาภาพ : เว็บไซต์ฐานข้อมูลจิตรกรรมฝาผนังภาพเกี่ยวกับอาหาร และการกินอยู่สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังมีภาพหญิงไว้ผมยาวประบ่าปะปนกับผมสั้นอยู่หลายแห่ง ทั้งปล่อยยาวลงมาตรงๆ แนบไปกับต้นคอ หรือมีปลายผมงอนม้วนขึ้น
เช่นเดียวกับวรรณกรรมหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน สมัยรัชกาลที่ 2 ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ขุนแผนไปพบนางแก้วกิริยานอนกหลับอยู่ มีการบรรยายว่านางแก้วกิริยาไว้ผมประบ่า ปลายผมงอน
๏ เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงตํ่า คมขำงามแชล่มแจ่มใส
คิ้วคางบางงอนอ่อนละไม รอยไรเรียบรับระดับดี
ผมเปลือยเลื้อยประลงจนบ่า งอนปลายเกศาดูสมศรี
ที่นอนน้อยน่านอนอ่อนดี มีหมอนข้างคู่ประคองเคียง
.
เพลงยาวคุณสุวรรณ ว่าด้วยพระอาการประชวร กรมหมื่นอับศรสุดาเทพ บรรยายการทำผมของนางข้าหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า
คุณเครื่องผลัดตัดไผลดังไก่แจ้ ปีกออกแปล้ไว้ให้ยาวแล้วสะสาง
ข้างหม่อมขำตัดฉลวยสวยสำอาง เจ็กเหลียนสางหางหนูไหมไว้หน้าตา
ทั้งคุณพี่หนูพะยอมตัดพร้อมพรั่ง อนิจจังแต่คุณแม่แลดังบ้า
พิศอิกทีหนึ่งก็ดีเหมือนตุ๊กตา ผมประบ่าตั้งไว้เล่นพอเปนที
.
ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิตวงศ์ ทรงมีพระหัตถเลากราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “พระยามหาเทพ (ถวิล)ยังบอกว่า ได้เห็นย่าของท่านไว้ “ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร””
พระยามหาเทพ (ถวิล) เข้าใจว่าคือ พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ถวิล อมาตยกุล) เกิดใน พ.ศ. 2396 ต้นรัชกาลที่ 4 มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามหาเทพในสมัยรัชกาลที่ 5 ปู่คือพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) ซึ่งมีชีวิตตั้งแต่ปลายกรุงธนบุรีถึงรัชกาลที่ 3 แสดงว่าในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ยังมีผู้หญิงที่ไว้ผมยาวประบ่าอยู่
แต่ในช่วงรัชกาลที่ 4 ผมปีกยาวประบ่าเห็นจะไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวสยามแล้ว พิจารณาจากหลักฐานภาพถ่ายที่ผมว่าผู้ส่วนใหญ่ต่างตัดผมปีกสั้นกันหมด จนกระทั่งในต้นรัชกาลที่ 5 ราชสำนักเปลี่ยนค่ามาไว้ผมยาวตามค่านิยมแบบตะวันตก โดยมีเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) พระสนมเอกเป็นผู้เลิกไว้ผมปีกเปลี่ยนมาไว้ผมยาวประบ่าเป็นคนแรก ซึ่งผมด้านบนกระหม่อมก็ไม่ได้ผมเป็นผมปีกกันไรอย่างโบราณแล้ว ต่อมาชาววังต่างพากันทำตามจนผมปีกอย่างโบราณสูญหายไปในที่สุด
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) พระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 เป็นผู้หญิงที่เลิกไว้ผมปีกเปลี่ยนมาไว้ผมยาวประบ่าตามแบบค่านิยมตะวันตกเป็นคนแรกในราชสำนักสยาม ในภาพไว้ผมยาวประบ่าแสกกลาง แต่ไม่ได้ผมตัดผมบนกระหม่อมเป็นผมปีกอย่างโบราณ
ผมประบ่าแบบใหม่พบว่าไว้เพียงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 เท่านั้น ในช่วงกลางถึงปลายรัชกาลที่ 5 พบว่าสตรีนิยมไว้ผมดอกกระทุ่ม ผมด้านหลังมักไว้สั้นแค่คอ แต่บางคนก็ไว้ยาวลงมาประบ่าคล้ายแบบโบราณก็มีอยู่บ้าง เจ้านายที่ทรงพระเยาว์มักไว้พระเกศายาว
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้พระเกศกทรงดอกกระทุ่ม ด้านหลังปล่อยยาวประบ่า
บรรณานุกรม
ภาษาไทย
- กรมศิลปากร. (2545). วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 3. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.
- กรมศิลปากร. (2542). สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- กรมศิลปากร. (2552). สมุดภาพไตรภูมิฉบับอักษรขอม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
- คุณสุวรรณ. (2463). ประชุมเพลงยาว ภาคที่ 3: เพลงยาวคุณสุวรรณ ว่าด้วยอาการพระประชวรกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. [พิมพ์แจกในการกฐินพระราชทานมหาอำมาตย์โท พระยาราชนกูล (อวบ เปาโรหิตย์) ณวัดพนัญเชิง ปีวอก พ.ศ. 2463].
- จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์. (2464). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ประชุมเพลงยาว ภาคที่ ๓ เพลงยาวคุณสุวรรณ ว่าด้วยพระอาการประชวร กรมหมื่นอับศรสุดาเทพ.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. (2548). จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- อเนก นาวิกมูล. (2525). หนังสือชุด กรุงเทพฯ สองศตวรรษ การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.
.
ภาษาต่างประเทศ
- Terwiel, B.J.,(Ed.). (2003). Engelbert Kaempfer in Siam. (Engelbert Kaempfer Werke, Band 4). München: Iudicium Verlag.
.
เว็บไซต์
https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์/บริจเฉท-๘-เครื่องว่าง
https://vajirayana.org/นางอุทัยกลอนสวด
https://vajirayana.org/ขุนช้างขุนแผน-ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ/ตอนที่-๑๗-ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง-ได้นางแก้วกิริยา
http://www.human.cmu.ac.th/.../hc/ebook/006216/006216-02.pdf
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
1 บันทึก
1
3
1
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย