20 เม.ย. 2021 เวลา 11:00 • สุขภาพ
ความต่างระหว่างนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักจิตบำบัด
เพื่อน ๆ สับสนกันไหมเวลาที่พูดถึงอาชีพที่เกี่ยวกับ ‘จิตวิทยา’ อูก้าเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ติดตามเพจนี้กันมานานอาจจะพอคุ้นเคยกับหมวดอาชีพในสายนี้กันมาบ้าง แต่ถ้าให้บอกความต่างกันให้ชัดเจน แยกแยะหน้าที่และรูปแบบการทำงานของสามศรีพี่น้อง ระหว่าง ‘นักจิตวิทยา’ ‘จิตแพทย์’ และ ‘นักจิตบำบัด’ ก็อาจจะมีคนงง ๆ ว่าแล้วมันต่างกันยังไง ต้องเรียนอะไร หรือเราควรเลือกไปปรึกษาใครดี วันนี้อูก้าเลยมีคำตอบมาฝากทุกคนกัน!
#นักจิตวิทยา
ก่อนอื่นเลยมาเริ่มกันที่ ‘นักจิตวิทยา’ หรือ (psychologist) ซึ่งจริง ๆ แล้วนักจิตวิทยามีหลากหลายสาขา เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาองค์กร นักจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราอาจจะคุ้นเคยกับนักจิตวิทยาประเภทหลังมากที่สุด
สิ่งที่พวกเขาเน้นคือการให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา หรือถ้าให้เข้าใจง่ายก็คือการพูดคุยที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ตัวเองผ่านการพูดคุย ค่อย ๆ เยียวยาจิตใจตัวเองจากสิ่งที่เราได้พูดมันออกมา ความโดดเด่นของนักจิตวิทยาคือถ้าเราระบายเรื่องทุกข์ใจกับคนทั่วไป เราอาจจะได้แค่คนรับฟังและคำปลอบใจ แต่นักจิตวิทยาจะทำมากกว่านั้น เพราะพวกเขาจะทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำและอารมณ์ความรู้สึกของเราด้วย และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการใช้จิตวิทยาเข้าช่วยในการพูดคุยทั้งสิ้น
ที่สำคัญนักจิตวิทยาจะไม่บอกให้คุณทำอย่างนั้น ตัดสินใจอย่างนี้ แต่เขาอยากให้คุณเข้าใจและตัดสินใจยอมรับหรือเปลี่ยนแปลงบางสิ่งได้ด้วยตัวของเราเอง สตรองขึ้นด้วยตัวเอง กลายเป็นคุณที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม บรรยากาศที่พูดคุยมักเต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจและไม่กดดัน
#จิตแพทย์
ส่วน ‘จิตแพทย์’ (psychiatrist) แน่นอนว่ามีคำว่าแพทย์ต่อท้าย ก็ต้องหมายถึงคนที่มีพื้นฐานการแพทย์โดยเฉพาะ คือแพทย์ที่เรียนต่อเฉพาะทางเพื่อมาเป็นจิตแพทย์นั่นเอง ดังนั้นจิตแพทย์อาจจะมีอีกชื่อหนึ่งคือหมอรักษาโรคจิตเวช พวกเขาจึงสามารถทำหน้าที่วินิจฉัยและสั่งยาเพื่อใช้ในการรักษา ในมุมมองของจิตแพทย์ พวกเขาจะโฟกัสความผิดปกติที่เกิดขึ้นว่าเป็นความเจ็บป่วยบางอย่าง ดังนั้นจึงมองไปที่การกำจัดความเจ็บป่วยด้วยการใช้ยาเป็นหลักนั่นเอง
แต่ใช่ว่าจิตแพทย์จะไม่รู้วิธีการให้คำปรึกษาหรือบำบัดใจนะ เพียงแต่ว่าหน้าที่หรือจุดโฟกัสหลัก ๆ ของเขาอาจจะมุ่งไปที่โรคต่าง ๆ มากกว่า เช่น โรคไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท ฯลฯ เราจะทำอย่างไรให้เขาดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาตัวไหน มองในมุมของแพทย์เป็นหลัก และส่วนใหญ่พวกเขาทำงานในโรงพยาบาลที่แสนจะวุ่นวาย ดังนั้นเวลาที่จะนั่งให้คำปรึกษาหรือทำกิจกรรมบำบัดก็อาจจะน้อยนิด จึงไม่ได้มีเวลามาเน้นกระบวนการฮีลใจเท่าอีกสองอาชีพที่เหลือนั่นเอง
#นักจิตบำบัด
สุดท้ายคือ ‘นักจิตบำบัด’ (therapist) อีกหนึ่งสายเฉพาะทางที่อาจจะแตกต่างจากสองอาชีพเบื้องต้นอยู่เล็กน้อย ตรงที่หน้าที่ของเขาจะเน้นไปที่การ ‘บำบัด’ แบบต่าง ๆ ไม่ได้วินิจฉัย สั่งยาให้แบบจิตแพทย์ ไม่ได้เน้นพูดคุยปรึกษาแบบนักจิตวิทยา แต่พวกเขาจะเน้นไปที่การทำจิตบำบัดตามวิธีการที่หลากหลาย เช่น ชวนคุณมานั่งคุย ต่อไปที่การใช้ศิลปะมาฮีลใจ เล่นดนตรี การเล่น หรือวิธีการอื่น ๆ ตามแต่ที่พวกเขาถนัดและร่ำเรียนมา เพื่อที่จะได้ช่วยบำบัดใจของคุณให้สบายยิ่งขึ้น หรือทำให้คุณ “เข้าใจและยอมรับ” กับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
นักจิตบำบัดบางครั้งก็เป็นจิตแพทย์เองที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางในการบำบัด ทำงานร่วมกันกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาด้วยเช่นกัน และในประเทศไทยเองสายจิตบำบัดก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วงหลัง
ดังนั้นแล้วในกระบวนการดูแลรักษาใจ เราอาจจะได้พบเจอทั้งสามอาชีพนี้ทำงานอยู่ร่วมกันเลยก็ได้ เช่น เราอาจจะรู้สึกไม่สบายใจแล้วไปคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาประเมินเบื้องต้นแล้วส่งต่อมายังจิตแพทย์เพื่อช่วยดูแล วินิจฉัย จิตแพทย์ก็อาจจะดูว่ากระบวนการต่อไปควรจะทำอย่างไร จะทานยาร่วมกับการบำบัดแบบไหน แล้วก็อาจจะเป็นหน้าที่ของนักจิตบำบัดที่จะมาช่วยจับมือเราผ่านความรู้สึกนี้ไปด้วยกันนั่นเอง
รู้แบบนี้แล้ว อูก้าหวังว่าเพื่อน ๆ ทุกคนอาจจะคลายสงสัยกันไปได้บ้าง และไม่ว่าเรื่องของเราจะเป็นแบบไหน ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ อยากมีใครรับฟังละก็ อูก้าและทีมนักจิตวิทยาพร้อมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยินดีรับฟังเรื่องของเพื่อน ๆ เสมอ สามารถพูดคุยกับอูก้าได้ตลอดเวลาเลยนะ
.
#OOCAknowledge
.
ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผ่านวิดีโอคอล นัดคุยได้เลย
🔹 ดาวน์โหลดแอปฯ หรือคุยผ่านเว็บไซต์ > https://ooca.page.link/abtrpbd
✨ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบริการของ ooca ได้ที่ https://ooca.page.link/oocaservice
📬 พบปัญหาการใช้งาน ทักแชทมาหาเรา > bit.ly/msgfbooca
.
.
#OOCAitsOK #WeWillListen #เรื่องของใจให้เรารับฟัง #แอปปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยา #mentalhealth #สุขภาพจิต #เครียด #ซึมเศร้า #พบจิตแพทย์
**ขอบคุณข้อมูลจาก**
aday magazine : https://bit.ly/3ekh7bU
Better Mind Thailand : https://bit.ly/32rSRiL
โฆษณา