17 เม.ย. 2021 เวลา 13:02 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เรียนรู้เศรษฐศาสตร์ผ่านหนังดัง
ทฤษฎีเกม คลองสุเอซ เรือบรรทุกสินค้า และโจรสลัด มันเกี่ยวอะไรกัน?
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา การค้าทั่วโลกคงเอาใจช่วยกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เรือบรรทุกตู้ขนสินค้าขนาดยักษ์ Ever Given หลุดออกจากการเกยตลิ่งขวางคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากหากจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางเรือไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปจะต้องใช้เวลานานกว่าเดิมราว 2 สัปดาห์ เผชิญกับความเสี่ยงทางด้านต้นทุน และสภาพอากาศแปรปรวน อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยงที่จะเจอโจรสลัดในบริเวณนอกชายฝั่งโซมาเลีย อีกด้วย
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาแนะนำหนังดังอีกเรื่องหนึ่ง คือ Captain Phillips (2013) ที่ Tom Hanks เล่นเป็นพระเอก ซึ่งสร้างมาจากเรื่องจริงของการจี้เรือ Maersk Alabama ของโจรสลัดโซมาเลีย เมื่อปี 2009
ในเนื้อเรื่อง กัปตัน Richard Phillips ควบคุมเรือบรรทุกสินค้า เรือลำดังกล่าวไม่เข้าคลองสุเอซ แต่ผ่านไปใกล้กับแถบโซมาเลีย ซึ่งได้ถูกโจรสลัดโซมาเลีย 4 คนบุกขึ้นมาบนเรือ จับเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่
หนังมีความยาวกว่า 2 ชั่วโมงที่เต็มไปด้วยความลุ้นระทึกและบทสนทนาอันแยบคายที่ทำให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโซมาเลียที่บางครั้งต้องยอมทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายเพื่อหาเลี้ยงชีพ
จะว่าไปแล้ว จากมุมมองของวิชาเศรษฐศาสตร์ การเรียกค่าไถ่ก็ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่ผู้ลักพาตัวจำเป็นจะต้องชั่งน้ำหนักดูว่า (1) ความเสี่ยงที่จะถูกจับและถูกลงโทษนั้นมากหรือน้อยกว่า (2) ผลตอบแทนที่จะได้รับหากทำสำเร็จ ภายใต้ (3) เงื่อนไขของตลาด ซึ่งในที่นี้ก็ คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุด
สิ่งที่น่าสนใจที่หลายคนชอบถามในประเด็นนี้ ก็คือ “ทำไมท้ายที่สุดแล้ว จึงไม่ค่อยมีการจ่ายเงินเพื่อไถ่ตัวตามจำนวนที่เรียกร้องไว้เท่าไรนัก”
ที่เป็นอย่างนี้เพราะ จริงๆ แล้วผู้เรียกค่าไถ่ ก็มักจะมีเหตุมีผลพอที่จะเลือกปล่อยตัวประกัน เอากำไรที่แม้ไม่มาก แต่ดีกว่าที่จะต้องไปรับผลที่รุนแรงทางกฎหมาย
ในหนังสือ Kidnap: Inside the Ransom Business คุณ Anna Shortland ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยนำกรอบแนวคิดทฤษฎีเกมมาประยุกต์ใช้
ทฤษฎีนี้ สามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ จากตารางประกอบข้างบน (ตารางนี้เรียกว่า payoff table ที่สมมุติขึ้นมา) ซึ่งแสดงถึงผลตอบแทนที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับ จากทางที่สองฝ่ายตัดสินใจเลือกเดิน โดยตัวเลขฝั่งซ้ายแสดงถึงผลตอบแทนที่ผู้เจรจาได้รับ และตัวเลขฝั่งขวาแสดงถึงผลตอบแทนที่ผู้เรียกค่าไถ่จะได้รับ
เรามาเริ่มโดยดูผลตอบแทนของฝั่งผู้เจรจาก่อน โดยดูได้ที่คอลัมน์แรก ในกรณีที่ผู้เรียกค่าไถ่เลือกจะทำร้ายตัวประกันนั้น ผลตอบแทนที่ผู้เจรจาจะได้รับคือ -9 เมื่อเลือกจ่ายเงิน (คิดง่ายๆ คือจ่ายค่าไถ่ตัว 4 ล้าน บวกค่าเสียหายอีก 5 ล้านจากการที่ตัวประกันถูกทำร้าย) และ -5 เมื่อเลือกที่จะไม่ยอมจ่ายเงิน ด้วยเหตุนี้ ผู้เจรจาที่มีเหตุผลย่อมเลือกที่จะไม่จ่ายเงิน เนื่องจากถ้ายังไงตัวประกันจะโดนทำร้าย เราก็ไม่ควรจะจ่ายค่าไถ่ จึงทำให้ผลลัพธ์กรณีที่ไม่จ่ายเงินดีกว่ากรณีที่จ่ายเงิน
1
กลับมาดูที่แถวที่ 2 ที่เป็นฝั่งผู้เรียกค่าไถ่บ้าง สมมติว่าผู้เจรจาไม่ยอมที่จะจ่ายเงิน ผลตอบแทนที่ผู้เรียกค่าไถ่จะได้รับเมื่อทำร้ายตัวประกันคือ -3 (โทษจากการทำร้ายตัวประกัน บวกกับโทษจากการเรียกค่าไถ่) และผลตอบแทนเมื่อปล่อยเหยื่อคือ -1 (โทษจากการเรียกค่าไถ่อย่างเดียว) เนื่องจากการทำร้ายตัวประกันจะมีผลพวงตามมา ก็คือการถูกลงโทษอย่างรุนแรงตามกฎหมายหากถูกจับได้ ดังนั้นผู้เรียกค่าไถ่จึงมีเหตุผลที่จะพยายามเลือกปล่อยตัวประกันโดยปลอดภัย หากเป็นไปได้
ในตารางดังกล่าว เมื่อลองพิจารณาทุกกรณี ทุกทางออกที่จะเป็นไปได้ประกอบกัน จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้เจรจาจะเลือกจ่ายเงินหรือไม่ยอมจ่าย ผู้เรียกค่าไถ่ก็เลือกที่จะปล่อยตัวมากกว่าทำร้ายตัวประกัน จึงกล่าวได้ว่าการเลือกที่จะปล่อยตัวประกันในท้ายที่สุด เป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าการทำร้ายตัวประกัน เพื่อหลีกเลี่ยงและไม่ต้องมีโทษที่รุนแรงติดตัวต่อไป
ขณะเดียวกันผู้เจรจาจะมีความเสียหายน้อยกว่าเช่นกัน เมื่อเลือกที่จะไม่จ่ายในทันที และพยายามเจรจาต่อรองก่อน ดังนั้น การเลือกที่จะไม่ยอมจ่ายจึงเป็นกลยุทธ์หลักของผู้เจรจา
จากทั้งหมดนี้ กรณีมุมขวาล่างที่ผู้เจรจาไม่ยอมจ่ายเงินและผู้เรียกค่าไถ่ยอมปล่อยตัวประกัน จึงเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุด
นักเศรษฐศาสตร์เรียกกรณีเช่นนี้ว่า Nash Equilibrium¹ ซึ่งในชีวิตจริง แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่ผู้เรียกค่าไถ่จะทำร้ายตัวประกัน ถ้าไม่ได้รับเงินตามที่ต้องการ แต่จากทฤษฎีเกมข้างต้น ทำให้เรารู้ว่าผู้เรียกค่าไถ่จะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และผู้เจรจาก็สามารถเจรจาต่อรองค่าไถ่ลงมาได้ ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้ว ตัวประกันถูกปล่อยตัวมาอย่างปลอดภัยถ้าได้รับค่าไถ่ที่สมเหตุสมผล
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้น การเรียกค่าไถ่เป็นเหมือนธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่เมื่อพิจารณาถึงหลักการของต้นทุน-ผลตอบแทนแล้ว ผู้เรียกค่าไถ่ก็ย่อมปล่อยตัวประกัน เมื่อต้นทุนของการกักตัวไว้ต่อนั้นมากกว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับหากเรียกค่าไถ่เพิ่มนั่นเอง
ส่วนหนังเรื่องนี้ จะจบลงตามที่ทฤษฎีเกมทำนายไว้หรือไม่ ผู้อ่านคงจะต้องไปลุ้นกันต่อเอาเอง แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้เห็นในหนัง ก็คือ ความยากจนและสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของคนโซมาเลียที่ได้กลายเป็นแรงจูงใจหนึ่ง บีบบังคับให้เกิดการกระทำเช่นนี้เพื่อนำค่าไถ่มาเลี้ยงชีพ ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปในหลายมิติอย่างกว้างขวาง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุนี้ การจะแก้ปัญหาการเรียกค่าไถ่ในแถบแอฟริกาให้ได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล รัฐบาลต่างประเทศ NGOs ภาคประชาสังคม ครอบครัว และกลุ่มที่มีความเปราะบาง ในรูปแบบของนโยบายและแนวทางที่ช่วยลดความยากจนอย่างจริงจัง และเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เพื่อให้คนมีช่องทางในการประกอบสัมมาชีพ เพื่อสร้างรายได้ในชีวิตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการไปเป็นโจรเรียกค่าไถ่อย่างผิดกฏหมาย ....
หมายเหตุ¹ : วันหลัง Bnomics จะมาพาไปวิเคราะห์หนังดังอีกเรื่อง ก็คือ A Beautiful Mind ซึ่งเกี่ยวกับคุณ John Nash นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้ได้คิดค้น Nash Equilibrium ตั้งแต่อายุเพียง 22 ปี ซึ่งปรากฏในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาที่ยาวเพียง 28 หน้าเท่านั้น (วิทยานิพนธ์ฉบับนี้คงเป็นหนึ่งในฉบับที่สั้นสุดในโลกแน่ๆ)
A Beautiful Mind : https://bit.ly/3dquW9J
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ
เรียนรู้เศรษฐศาสตร์หนังดัง ตอนที่ 1 ‘Shawshank Redemption’ : https://bit.ly/2Q3gvj7
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook: Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐศาสตร์ #Economics #NashEquilibrium #CaptainPhillips #Tomhanks #คลองสุเอซ #EverGiven
References
- Kidnap: Inside the Ransom Business
- An Analysis of the Causes and Consequences of Kidnapping in Nigeria
- Socio-Economic Effects of Kidnapping in South-East Nigeria

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา