20 เม.ย. 2021 เวลา 12:39 • ประวัติศาสตร์
@ประเทศไทย
ตรอกโรงภาษี
ตรอกโรงภาษีเป็นตรอกหนึ่งในเขตบางรัก ชื่อตรอกมาจากสถานที่สำคัญที่เคยตั้งอยู่ในตรอกนั้น คือ ศุลกสถาน หรือกรมศุลกากรในปัจจุบัน แต่คนทั่วไปสมัยนั้นมักเรียกกันว่า“โรงภาษีร้อยชักสาม”เรียกสั้นๆว่า“โรงภาษี”
ศุลกสถานนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ โดยโปรดให้ย้ายที่ทำการเก็บภาษีจากที่ทำการเดิมบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษมมายังที่ทำการใหม่ ซึ่งโปรดให้นายช่างชาวอิตาเลียนชื่อ มิสเตอร์กราสส์ เป็นผู้ออกแบบรับเหมาก่อสร้าง ลักษณะเป็นอาคาร ๓ ชั้น ทันสมัยที่สุดในเวลานั้น ต่อมาแม้ว่าเจ้าพระยาภาสกรวงษ์(พร บุนนาค)อธิบดีกรมศุลกากรคนแรกจะได้บัญญัติคำว่า ศุลกากร ขึ้นใช้และจารึกชื่ออาคารนี้ว่าศุลกสถาน แต่คนทั่วไปก็ยังคงนิยมเรียกโรงภาษีอยู่เช่นเดิม
จนแม้เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ กรมศุลกากรจะได้ย้ายที่ทำการจากบางรักไปอยู่ ณ บริเวณท่าเรือกรุงเทพฯแล้ว และอาคารศุลกสถานเดิมกลายเป็นที่ทำการกองตำรวจดับเพลิง แต่ชื่อตรอกที่ปรากฏในปัจจุบันก็เป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดีว่า ณ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล คือกรมศุลกากรหรือโรงภาษี
โฆษณา