20 เม.ย. 2021 เวลา 05:43 • ประวัติศาสตร์
เหตุผลของ ร.5 กรณีมีพระภรรยา-สนม 153 คน
1
ภาพถ่ายหมู่พระภรรยาเจ้า เจ้าจอมมารดา ในรัชกาลที่ 5
หากกล่าวถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีภาพที่ปรากฏขึ้นทันทีว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระชายาเป็นจำนวนมาก
แต่เชื่อหรือไม่ว่าตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงประสบกับปัญหาใหญ่และยากที่สุด คือการมีพระราชโอรสเพื่อสืบราชสมบัติต่อเป็นรัชกาลที่ 6
บทความนี้ผมจะพยายามใช้ราชาศัพท์น้อยที่สุดเพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจง่ายๆ ว่าสาเหตุใดที่ทำให้รัชกาลที่ 5 มีพระชายา รวมถึงพระสนม มากมาย และไม่แน่ว่าอาจมีเจ้าจอมบางคนตกหล่นจากหน้าประวัติศาสตร์ก็เป็นได้
ในบันทึกระบุว่ารัชกาลที่ 5 มีพระภรรยาเจ้า 9 พระองค์ ,เจ้าจอมมารดา 27 คน นอกนั้นเป็นเจ้าจอมจำนวน 117 คน รวมทั้งหมด 153 คน
2
โดยพระภรรยาเจ้าและเจ้าจอมมารดา 36 พระองค์/คน ได้ให้พระประสูติกาลเป็นพระราชโอรส 32 พระองค์ ,พระราชธิดา 44 พระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระราชบุตรที่ตก (แท้ง) มากถึง 21 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 97 พระองค์
เมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง 14 ปี 3 เดือน ก็ทรงมีพระธิดาเป็นพระองค์แรก คือ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ" ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข (ประสูติกาล 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410) ในขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ"
2
ปีถัดไป พ.ศ.2411 ก็มีพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ คือ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี" ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ)
ทำให้พระธิดาทั้ง 2 พระองค์นี้เป็นพระราชธิดาที่ประสูตินอกเศวตฉัตร คือ กำเนิดก่อนที่จะทรงขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 5
เนื่องจากทรงเริ่มเจริญวัย จึงมีเจ้าจอม 4 คน ก่อนที่จะทรงมีพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรก คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี พระราชธิดาใน รัชกาลที่ 4 โดยทรงมีประสูติกาลเป็นพระราชบุตรพระองค์แรกในเศวตฉัตร แต่ก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันภายในวันประสูติ
หลังจากนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงอีก 4 พระองค์ แต่ก็ให้พระประสูติกาลเป็นพระราชธิดาทั้งสิ้น ในขณะที่พระราชโอรสก็ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา ซึ่งไม่อาจเป็นผู้สืบพระราชสมบัติได้ตามกฎมณเฑียรบาลเพราะมารดาไม่ได้มีเชื้อพระวงศ์
ตั้งแต่มีลูกสาวคนแรก รัชกาลที่ 5 ต้องใช้เวลารอนานกว่า 11 ปี จนกระทั่ง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระประสูติกาล "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร" วันที่ 27 มิถุนายน 2421 ซี่งเป็นพระราชบุตร ลำดับที่ 21 (พระโอรสพระองค์ที่ 7)
และด้วยความที่พระองค์ทรงรอมานาน ต่อมาจึงโปรดเกล้าให้มีพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 ขณะที่พระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา
1
อย่างไรก็ตาม 9 ปีต่อมา พระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีก็ทรงสวรรคต ด้วยพระชนมายุไม่ถึง 17 พรรษา
ทำให้ต้องหาผู้มาเฉลิมพระปรมาภิไธยในตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชพระองค์ใหม่ ซึ่งเวลาต่อมานั่นก็คือ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระราชโอรส พระองค์ที่ 32 (ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2424)
จะเห็นได้ว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสลำดับที่ 21 แล้วกระโดดมาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระโอรสลำดับที่ 32 เลย
ในขณะเดียวกันการสืบพระราชสมบัติ ก็ได้เปลี่ยนสายพระภรรยาเจ้า จาก สมเด็จพระพันวัสสา มาเป็น สมเด็จพระพันปีหลวง
พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4
นั่นทำให้ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ในเวลาต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี
 
ดังนั้น ปัญหาใหญ่ช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 คือการมีพระราชโอรสที่มีพระประสูติกาลจากพระภรรยาเจ้า ชั้นลูกหลวง (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4) และแม้ว่าจะให้กำเนิดพระโอรสแล้วก็ย้งต้องลุ้นให้มีพระชนมายุยืนยาว
เวลานั้น หากพระพุทธเจ้าหลวงจะรอให้พระภรรยาเจ้า ชั้นลูกหลวง มีพระประสูติเป็นพระราชโอรส โอกาสที่จะมีความสูญเสียดังเช่นเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศก็มีสูง
นอกจากนี้ พระองค์ยังต้องอภิเษกกับพี่น้องที่เกิดมาจากพระราชบิดาเดียวกัน โอกาสที่จะมีพระอาการดาวน์ซินโดรมก็สูงเช่นกัน จึงทำให้พระองค์มีเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมเพิ่มขึ้น
1
หลังรัชกาลที่ 6 สวรรคต ก็ผลัดแผ่นดินเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ประสูติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436) พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 96 จากพี่น้องทั้งหมด 97 พระองค์
โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า พระราชธิดาองค์สุดท้อง ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ประสูติวันที่ 9 พฤศจิกายน 2436) เกิดหลังรัชกาลที่ 7 เพียง 1 วัน แต่มีพระชนมายุเพียง 3 วันก็สวรรคต
นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระภรรยาเจ้า เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม หลายคน
แม้รัชกาลที่ 5 จะมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 76 พระองค์ (ไม่รวมที่แท้งในวันประสูติ 21 พระองค์) ซึ่งก็ถือว่ามากแล้วนะครับ
แต่พระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ก็มีพระชนมายุไม่มากนัก และสวรรคตในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่น้อย
ครั้งหน้าผมจะมาเล่าให้ผู้อ่านได้ทราบถึงพระโรค ที่ทำให้พระราชโอรสกับพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ต้องสวรรคต ซี่งมีประมาณ 10 พระองค์ที่ทรงประชวรเป็นพระโรคเดียวกันคือไตพิการมากที่สุด ในขณะที่บางพระองค์แม้จะประชวรเป็นพระโรคอื่น เช่น ปอดอักเสบ โรคพระทัย และลำไส้ใหญ่ โดยพระองค์อื่นก็ประชวรเหมือนกันอยู่ไม่กี่โรค
จากข้อมูลที่ผมรวบรวม ส่วนตัวผมเองสันนิษฐานว่าโรคไตพิการอาจเป็นกรรมพันธุ์ เนื่องจากรัชกาลที่ 5 เองก็สวรรคตด้วยพระโรคไตพิการครับ
โฆษณา