21 เม.ย. 2021 เวลา 04:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รีวิวหุ้นต่างประเทศ Snowflake [SNOW:NYSE]
By อัพน้อย - Security Analysis
เราคงเคยได้ยินประโยคยอดฮิตที่ว่า “IPO = It’s probably overpriced” ซึ่งขนาดปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองก็ยังเคยใช้ประโยคนี้อธิบายราคา IPO ของหุ้นให้เข้าใจง่ายๆว่า ราคา IPO เนี่ย อย่าไปยุ่งดีกว่า มันน่าจะเป็นราคาที่แพงเกินไปอยู่แล้ว คือการซื้อหุ้นที่ราคา IPO นี่มันไม่ใช่การซื้อของถูกแน่นอน
แต่ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 ที่ผ่านมา วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ได้ทำเซอร์ไพส์ให้ทุกคนด้วยการเข้าซื้อหุ้น IPO ของบริษัท Snowflake ด้วยเงินประมาณ 20,000 ล้านบาทซะเอง 🤣
แล้วบริษัท Snowflake นี่เค้าทำธุรกิจอะไร? น่าสนใจขนาดไหนถึงทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังต้องยอมเข้าซื้อที่ราคา IPO วันนี้เรามารู้จักบริษัทนี้กันครับ 😊
ด้วยสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่ Data หรือข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่ามากๆสำหรับการทำธุรกิจ แล้ว Data ที่บริษัทแต่ละบริษัทนั้นได้รับในแต่ละวันนั้นมันก็เยอะโคตรๆ ยกตัวอย่าง Data ที่บริษัทได้ในทุกๆวันก็เช่น วันนี้เราใช้แอพ Facebook เวลาไหนบ้าง รอบละกี่นาที กดเข้าไปดูอะไรบ้าง ใช้เวลากับโพสต์ไหนกี่วินาที ข้อมูลการใช้งานพวกนี้ทุกอย่างของเราจะถูกบริษัทจัดเก็บไปทั้งหมด อันนี้พูดถึงในแง่ของ Data จากผู้บริโภคอย่างเดียว แต่จริงๆแล้ว Data ยังมาจากทางอื่นได้อีกมากมายครับ
ซึ่ง Data ที่บริษัทได้มาเยอะๆเนี่ย ก็จะถูกเก็บรวมๆกันไว้ โดยเค้าอาจจะนำ Data ที่ได้นี้ไปเพื่อวิเคราะห์ต่อหรืออาจจะเอาไปขายให้กับบริษัทอื่นที่ต้องการข้อมูลพวกนี้ไปใช้ก็ได้
แต่ปัญหาก็คือพอ Data มันเยอะมากๆ แถมเพิ่มขึ้นทุกวัน ถมๆกันเข้ามาเรื่อยๆ เวลาที่บริษัทจะนำข้อมูลอะไรซักอย่างออกมาใช้งานหรือวิเคราะห์ มันก็เลยเหมือนกับเป็นการงมเข็มในมหาสมุทร ซึ่งเสียเวลามากๆ และปัญหาตรงนี้นั่นเองครับที่บริการของ Snowflake จะเข้ามาช่วยแก้
โดยคำอธิบายแบบง่ายๆของบริการที่ Snowflake ทำให้กับลูกค้าหลักๆก็คือการจัดการกับข้อมูลในบริษัทที่มีเยอะแยะมากมายและปนๆกันอยู่พวกนี้ให้กับลูกค้า ซึ่งข้อมูลพวกนี้อาจจะมาจาก Cloud ที่บริษัทของลูกค้าเอา Data ไปเก็บไว้หลายๆแห่งก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น Google Cloud, Microsoft Azure หรือ Amazon AWS โดย Snowflake จะดึง Data ทั้งหมดเข้ามาอยู่ใน Platform ของตัวเองแล้วทำการจัดการกับข้อมูลพวกนี้ให้ครับ
ซึ่งก็จะช่วยให้เวลาที่บริษัทของลูกค้าต้องการดึงข้อมูลที่เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงออกมา สามารถทำได้ง่ายขึ้น แต่ละฝ่ายในบริษัทต้องการข้อมูลเชิงลึกในจุดไหนไปใช้งาน Snowflake ก็สามารถดึงออกมาวิเคราะห์ให้ได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทให้เช่าจักรยาน เก็บ Data ของผู้ใช้งานทั้งหมดไว้ แล้วต้องการจะวิเคราะห์เชิงลึกว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนมาเช่าจักรยานของบริษัทเพื่อที่บริษัทจะได้วางกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ โดยในกรณีนี้ Snowflake ก็สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น สถานที่, เวลาและวิธีการที่คนเช่าจักรยานของบริษัททั้งหมดมาวิเคราะห์เชิงลึกให้ได้เลย ทำให้บริษัทอาจจะได้ข้อมูลจาก Snowflake ภายในไม่กี่นาทีว่า ผู้เช่าจักรยานของบริษัทส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพอายุ 20-30 ปี, เวลา 08.30 คนเช่าจักรยานจะเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ, สถานที่ใกล้ๆมหาวิทยาลัยจะมีคนเช่าจักรยานของบริษัทเยอะและผู้ใช้งานจะยิ่งใช้จักรยานเยอะในวันที่มีเมฆมาก อะไรประมาณนี้ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้มากมายเลยครับ
1
เข้าใจหลักการทำธุรกิจของบริษัทแล้ว ทีนี้มาดูวิธีคิดเงินของ Snowflake กันบ้างครับ โดยการเก็บค่าบริการของ Snowflake นั้นจะไม่เหมือนกับเจ้าอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เก็บค่าบริการแบบเหมา คือลูกค้าจะใช้มากน้อยแค่ไหนก็นับเป็น User แล้วคิดราคาเหมาเท่ากันหมด
แต่ Snowflake นั้นจะคิดค่าบริการตามที่ลูกค้าได้ใช้งานจริง พูดง่ายๆก็คือลูกค้าคนไหนใช้เยอะก็จ่ายเยอะ คนไหนใช้น้อยก็จ่ายน้อย โดยจะคำนวนการใช้งานว่ามากน้อยแค่ไหนจาก ระยะเวลาที่ลูกค้าใช้งาน, รูปแบบของการใช้และปริมาณของข้อมูลที่ Snowflake ต้อง Process ออกมาให้ แล้ว Snowflake จะคำนวนมาเก็บค่าบริการลูกค้าเป็นรายเดือน ตามเนื้อที่ที่ลูกค้าใช้เก็บ Data และการประมวลผลที่ลูกค้าใช้ครับ
ซึ่งจากข้อดีของ Snowflake ทั้งหมดทั้งมวลก็เลยส่งผลให้ปัจจุบัน Snowflake มีลูกค้าทั้งหมด 4,139 ราย โดยเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทในปีที่แล้วมากกว่า $1 million อยู่ 77 ราย
ในปีที่แล้วมีผู้เข้าใช้บริการของ Snowflake เฉลี่ยวันละมากกว่า 500 ล้านครั้ง โดย Snowflake ยังมี Retention Rate อยู่ที่ 168% ซึ่งแสดงออกว่าลูกค้าเดิมของ Snowflake นั้นไม่หายไปไหน แถมยังใช้บริการของบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วยครับ
จาก Business Model ที่เน้นมาช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าบวกกับเข้ามาในยุคที่ Data ล้นโลกพอดี เลยส่งผลให้รายได้ของ Snowflake เติบโตมากขึ้นเป็นเท่าตัวหลายปีติดต่อกันเลยครับ
โดยในปี 2019 มีรายได้ $96 million
ปี 2020 มีรายได้ $264 million (เติบโต 175%)
ปี 2021 มีรายได้ $592 million (เติบโต 124%)
*งบการเงินของ Snowflake จบที่เดือน มกราคมครับ ล่าสุดเลยเรียกว่างบปี 2021 แต่จริงๆแล้วคือปี 2020 นั่นแหละครับ*
และถึงแม้ Snowflake มีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2021 สูงถึง 59% แต่ก็ยังขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอยู่ครับ
โดยในปี 2019 มีผลขาดทุนอยู่ที่ $178 million
ปี 2020 ขาดทุน $348 million (ขาดทุนเพิ่มขึ้น 95%)
ปี 2021 ขาดทุน $539 million (ขาดทุนเพิ่มขึ้น 55%)
ขาดทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก็จริง แต่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงครับ
ซึ่งเหตุผลที่ยังขาดทุนก็เพราะบริษัทใช้เงินไปในส่วนของ Sales and Marketing เยอะมากๆ คงเป็นเพราะบริษัทต้องการเติบโตและขยายตลาดให้ได้ไวที่สุดครับ
โดยในปี 2019 ใช้เงินกับส่วนนี้ไป $125 million
ปี 2020 ใช้ไป $293 million
ปี 2021 ใช้ไป $497 million
จะเห็นว่าแค่ส่วนนี้อย่างเดียวก็แทบจะเท่ารายได้ทั้งหมดของบริษัทแล้วครับ ทุ่มงบกับตรงนี้มากจริงๆ
นอกจากนั้นบริษัทยังให้คาดการณ์ปี 2022 ไว้ดังนี้ครับ
- จะมีรายได้หลักเติบโต 82%
- อัตรากำไรขั้นต้นจากรายได้หลักที่ 71%
- อาจจะมีกระแสเงินสดอิสระหรือ Free Cash Flow เป็นบวก
โดยหนึ่งในความเสี่ยงที่น่ากังวลของ Snowflake ก็คือถึงแม้ตอนนี้ Snowflake จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ Data เชิงลึกให้กับลูกค้า โดยอาจจะผ่านการดึง Data มาจาก Cloud ของบริษัทใหญ่ๆอย่าง Amazon, Google และ Microsoft แต่ก็ไม่รู้เมื่อไรที่บริษัทใหญ่ๆพวกนี้อาจจะเกิดอยากทำเองขึ้นมา ถึงเวลานั้น Snowflake ก็อาจจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดและอัตราการเติบโตของบริษัทอาจจะถูกกระทบจนโตไม่ได้ตามเป้าก็ได้ครับ
1
ปล. ราคา IPO ของ Snowflake อยู่ที่ $120 และหลังจากเข้าตลาดก็วิ่งขึ้นเป็นบ้าเป็นหลังจนไปทำจุดสูงสุดที่ $429 ซึ่งบวกจากราคา IPO ไปกว่า 257% และหลังจากนั้นราคาก็ไหลลงมาเรื่อยๆจนถึงวันนี้ (21/04/2021) ราคาหุ้นของ Snowflake อยู่ที่ $225 แล้วครับ โดยการขึ้นลงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ประมาณ 7 เดือนเท่านั้นครับ และถ้าเราซื้อ Snowflake ที่ราคานี้ เราจะได้ถือหุ้นตัวเดียวกับปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในราคาที่แพงกว่าปู่แค่ 87% เอ๊งง 🤣🤣
ท่านไหนสนใจศึกษาหุ้นตัวนี้เพิ่มเติม สามารถดู Presentation ของบริษัทได้ที่นี่เลยครับ
ติดตามเราผ่านช่องทาง Facebook ได้ที่ Page :
โฆษณา