18 เม.ย. 2021 เวลา 07:35 • ประวัติศาสตร์
การถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา แนวคิดความศรัทธาตามพระคัมภีร์อนาคตวงศ์ของชาวสยาม
ในดินแดนสยามสมัยโบราณ มีหลักฐานประวัติศาสตร์คือจารึกจำนวนมากที่กล่าวถึงพุทธศาสนิกชนได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อสร้างบารมีในพระพุทธศาสนา โดยแสดงความปรารถนาพระโพธิญาณ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเข้าถึงพระนิพพาน
การสร้างบารมีในอรรถกถาทางพุทธศาสนามีหลายระดับ ตั้งแต่ทานบารมีทั่วไป จนถึงบารมีระดับสูงสุดคือปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีพุทธศาสนิกชนบางคนที่ศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงขนาดทรมานสังขารหรือถวายชีวิตตนเองเป็นพุทธบูชาเพื่อบำเพ็ญปรมัตถบารมี ให้ได้บรรลุพระโพธิญาณ ซึ่งในยุคปัจจุบันอาจเป็นเรื่องที่วิปริตผิดแผกไปจากบรรทัดฐานความเชื่อของพุทธศาสนิกชนยุคปัจจุบันอย่างมาก แต่สำหรับในสังคมสมัยอยุทธยาและรัตนโกสินทร์ แนวคิดเช่นนี้กลับเป็นที่ยอมรับนับถือจากคนจำนวนไม่น้อย
รูปนายเรือง ผู้เผาตัวตายใน พ.ศ. 2333 สมัยรัชกาลที่ 1 ที่วัดอรุณรามวราราม วรมหาวิหาร (ที่มาภาพ : https://www.watarun1.com/th/architecture-detail/61)
แนวคิดเช่นนี้ในดินแดนสยาม ศรัณย์ ทองปาน เสนอว่าได้อิทธิพลมาจากพระคัมภีร์ “อนาคตวงศ์” ซึ่งมีอยู่สองฉบับ ฉบับร้อยกรองแต่งโดยพระกัสสปเถระชาวอินเดียใต้ มีชีวิตในช่วง พ.ศ. 1703-1773 ฉบับร้อยแก้วแต่งขึ้นในประเทศไทยก่อนไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไท (สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในล้านนา) ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงสยาม
3
เนื้อหาของคัมภีร์นี้กล่าวถึง “ทศโพธิสัตตุปปัติกถา” ว่าด้วยพุทธประวัติของพระอนาคตวงศ์ หรือพระอนาคตพุทธเจ้า 10 พระองค์ ได้แก่ พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า พระรามพุทธเจ้า พระธรรมราชาพุทธเจ้า พระธรรมสามีพุทธเจ้า พระนารทพุทธเจ้า พระรังสีมุนีพุทธเจ้า พระเทวเทพพุทธเจ้า พระนรสีหพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า และพระสุมังคลพุทธเจ้า
3
อนาคตพุทธเจ้าเหล่านั้นล้วนมีชาติกำเนิดที่แตกต่างหลากหลาย บ้างเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ บ้างเป็นขุนนาง บ้างเป็นสัตว์เดียรัจฉาน แต่มีลักษณะร่วมกันคือการบำเพ็ญกุศลในระดับอุกฤษฎิ์ ด้วยความเด็ดขาดรุนแรง เช่น
พระศรีอริยเมตไตรยสัมพุทธเจ้า เมื่อยังเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสังขะจักรพรรดิ หลังจากได้สดับฟังพระธรรมจากพระสิริมัตตะพุทธเจ้า ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระนิพพานอันเป็นธรรมเอก เป็นธรรมที่สุดในสรรพธรรม แม้ข้าพระองค์ตัดศีรษะอันเป็นอวัยวะสูงสุดในอวัยวะทั้งปวง ของข้าพระองค์ บูชาพระธรรมของพระองค์เป็นการบูชาพิเศษก่อน”
ครั้นตรัสแล้ว จึงทรงใช้พระนขา(เล็บ)ตัดพระเศียร ทรงวางพระเศียรไว้บนฝ่าพระหัตถ์ เป็นเศียรพระโพธิสัตว์ ตรัสพระคาถาบทหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสิริมัตตะพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงบรรลุอมตธรรมก่อนเถิด ด้วยการถวายศีรษะนี้ ข้าพระองค์ ขอบรรลุนิพพาน ในภายหลัง ดังนี้ฯ” หลังจากนั้นจึงจุติไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ผลจากการถวายศีรษะเป็นทานทำให้ทรงมีพระวรกายสูง 88 ศอก เพราะผลที่โลหิตไหลออกจากพระเศียรทำให้พระพุทธรัศมีส่องสว่างตั้งแต่อเวจีนรกถึงภวัคคพรหม เพราะผลแห่งหยาดพระโลหิตบนพระเศียรได้มีแสงสว่างจากพระอุณาโลมไม่มีกำหนด
3
พระอนาคตพุทธเจ้าองค์อื่นตามพระคัมภีร์อนาคตวงศ์ ยังมีการบำเพ็ญกุศลด้วยการจุดไฟไว้บนศีรษะถวายเป็นพุทธบูชา ยอมถูกประหารชีวิตเพื่อให้ได้ถวายไทยทานแก่พระพุทธเจ้าก่อนผู้ใด ยกโอรสธิดาให้ยักษ์กินเป็นทาน หรือในพระชาติที่เป็นพญาช้าง ก็ทรงอุทิศงาข้างหนึ่งสร้างเป็นโลง อีกข้างหนึ่งทำเป็นแจกันลายนกยูง และใช้ศีรษะเป็นที่ประชุมเพลิงสรีรศพของพระอรหัตสาวก
3
.
พระคัมภีร์อนาคตวงศ์เป็นหนึ่งในอุดมการณ์ที่ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยาใช้ในการส่งเสริมบารมีเพื่อสร้างสิทธิธรรมทางการปกครอง ใน “คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง” ได้อ้างอิงคัมภีร์อนาคตวงศ์ กล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเคยเสวยพระชาติเป็นช้างปาลิไลยก์ในครั้งพุทธกาล ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันว่าจะได้ตรัสรู้เป็นอนาคตพุทธเจ้า (คือพระสุมังคลพุทธเจ้า) ทรงรับคำเชิญจากพระอินทร์และเทพยดาให้จุติลงมาเสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุทธยาเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากกลียุค รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ถึง 5,000 ปี ทรงเป็น “หน่อพุทธางกูร” ที่เสด็จมาสร้างบารมีด้วยการลบศักราชระงับกลียุค และพระราชทานพระราชทรัพย์แก่ราษฎรยาจกวณิพกตามแบบแผนพระโพธิสัตว์ในกาลก่อน
1
สำหรับแนวคิดการบำเพ็ญกุศลในระดับอุกฤษฎิ์ตามแบบอนาคตพุทธเจ้าในพระคัมภีร์อนาคตวงศ์ พบหลักฐานว่าเป็นที่แพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวสยามมาตั้งแต่สมัยอยุทธยาเป็นอย่างช้า จดหมายเหตุของ ซีมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2230 (ค.ศ. 1687) รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกแนวคิดว่าด้วยการฆ่าตัวตายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาของชาวสยามในเวลานั้นว่า
“ชาวชมพูทวีปทั้งปวงคิดอยู่ว่า การฆ่าตัวตายนั้นมิชั่วแต่เป็นสิ่งที่พึงอนุญาตให้กระทำได้ เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นเจ้าของตัวของเขาเองเท่านั้น แต่หากเป็นความเสียสละอันมีประโยชน์แก่วิญญาณ ทำให้ได้บรรลุถึงซึ่งคุณธรรมขั้นสูงและความบรมสุข ด้วยประการฉะนี้ ด้วยประการฉะนี้ในลางครั้งจึงมีการผูกคอตายเป็นพุทธบูชากับต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเขาเรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระศรีมหาโพธิ (prá si mahà Pout) และในภาษาสยามเรียกว่า ต้นโพ (Ton pô)”
.
ลา ลูแบร์ ยังบันทึกเรื่องของชาวมอญผู้เผาตัวตายที่วัดสามพิหาร นอกเกาะเมืองกรุงศรีอยุทธยาว่า หลังจากตายไปแล้วก็นำซากศพไปหล่อเป็นรูปเคารพให้กราบไหว้บูชา ยกย่องเป็น “พระเที่ยงแท้”
3
“เมื่อ ๖ หรือ ๗ ปีที่แล้วมานี้ ชาวพะโคคนหนึ่งได้เผาตัวเองภายในโบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งชาวพะโคที่อยู่ในประเทศสยามเรียกว่า สามพิหาร (Sam Pihan) เขานั่งขัดสมาธิแล้วเอาน้ำมันชนิดหนึ่งทาตัวเสียหนาเตอะ หรือจะพูดให้ถูกก็เป็นน้ำยางชนิดหนึ่งแล้วก็จุดไฟขึ้น มีผู้เล่ากันว่าชาวพะโคผู้นั้นมีความไม่พอใจในครอบครัวของตน ที่แม้กระนั้นก็ยังมาร้องห่มร้องไห้อยู่เป็นหนักหนารอบๆ ตัว เมื่อถูกไฟครอกและเนื้อตัวไม้เกรียมไปแล้ว ก็มีผู้เอาปูนชนิดหนึ่งมาพอกกะเลวร่างของผู้ตายเข้าไว้ นำเอาไปเป็นแม่พิมพ์หล่อรูปขึ้นแล้วลงรักผิดทอง นำไปประดิษฐานไว้บนแท่นชุกชีเบื้องปฤษฏางค์พระปฏิมากรแห่งพระสมณโคดม เขาเรียกนักบุญจำพวกนี้ว่า พระเที่ยงแท้ (prá tian teé) เที่ยงหมายความว่า แท้ (véritable) แท้ หมายความว่า แน่นอน (assurément). ชาวสยามเข้าใจศีลองค์แรกของเขาด้วยประการฉะนี้”
2
รูปนายนก ผู้เผาตัวตายใน พ.ศ. 2360 สมัยรัชกาลที่ 2 ที่วัดอรุณรามวราราม วรมหาวิหาร (ที่มาภาพ : https://www.watarun1.com/th/architecture-detail/62)
แนวคิดเช่นนี้ยังแพร่หลายอยู่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีทั้งหลักฐานกล่าวถึงการเผาตัวตายบูชาพระรัตนตรัย ตัดศีรษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงบูชา กรณีที่เป็นที่รู้จักมากคือนายเรือง (หรือบุญเรือง) และนายนก ผู้เผาตัวตายที่วัดอรุณราชวราราม และยังมีรูปเคารพอยู่จนถึงตอนนี้
นายเรืองเผาตัวตายใน พ.ศ. 2333 สมัยรัชกาลที่ 1 อย่างเปิดเผยต่อหน้าคน 500-600 คน หลังตายไปแล้วยังมีเหตุปฏิหาริย์ต่างๆ เกิดขึ้น ปรากฏในจารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว ที่วัดอรุณราชวรารามว่า
“รูปนี้รูปนายเรืองผู้เผาตัว ณ วัน ๖ ฯ ๓ ค่ำ เพลาทุ่มเศศ จุลศักราช ๑๑๕๒ ปีจอโทศก แต่ก่อนเมื่อเผาตัวประมาณ ๙ ๑๐ วันนั้น มีความว่า นายเรืองกับสหาย ๒ คนคือ ขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้าแลนายทองรัก ภากันไป ณ พระอุโบสถวัดครุฑ ต่างปรารถนาพุทธภูม เสี่ยงดอกบัวอ่อนคล่ดอก ว่าถ้าใครจะสำเรธแก่พระโพธิญาณแล้วขอให้ดอกบัวผู้นั้นจงบาน ครั้นรุ่งขึ้นก็บานแต่ดอกบัวของนาย ตั้งแต่นั้นนายเรืองก็มาอยู่ที่การบุเรียญเก่าวัดอรุณราชธาราม สมาทานอุโบสถศิล ฟังเทศนาเอาน้ำมันชุบสำลีเปนเชื้อพาดแขนทัง ๒ ข้างจุดไฟต่างประทีปทุกวัน จนถึงวัดเผาตัว นายเรืองฟังเทศนาจบแล้วก็นุ่งห่มผ้าชุปน้ำมันเดีรออกมาหน้าการบุเรียนนั่งพับเพียบพนมมือรักษาอารมณ์สงัดดีแล้วก็จุดไฟเผาตัวเข้า ขณะเมื่อเปลวไฟวูบขึ้นท่วมตัวนั้น นายบุญเรืองร้องว่า สำเรธปรารถนาแล้ว ขณนั้นคนซึ่งยืนดูอยู่ประมาร ๕ ๖ ร้อยเศศ บ้างก็ร้องสาธุการเปลื้องผ้าห่มโยนบูชาเข้าไปกองไฟ ชั้นแต่แขกพายนอกพระสาศนาก็ถอดหมวกคำนัพโยนเข้าไปในไฟด้วย ครั้นไฟโทรมแล้วคนที่มีศรัทธาช่วยกันยกศภใส่โลงไว้ในการบุเรียญ สวดพระอภิธรรม ๒ คืนแล้วภาศพไปเผาที่ทุ่งนาวัดหงษ เมื่อเผาศภไฟชุมนั้นปลาในท้องนาประมาณ ๑๑ ๑๒ ปลา โลดขึ้นมาในกองไฟตายด้วย ครั้นไฟดับแล้วเหนอัฐินายเรืองศรีเขียวขาวเหลืองขาบดูประหลาด ก็ชวนกันเกบอัฐิใส่ในโกฎดีบุก ไว้ในการบุเรียญเก่าวัดอรุณราชธาราม นี้”
3
.
3
นายนกเผาตัวตายใน พ.ศ. 2360 สมัยรัชกาลที่ 2 ต่างจากนายเรืองคือนายนกเผาตัวตายคนเดียวไม่มีผู้อยู่ในเหตุการณ์ ปรากฏในจารึกที่ฐานรูปนายนกผู้เผาตัว ที่วัดอรุณราชวรารามว่า
“จุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลู นพศก ที่วัดอรุณราชธาราม วันนั้นฝนตก (ตั้งแต่เวลาพลบจน ๑๑ ทุ่ม) จึงขาดเมลดแล้ว ครั้งเพลาเช้าขึ้นคนจึ่งมาเหนนายนกนั่งสมาธิเผาตัวตายอยู่ ภายใต้ต้นพระมหาโพธิ์หน้าพระวิหารเก่าแต่ไฟนั้นดับแล้ว อนึ่งเมื่อก่อนนี้ ประมาณเดือนเสศนายนกได้บอกญาติมิตรแลชาวบ้านที่ชอบใจกันว่าเราจะประพฤติสุจริตธรรมทําบุญรักษาศิลตั้งจิตร์ปราถนาพระนิพพานธรรม์ แต่นั้นมานายนกก็ประนิบัดมักน้อยละบ้านเรือนญาติมิตรเสียออกไปสมาทานศิลเจริญภาวนารักษาจิตร์อยู่ในการบุเรียญเก่า ณ วัดอรุณราชธารามจะได้เปนกังวลด้วยการซึ่งจะบํารุงกายแลกิจที่ จะบริโภคนั้นหามิได้เมื่อใครมีศัทธาให้อาหารก็ได้บริโภค บางทีอดอาหารมื้อหนึ่งบ้าง วันหนึ่งบ้าง ธรมาณตนมาจนวันเผาตัวตาย แต่เมื่อนายนกเผาตัวนั้นจะได้บอกกล่าวแก่ญาติมิตรผู้ใดผู้หนึ่งให้รู้หามิได้ คนทั้งปวงเมื่อเห็นศภนายนกเผาตัวตาย ก็มีศัทธาภากันมาทําบุญบังสกุลสการศภนายนก เปนอันมากฯ”
3
กรณีนายเรืองกับนายนกเผาตัวตายนั้นแสดงเห็นว่า คนจำนวนในยุคนั้นมองว่าเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงบำเพ็ญกุศลในระดับอุกฤษฎิ์ ทำให้ได้รับการยกย่องนับถือมากจนมีคนสร้างรูปเคารพไว้สักการะ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์เผาตัวตายอื่นอีก เช่น สามเณรสุกเผาตัวตายที่วัดหงส์ในรัชกาลที่ 1 หรือมีแม่ชีเผาตัวที่พระพุทธบาทเป็นต้น
.
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 เมื่อประชวรหนักแล้วทรงตั้งพระทัยจะใช้พระแสงแทงพระองค์เองถวายเป็นพุทธบูชา แต่ทรงถูกขัดขวางไว้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า
“ภายหลังเมื่อทรงพระประชวนมากแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสดจออกมาวัดพระมหาธาตุรับสั่งว่า จะนมัศการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงน่าพระประธานในพระอุโบสถ พระราชบัณฑูรดำรัศเรียกพระแสง รับสั่งว่า จะทรงจบพระหัถอุทิศถวายเปนราวเทียร ครั้นพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียรมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสง ทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครูหนึ่งแล้ว ทรงพระปรารถจะเอาพระแสงแทงพระองคถวายพระ ครั้งนั้นพระองคเจ้าลำดวนเจ้าปลุกปล้ำแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัถ ทรงพระโทมนัศทอดพระองค์ลงทรงพระกรรแสง ด่าแช่งพระองคเจ้าลำดวนต่าง ๆ เจ้านายเหล่านั้นก็ภากันเข้าปล้ำปลุกเชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยง แล้วเสด็จกลับเข้าพระบวรราชวัง เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัตเคืองพระองคเจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ ว่าภากันคุมเหงท่าน”
.
.
เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การถวายชีวิตหรือทรมานตนเองเป็นพุทธบูชาขัดต่อคำสอนในพระไตรปิฎก จึงทรงมีประกาศห้าม และทรงวางบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ห้ามปรามด้วย ดังปรากฏใน “ประกาศการถือสาสนาแลผู้ที่ถือผิด” ปีมะเมียสัมฤทธิศก พ.ศ. 2401 ความว่า
3
“...ถึงคนบางจำพวกที่เปนคนใกล้จะเสียจริตนับถือว่าใครทำได้เปนคนดีมีศรัทธาแก่กล้า จะเห็นว่าเปนบุญกุศลมาก ด้วยได้ฟังคำเล่าลือ แลได้ฟังพระสงฆ์บางรูปที่ไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพระไตรปิฎกธรรมให้รู้จริง มาเทศนาเลอะๆ ลามๆ ใกล้จะเสียจริต พรรณาสรรเสริญว่า เปนบุญเปนกุศลมาก แล้วหลงใหลเห็นตามไป เหมือนอย่างเผาตัวบูชาพระรัตนตรัย แลเชือดคอเอาศีร์ษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองเลือดใส่ตะเกียงตามบูชา แลทำการอื่นที่ขัดต่อราชการแผ่นดินก็ดีมีโดยชุกชุม เหมือนอย่างสามเณรสุกเผาตัวที่วัดหงสาราม แลนายเรืองนายนกเผาตัวบูชาพระที่หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แลนางชีผู้หนึ่งเผาตัวบูชาพระพุทธบาท เปนตัวอย่างเห็นอยู่ทั่วกันดังนี้
5
ผู้ครองแผ่นดินที่เปนธรรม แลท่านเปนคนฉลาดทั้งปวงไม่เห็นว่าเปนความดีความชอบด้วยเลยแต่สักสาสนาหนึ่ง ก็การเผาตัวบูชาพระก็ดี เชือดเนื้อรองโลหิตใส่ตะเกียงตามบูชาพระก็ดี ตัดศีร์ษะบูชาพระก็ดี เห็นว่าไม่ใช่ทางของคนฉลาด เปนหนทางของคนเสียจริต แลคนที่ใกล้จะเสียจริต ไม่ควรที่คนทั้งปวงจะเห็นว่าเปนการบุญการกุศลในพระพุทธสาสนา
5
นักปราชญ์ได้ค้นหาในพระคัมภีร์ที่ควรเชื่อได้ว่าเปนพระบาลีพุทธภาสิต ฤๅสาวกภาสิตในสาสนาก็ไม่พบเห็นเลยแต่สักแห่งหนึ่ง ว่าการทำอย่างนั้นเปนบุญเปนกุศล ถึงจะมีในหนังสือแปลร้อยที่พระสงฆ์ซุ่มซ่ามเทศนา ลวงสัปรุษที่โง่ๆ ตื่นๆ ให้นับถืออยู่บ้างก็ดี เมื่อพิเคราะห์ดูจริงๆ ก็เห็นว่าไม่ใช่สำนวนในพระสาสนา ชรอยจะเปนสำนวนของคนที่โง่ๆ ตื่นๆ ใกล้จะเสียจริตแน่แล้ว อย่าให้ใครเชื่อฟังเอาเปนตัวอย่างเลยเปนอันขาด ถึงในพระวินัยบัญญัติก็ให้ห้ามไว้ มิให้พระสงฆ์ชักชวนคนให้ฆ่าตัว ถ้าพระสงฆ์รูปใดชักชวนมนุษย์ให้ตายด้วยวจีประโยคก็เปนปาราชิก เพราะฉนั้นจึงเห็นว่าไม่ใช่การบุญการกุศล ไม่ควรจะอนุโมทนายอมตามเลย เปนการขัดต่อแผ่นดิน ถึงในพระสาสนาอื่นๆ ก็เห็นว่าจะไม่มีใครสรรเสริญว่าเปนความดีมีความชอบแต่สักแห่งเลย
3
เพราะฉนั้นตั้งแต่นี้สืบไปอย่าให้ใครเผาตัวบูชาพระ ตัดศีร์ษะบูชาพระ เชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระเลยเปนอันขาด เพราะว่าเปนการขัดต่อราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ใดได้เห็นใครเผาตัวบูชาพระ ฤๅตัดศีร์ษะเชือดเนื้อรองโลหิตตามตะเกียงบูชาพระก็ดี ฤๅได้เห็นใครผูกฅอตายโจนน้ำตายก็ดี ก็ให้เข้าช่วยว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธเสีย อย่าให้ผู้นั้นทำได้ ถ้าตัวผู้เห็นคนเดียวกำลังน้อยฤๅกลัวศัสตราวุธ จะเข้าแย่งชิงมิได้ ก็ให้ร้องบอกเรียกผู้อื่นมาให้ช่วยกันห้ามปราม ผู้ซึ่งได้รู้เห็นแลจะนิ่งดูดายเสียไม่ห้ามปราม ฤๅจะพลอยเห็นว่าได้บุญได้กุศลนั้นไม่ได้ ถ้าผู้ใดได้รู้เห็นแล้วดูดายเสีย ไม่ว่ากล่าวห้ามปรามแย่งชิงเครื่องศัสตราวุธ ฤๅไม่ช่วยตัดเชือกก็ดี จะให้ผู้นั้นเสียเบี้ยปรับตามรางวัดถ้าผู้รู้เห็นอยู่ในที่ใกล้”
1
ด้วยเหตุนี้แนวคิดการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา จึงน่าจะค่อยๆ สูญหายไปจากสังคมไทยในที่สุด แต่คงยังไม่ได้หมดไปโดยสิ้นเชิง ดังที่ปรากฏเหตุการณ์ทำนองเดียวกันเมื่อวานนี้
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. (2543). คำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
- จดหมายเหตุโหร ฉบับพระยาประมูลธนรักษ์. (2464). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2466). ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4 ประกาศปีมะเมีย พ.ศ. 2401. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. (2538). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับโรงเรียนสวนกุหลาบ. กรุงเทพฯ: แสงไทยการพิมพ์.
- ประภาส สุระเสน. (2553). พระคัมภีร์อนาคตวงศ์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. (2558). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. (2548). จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- ศรัณย์ ทองปาน. (2552). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์. ดำรงวิชาการ. 18(1), 102-115.
- ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ. (2561). ประวัติศาสตร์อยุธยาจากจารึก: จารึกสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ฯ.
.
ฐานข้อมูลจารึกแห่งประเทศไทย
- จารึกที่ฐานรูปนายนกผู้เผาตัว (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/715)
- จารึกที่ฐานรูปนายเรืองผู้เผาตัว (https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/703)
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา