18 เม.ย. 2021 เวลา 06:51 • ธุรกิจ
โปรตีนจากหนอนและแมลง…ทางเลือกที่รอการพิสูจน์
เมื่อสำนึกรักต่อสิ่งแวดล้อมถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมการบริโภค ทางออกของโปรตีนจากหนอนและแมลงจะอยู่ที่ไหน?
จากความต้องการโปรตีนที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้พอเพียงกับการเลี้ยงประชากรโลก หนอนและแมลงจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโปรตีนทางเลือกจากจุดเด่น 3 ประการ คือ (1) ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น (2) เป็นแหล่งโปรตีนสูงเทียบต่อน้ำหนักตัว และ (3) ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ โดยมีการคาดการณ์ถึงอัตราการเติบโตของตลาดหนอนและแมลงเฉลี่ยอยู่ที่ 31.48% ต่อปี และแม้ว่าในอดีตหนอนและแมลงจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่ก็มีประชากรถึง 2 พันล้านคนบนโลก ครอบคลุม 133 ประเทศที่รับประทานหนอนและแมลง และบนโลกนี้เองก็มีหนอนและแมลงที่รับประทานได้มากกว่า 2 พันสายพันธุ์
หนอนและแมลงแต่ละสายพันธุ์มีปริมาณโปรตีนแตกต่างกันแต่เฉลี่ยจะมีประมาณ 40-70% ต่อน้ำหนักแห้ง นอกจากโปรตีนแล้วยังมีผลพลอยได้อื่นที่สำคัญ คือ ไขมันและเปลือก โดยไขมันในหนอนและแมลงแตกต่างจากไขมันในสัตว์ตรงที่มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFA) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกายสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเสริมและเครื่องสำอางได้เป็นอย่างดี ขณะที่เปลือกของแมลงจะมีส่วนประกอบของไคตินเช่นเดียวกับเปลือกกุ้งและเปลือกปู โดยนำมาสกัดเป็นไคโตซานช่วยบำรุงต้นพืชหรือเป็นวัสดุชีวภาพ
โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการผลิตหนอนและแมลง จากองค์ความรู้ในการเลี้ยง การบริโภค รวมถึงลักษณะภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง และมีหนอนและแมลงที่บริโภคได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ อีกทั้งเริ่มมีการส่งเสริมจัดทำระบบการเลี้ยงเพื่อให้ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน GAP ของฟาร์มจิ้งหรีด มกษ.8202/2560 โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ซึ่งความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับเกษตรกรไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก
ขณะที่ความกังวลในการเติบโตของธุรกิจโปรตีนจากหนอนและแมลงมาจากการยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งมีการวิจัยระบุว่า ผู้คนจะรับประทานหนอนและแมลงเมื่อต้องการความสนุกและความตื่นเต้น เป็นเวลาที่อยู่ร่วมกันกับเพื่อนมากกว่าญาติหรือคู่รัก ในสถานที่คือมหกรรมอาหารหรือผับ นอกจากนี้การศึกษาอีกงานหนึ่งระบุว่า จะมีคนที่ต้องการลองทานหนอนและแมลงประมาณ 58% จากกลุ่มที่สอบถาม แต่จะเหลือเพียง 18% หากจะต้องทานซ้ำหรือทานเป็นประจำ และเหลือเพียง 3% ถ้าจะต้องทานทุกสัปดาห์ แต่การยอมรับที่จะทานเพิ่มขึ้นหากนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้การตัดสินใจในการรับประทานก็ขึ้นอยู่กับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณประโยชน์ต่อร่างกาย ราคา และการหาซื้อได้ง่าย
 
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ความปลอดภัยสำหรับการบริโภค เนื่องจากหนอนและแมลงจัดอยู่ในกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้เช่นเดียวกับกุ้งและปู แม้ยังมีข้อมูลด้านการแพ้ไม่เพียงพอแต่ทางทวีปยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารก็ยังจำกัดการนำเข้าและรับประทาน และจะต้องระบุบนฉลากว่า อาจจะก่อให้เกิดการแพ้ในคนที่แพ้กุ้งหรือปู ซึ่งกฎระเบียบอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในยุโรปก็มีบริษัท startup มากมายที่มาทำธุรกิจด้านโปรตีนจากแมลง เช่น Ynsect ทุนสนับสนุน 214 ล้านยูโร, AgriProtein ทุนสนับสนุน 111 ล้านยูโร, Innovafeed ทุนสนับสนุน 56.8 ล้านยูโร, Protix Biosystems 45 ล้านยูโร เป็นต้น และมีอีกหลายบริษัททั่วโลก เช่น จิ้งหรีด (Grilo Protein, Entis), ด้วง (Hey Planet), หนอนแมลงวันลาย (Wilder Harrier), ระบบเลี้ยง (BeoBia, Ensectable), ผลิตภัณฑ์แปรรูป (Beneto Foods, Plumento Foods, Insnack, Swarm, Wicked Cricket, Isaac Nutrition)
ขณะที่ในประเทศไทยก็เริ่มบริษัทที่ทำด้านโปรตีนแมลง ได้แก่ Orgafeed, Bugsolutely, A Bug Food, Thai Ento Food, Kokoonic หรือแม้กระทั่ง ไทยยูเนียน (SET:TU) เจ้าของแบรนด์ปลาทูน่ารายใหญ่ ก็ให้ความสำคัญในธุรกิจด้านนี้และร่วมลงทุนในบริษัทโปรตีนทางเลือกจากแมลง เป็นจำนวน 5 ล้านเหรียญ ซึ่งจากจุดนี้เองก็ต้องมาพิสูจน์ว่าหนทางของโปรตีนทางเลือกจากแมลงจะสามารถครองใจผู้บริโภคได้หรือไม่
…………………………….
Jongema, Y. (2017). List of edible insects of the world. Wageningen University: The Netherlands. https://t.ly/SJ7c
…………………………….
Churchward-Venne, T. A., Pinckaers, P. J. M., van Loon, J. J. A., & van Loon, L. J. C. (2017). Consideration of insects as a source of dietary protein for human consumption. Nutr Rev, 75(12), 1035–1045. doi:10.1093/nutrit/nux057
…………………………….
Raksakantong, P., Meeso, N., Kubola, J., & Siriamornpun, S. (2010). Fatty acids and proximate composition of eight Thai edible terricolous insects. Food Res Int, 43(1), 350–355. doi:10.1016/j.foodres.2009.10.014
…………………………….
Durst, P. B., & Hangboonsong, Y. (2015). Small-scale production of edible insects for enhanced food security and rural livelihoods: experience from Thailand and Lao People’s Democratic Republic. J Insects Food Feed, 1(1), 25-31
…………………………….
Motoki, K., Ishikawa, S., Spence, C., & Velasco, C. (2020). Contextual acceptance of insect-based foods. Food Qual Prefer, 85, 103982.
…………………………….
House, J. (2016). Consumer acceptance of insect-based foods in the Netherlands: Academic and commercial implications. Appetite, 107, 47-58.
…………………………….
5 Top Food Tech Startups Offering Edible Insects https://t.ly/2u3L
…………………………….
These 10 promising insect-focused food tech startups in Europe aim to redefine the food chain https://t.ly/Tbhd
…………………………….
‘ทียู’ ลงทุนผลิตโปรตีนแมลง ผนึกสตาร์ตอัพอิสราเอลดันนวัตกรรม
…………………………….
#BiotechAnalyst #FutureIsNow #TheFuturist #WormAndInsect #AlternativeProtein #FutureFood
โฆษณา