19 เม.ย. 2021 เวลา 08:06 • หนังสือ
“เมื่อหลายร้อยปีก่อน เคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่แห่งหนึ่ง รายาผู้ครองนคร มีลูกสาวแสนสวยชื่อเจ้าหญิงเดวี นางสวยจนเป็นที่หมายปองของเจ้าชายทั่วคาบสมุทรมลายู แต่เจ้าหญิงกลับไปตกหลุมรักบีบา โจรสลัดหนุ่มแห่งท้องทะเลอันดามัน รายาไม่พอใจที่เจ้าหญิงไปรักกับโจรสลัด แต่แล้วการณ์กลับกลายเป็นว่ามีเหตุที่ทำให้รายาต้องขอความช่วยเหลือจากโจรสลัด เนื่องจากมีกองทัพเรือของสยามบุกมายังน่านน้ำ กองทัพของรายาที่ไม่เคยรบทัพจับศึกมาเป็นเวลานานก็ไม่เข้มแข็งมากพอ อีกทั้งปืนใหญ่ที่ให้ช่างหลอมมาใหม่ก็ยิงได้ไม่ไกลพอที่จะรบกับสยามได้ รายาบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากบีบาโดยให้คำมั่นว่าจะยกเจ้าหญิงเดวีให้เป็นคู่ครอง เมื่อรู้ว่าบีบาชนะศึกและกำลังนำทัพกลับมา รายาออกอุบายให้เจ้าหญิงเดวีไปแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าพิธีวิวาห์กับบีบา รายาให้คนติดธงทิวไปทั่วเมืองราวกับต้องการเฉลิมฉลองเพื่อหลอกล่อให้บีบาตายใจ ขณะเดียวกันก็ปิดประตูเมืองและให้ทหารที่อยู่ในเมืองกระหน่ำยิงไปที่เรือของบีบาจนเรือจนหายไป เจ้าหญิงเดวีไม่รู้เลยว่าบิดาได้ให้คนยิงเรือของคนรักจมหายไปในทะเลแล้ว รายาบอกเจ้าหญิงว่าบีบาเปลี่ยนใจ ไม่อยากแต่งงานเพราะรักอิสระมากกว่าอยากมีชีวิตครอบครัว เขาตัดสินใจแล่นเรืออกไปเพื่อเป็นโจรสลัดเหมือนเดิม เจ้าหญิงเดวีไม่เชื่อ นางรู้ว่าบีบารักนางและเขาจะต้องกลับมาหานาง ทุกวันเจ้าหญิงเดวีจะไปนั่งรอหนุ่มคนรักที่โขดหิน นางร้องไห้และกรีดร้องด้วยดวงใจที่แตกสลาย ทุกวัน ทุกวัน กระทั่งสิ้นใจตายในที่สุด…”
เรื่องเล่าขานจากตำนานอันเป็นที่มาของหาดนางคอย อันถูกใช้เป็นสถานที่สำคัญในนิยาย “เคหาสน์นางคอย” ของพงศกรเป็นเรื่องแต่งที่สะท้อนรายละเอียดบางอย่างละม้ายกับเรื่องราวที่ปราฏในเรื่องอันพูดถึงหญิงวิกลจริตที่รอคอยลูกสาวอันเป็นที่รักอยู่ที่คฤหาสน์ใหญ่ริมผาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ “เคหาสน์นางคอย” ยังเป็นเสมือนเงาสะท้อนที่มีประพิมพ์ประพายคล้ายรูปรอยเดิมในงานเขียนของจินตวีร์ วิวัธน์ที่พงศกรกล่าวว่าเป็นนักเขียนที่เขาชื่นชอบและเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญในการเป็นนักเขียนอีกด้วย
“เคหาสน์นางคอย” ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในนิตยสารหญิงไทย ในช่วงระหว่างปี 2550-2551 โดย พงศกร ผู้ประพันธ์ต้องการเขียนนิยายเรื่องนี้ให้อยู่ในแนวทางของนิยายโกธิค ผสมผสานกับเรื่องรัก ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจจากการได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ปราสาททราย ที่แสดงโดยมิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ นิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องรักที่แทรกปนไว้ด้วยเรื่องราวลึกลับอันเกิดจากการที่ "กุ้ง" ตัวละครหลักของเรื่องได้เข้าไปพัวพันที่คฤหาสน์นางคอย (ในเรื่องเรียกว่าคฤหาสน์ แต่ชื่อนิยายใช้ว่าเคหาสน์) ที่จังหวัดบ้านเหมือง อันเป็นจังหวัดสมมติ (สมัยนี้คงเรียกว่าเมืองทิพย์อะไรทำนองนั้น) เรื่องราวหลักๆ เกิดขึ้นเมื่อกุ้ง ตัดสินใจที่จะไปทำงานเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่คฤหาสน์นางคอยเพื่อหาเงินมาดูแลแม่ที่ป่วย การเดินทางไปถึงคฤหาสน์นางคอย กุ้งก็ได้พบว่าผู้ป่วยที่หล่อนต้องดูแลนั้น มีอาการทางจิตและต้องใส่หน้ากากแก้วไว้ตลอดเวลา นอกจากนี้ กุ้งยังรู้สึกว่าคฤหาสน์แห่งนี้มีความลับบางอย่างซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงกรีดร้องที่หล่อนได้ยินเป็นประจำยามดึก ซึ่งทุกคนบอกว่าเป็นเสียงร้องของประพิมพรรณ หญิงวิกลจริตที่กุ้งเป็นผู้ดูแล หรือพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของเจ้าของคฤหาสน์ ยิ่งขวนขวายที่จะค้นหาความจริงมากเท่าไหร่ กุ้งก็ยิ่งพบว่าความลับที่หล่อนค้นหาคำตอบอยู่นั้นเกี่ยวพันกับรอยแผลเป็นบริเวณหน้าอกเองที่อาจเป็นปมเฉลยชาติกำเนิดที่คลุมเครือของหล่อน ยังไม่นับเรื่องรักสามเส้าระหว่างกุ้ง พินรีและสักกทัศน์ ทนายความของคฤหาสน์นางคอย อีกทั้งปริศนาการหายไปของเพชรสีชมพูอีกด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของกุ้งไปตลอดกาล
ผมเป็นแฟนคลับของพงศกร อาจไม่ถึงกับเป็นแฟนเหนียวแน่นประเภทที่อ่านนิยายทุกเรื่องที่พงศกรเขียน แต่ก็เรียกได้ว่ามีโอกาสได้อ่านนิยายของพงศกรมากพอประมาณ สิ่งที่ทำให้ผมชอบงานเขียนของพงศกรคือการเปิดกว้างในด้านจินตนาการ พงศกรเป็นนักเขียนรุ่นหลังๆ ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษรและทำให้คนอ่านเกิดจินตนาการคล้อยตามได้อย่างน่าสนใจ และพงศกรก็ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวใน “เคหาสน์นางคอย” ได้เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ แต่ปัญหาก็คือผมว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันเดาทางง่าย และเชยไปหน่อย เชยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เชยในเรื่องสำนวน แต่เชยในแง่ของการวางเรื่อง การเฉลยปมปริศนาที่เดาทางได้ไปหมด ทำให้อารมณ์ตื่นเต้น ลุ้น และตื่นกลัวลดฮวบลงไปแทบจะทันที รวมไปถึงการสร้างตัวละครที่สำหรับผม แอบคิดว่ามันมีหลายตัวมากเกินไป แถมบางตัวก็มีบุคลิกซ้ำกันจนเฝือ หรือตัวละครที่ควรจะมีบทเด่นก็ทำได้ดีที่สุดแค่คล้ายๆ ว่าจะเด่น แต่ไม่ยักเด่นแบบที่วางไว้ และประเด็นรักสามเส้าที่ขาดที่มาที่ไป (ถึงตอนนี้ อ่านจบแล้ว ผมก็ยังข้องใจว่าเพราะเหตุใดสักกทัศน์ถึงรักกุ้ง หรือเป็นรักแรกพบ แต่มันง่ายและไวเกินไปไหม?) หากพงศกรตั้งใจที่จะเขียน “เคหาสน์นางคอย” ให้เป็นไปตามรูปรอยของนิยายโกธิค ผมคิดว่าเขายังถ่ายทอดประเด็นนี้ได้ไม่ดีสำหรับนิยายเรื่องนี้ เพราะผมเคยอ่านนิยายที่พงศกรตั้งใจเขียนให้อยู่ในแนวทางของนิยายโกธิคเรื่องอื้น เช่น กุหลาบลวง และประทับใจมากๆ จะว่าไปสาเหตุหนึ่งที่ผมตัดสินใจซื้อ “เคหาสน์นางคอย” มาอ่านนั้น ก็เพราะทราบว่านิยายเรื่องนี้เป็นนิยายโกธิคนี่แหละ และหากมองว่า “เคหาสน์นางคอย” มีรูปรอยเดียวกันกับ “Lock Every Door” ของ Riley Sager นิยายระทึกขวัญที่ดึงความเป็นโกธิคเข้ามาเป็นส่วนผสมในเรื่องแล้ว แถมเรื่องราวก็มีความคล้ายคลึงกันตรงที่ตัวละครหลักของเรื่องได้งานใหม่ที่นำพาหล่อนไปสู่ความน่าสะพรึงกลัว สยองขวัญ และเรื่องลี้ลับสั่นประสาท ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “เคหาสน์นางคอย” นั้นไม่สามารถก่อให้เกิดอารมณ์ตื่นกลัวได้เท่ากับ “Lock Every Door” เลย
อย่างไรก็ดี พงศกรยังคงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเองไว้ได้ นั่นคือการใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ถ่ายทอดและสร้างจินตนาการให้ผู้อ่านได้ แม้เราจะเดาทางได้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร เพราะโครงเรื่องอาจวางไว้เพียงหลวมๆ และไม่ซับซ้อนนัก แต่เราก็ยังรู้สึกเพลิดเพลินกับสำบัดสำนวนและวิธีการร้อยเรียงตัวอักษรที่ทำให้เราเกิดจินตนาการและเห็นภาพตามได้อย่างน่าสนใจ ให้ถือเสียว่านิยายเรื่องนี้อาจไม่ใช่นิยายเรื่องเด่นของพงศกรก็แค่นั้นเอง เท่าที่ผมลองตรวจสอบในรีวิวของนักอ่านหลายๆ ท่าน (โดยเฉพาะใน Goodreads) ก็เห็นว่านักอ่านหลายท่านต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านิยายเรื่องนี้เนื้อหาเบาและเดาได้ง่ายไปหน่อย ไม่ใช่นิยายเรื่องเอกของพงศกร ยิ่งเมื่อเทียบกับเรื่องเด่นๆ ของนักเขียนท่านนี้ โดยเฉพาะนิยายชุด “ซีรีส์ผ้า” เป็นต้น
ผมมองว่าเรื่องความชอบ ไม่ชอบ รวมไปถึงการขึ้นลงของการเขียนของนักเขียนเป็นเรื่องปกตินะครับ คนแต่ละคนมีรสนิยมชมชอบอะไรแตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนหนึ่งอาจชอบนิยายเรื่องนี้ อีกคนอาจไม่ชอบก็ได้ เช่นเดียวกับการเชียนที่บางครั้ง เรื่องที่เขียนบางเรื่องอาจปัง บางเรื่องอาจพัง มันก็เป็นไปตามวิถีของสรรพสิ่งที่ล้วนมีขึ้นและลงเป็นไปตามปัจจัยโดยรอบ ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเอง ผมเป็นคนชอบอ่านนิยายโกธิค และมีนักเขียนในดวงใจที่ค้นพบโดยบังเอิญท่านหนึ่ง ชื่อ Simone St. James ผมตามอ่านนิยายของ St.James ทุกเรื่อง ถูกใจมาตลอด กระทั่งสองสามปีที่ผ่านมา นิยายสองเรื่องหลังที่ได้อ่าน ไม่ประทับใจเลย รู้สึกว่าปริศนามันเก่า และเรื่องราวรวมไปถึงวิธีการเล่าเรื่องก็ไม่สนุกเหมือนที่เคยอ่านมา จนตอนนี้ St. James มีนิยายเล่มใหม่วางขายมาได้สักพัก ผมก็ไม่ยอมซื้อมาอ่านเพราะกลัวว่าจะผิดหวังอีก วันก่อน มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนที่เป็นนักอ่าน (และนักเขียนด้วย) ท่านหนึ่ง พอดีเห็นเพื่อนโพสต์ในโซเชียลว่าอ่าน The Sun Down Motel นิยายเรื่องใหม่ของ St. James แล้วไม่ประทับใจ ผมเลยไปแสดงความคิดเห็นด้วยการเล่าว่า St. James เป็นนักเขียนที่ผมโปรดปราน แต่สองสามเรื่องหลังที่ได้อ่านนิยายของนักเขียนท่านนี้แล้ว ผมคิดว่านักเขียนน่าจะตัน และไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรให้คนอ่านรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่ตัวเองเขียนเหมือนกับตอนที่เขียนนิยายเรื่องแรกๆ เพื่อนนักอ่านก็บอกว่าเธอเห็นด้วย อีกทั้งยังบอกว่านักเขียนทีเธอชอบหลายคนก็มีอาการแบบนี้ อาการตัน เขียนไม่ออก และเขียนเรื่องออกมาแล้วไม่สนุก ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่าในโลกของการเขียน และการอ่านนั้น สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนมีขาขึ้นและขาลงด้วยกันทั้งสิ้น
“เคหาสน์นางคอย” อาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ในการอ่านของตัวผมเองเท่าไหร่นัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของการสืบสานและต่อยอดนิยายแนวโกธิคนั้นถือว่าเป็นไปได้ด้วยดีตามความตั้งใจของผู้เขียน สำหรับผมแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เรามีนิยายหลากหลายแนวให้ได้อ่าน ได้ลิ้มรส และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการอ่านครับ
#เคหาสน์นางคอย #พงศกร
โฆษณา