19 เม.ย. 2021 เวลา 06:03 • กีฬา
PORTLAND JAIL BRAZERS : ตำนานการ "รวมกุ๊ย" แห่ง NBA ที่ "เกือบ" ไปถึงดวงดาว | MAIN STAND
เสพกัญชาบนรถ, แอบพกกัญชาขึ้นเครื่องบิน, พยายามข่มขืนพี่เลี้ยงเด็ก, ติดคดีทำร้ายร่างกายหลายครั้ง, ข่มขู่กรรมการ และทารุณกรรมสัตว์
นี่ไม่ใช่พฤติกรรมของมาเฟียจากไหน แต่เป็นความผิดที่นักบาสเกตบอลจากทีม พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ร่วมใจกันก่อขึ้นในช่วงต้นยุค 2000s จนพาแฟรนไชส์ตกต่ำไม่เป็นท่าในเวลาต่อมา
พวกเขาถูกขนานนามว่า "Jail Brazers" รวมพลคนโคตรกุ๊ยแห่งเมืองพอร์ตแลนด์ แต่ถึงจะเลวแค่ไหน นักบาสเหล่านี้ก็เกือบจะคว้าแชมป์ NBA มาแล้ว
รวมพลคนโคตรกุ๊ย
เรื่องราวของเหล่า Jail Blazers เริ่มต้นขึ้น หลังการมาถึงของสมาชิกคนแรก ราชีด วอลเลซ นักบาสดาวรุ่งจากทีม วอชิงตัน บุลเล็ตส์ (วอชิงตัน วิซาร์ดส์ ในปัจจุบัน) ที่ถูกเทรดเข้ามาสู่ พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส เมื่อปี 1996
วอลเลซเพิ่งเล่นใน NBA เพียงฤดูกาลเดียว แต่ชื่อเสียงของเขาเริ่มจะเป็นที่รู้จัก ในฐานะจอมหัวร้อนของลีก เขาไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักบาสหน้าใหม่ที่ควรเคารพรุ่นพี่หรือกรรมการ วอลเลซพร้อมบวกกับทุกคนที่เขาเผชิญหน้าในสนาม ซึ่งท้ายที่สุด ความหัวร้อนของเขาจะนำมาสู่การฟาล์วทางเทคนิคนับไม่ถ้วน
Photo : www.quora.com
สมาชิกคนที่สองของแก๊ง ย้ายร่วมทีมเทรลเบลเซอร์ส ในปี 1996 เช่นเดียวกับวอลเลซ เขาคือ ไอเซอาห์ "เจ.อาร์." ไรเดอร์ ชูตติงการ์ดฝีมือดีจากทีม มินนิโซตา ทิมเบอร์วูล์ฟส์ ซึ่งมีดีกรีดราฟต์ลำดับ 5 จากปี 1993 และทำผลงานโดดเด่น ตั้งแต่ปีแรกของเขาใน NBA
ไรเดอร์ติดทีม NBA All-Rookie First Team เมื่อปี 1994 และยังคว้าตำแหน่งแชมป์ NBA Slam Dunk Contest ในปี 1994 เขาถือเป็นผู้เล่นตัวหลักของทิมเบอร์วูล์ฟส์ นับแต่นั้น
เหตุผลเดียวที่ทิมเบอร์วูล์ฟยอมเทรดซูเปอร์สตาร์ของทีม แลกกับสิทธิ์ดราฟต์รอบแรก และผู้เล่นสำรองของเทรลเบลเซอร์สสองราย นั่นเป็นเพราะ ความประพฤตินอกสนามของไรเดอร์ที่เข้าขั้นย่ำแย่
เขาถูกฟ้องในข้อหาเจตนาทำร้ายร่างกายผู้หญิงรายหนึ่งตั้งแต่ปี 1994 ก่อนการเทรดจะเกิดขึ้นไม่นาน ไรเดอร์ถูกจับที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในข้อหาครอบครองกัญชา และโทรศัพท์ผิดกฎหมาย สามอาทิตย์ต่อมา ไรเดอร์ถูกจับอีกครั้งในข้อหาเล่นการพนันผิดกฎหมายที่เมืองโอ๊กแลนด์
Photo : picassobaby.com
ความประพฤติของไรเดอร์ไม่ดีขึ้น แม้จะย้ายเป็นสมาชิกใหม่ของเทรลเบลเซอร์ส เขาถูกจับในข้อหาครอบครองกัญชาที่เมืองพอร์ตแลนด์ ตั้งแต่ก่อนจะลงเล่นเกมแรกให้กับทีมด้วยซ้ำ
แต่ไม่ว่าเรื่องนอกสนามของพวกเขาจะเป็นอย่างไร สองสมาชิกจากกลุ่ม Jail Blazers ประสบความสำเร็จในการพาทีมเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ ฤดูกาล 1996-97 เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นในซีซั่นถัดไป เทรลเบลเซอร์สจึงตัดสินใจดึงนักกีฬาเจ้าปัญหาอีกรายเข้าสู่ทีม
เดมอน สเตาดาไมร์ ถูกเทรดจาก โตรอนโต แร็ปเตอร์ส เข้าสู่ทีม ในช่วงกลางฤดูกาล 1997-98 เขาคือเจ้าของรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ประจำปี 1996 เมื่อบวกกับความจริงที่สเตาดาไมร์ เกิดและเติบโตในเมืองพอร์ตแลนด์ เขาจึงถูกยกย่องและคาดหวังว่าจะเป็นดาวดวงใหม่ที่พาแฟรนไชส์ไปสู่ความสำเร็จ
เทรลเบลเซอร์สผลงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พวกเขาครองแชมป์กลุ่มแปซิฟิค (ในตอนนั้น ปัจจุบันทีมนี้อยู่ในกลุ่มนอร์ธเวสต์ ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา) และเข้าสู่รอบชิงแชมป์สายตะวันตกในฤดูกาล 1998-99 ก่อนจบลงด้วยความพ่ายแพ้ 4 เกมรวดต่อ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส หลังจากจบซีซั่นดังกล่าว ทีมจึงตัดสินใจคว้าตัว สก็อตตี พิพเพน มาจาก ฮิวสตัน รอคเก็ตส์ ในการเทรดแบบ 6 แลก 1 ซึ่งถือเป็นหนึ่งการเทรดครั้งสำคัญของแฟรนไชส์
การเข้ามาของพิพเพนที่เป็นแชมป์ NBA หกสมัย ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในทีม หนึ่งในนั้นคือการจากไปของ ไอเซอาห์ "เจ.อาร์." ไรเดอร์ ที่ถูกเทรดไปอยู่กับ แอตแลนตา ฮอว์กส์ หลังจบฤดูกาล 1998-99 เพื่อดึงตัว สตีฟ สมิธ เข้าสู่ทีม
Photo : www.blazersedge.com
พิพเพน, วอลเลซ, สเตาดาไมร์, สมิธ และ อาวีดาส ซาโบนิส กลายเป็น 5 กำลังหลักที่พาเทรลเบลเซอร์สกลับสู่รอบชิงแชมป์สายตะวันตก ในฤดูกาล 1999-2000 พวกเขาขับเคี่ยวกับ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ที่อุดมด้วยซูเปอร์สตาร์อย่าง แชคีล โอนีล, โคบี ไบรอันท์ และยอดโค้ช ฟิล แจ็คสัน จนถึงเกมเจ็ด ก่อนแพ้เลเกอร์สหวุดวิดในเกมสุดท้าย ด้วยสกอร์ 84-89
ดูเหมือนว่า พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส จะอยู่ไม่ไกลจากการคว้าแชมป์ NBA สมัยที่สองของแฟรนไชส์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะนอกจากพวกเขาจะไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์แล้ว ขุนพล Jail Blazers จะสร้างเรื่องอื้อฉาวจนทำให้ภาพลักษณ์แฟรนไชส์พังยับเยิน
เลวจนกู่ไม่กลับ
พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ล้มเหลวในฤดูกาล 2000-01 กับความพ่ายแพ้สามเกมรวดต่อ แอลเอ เลเกอร์ส ในเกมเพลย์ออฟรอบแรก แต่การตกรอบอาจไม่ใช่ปัญหาที่พวกเขาควรใส่ใจ เท่ากับรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นในห้องแต่งตัว
วันที่ 15 เมษายน 2001 ในเกมระหว่าง เทรลเบลเซอร์ส กับ เลเกอร์ส ราชีด วอลเลซ เขวี้ยงผ้าเช็ดหน้าใส่ อาวีดาส ซาโบนิส ซึ่งถือเป็นผู้เล่นรุ่นเก๋าที่ทุกคนในวงการบาสเกตบอลให้ความเคารพ วอลเลซถูกทีมสั่งแบนหนึ่งเกม ส่วนซาโบนิสพูดคุยกับโค้ชและฝ่ายบริหารของทีมเป็นการส่วนตัว เพื่อขอให้พวกเขาควบคุมอีโก้ของผู้เล่นค่าเหนื่อยแพงที่สุดในทีม
Photo : fansided.com
คำขอของซาโบนิสไม่เป็นผล ท้ายที่สุด นักบาสชาวลิธัวเนียจึงโบกมือลาเทรลเบลเซอร์ส และย้ายกลับไปเล่นบาสเกตบอลที่ยุโรป ส่วนวอลเลซยังคงเป็นตัวหลักของทีมต่อไป แม้เขาจะเพิ่งสร้างสถิติเป็นผู้เล่นที่ถูกโทษฟาวล์ทางเทคนิคมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล นั่นคือ 41 ครั้ง ซึ่งยังเป็นสถิติที่คงอยู่ถึงปัจจุบัน
เทรลเบลเซอร์สอัพเกรดขุนพล Jail Blazers ขึ้นไปอีกขั้น เมื่อพวกเขาเซ็นสัญญา รูเบน แพตเตอร์สัน ผู้เล่นฟรีเอเยนต์ ที่เพิ่งต้องโทษกักบริเวณ 15 วัน จากคดีล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2000 ก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2001 แพตเตอร์สัน จะถูกตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ
การเข้ามาของแพตเตอร์สันคือการประกาศจุดเริ่มต้นช่วงเวลาของเหล่า Jail Blazers แบบจริงจัง เพราะหลังจากนั้น พวกเขาสร้างเรื่องอื้อฉาวไม่หยุดหย่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองทั้งสิ้น
เดือนพฤศจิกายน ปี 2002 นักบาสจากเทรลเบลเซอร์ส 3 ราย ก่อความผิดพร้อมกันในเดือนเดียว เริ่มจาก วอลเลซ และสเตาดาไมร์ ที่ถูกจับในข้อหาเสพกัญชาบนรถที่เมืองซีแอตเทิล ตามมาด้วย แพตเตอร์สัน ที่ถูกจับในข้อหาทำร้ายร่างกายภรรยาตัวเอง
Photo : uproxx.com
สี่เดือนต่อมา คินเทล วูดส์ ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าลีกเป็นปีแรก ไม่ยอมน้อยหน้ารุ่นพี่ด้วยการถูกจับในข้อหาขับรถเร็วกว่ากำหนด, ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่หรือใบอนุญาต และครอบครองกัญชา
เดือนเมษายน ปี 2003 ความอื้อฉาวกลับมาสู่สนามบาสเกตบอลอีกครั้ง เมื่อ แซค แรนดอล์ฟ ออกหมัดใส่แพตเตอร์สัน ระหว่างการฝึกซ้อม แม้จะไม่มีอะไรบานปลายหลังจากนั้น แต่ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นรายงานว่า แรนดอล์ฟหายตัวไปหลายวัน เพราะกลัวว่าแพตเตอร์สันจะบุกมายิงเขาถึงบ้าน
ความฉาวในสนามของแก๊ง Jail Blazers ไม่จบแค่นั้น เพราะในฤดูกาล 2003-04 วอลเลซถูกแบนยาวเจ็ดเกม หลังมีความผิดฐานข่มขู่ ทิม โดนากี ผู้ตัดสินของ NBA ในขณะนั้น นี่คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เทรลเบลเซอร์สไม่ทนกับวอลเลซอีกต่อไป และเทรดเขาออกจากทีมทันทีที่จบซีซั่น
ตัวปัญหาออกจากทีมไปหนึ่งคน แต่ยังมีตัวปัญหาอีกเพียบให้ต้องจัดการ เดือนกรกฎาคม ปี 2003 สเตาดาไมร์ถูกจับที่สนามบินทูซอน รัฐแอริโซนา หลังลักลอบนำกัญชา 1.5 ออนซ์ ขึ้นเครื่องบิน เขาถูกทีมปรับเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อรักษาอาการติดยาเสพติดเป็นเวลา 90 วัน แถมยังมีการตรวจสารเสพติดในตัวเขา ตลอดฤดูกาล 2003-04
เทรลเบลเซอร์สพยายามจริงจังกับการควบคุมความประพฤตินักกีฬาในสังกัด แต่ดูเหมือนว่าอะไรก็ฉุดพวกเขาไม่อยู่แล้ว คินเทล วูดส์ ถูกจับอีกครั้งในปี 2004 จากข้อหาทารุณกรรมสัตว์ หลังมีการยืนยันว่า วูดส์ชอบนำหมาพิตบูลมาต่อสู้กันเองในบ้านของเขา ทันทีที่ข่าวนี้ออกมา เทรลเบลเซอร์สยกเลิกสัญญาวูดส์ทันที
วีรกรรมเหล่านี้ของกลุ่ม Jail Blazers ทำให้ความนิยมของพอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ตกต่ำแบบกู่ไม่กลับ ในที่สุด บ็อบ วิทซิตต์ ผู้บริหารมือดีที่อยู่กับทีมอย่างยาวนาน ได้ประกาศอำลาเทรลเบลเซอร์สในปี 2003 เนื่องจาก พอล อัลเลน เจ้าของทีม ที่โด่งดังจากการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ Microsoft ต้องการให้วิทซิตต์ไปคุมงานบริหาร ซีแอตเทิล ซีฮอว์กส์ ทีมอเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งอัลเลนเป็นเจ้าของเช่นกัน
Photo : www.blazersedge.com
กลุ่ม Jail Blazers จึงถือเป็นจุดตกต่ำของ พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส อย่างแท้จริง เพราะนอกจากจะถูกเจ้าของทีมทิ้ง ด้วยการให้ผู้บริหารที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จออกจากทีมไป ผลงานในสนามก็ไม่เคยกลับมาดีตามที่แฟน ๆ คาดหวัง พวกเขาตกรอบเพลย์ออฟรอบแรก 3 ซีซั่นรวด ก่อนจะพลาดเข้ารอบเพลย์ออฟในปี 2003-04 และอีกสี่ฤดูกาลหลังจากนั้น ถือเป็นการปิดฉากยุคทองของแฟรนไชส์ที่สร้างสมมาตั้งแต่ยุค 90s
เรื่องราวของ Jail Blazers จึงเป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่ตรงข้ามกัน ด้านหนึ่งพวกเขาคือกลุ่มผู้เล่นที่เป็นสีสัน และยังคงถูกจดจำมาถึงปัจจุบัน แต่อีกด้าน พวกเขาคือผู้เล่นที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ และทำให้ต้นสังกัด รวมถึงแฟนคลับต้องผิดหวังหลายครั้ง
Jail Blazers ไม่ใช่ฮีโร่และวายร้ายของวงการบาสเกตบอล แต่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เล่นที่ขาดวินัยและความเป็นมืออาชีพ ไม่มีทางพาแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้คนจดจำ Jail Blazers ในหลากหลายแง่มุม แต่ไม่ใช่ฐานะแชมป์ NBA
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา