20 เม.ย. 2021 เวลา 20:30 • การเกษตร
ออกจากวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบ ListenField
ด้วยพื้นที่และทำเลที่ตั้ง ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยึดการทำมาหากินด้วยการเป็นเกษตรกรมายาวนาน แต่คำถามสำคัญคือ ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ยังยากจน ทั้งที่รัฐเองพูดเสมอว่าประเทศไทยต้องเป็นครัวของโลก เกษตรกรไทยต้องเป็นสมาร์ทฟาร์มมิง
จากวันนั้นถึงวันนี้ ทำไมยังไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายที่หลายๆ รัฐบาลขายฝันไว้ และทำไมเกษตรกรยังคงรอคอยเงินเยียวยาจากรัฐบาลมาโดยตลอด
ListenField บริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรขับเคลื่อนมุ่งหวังร่วมมือกับภาคเอกชน นักวิชาการ จับมือเกษตรกร และใช้เทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานและใช้ “ข้อมูล” ให้เกษตรกรไทยเข้าใจถึงทุกสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ฝน อากาศ แสง ปุ๋ย พันธุ์พืช แมลง รวมถึงคาดการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะกระทบต่อผลผลิตของเกษตร
เพื่อเปลี่ยนผ่าน “เกษตรกรไทย” ให้ก้าวข้ามปัญหาซ้ำๆ ซากๆ ยกระดับจากการเป็นเกษตรกรจนๆ ให้หลุดพ้นวังวนหนี้สิน สู่เกษตรกรยุคใหม่ที่ไม่ต้องรอฟ้าลิขิต ไม่ต้องรอภาครัฐ เพราะเขาจะสามารถขีดเส้นทางเดินของตัวเองได้ว่าจะเลือกทำ เลือกปลูกอะไร ที่ตอบโจทย์ตลาดและความต้องการของผู้บริโภค
“...ปัญหาของภาคการเกษตร คือ ไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่ดี ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจศักยภาพหรืออุปสรรคของมัน จึงยากสำหรับการพัฒนาภาคการเกษตร...” นี่คือความจริงที่ต้องหันมาร่วมมือกัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอและนำมาใช้ได้จริงในภาคการเกษตร จะเพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาคการเกษตรไทย ที่อาจจะไม่ใช่แค่ครัวของโลก แต่อาจจะก้าวไปถึงการส่งออกองค์ความรู้ แพลตฟอร์ม และเทคโนโลยีการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการที่ได้ร่วมทำโครงการวิจัยด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่น (National Agriculture Research Institute) สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหากเปรียบเทียบระหว่างการเกษตรของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นคือเรื่อง “นวัตกรรม” และ “วิสัยทัศน์” ญี่ปุ่นมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและเก็บอย่างละเอียด มีระบบเซ็นเซอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ทำให้เกษตรกรคาดการณ์ได้ว่าจะปลูกอะไร เก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ กระทั่งวางแผนรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้
อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีนโยบายภาพใหญ่ที่สั่งการมาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ระบบงานที่ไม่ซ้ำซ้อนและบูรณาการ ดึงคนมีความสามารถ คนที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเกษตรกร มาทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง
ทำไมเกษตรญี่ปุ่นทำผลผลิตที่มีคุณภาพ เพราะเขาก้าวข้ามความกังวลต่างๆ ที่เป็นความไม่แน่นอนได้ เช่น น้ำจะมีหรือไม่ จะแล้งหรือไม่ เขามีข้อมูลภาคการเกษตรที่สามารถวิเคราะห์รายละเอียดว่าจะปลูกพืชผลการเกษตรอย่างไรให้มีคุณภาพตามที่อยากให้มันเป็น นี่คือความต่างของเกษตรกรญี่ปุ่นกับไทย นี่เป็นส่วนที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแล
1
ในทางกลับกัน ภาคการเกษตรไทยกลับไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่ดีที่จะนำมาใช้ในภาคการเกษตร ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถเห็นปัญหา หรืออุปสรรคของพื้นที่นั้นๆ จึงยากสำหรับการพัฒนาต่อ
ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำคือ ต้องวางพื้นฐานข้อมูลภาคการเกษตรเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในเรื่องของดิน น้ำ แรงลม สภาพอากาศ พันธุ์พืช ฯลฯ ซึ่งมันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะต้องมี “...เพราะข้อมูลที่ดีเหล่านี้ เป็นเหมือนปุ๋ยชั้นดีของภาคการเกษตร...”
เกษตรกรเขารู้ข้อมูลดีในเชิงพื้นที่ แต่ถามว่ามีกลไกช่วยเขาแค่ไหนให้เกิดการพัฒนา
คำตอบคือไม่ค่อยมี เหมือนได้ยินแต่ไม่ฟังเขา เลยต้องมีกลไกศักยภาพเชิงพื้นที่ ทำให้เกิดการพัฒนาในแต่ละพื้นที่จริงๆ ต้องดึงศักยภาพของคนในพื้นที่ออกมา แล้วใช้ภาพใหญ่ระดับนโยบาย การลงทุนด้านต่างๆ จึงจะเกิดการพัฒนา
จากการลงพื้นที่เราพบว่า ศักยภาพของคนไทยไม่ได้ด้อยเลย เกษตรกรเขารู้ดีมาก เช่น เขารู้ว่าถ้าเจอแลงแบบนี้ต้องบริหารจัดการอย่างไร เขารู้ว่าถ้าจะปลูกพืชแบบออร์แกนิกจะทำอย่างไร ปรุงดินอย่างไรให้ได้รสชาติ แต่ปัญหาคือเราขาดโครงสร้างพื้นฐานให้เขา เช่น น้ำ หรือ ไม่มีระบบการเตือนสภาพอากาศที่เหมาะสำหรับเขา
ถ้ามีข้อมูลเราสามารถป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ และสามารถรู้ว่าพื้นที่ไหนควรปลูกอะไร
เมื่อมีความแม่นยำในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ความแม่นยำจะช่วยลดต้นทุนในการเพาะปลูกได้ ลดปุ๋ย ผลผลิตมีคุณภาพสม่ำเสมอ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องปัจจัยการผลิต ปุ๋ยก็ไม่ต้องใส่กันฟุ่มเฟือยจนมีสารเคมีตกค้างในดิน ทำให้ดินมีคุณภาพ
ไม่เพียงเท่านี้ เรายังสามารถปรุงปุ๋ยสูตรใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ กับผลผลิตนั้นๆ ได้ด้วยการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์
ดังนั้นหากเราจะก้าวข้ามกับดักวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” นำพี่น้องเกษตรกรออกจากวังวนเหล่านี้ได้ เราต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อการทำการเกษตรเหล่านี้ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตร ภาคการเกษตรจะยกระดับตัวเองได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ภาครัฐต้องลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเสริมกระดูกสันหลังของชาติให้แข็งแรงมากขึ้น “...ร่วมมือกันเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้หลุดพ้นจากวังวนเดิม…”
สรุปข้อมูลโดย : ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” สตาร์ปอัปเทคโนโลยีเกษตร....ปักหมุดเกษตรกร สู่ยุค “ปลูกพืชด้วยข้อมูล” https://thaipublica.org/2021/01/listenfield-rassarin-shinn/
บทความเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564
โฆษณา